พลังประชารัฐ ทางออกความขัดแย้ง


เพิ่มเพื่อน    

พปชร.ทางออกความขัดแย้ง

จะได้เป็นพรรคอันดับต้นๆ

        หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ 350 เขต เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ก็ยิ่งทำให้โรดแมปการเลือกตั้งในต้นปีหน้าชัดเจนมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เวลานี้ทุกพรรคการเมืองเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว

       พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จากเดิมที่เคยถูกคาดหมายว่าอาจเป็นพรรคได้เสียง ส.ส.มาอันดับ 3 รองจากพรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ แต่หลัง 26 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่หากมีการเลือกตั้ง 24 ก.พ.2562 บุคคลที่จะลงสมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคต้นสังกัดไม่น้อยกว่า 90 วัน ที่ก็คือ 26 พ.ย.ที่ผ่านมาคือเส้นตาย โดยปรากฏว่า นักการเมือง-คนดังหลายวงการ ตบเท้าเข้าพรรคพลังประชารัฐจำนวนมาก จนทำให้พลังประชารัฐที่ต้องถือว่าเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล ถูกมองว่ากลายเป็นคู่แข่งสำคัญของฝ่ายขั้วทักษิณ ชินวัตร และเพื่อไทย มากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปเสียแล้ว

       สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ย้ำการเตรียมพร้อมสู่สมรภูมิเลือกตั้งของพลังประชารัฐ โดยวางตำแหน่งทางการเมืองของพรรคไว้ที่ พรรคทางออกของความขัดแย้ง โดยยกสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรค ซึ่งมีนักการเมืองที่เคยอยู่ในสองขั้วขัดแย้งคือ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์-แนวร่วม นปช.และ กปปส. ตอนนี้มาอยู่รวมกันที่พลังประชารัฐ ส่วนเรื่องแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อของพลังประชารัฐ สุดท้ายจะมีชื่อ บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ มีคำตอบชัดๆ จากเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ มือเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาล คสช.

        สนธิรัตน์-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ พูดถึงการเข้าสู่สนามเลือกตั้งของพรรคต่อจากนี้ว่า หลังจากนี้พรรคจะตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ส.ส. 11 คน เพื่อคัดเลือกคนลงเลือกตั้ง ส.ส.เขต 350 เขต และคนที่จะไปอยู่ในบัญชีปาร์ตี้ลิสต์ของพรรค ซึ่งในส่วนของปาร์ตี้ลิสต์ 150 ชื่อ หลักการพิจารณาคือ อดีต ส.ส.ที่ประสงค์จะขอลงบัญชีรายชื่อไม่ขอลงเขต เพื่อจะได้มาช่วยงานพรรค หรืออดีตรัฐมนตรีที่เป็นอดีตผู้บริหารของพรรคต่างๆ มาก่อน แล้วขอจะลงปาร์ตี้ลิสต์ รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มาร่วมงานกับพรรค และอดีตข้าราชการที่มาอยู่กับพรรค คนเหล่านี้ก็จะมาอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค ส่วนใครจะอยู่ในลำดับรายชื่อลำดับที่เท่าไหร่ ก็จะพิจารณาจากความเหมาะสม คุณสมบัติต่างๆ

        ถามถึงกรณีคนมาสมัครอยู่กับพลังประชารัฐจำนวนมากจากหลายกลุ่มการเมือง ตอนนี้เริ่มมีปัญหาทับซ้อนเกิดขึ้นแล้วบางจังหวัด เช่น กำแพงเพชร สระบุรี สนธิรัตน์ แจงว่า ที่เห็นว่าจะทับซ้อนก็เพราะพรรคได้รับความสนใจมาก จนมีความประสงค์จะลงสมัคร ส.ส.ในนามพรรคพลังประชารัฐมาก แต่พรรคก็ต้องทำตามขั้นตอนหลักการ กรรมการสรรหาจะพิจารณาบุคลากรที่เหมาะสมที่สุดที่พรรคจะส่งลงเลือกตั้ง โดยบางคนที่เข้ามาอยู่กับพรรค ก็รู้ว่าเข้ามาแล้วอาจเจอกรณีพื้นที่จะลงทับซ้อนกัน แต่เขาก็บอกจะให้พรรคตัดสิน ซึ่งจุดยืนของพรรคที่เราคุยกันเบื้องต้นก็คือ เราจะส่งบุคลากรที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการมากที่สุด มีความนิยมมากที่สุด โดยพรรคก็มีวิธีการ เช่น การทำโพล และการตรวจสอบความนิยมของประชาชนในพื้นที่ถึงการยอมรับของคนที่พรรคจะส่งลงเลือกตั้งที่อาจไม่ตรงกับโพลทั้งหมดก็ได้ โดยคนที่พรรคส่งลง ส.ส.เขต ไม่จำเป็นต้องยืนพื้นว่าเป็นอดีต ส.ส.ไว้ก่อน เพราะหากคนไหนที่เหมาะที่สุดก็ต้องเป็นคนนั้น

-ในพรรคมีกลุ่มการเมืองเข้ามาอยู่ด้วยมาก แต่ละกลุ่มก็อาจกดดัน ขอให้คนของตัวเองได้ลงสมัคร?

 โชคดีนะ พูดไปอาจไม่มีใครเชื่อ แต่ละคนที่เข้ามาพลังประชารัฐ ไม่มีใครมาต่อรองอะไรเลย แปลกมากเลย คือเขาเข้ามา ก็เข้ามาโดยที่ไม่ได้มาต่อรองอะไร ตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคก็ไม่ได้มาต่อรอง แม้หลังจากนี้ทางพรรคจะมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรคเพิ่มขึ้น ยืนยันไม่ได้มีการพูดคุยเรื่องทำนองนี้ว่าใครเข้ามา กลุ่มไหนเข้ามาแล้วจะมาทำอะไรแบบนั้น แล้วจะเรียกว่ากลุ่มก็ไม่ถูกต้อง เพราะที่นี่ก็มีทั้งเดี่ยว ทั้งกลุ่ม ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ผสมผสานกันอยู่ บางคนเคยอยู่ด้วยกันมา แล้วตอนนี้มาเจอกัน ก็ยืนยันพลังประชารัฐไม่มีกลุ่ม สามมิตรก็บอกไม่มีกลุ่ม ผมมองแบบนี้ว่า การเมืองมีแต่เพื่อน แล้วก็มีเพื่อนสนิทกันเป็นกลุ่ม ก็แค่นั้นเอง สลายกลุ่มกันไปตั้งแต่ 18 พ.ย.แล้ว

        สนธิรัตน์-เลขาธิการพรรค พปชร. ที่ล่าสุดนั่งเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคอีกตำแหน่ง ออกตัวว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า พปชร.จะได้ ส.ส.หลังการเลือกตั้งกี่ที่นั่ง ตอนนี้ขอทำหน้าที่ให้ดีที่สุด วันนี้ก็เห็นโครงสร้างของสมาชิกที่มีศักยภาพมากขึ้นจากเดิมเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจากตรงนี้เราต้องติดตามประเมินต่อจากการเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

แต่ ณ เวลานี้ พรรคก็มีความมั่นใจว่าเราน่าจะได้มีโอกาสของการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะได้รับความไว้วางใจเป็นพรรคอันดับต้นๆ ในอันดับ 1-2 หรือ 3 แล้วแต่ ก็แปลว่าเราเป็นพรรคที่มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.มากระดับหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าจะได้เท่าไหร่ ขอทำงานก่อน”

-คาดหวังไว้ที่ร้อยที่นั่งขึ้นไป?

ก็หากจะเป็นพรรคการเมืองที่มีน้ำหนักจะเท่าไหร่ เป้าหมายเราก็ต้องไปตรงนั้น ผมจะไม่บอกว่าตัวเลขเท่าไหร่ แต่ผมจะบอกเมื่อประเมินในเชิงลึก ตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าผู้สมัครของแต่ละพรรคเป็นใคร แล้วเราจะแข่งกับใคร แข่งกันแล้วใครจะมา หากถึงเวลาเราก็จะตอบได้ เมื่อเห็นแล้วว่า ในบรรดาผู้สมัครที่แข่งกันในแต่ละเขต จะเป็นใครที่จะมีโอกาสชนะ แบบนั้นเราจะประเมินได้

อย่างที่ภาคอีสาน ผมว่าครั้งนี้พลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่ในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา ที่กระแสในพื้นที่ถือว่าดี เพราะในอดีตยากมากที่จะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งไปมีกระแสในภาคอีสาน ซึ่งจากการลงพื้นที่ของผมก็พบว่าพรรคพลังประชารัฐได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนในภาคอีสาน ส่วนพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคต้องเสนอตัวแน่นอนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะเป็นเมืองหลวง เราก็ต้องนำเสนอสิ่งที่จะทำให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานครเห็นว่าพรรคคือทางออก ทางเลือกสำคัญของการเมืองที่จะเกิดขึ้น

ชูธงพรรคขั้วที่ 3-ลดขัดแย้ง

-ที่เคยประกาศต้องการทำให้พลังประชารัฐขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองขั้วที่สาม ไม่ใช่แค่สองพรรคใหญ่ จะทำอย่างไร เพราะตอนนี้การเมืองหลักใหญ่ยังเป็นสองขั้ว คือเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์?

ทางเลือกที่สาม ผมคิดว่าผมเรียกว่าคือทางออกของบ้านเมืองดีกว่า การเมืองหากไม่มีพรรคพลังประชารัฐ ผมว่าจะถอยกลับไปสู่จุดเดิม คือมีพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งสองพรรคตอนนี้ก็ยังมีจุดยืนเหมือนเดิม ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ผมว่าหากย้อนกลับไปดูช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา จุดยืนของเขาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่ความรู้สึกขัดแย้งของบ้านเมืองกลับไม่ได้ลดลงไป ทั้งที่เกือบ 5 ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายก็พยายามจะทำเรื่องการสร้างความปรองดอง ทำให้ความขัดแย้งลดลง แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้ลดหายลงไป

        การก่อเกิดพรรคพลังประชารัฐ ก็เพราะเห็นสิ่งเหล่านี้ว่ามันเป็นบริบทเดิม สองขั้วก็ยังมีจุดยืนเดิม ดังนั้นพวกผมก็เลยมาอาสาทำพรรคพลังประชารัฐด้วยเหตุผลก็คือ บริบทไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นต้องมีบริบทใหม่ที่จะต้องเป็นตัวเชื่อมโยง มีจุดยืนใหม่ที่ไม่ใช่จุดยืนที่จะอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง การเกิดขึ้นของพรรคพลังประชารัฐจนถึงวันนี้ก็พิสูจน์สิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่

        ..เราบอกพรรคพลังประชารัฐจะเป็นทางออกของความขัดแย้ง ใครก็พูดได้ จะเป็นทางออกความขัดแย้ง แต่จะเป็นได้อย่างไร วันนี้พลังประชารัฐแสดงให้เห็นแล้วว่าเราเริ่มได้ ที่พรรคเราเชิญคู่ขัดแย้งทั้งหมดมาอยู่พลังประชารัฐ เราเห็นว่าถ้าคู่ขัดแย้งไม่มาร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน ความขัดแย้งก็จะอยู่เหมือนเดิม อันนี้คือคุโณปการของการเกิดพรรคพลังประชารัฐ วันนี้ถ้าไม่มีพลังประชารัฐ คู่ขัดแย้งก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้มีการข้ามไปจากสิ่งเดิมๆ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง วันนี้พลังประชารัฐพิสูจน์ให้เห็นแล้ว เห็นได้จากคนที่เคยอยู่ประชาธิปัตย์ก็มา เพื่อไทยก็มา อดีต กปปส.ก็มา อดีตพันธมิตรฯ ก็มา นปช.ก็มา นี่คือสิ่งที่เรากำลังบอกว่า นี่คือก้าวแรก

        เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา คุณจุรีพร สินธุไพร (น้องสาวนิสิต สินธุไพร แกนนำ นปช.) ก็มาพลังประชารัฐ คนก็เซอร์ไพรส์ เจอกันก็พูดคุยกัน อันเป็นการแสดงออกถึงนัยว่า จริงๆ แล้ว แกนนำ-คู่ขัดแย้งก็อยากหาทางออกเช่นกัน ดังนั้นที่ถามกันว่า พลังประชารัฐจะเป็นทางออกได้อย่างไร ก็พิสูจน์ได้จากบุคลากรที่เข้ามาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหลายคนล้วนเคยอยู่และเคยเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทั้งสิ้น ซึ่งถ้าไม่มีพลังประชารัฐ เป็นเสากลางให้ทุกคนเข้ามา ผมก็เชื่อว่าบริบทการเมืองต่อไปก็จะเหมือนเดิมทุกอย่างใช่หรือไม่ อันนี้คือคำถามที่ผมอยากถาม

        ...แล้วมาบอกว่า พลังประชารัฐสืบทอดอำนาจเผด็จการ แล้วในพรรคมีทหารหรือเปล่า ไม่มีทหารมาเป็นสมาชิกพรรคเลยสักคน อยากเชิญทหารมาเป็นสมาชิกพรรค ไม่มีใครมาสักคน ไม่มีกรรมการบริหารพรรคเป็นทหาร นี่คือการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ วันนี้ถ้าไม่มีปัจจุบัน ก็ยังมีอยู่สองพรรค แล้วผลเลือกตั้งจะเป็นอย่างไรก็เดาได้

        ถามไปว่า แต่คนที่เข้ามาพ ปชร.ก็ถูกวิจารณ์ จับตามองกันไปว่า มีการใช้เงิน ใช้คดีความ แบบนี้ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งหลังเลือกตั้งอยู่ดี สนธิรัตน์ ถามสวนกลับมาว่า แล้วผมถามทำไม คนเข้าไปพรรคภูมิใจไทย ทำไมไม่เห็นพูดกันเลยว่า มีการดูด มีการใช้คดีความกันเลย ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเขา มันไม่มีหรอก ต้องให้เกียรติกับสถาบันการเมืองและนักการเมือง นักการเมืองเวลาเขาจะย้ายพรรค เปลี่ยนพรรค มันเป็นเรื่องของชีวิตเขาเลยในการตัดสินใจ ผมพูดเสมอว่าเราทำการเมืองกัน เวลาใครทำให้เราพอใจ ก็บอกคนนั้นดี แต่ใครไม่ตรงกับความพอใจของเราก็ไปบอกคนนั้นไม่ดี ผมว่าต้องเคารพการตัดสินใจของแต่ละคน ซึ่งคนที่เขาเข้ามา หากคุณเป็นเขา คุณว่าเขาตัดสินใจง่ายหรือยาก

...แล้วที่ไปพูดกันเรื่องเงินทอง โถ่ นักการเมืองทุกคนเขาก็มีจุดยืนของเขา แต่ละพรรคเขาก็มีจุดยืนเขาทั้งสิ้น เงินไม่ได้ซื้อทุกอย่างได้หรอก ถ้าคนที่เขารับเงิน แล้วเขามา โดยเขารู้ว่าเขาจะสอบตก เขาจะมาหรือ ก็ไม่มีทางมาหรอกสำหรับผู้สมัคร ส.ส. เพราะชีวิตนักการเมืองคือต้องเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ต้องเป็นผู้ที่จะมีบทบาทบริหารบ้านเมือง เขาถึงจะตัดสินใจ แล้วมีการไปพาดพิงสถาบันยุติธรรม ผมว่าถ้าคิดกันแบบนี้หมด ผมว่าประเทศนี้อยู่ไม่ได้แล้ว ถ้าบอกว่าสถาบันยุติธรรม ใครก็จัดการได้ ถ้าพูดแบบนี้ก็หมายถึงว่าเราไม่มีสถาบันยุติธรรมแล้วหรือ ไม่ต้องเคารพกติกากันหรือ พรรคพลังประชารัฐ หัวใจใหญ่ หากไปถามคนที่เข้ามาอยู่กับเรา เขาจะบอกคล้ายกัน คือเห็นว่าพลังประชารัฐคือทางออก คือทางแก้ปัญหาการติดหล่มของประเทศไทยได้ในถนนสู่ประชาธิปไตย

-กองเชียร์ที่เคยสนับสนุนการเกิดขึ้นของพลังประชารัฐ แต่วันนี้เมื่อพรรคมีคนที่เคยอยู่กับเสื้อแดง เคยอยู่กับฝ่ายระบอบทักษิณ จะทำให้แนวร่วม กองเชียร์พรรค ผิดหวังหรือไม่?

หน้าที่ของพรรคคือต้องทำความเข้าใจ ถ้าเป้าหมายของประเทศเราคือ การเปลี่ยนผ่านเพื่อความสงบเรียบร้อย การเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้ไม่เกิดเหตุการณ์บนท้องถนนเหมือน 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ถ้าคนที่คิดว่าพลังประชารัฐจะเป็นทางออกไปสู่ตรงนั้น ผมคิดว่าถ้าเรารังเกียจทุกคนแล้วเราหวังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การเปลี่ยนแปลงโดยสงบ ไม่มีพวก ไม่มีฝ่าย แล้วเราไม่เปิดใจยอมรับคนที่เคยเป็นคู่ขัดแย้งเลย ผมว่าเราไปตรงนั้นไม่ได้ คือการปรองดอง ต้องเป็นการยื่นมือเข้าหากัน ต้องเอามือจับกัน เปิดใจคุยกัน มันถึงจะเริ่มปรองดองได้ ถ้าปรองดองไม่เริ่มจากจุดนี้ แล้วมันจะปรองดองได้ยังไง พลังประชารัฐที่เป็นอยู่ตอนนี้

จุดยืนพรรคเราไม่ได้เปลี่ยนแปลง จุดยืนเราคือพาประเทศไปข้างหน้า ไม่ให้ประเทศสะดุด ทำให้ประเทศสงบ และต้องลดความร้าวลึกที่เคยไปถึงครอบครัวอย่างในอดีต สังคมเราร้าวลึกมาก แล้วไม่เคยมีใครเยียวยาเลย มีครั้งไหนที่คนในครอบครัวคุยกันไม่ได้ มันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เรามาอาสาทำสิ่งนี้ และแน่นอนเมื่ออาสาทำสิ่งนี้ เราต้องเชิญคู่ขัดแย้งที่ปรารถนาสิ่งเดียวกันเข้ามาอยู่ร่วมกัน สิ่งนี้ผมคิดว่าเราอธิบายกับผู้สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐได้ ผมก็เชื่อว่าผู้สนับสนุนพลังประชารัฐเขาเข้าใจ

ต่อข้อถามว่า ยืนยันหากหลังเลือกตั้งพลังประชารัฐมีอำนาจรัฐ จะทำให้ความขัดแย้งลดลงได้ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ตอบเสียงหนักแน่น นั่นคือเป้าหมายเลย การชนะเลือกตั้งเป็นผลพลอยได้ แต่หัวใจใหญ่คือต้องไม่นำประเทศไปสู่ความขัดแย้ง แล้วไม่ใช่แค่วาทกรรมว่าจะทำ แต่ต้องเกิดผลในภาคปฏิบัติ เราปฏิบัติแล้ว วันนี้ผมคิดว่า ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร พลังประชารัฐไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร ถึงตอนนี้พรรคยังไม่เคยไปโจมตีพรรคไหน ผมทำการเมืองมาหลายเดือน ในฐานะคนเพิ่งเข้ามาโดยที่ไม่เคยทำงานการเมืองมาก่อน แต่ผมยังไม่เคยต่อว่า ไม่เคยวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบพรรคไหนเลยแม้แต่พรรคเดียว มีแต่พรรคการเมืองรุ่นพี่ วิพากษ์วิจารณ์ผมหนักๆ แต่ผมก็เข้าใจ แต่เราต้องข้ามไป เพราะการเมืองไม่ใช่แค่วาทกรรม เห็นแต่ตัวเองดี เห็นคนอื่นไม่ดี เราต้องยอมรับการเดินไปข้างหน้าด้วยกัน พรรคพลังประชารัฐจึงไม่เคยไปปะทะอะไร แต่ต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองก็ไปต่อไม่ได้ หากยังปะทะกัน เชือดเฉือนกัน ก็จะอยู่กับวังวนเดิมๆ แล้วก็ติดหล่มแบบนี้

ถอดหลักคิด-เลขาฯ พปชร.

พรรค ปชต.-พรรคเผด็จการ

-ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ตอนนี้เริ่มมีบางฝ่ายพยายามสร้างนิยามการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่าจะเป็นการสู้กันของฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายเผด็จการ?

ก็ถามกลับว่า ถ้าเป็นเผด็จการจะมีพรรคพลังประชารัฐทำไม เพราะตอนนี้เรากำลังจะเข้าสู่การมีประชาธิปไตย จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ถามว่า ที่บอกพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคเผด็จการ แล้วดูตรงไหนมาบอกว่าเราเป็นพรรคเผด็จการ ผมก็เพิ่งรู้จักทหารก็ตอนมาเป็นรัฐมนตรี ผมไม่เคยรู้จักทหารเลย เพราะผมไม่ได้อยู่ในวงการนี้ แล้วการที่ผมทำงานกับรัฐบาล คสช.ในฐานะของมืออาชีพ ผมเป็นเผด็จการหรือเปล่า ผมขอถาม แล้วหากบอกว่าพรรคนี้เป็นเผด็จการ แล้วตรงไหนคือโครงสร้างของเผด็จการ เพราะพลังประชารัฐก็เป็นระบบพรรค แล้วมาบอกว่าเป็นประชาธิปไตยกับไม่เป็นประชาธิปไตย ผมว่าแค่จุดเริ่มก็แบ่งฝ่ายกันแล้ว หากไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็ต้องไม่ให้ผมลงสมัครแข่งขันสิ เพราะผมต้อง disqualified ตั้งแต่วันแรกแล้วที่พลังประชารัฐเกิดขึ้น อันนี้ผมว่าเป็นวาทกรรมมากกว่าในการสร้างตัวตนของแต่ละฝ่าย

เมื่อเราเรียกร้องประชาธิปไตย การเลือกตั้ง เราก็ต้องเคารพกับทุกคน ที่ประสงค์สู่การเลือกตั้ง การเลือกตั้ง มีใครไปเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้หรือไม่ ก็ไม่ได้ เพราะอยู่ที่พี่น้องประชาชนตัดสินใจ พลังประชารัฐจะมีอำนาจไปบังคับคนให้กาบัตรเลือกตั้งได้ไหม?

ถ้ามาเรียกผมว่าเป็นฝ่ายเผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย ผมจึงคิดว่ามันเป็นการสร้างตัวตนของเขาให้มีความแตกต่างทางการเมืองมากกว่า แต่ผมคิดว่าไม่ได้อยู่บนข้อเท็จจริง ที่จะมาบอกว่าพรรคนี้คือประชาธิปไตย พรรคนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย ก็มองว่าเรื่องพวกนี้เป็นวาทกรรม เป็นสีสันการเมือง เพราะทุกพรรคการเมืองต้องคิดให้ตัวเองมีจุดขาย มีความแตกต่างก็เท่านั้นเอง

ข้อเท็จจริง ฝั่งประชาธิปไตย ฝั่งไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นวาทกรรมทั้งสิ้น เพราะพรรคผมเป็นประชาธิปไตย ถามว่า พรรคผมมีอะไรไม่เป็นประชาธิปไตยบ้าง นี่เป็นคำถามใหญ่มาก เวลาพูดกัน พรรคพลังประชารัฐมีความแตกต่างจากพรรคอื่นยังไงบ้างในความเป็นพรรค ก็ไม่มี เรื่องนี้อาจเพราะพลังประชารัฐมีคนเข้ามาเยอะ ก็เลยมองว่าพรรคพลังประชารัฐมีพลัง ที่ไปดึงใครมาอยู่ด้วยเยอะ แล้วมาบอกว่าเป็นพวกไม่เป็นประชาธิปไตย แบบนี้คือการที่เราไม่ยอมรับหลักพื้นฐานของตัวบุคคลตั้งแต่วันแรกแล้ว แล้วจากพื้นฐานแบบนี้ไม่ใช่หรือที่จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต เพราะเราไม่ยอมรับอย่างแท้จริง

ตัวคนพูดถามว่าเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ นี่ก็คือคำถาม เพราะก็ยังไม่ยอมรับแม้กระทั่งหลักพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย แล้วจะมาเรียกร้องประชาธิปไตยหรือ ก็ต้องดูกันไป ผมก็ไม่อยากวิพากษ์วิจารณ์ใคร คำถามแบบนี้ เราก็มองด้วยความรู้สึกที่แปลกเหมือนกัน เมื่อผมตัดสินใจทำการเมือง ผมไปเข้าพรรคนี้ แล้วมาบอกว่าพรรคนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วใช้อะไรเป็นตัววัด

 สนธิรัตน์-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ย้ำถึงจุดขายสำคัญทางการเมืองของพลังประชารัฐ ที่จะทำให้คนเลือกพรรค พปชร.ว่าคือการทำให้เห็นว่าพรรคพลังประชารัฐคือพรรคการเมืองที่ดำเนินนโยบายการบริหารประเทศให้มันต่อเนื่อง พลังประชารัฐคือพรรคที่มีองค์ประกอบสามส่วน ส่วนแรกก็คือ เรามีอดีตนักการเมือง อดีตผู้บริหารประเทศมาอยู่ด้วยกันที่พลังประชารัฐค่อนข้างมาก ทำให้พรรคมีคนที่มีประสบการณ์ ส่วนที่สอง พรรคมีปัจจุบัน คือพวกผมที่เป็นผู้บริหารประเทศอยู่ในปัจจุบัน พวกผม 4 รัฐมนตรี ก็คือคนที่อาสามาขอขับเคลื่อนประเทศให้ไปต่อข้างหน้า เพราะเราเห็นว่ามีภารกิจในประเทศนี้ที่ต้องเดินหน้าต่อและหยุดไม่ได้ และส่วนที่สาม ตอนนี้ก็เป็นเรื่องดีที่ทุกพรรคให้น้ำหนักกับคนรุ่นใหม่ ที่เป็น New wave การเมือง ทำให้คนรุ่นใหม่มีเวที   

พลังประชารัฐจึงมีสามส่วนดังกล่าวครบ แล้วการพูดเรื่องความขัดแย้งมันมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่มาพูดกัน จุดยืนของพรรคก็คือต้องมองว่าประเทศเราเหมือนทะเลาะกันในบ้านมาสิบกว่าปีแล้ว เหมือนพี่กับน้องที่ไม่ยอมกันเลยมาสิบกว่าปีแล้ว โดยที่เราไม่รู้เลยว่านอกบ้านของเรามันเปลี่ยนไปหมดแล้ว เวียดนามก็เปลี่ยนไปแล้ว กัมพูชาเขามีเสถียรภาพแบบของเขา เขาก็ไปของเขา รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่างๆ หากเรายังทะเลาะกันแบบนี้โดยไม่มองว่าโลกข้างนอกบ้านเราเปลี่ยนไปแล้ว เราคงไปไม่ได้

 ดังนั้นจุดแข็งอันที่สองของพรรคพลังประชารัฐคือ เราเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งใบ และเราจะขอยุติการทะเลาะกันในบ้าน และไม่มองการทะเลาะ ใครจะแพ้หรือชนะมันเป็นเรื่องเล็ก แต่ต้องไม่ทะเลาะกันแล้วพาออกไปนอกบ้านไปเห็นสิ่งรอบบ้าน ถ้าเรายังเห็นกันแต่ชัยชนะอยู่ในบ้านอยู่แบบนี้ ผมก็คิดว่าเราไปต่อไม่ได้แล้ว โลกมันเปลี่ยนเร็วจริงๆ มันน่ากลัวมาก

แก้จนสูตรใหม่ รบ.-พปชร.

Taobao Model

        ขอยกตัวอย่าง ผมเพิ่งกลับจากไปประเทศเกาหลีใต้ ผมไปพบบริษัท E-commerce ใหญ่ที่สุดของเกาหลีบริษัทหนึ่ง บริษัทนี้เป็นธุรกิจแบบ Start-up ตั้งมาแค่ 6 ปี แต่บริษัทนี้ผมคิดว่าเขาตั้งเป้าหมายไว้ว่า ค้าปลีกในประเทศเกาหลี 60-70 เปอร์เซนต์ ต้องอยู่กับบริษัทดังกล่าว แม้กระทั่งห้างดังๆ ยังจะเจ๊งเลย บริษัทนี้ผู้บริหารมาจากไหน พบว่ามาจาก Silicon Valley มาจาก Amazon มาจากผู้บริหารบริษัทระดับโลกมาทำงานที่บริษัทดังกล่าว ใช้เวลาแค่ 6 ปี เติบโตแบบยอดขายทุกอย่างซื้อขายผ่านบริษัทนี้หมด คำถามคือแล้วแบบนี้ ของเราใครจะแก้ หากเรายังทะเลาะกันอยู่ ตอนนี้คนข้างล่างถูกทิ้งให้แรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วมาบอกว่าจะลดช่องว่าง ลดความเหลื่อมล้ำ

ทั้งหมดคือสิ่งที่ผมจะบอกว่าคือ จุดขายของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งที่ผ่านมาเราทำมาตลอด เอาเป็นว่าชุดทีมเศรษฐกิจที่พวกผมเข้ามาในช่วง 3-4 ปีกว่าที่เข้ามา เราทำเรื่องพวกนี้ตลอด ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ แล้วต้องมองว่าเราจะทำอย่างไรให้มันทัน ทำส่งผ่านให้ประชาชนได้อย่างไร

 วันที่ 5 ธันวาคมนี้ ผมจะไปที่บริษัท Alibaba ผมไปเรื่องนี้เลย เพราะ Alibaba มีเครื่องมืออยู่ตัวหนึ่งที่จะแก้ความยากจนขึ้นมาได้ ที่ประเทศจีน ชื่อว่า Taobao Village Model ผมจะไปดูเรื่องนี้เลย แล้วผมก็คุยกับแจ็ก หม่า ครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่เซี่ยงไฮ้ ผมบอกแจ็ก หม่า จะนำ Taobao Village Model มาแก้ความยากจนที่เมืองไทย แจ็ก หม่า บอกยินดี ซัพพอร์ตผมเต็มที่ ผมก็จะนำคณะไปดูเรื่องนี้ เพื่อจะดูว่าจะนำมาแก้ปัญหาความยากจนในประเทศได้อย่างไร

 การแก้ปัญหาความยากจนวันนี้ ต้องแก้ให้ทันกับมิติการเปลี่ยนแปลงของโลก จุดขายที่สำคัญคือ พรรคพลังประชารัฐเข้าใจบริบทของโลก และเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลง แล้วเราอยู่ในรอยต่อนี้มายาวนาน ทำให้เรามั่นใจว่าหากเราได้เข้ามาบริหารประเทศต่อ ถ้าทีมพวกเราได้มีโอกาสเข้ามาทำงานต่อ ผมเชื่อว่าเรากำลังเดินไปสู่จุดแข็งดังกล่าวอยู่และจะเดินไปสู่จุดนั้นได้

สนธิรัตน์-รมว.พาณิชย์ มือเศรษฐกิจรัฐบาล ยังกล่าวตอบหลังเราถามว่า สิ่งที่รัฐบาลทำ เช่น บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย-โครงการอีอีซี พรรคพลังประชารัฐจะนำไปต่อยอดหาเสียงอย่างไรหรือไม่ โดยเขาย้ำว่า อะไรที่ดี เราก็จะนำไปดำเนินการในการทำนโยบายให้ดีขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สิ่งที่ประเทศไทยไปได้ช้ากว่าประเทศอื่น หัวใจใหญ่ก็เพราะประเทศไทยขาดการดำเนินนโยบายที่ต่อเนื่อง เพราะเราเปลี่ยนนโยบายตลอดเวลา นั่นคือที่มาของรากความคิดที่ผมคิดว่า รัฐบาลคิดถูกก็คือว่า การคิดให้ทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่แม้มีใครพูดอะไรก็ตามในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ มาว่ากันสารพัดรูปแบบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดหลักมันถูก ที่ก็คือชาติต้องมียุทธศาสตร์ชาติที่ต่อเนื่อง ต้องมีเส้นทางเดินที่ชัดเจนว่าจะเดินไปอย่างไร โดยเส้นทางนี้ต้องถูกทำให้ต่อเนื่อง เพราะประเทศเรา สิ่งที่เป็นจุดอ่อนคือหากเปลี่ยนรัฐบาลก็เปลี่ยนนโยบาย ทำให้ไม่มีความต่อเนื่อง แล้วไม่มีหรอกประเทศไหนที่เจริญได้โดยเปลี่ยนแปลงนโยบายกันทุก 2-3 ปี

หากใครปฏิเสธยุทธศาสตร์ชาติ ที่หากดูกันที่รากความคิด ผมก็คิดว่า เขาไม่ได้มองประเทศระยะยาว แต่มองประเทศระยะสั้น เขามองอำนาจระยะสั้น ไม่ได้มองผลต่อประเทศระยะยาว เพราะประเทศต้องมียุทธศาสตร์ชาติที่คือทิศทางของประเทศเหมือนกับพิมพ์เขียวของประเทศที่จะเดินไป ไม่อย่างนั้นก็จะสะเปะสะปะกันไปหมด

ดังนั้นอะไรที่เป็นสิ่งที่ดีของรัฐบาลนี้ พรรคพลังประชารัฐก็จะหยิบขึ้นมา มาดูว่าอะไรที่ควรนำไปใช้ต่อ หรือแม้กระทั่งนโยบายที่ดีๆ ของรัฐบาลอื่นในอดีต ถ้าหากว่าดีและเป็นประโยชน์ ดีกับประเทศและประชาชน โดยเฉพาะกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน เราเอามาทำต่อ พัฒนาต่อ ทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น อะไรที่ดีเราไม่เคยปฏิเสธและพร้อมทำต่อให้มันดี

-เกรงหรือไม่หากหลังเลือกตั้ง พลังประชารัฐไม่ได้อยู่ในฝ่ายรัฐบาล สิ่งที่รัฐบาลทำไว้ เช่น บัตรสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย ปรากฏว่ารัฐบาลที่เป็นคนละขั้วกันเขาไม่เอาด้วย?

นั่นแหละครับถึงเกิดพรรคพลังประชารัฐด้วยอีกเหตุผลหนึ่ง เพราะเราเห็นว่านโยบายที่เป็นประโยชน์กับประเทศมากๆ อย่างโครงการอีอีซี หากไม่มีรัฐบาลพลังประชารัฐ ก็ห่วงว่านโยบายเหล่านี้จะเดินไม่ถึงที่สุด ประโยชน์จะไม่ตกกับประเทศมากที่สุด อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจที่ต้องมีพรรคพลังประชารัฐ เพื่อทำความต่อเนื่องนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ที่เราเห็นว่าสำคัญ ที่เราทำกันมา ทุ่มเทกันมาหลายปี เราก็อยากให้ไปต่อ นี่ก็เป็นการตัดสินใจของพวกเรา

 

ใกล้ทาบบิ๊กตู่ แคนดิเดตนายกฯ?

ให้พรรคอันดับ 1 ตั้ง รบ.ก่อน

       สนธิรัตน์-รมว.พาณิชย์ ซึ่งจริงๆ เข้าสู่การเมืองครั้งแรกก็คือเป็นทีมงานที่ปรึกษา ประวัฒน์ อุตตะโมต นักการเมืองรุ่นใหญ่จันทบุรี สมัยเป็น รมช.เกษตรฯ ตอนอยู่พรรคชาติพัฒนา และหลังจากนั้นก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองอีกเลย จนกระทั่งไปรู้จักกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่มูลนิธิสัมมาชีพ จนได้รับการผลักดันให้มีตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในยุค คสช. และตามด้วยสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) จนถูกดึงไปร่วมงานเป็นทีมเศรษฐกิจรัฐบาล กับตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ และ รมว.พาณิชย์ตามลำดับ และตามด้วยการเป็นคีย์แมนตั้งพรรคพลังประชารัฐ

        แม้จะเป็นนักการเมืองหน้าใหม่ แต่พอเข้าสู่การเมืองเต็มตัว ก็มาเป็นเลขาธิการพรรคใหญ่อย่าง พลังประชารัฐ สนธิรัตน์ ที่เวลานี้หลายคนมองว่าเขากำลังเป็น ดีลเมกเกอร์การเมือง คนสำคัญ โดยเฉพาะหากพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง โดยเจ้าตัวย้ำว่า พลังประชารัฐคุยได้กับทุกพรรค เพราะบอกตั้งแต่ตั้งพรรคว่าเราคุยกับทุกพรรคการเมือง ตอนนี้ก็พิสูจน์แล้วว่าคุยได้ทุกพรรค ถึงมาอยู่ที่นี่กันทุกพรรค เราไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร เราไม่ได้เริ่มต้นว่า จะคบใคร ไม่คบใคร เพราะถ้าใครคิดจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ แล้วเริ่มต้นแล้วว่าจะคบใคร ไม่คบใคร เขากำลังจะพาประเทศไปสู่ความขัดแย้งอีกรอบ

.. มีบางพรรคเริ่มต้นก็บอกจะคบใคร ไม่คบใครแล้ว แล้วแบบนี้จะพาประเทศไปอย่างไร ยังช้ำไม่พออีกหรือ จะต้องไปสู่จุดเดิมอีกหรือ จุดยืนของพรรคพลังประชารัฐก็คือ เราพร้อมจะคุยหมด ส่วนที่แกนนำ 2 พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์แสดงท่าทีตั้งป้อมไม่เอาพลังประชารัฐ ก็มองว่าเป็นเรื่องลีลาการเมือง ผมว่าทุกคนปรารถนาดี พูดคุยกันได้ ผมเชื่อว่าพรรคการเมืองทุกพรรคคุยกันได้หมด

รมว.พาณิชย์-เลขาธิการพรรค พปชร. ย้ำถึงความชัดเจนเรื่องบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ 3 ชื่อของพรรคว่า จะเป็นไปตามขั้นตอน แต่ระหว่างนี้ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะมีใครบ้าง โดยพิจารณาจากหลักก่อนว่าใครจะมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ ที่จะเป็นนายกฯ ของประเทศไทยได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าผมจะเป็นนายกฯ แล้วจะเป็นได้เลย รวมถึงต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นผู้นำ รวมทั้ง บุคคลนั้น ประชาชนต้องศรัทธาและได้รับความนิยมจากประชาชน ตรงนี้สำคัญ เพราะคนเก่ง คนมีความสามารถ คนดี แต่หากขาดศรัทธา ขาดความนิยมชมชอบของประชาชน ก็บริหารประเทศไปได้ยาก ซึ่งเวลานี้พรรคก็รอดูกันอยู่ โดยดูจากสมาชิกที่เข้ามาด้วย ส่วนจะเสนอหนึ่งชื่อ สองชื่อ หรือสามชื่อ ก็เป็นไปได้ทั้งสิ้น ถ้าอยู่ในข่ายตรงนี้เราเสนอทั้งนั้น โดยทั้งหมดอยู่ที่การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญก็เปิดกว้างให้ทั้งคนในและคนนอกพรรค

-พลเอกประยุทธ์บอกยังไม่มีใครมาเชิญให้ไปอยู่ในบัญชีรายชื่อ 3 ชื่อ แล้วพลังประชารัฐจะไปเชิญมาหรือไม่?

ถ้าวันนั้นกรรมการบริหารพรรค พิจารณาว่าท่านนายกฯ พลเอกประยุทธ์ก็เป็นหนึ่งในนั้น เราก็จะลองทาบทามท่านดู แต่ท่านจะตอบรับหรือไม่ยังไม่รู้ ท่านเคยบอกท่านจะเอาหรือ หากถึงเวลาท่านไม่เอา จะว่าอย่างไร คือหลักการก็อยู่บน 2 หลักการที่บอกในการพิจารณาแล้ว หากถึงเวลาใครที่อยู่ในหลักการนั้น พอถึงเวลาเราก็จะไปทาบทาม หากทาบทามแล้วถ้าท่านไม่เอา ก็จบไป แต่หากทาบทามแล้ว โดยท่านเห็นว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่ท่านไว้ใจได้ เพราะผู้ที่ไปทาบทามก็ต้องไว้วางใจพรรคด้วย ตรงนี้มีหลายเงื่อนไข คือหาคนคนนั้น เมื่อหาเจอแล้ว ก็ต้องไปทาบทามท่าน เมื่อทาบทามท่าน ก็มีสิทธิ์จะตอบรับหรือไม่ตอบรับ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะตอบรับ ซึ่งส่วนตัวก็มีชื่ออยู่ในใจบ้าง เพราะผมมีหน้าที่ต้องดูด้วย และมีส่วนในฐานะกรรมการบริหาร ที่ต้องช่วยกันมองหา

-ความเห็นส่วนตัวเห็นว่าจำเป็นหรือไม่ที่พรรคที่จะตั้งรัฐบาล ต้องให้พรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 1 ตั้งรัฐบาลก่อน?

โดยมารยาททางการเมืองก็ควรให้พรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 1 ก่อน อันนี้คือหลักการ พรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับ 1 ก็ควรมีโอกาสเป็นพรรคแรกในการรวบรวมเสียง หากพรรคอันดับ 1 รวบรวมเสียงได้ ก็ต้องเป็นสิทธิ์ของพรรคอันดับ 1 ในหลักประชาธิปไตยถูกไหมครับ ก็เดินไปตามหลักการ พรรคพลังประชารัฐเคารพในหลักการอยู่แล้ว ที่จะเป็นใครก็ไม่รู้ หากพรรคพลังประชารัฐได้เสียงอันดับ 1 ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคพลังประชารัฐ แต่หากบังเอิญพรรคได้เสียงอันดับ 1 หากเกิดเขารวบรวมเสียง ส.ส.ไม่ได้ ก็เป็นสิทธิ์ของพรรคอันดับ 2

เมื่อถามว่า เห็นด้วยไหมหากจะมีนายกฯ ก๊อก 2 นายกฯ คนนอก เลขาธิการพรรค พปชร. ตอบว่า จุดยืนพรรคเราคือ เสนอนายกฯ ที่มาจากคนใน แต่จริงๆ ก็ต้องอีกหลายอย่าง เกิดจุดยืนพรรคไปแล้ว แต่เกิดวันนั้น รวบรวมเสียงกัน ทางพรรคต่างๆ ที่มารวมกัน เห็นต่างกันแล้วเกิดไปออกที่นายกฯ คนนอก มันก็อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ถูกไหม แต่หากจะไปทางนั้น ก็ต้องใช้เสียงถึง 376 เสียง คือมันก็มีช่องออกของมันแต่ละช่อง ว่าหากนายกฯ คนในของแต่ละพรรคที่เสนอแล้วเกิดว่าตกลงกันไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้มีนายกฯ คนนอก

-เป็นไปได้ไหม นายกฯ อาจจะมาจากชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้เสียง ส.ส.อันดับอื่น เช่น ได้อันดับ 3?

ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคจะตกลงกัน เช่นหากเกิดวันนั้นเสียงไม่พอแล้วมีแนวโน้มต้องรวมเสียงหลายพรรค ก็คงเป็นข้อตกลงของพรรคร่วมรัฐบาลขณะนั้นที่เขาจะตกลงกัน ซึ่งมันก็มีทางออกได้หลายทาง ก็เป็นไปได้ทั้งหมดในทางการเมือง

วกกลับมาคุยเรื่องในพรรคพลังประชารัฐ พอเราถามขยายความถึงสิ่งที่ได้พูดไว้ตอนประชุมใหญ่พรรคเมื่อ พ.ย. ว่า พรรคมี นินจา ที่ยังไม่ปรากฏตัว หมายถึงใคร สนธิรัตน์ ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า พูดเอาสนุก ไปตีความกันเยอะแยะ ก็มาเรียกพวกผมว่า กุมาร กุมาร แต่ผมก็ดีใจเหมือนกัน อยู่ดีๆ แก่แล้วกลายเป็นเด็ก ก็มาแซวพวกผม ผมก็เลยยกตัวอย่างนินจา พวกพี่ๆ ที่เป็นรุ่นใหญ่ทางการเมืองทั้งหลาย พี่สมศักดิ์ เทพสุทิน พี่สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ พวกนี้เดินเข้ามาสู่พรรค พวกนี้ก็คือคนที่ตัวจริงเสียงจริงทางการเมือง แล้วเข้ามายังพรรคพลังประชารัฐ ผมก็พูดเปรียบไป บอกว่าก็เห็นมีอยู่ในห้องประชุมใหญ่พรรคเมื่อ 18 พ.ย. ที่โรงแรมแชงกรี-ลา ก็นินจาทั้งนั้นเลย มาปรากฏตัวแล้วไง แล้วเลยกลายเป็นวาทกรรมนินจาขึ้นมาอีก ไปถามกันว่าใครเป็นนินจา

-จะมีนินจาเจ้าสำนักมาอยู่ด้วยอีกไหม คนที่ไม่ได้มาในวันนั้น?

ใครล่ะ (ถามกลับ) คืออย่างนี้พรรคการเมือง ต้องถูกโอบอุ้มโดยคนในบ้านเมือง คำว่านินจา แปลอีกนัยหนึ่งก็ได้ คือคนที่ไม่ได้ประสงค์จะเข้าสู่การเมือง แต่พร้อมจะช่วยชาติบ้านเมือง แบบนี้ผมก็เรียกว่านินจา ผมถามว่าหากไปเชิญคนเข้าสู่การเมือง เขาจะมาหรือไม่ ส่วนใหญ่ก็ไม่เข้ามา เพราะการเมืองเข้ามาแล้ว ส่วนใหญ่ก็ทำให้เจ็บช้ำ ต้องเจออะไรหลายอย่าง นินจาในความหมายของผมก็คือคนที่พร้อมจะช่วยชาติบ้านเมือง แต่ไม่พร้อมจะเข้าสู่การเมือง แต่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยโอบอุ้ม พรรคการเมืองจะไปได้ ต้องได้รับการโอบอุ้มจากสังคมทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย พรรคนั้นถึงจะไปได้

เลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวปิดท้ายถึงเส้นทางของพรรคต่อจากนี้ว่า เป็นความฝันของผมมายาวนาน ของคนที่เคยอยู่นอกการเมือง ที่อยากเห็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนที่ประสงค์จะช่วยชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง จึงจะทำพรรคพลังประชารัฐให้เป็นสถาบันการเมืองระยะยาว ที่ผ่านมาคนไม่อยากเข้ามาการเมือง เพราะเป็นเรื่องของการที่อาจเล่นกันแรง คนดีๆ ก็เลยไม่เข้ามาการเมือง ผมก็ตั้งใจให้พรรคพลังประชารัฐ ทำให้คนดีๆ อยากเข้าสู่การเมือง ทั้งในบทบาทของคนที่มาอยู่แถวหน้าหรืออยู่ข้างหลัง.  

 

ณ เวลานี้ พรรคก็มีความมั่นใจว่าเราน่าจะได้มีโอกาสของการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะได้รับความไว้วางใจเป็นพรรคอันดับต้นๆ ในอันดับ 1-2 หรือ 3 แล้วแต่ ก็แปลว่าเราเป็นพรรคที่มีโอกาสที่จะได้ ส.ส.มากระดับหนึ่ง...เราเชิญคู่ขัดแย้งทั้งหมดมาอยู่พลังประชารัฐ ถ้าคู่ขัดแย้งไม่มาร่วมกันสร้างสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน ความขัดแย้งก็จะอยู่เหมือนเดิม อันนี้คือคุโณปการของการเกิดพรรคพลังประชารัฐ

 

ถ้าวันนั้นกรรมการบริหารพรรค พิจารณาว่าท่านพลเอกประยุทธ์เป็นหนึ่งในนั้น เราก็จะลองทาบทามท่านดู แต่ท่านจะตอบรับหรือไม่ยังไม่รู้ 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"