'เจ๊หน่อย'หนีลงเขต สนามเลือกตั้งดอนเมืองระอุ รัฐบาลยันทั่วโลกเชื่อมั่นไทย


เพิ่มเพื่อน    

    รัฐบาลย้ำการเยือนเยอรมนีเป็นภารกิจสะท้อนการยอมรับและความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลไทยอย่างสมบูรณ์ ขณะที่พรรคการเมืองยังถล่ม "บิ๊กตู่" สบถออกสื่อ "มาร์ค" แนะถ้าไม่อยากหงุดหงิดอีกให้เลิกแทรกแซงการเลือกตั้ง "จตุพร" แช่งความอยุติธรรมมักเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอ "เสรีพิศุทธ์" เดือดด่า คสช.บ้าอำนาจ ท้านายกฯ ไขว้ตัวต่อตัว เดิมพันเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต
    เมื่อวันเสาร์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์การเดินทางไปเยือนเยอรมนีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าช่วงเวลาที่ไปนั้นเป็นช่วงที่ทั้ง 2 ฝ่ายสะดวกตรงกัน และเหนือสิ่งอื่นใด ภารกิจนี้สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับและความเชื่อมั่นของประชาคมระหว่างประเทศที่มีต่อรัฐบาลไทยอย่างสมบูรณ์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ไปเยือนสหรัฐ ออสเตรเลีย อังกฤษ และฝรั่งเศสมาแล้ว
    การที่ไทยมีแผนจัดการเลือกตั้งที่ชัดเจนและการเป็นประธานอาเซียนในปี 2562 เป็นสิ่งที่เยอรมนีให้ความสำคัญ เพราะไทยจะมีบทบาทอย่างมากในการเชื่อมโยงอาเซียนและเอเชีย 
    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า การสร้างความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในโลก ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งทุกรัฐบาลรู้ดีในข้อนี้ จึงไม่น่ามีข้อสงสัย 
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านไลน์ออฟฟิเชียล กรณี พล.อ.ประยุทธ์ไม่พอใจที่นักการเมืองคัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า "เข้าใจได้ครับว่าทำไม พล.อ.ประยุทธ์ต้องสบถเมื่อถูกถามเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ไม่มีคำสั่ง คสช. ไม่มีนักการเมืองสุโขทัยที่ประกาศสนับสนุนท่าน ผมมั่นใจว่าการแบ่งเขตตามรูปที่ออกมาไม่มีทางเกิดขึ้น เพราะไม่อยู่ในแบบที่ กกต.จังหวัดเสนอมา ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยากหงุดหงิดอีก ก็ควรแสดงให้เห็นว่าจะทำอะไรให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าจะไม่ใช้อำนาจก้าวก่ายแทรกแซงในเรื่องการเลือกตั้ง โดยเฉพาะหากตนเองมีส่วนได้เสียกับการเลือกตั้งครั้งนี้" 
    ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีสิทธิ์ใช้ประชาชน หรือข้าราชการประจำเป็นที่ระบายอารมณ์ ไม่ว่าจะทำงานหนักแค่ไหน เครียดเรื่องอะไร ไปโกรธใครที่ไหนมา
คนเป็นนายกฯ มีหน้าที่ต้องแก้ไขปัญหาของประเทศ  แบกรับปัญหาประชาชน ต่อให้งานที่หนัก ปัญหาที่มากอย่างไร ก็ต้องก้มหน้าปฏิบัติและแก้ไขเท่านั้น ถ้าถึงที่สุดจริงๆ ทำได้อย่างเดียว คือเล่าความจริงเกี่ยวกับการทำงานให้ประชาชนฟัง แต่ไม่มีสิทธิ์มาใช้คำผรุสวาท ด่ากราด ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปทบทวนไตร่ตรองให้ดี ว่าการมีพฤติกรรมแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือที่จะอาสาตัวมาทำหน้าที่นายกฯ 
ไม่เหมาะนั่งนายกฯ
    "ต่อไปในอนาคต ถ้ายังควบคุมอารมณ์หรือเห็นประชาชนเป็นที่ระบายอารมณ์ ผมคิดว่าไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะนั่งในตำแหน่งนี้ หรือหวังที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้ต่อไป” นายสาธิตกล่าว
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พรรค พปชร.ไม่มีประเด็นหรือเงื่อนไขใดที่จะนำเสนอต่อที่ประชุม แต่จะเข้าร่วมเพื่อเดินตามโรดแมปที่เดินหน้าเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้ง พรรค พปชร.พร้อมและยินดีดำเนินการตามแบบไม่มีเงื่อนไข ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ประกาศออกมา และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเอื้อให้พรรค พปชร.ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นนั้น การแบ่งเขตที่ออกมาก็มีหลายพื้นที่ที่พรรค พปชร.เห็นว่าก็เสียเปรียบ แต่ก็ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใดเหมือนที่หลายพรรคไม่พอใจ เพราะพรรค พปชร.ให้ความเชื่อถือ กกต.
     ส่วนการคัดสรรผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งระบบเขตที่พรรคมีผู้ประสงค์ลงสมัครเป็นจำนวนมาก และอาจทับซ้อนกันนั้น นายสนธิรัตน์ระบุว่า พรรคจะจัดสรรตามระบบ และคำนึงถึงความนิยมของประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นอดีตรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือคนรุ่นใหม่ รวมถึงวันนี้มีรายชื่อบุคคลที่สนใจอยากทาบทามส่งชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคแล้วหลายคน รวมถึง พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเห็นว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดบุคคลหนึ่ง แต่ทั้งหมดนี้ พรรคยังไม่ได้มีการหารือ เพราะยังมีเวลา แต่บุคคลที่พรรคจะเลือกนั้น จะต้องเป็นบุคคลที่ดีที่สุด มีความรู้ความสามารถเหมาะสมพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี
    นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกคณะกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีการเขตเลือกตั้งที่ จ.สุโขทัย ว่า หากเราสังเกตการณ์แบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ของ กกต. จะเห็นได้ว่าใกล้เคียงกับการแบ่งเขตการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ไม่ได้เป็นการเริ่มใหม่หรือแบ่งตามอำเภอใจ ซึ่งการแบ่งเขตนี้สอดคล้องกับที่รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ให้จำนวนประชากรในแต่ละเขตมีความใกล้เคียงกันมากที่สุด 
    ส่วนที่มีการวิจารณ์ว่ามีการเอา อ.ทุ่งเสลี่ยม มาเชื่อมกับเขต 2 ทั้งที่มีอาณาเขตติดต่อกันเพียง 500 เมตรเท่านั้น ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งปี 2557 กกต.เคยแบ่งเขตแบ่ง อ.เมืองฯ ไปอยู่กับอีกเขต ตอนนั้นคนที่ได้ประโยชน์ไม่ได้ร้องเรียนอะไร เห็นดีเห็นงามด้วย แต่พอคราวนี้ตนเองไม่ได้ประโยชน์และไม่ได้เปรียบหรืออย่างไรถึงออกมาโวยวาย ตนก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ซึ่งโดยมารยาทไม่น่าทำ ควรจะเอาเวลาไปคิดวิธีการหาเสียงจะดีกว่า
"สมชัย"ยังไม่โวยวาย
    “ผมคิดว่าการแบ่งเขตแบบใหม่ของ กกต.นี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับใครหรือพรรคใด การแบ่งเขตแบบนี้เคยเกิดสมัยการเลือกตั้งปี 54 สามารถไปเอารูปมาเปรียบเทียบกันได้ ซึ่งหลังจากนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็น กกต. ทำไมไม่เห็นโวยวายอะไร หรืออาจจะเป็นเพราะว่าตอนนั้นยังไม่แสดงตัวชัดเจน แต่ตอนนี้เปิดตัวเป็นทางการแล้ว”
    ด้านนายวิเชียร ชวลิต นายทะเบียนพรรค พปชร.  ยืนยันว่า พรรค พปชร.ไม่ได้กดดันหรือชี้นำสั่งการองค์กรอิสระได้ ทั้งนี้ กรณีที่เป็นข่าวเป็นเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้น จึงน่าจะรอการประกาศแบ่งเขตทั้งหมดว่าออกมาเป็นอย่างไรดีกว่า
    “ใครที่วิจารณ์ว่าพรรค พปชร.เตรียมผู้สมัคร ส.ส. เสร็จเรียบร้อยแล้วหรือวางตัวกันครบทุกเขตแล้ว ไม่เป็นความจริง ผมยืนยันว่าเราอยู่ในขั้นตอนดำเนินการ เพียงแต่ต้องบอกความจริงว่าเรามีความพร้อมในเรื่องตัวบุคลากรที่จะเสนอตัวเป็นผู้สมัครมากกว่าพรรคอื่น และมั่นใจว่าเมื่อถึงกระบวนการสรรหาผู้สมัครแล้วจะไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการทับซ้อนพื้นที่”  นายวิเชียรกล่าว
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ในฐานะกองเชียร์พรรคเพื่อชาติ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. แสดงอาการไม่พอใจเกี่ยวกับการตั้งคำถามถึงการแบ่งเขตเลือกตั้งว่า เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็นข้อคลางแคลงใจตั้งแต่มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2561 ออกมา แต่ตนไม่กังวลเรื่องการแบ่งเขต เพราะถ้าพรรคใดส่ง 350 เขต ก็ต้องสู้เท่ากันทุกเขต จึงไม่มีผล เพียงแต่การแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นความไม่ยุติธรรมตั้งแต่การเริ่มต้นของกระบวนการ 
    เขากล่าวว่า เรื่องนี้จะไปออกดอกออกผลในวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจให้ตัวเองเป็นหนึ่งในสามบัญชีผู้ถูกเสนอตัวเป็นนายกฯ ของพรรคการเมือง วันนั้นการกระทำที่ผ่านมาทุกอย่างจะเป็นเหมือนใบเสร็จว่าทำเพื่อตัวเอง และจะเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์มีทุกขลาภมากที่สุด เพราะคนไทยมีความรู้สึกได้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มันถูกออกแบบเพื่อคนใดคนหนึ่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น
    "ผลเลือกตั้งในประเทศไทย ฝ่ายที่ใช้ความอยุติธรรมมักเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสมอ แต่ไม่ว่ากติกาจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือพาประเทศให้เดินไปถึงวันเลือกตั้งให้ได้" นายจตุพรกล่าว 
    นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กแฟนเพจว่า “ไม่ว่าพวกเขาจะแบ่งเขตอย่างไร แต่ผู้รักประชาธิปไตยไม่หวั่นไหว ต้องขุดหลุมฝังศพทางการเมืองให้พวกเผด็จการให้ได้ กวาดพวกเผด็จการให้พ้นไปจากเวทีการเมืองของประเทศให้ได้"
"เจี๊ยบ" ชกข้ามรุ่น
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.นครพนม และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งดังกล่าวน่าจะละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสียเอง ไม่เช่นนั้นจะใช้ ม.44 ออกคำสั่งที่ 16/2561 ทำไม ซึ่งในข้อ 1 วรรคสอง ของคำสั่งดังกล่าว ได้นิรโทษกรรมตัวเอง และ กกต. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง นับเป็นข้อสังเกตที่ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก
    "ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ไม่ติดใจที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวคำหยาบ คำไม่สุภาพออกสู่สาธารณะ เพราะโฆษกรัฐบาลได้ออกมาขอโทษประชาชนแทนท่านแล้ว แต่ที่ติดใจเป็นคำกล่าวของแกนนำพรรคพลังประชารัฐท่านหนึ่งที่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกดีไซน์มา ออกแบบมาเพื่อพวกเรา และประการสำคัญ จากการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยวพิสดารเป็นคอคอดกระใน จ.สุโขทัย ทั้งที่จำนวนเขตเลือกตั้งเท่าเดิม อาจเกิดวลีเด็ดตามมาอีกได้ว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่นี้ ถูกดีไซน์มา ออกแบบมาเพื่อประโยชน์ของพวกเรา และเขตเลือกตั้งที่บิดเบี้ยวพิสดารนี้ อยู่ที่ จ.สุโขทัย" อดีต ส.ส.เพื่อไทยกล่าว
    ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ทำไม พล.อ.ประยุทธ์ไม่ออกมากล่าวขอโทษประชาชนด้วยปากของตัวเอง ถ้า พล.อ.ประยุทธ์รู้สึกสำนึกผิดจริงๆ ที่ได้กล่าวคำหยาบคาย และแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดต่อหน้าสาธารณชน เพราะไม่พอใจที่โดนวิจารณ์เรื่องการแบ่งเขตแบบพิสดารเหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้บางพรรค ท่านก็ต้องออกมาพูดขอโทษด้วยตนเอง ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกน้องออกมาพูดแทน เพราะมันดูไม่จริงใจ 
    เรื่องสำคัญแบบนี้ท่านต้องทำเอง จะให้คนอื่นออกโรงแทนได้อย่างไร นี่ถ้าไม่มีเฟซบุ๊กไลฟ์ของเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์เป็นหลักฐาน รัฐบาลคงไม่ยอมรับว่ามีการพูดจาหยาบคายไม่เหมาะสมจริง เพราะอันที่จริง รัฐบาลได้เชิญนักข่าวออกจากห้องประชุมไปแล้วเพื่อปิดข่าว แต่ท่านไม่รู้ว่ามีการถ่ายทอดทางเฟซบุ๊ก ทำให้ข่าวหลุดออกมาจนได้  
    ร.ท.หญิงสุณิสากล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีได้แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมและขาดวุฒิภาวะหลายครั้ง ถ้าท่านรู้ตัวแล้วแก้ไขก็จะดีกับตัวท่านเอง แล้วอย่ามาอ้างว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับการแบ่งเขตของ กกต. เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นคนเซ็นคำสั่งให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งเอาเองตามใจชอบ โดยไม่จำเป็นต้องสอบถามความคิดเห็นของประชาชน นี่คือเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านถึงโจมตีรัฐบาลว่าอยู่เบื้องหลังการแบ่งเขตเลือกตั้งที่เละเทะและไม่เป็นธรรม ยกเว้นพรรคที่ได้ประโยชน์ ก็คงจะเชียร์ว่านี่เป็นการแบ่งเขตตามธรรมชาติ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมอยู่แล้วว่าใครเป็นอย่างไร เพราะคนไทยฉลาดพอ และดูออกว่าใครคือคนที่อยู่เบื้องหลังการแบ่งเขตเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
    “พล.อ.ประยุทธ์ควรใช้โอกาสนี้กู้ชื่อเสียงให้ตัวเอง โดยการสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและโปร่งใส ตามที่ได้รับปากกับผู้นำเยอรมนี และอีกหลายๆ ชาติ เพราะต่างชาติและคนไทยกำลังจับตามองอยู่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะใช้เล่ห์เหลี่ยมอะไรเพื่อเตะตัดขาพรรคคู่แข่ง หรือจะปล่อยมุกอะไรเพื่อเบี้ยวเลือกตั้ง หรือจะมีแผนสืบทอดอำนาจให้ตัวเองกลับมาเป็นนายกฯ อีกไหม” ร.ท.หญิงสุณิสากล่าว 
"เสรีพิศุทธ์"ด่าแหลก
    นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ตามที่ กกต.และ คสช.ได้เชิญพรรคการเมืองต่างๆ เข้าร่วมประชุมในวันที่ 7 ธันวาคมนั้น คิดว่าอาจไม่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองต่างๆ มากนัก เนื่องจาก คสช.จะเป็นผู้จัดเตรียมเนื้อหาและประเด็นที่จะประชุม ซึ่งน่าจะมีธงวางไว้อยู่แล้ว อาจทำเพื่อประโยชน์แห่งการสืบทอดอำนาจของ คสช. แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะระบุว่าให้ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ สามารถนำประเด็นที่เคยร่วมประชุมกับ กกต. แต่ กกต.ไม่สามารถให้คำตอบได้ มาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ได้ แต่ คสช.จะทำตามหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แสดงถึงความไม่จริงใจของนายวิษณุและ คสช. เพราะในความเป็นจริง การจัดการเลือกตั้งควรจะเป็นเรื่องของ กกต.เท่านั้น โดยที่ คสช.ไม่ควรจะเข้ามายุ่งเกี่ยวเลย
       เขากล่าวว่า ตราบใดที่ยังไม่มีการออกพระราชกฤษฎีกาประกาศวันเลือกตั้ง ก็ไม่อาจจะเชื่อใจ คสช. ได้เลย อย่างไรก็ตาม ในวันประชุมร่วมดังกล่าว หากไม่มีพรรคการเมืองใดเข้าร่วมประชุม หรือมีพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมน้อย อาจเป็นข้ออ้างให้ คสช.ใช้เป็นเหตุผลว่าพรรคการเมืองไม่ให้ความร่วมมือและเลื่อนการจัดการเลือกตั้งออกไปอีก ดังนั้น พรรคเพื่อชาติอาจจะส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม เพื่อเข้าไปสังเกตการณ์และดูท่าทีของ คสช. ซึ่งเร็วๆ นี้ นายสงคราม เลิศกิจไพโรจน์ หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคอาจจะมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางและดูความเหมาะสมว่าจะส่งใครเป็นตัวแทนของพรรคต่อไป
    ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า ได้รับหนังสือเชิญและได้ประชุมกันแล้วในระดับผู้บริหารพรรค โดยมีความเห็นร่วมกันว่า เราอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย แต่รัฐบาลมาจากการยึดอำนาจเผด็จการ อีกทั้งยังเป็นอีแอบสร้างพรรคอ้างเป็นประชาธิปไตย เราคิดว่าคุยกับคนแบบนี้เสียเวลา และคุยไม่รู้เรื่อง ซึ่งหน้าที่การเลือกตั้งตามกฎหมายเป็นของ กกต. ทาง คสช. นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจหน้าที่ จึงควรปล่อยให้ กกต.ทำหน้าที่ไป 
    "คุณใช้อำนาจอะไรมาเชิญ อำนาจ คสช.เหรอ ไม่เกี่ยว คุณบ้าอำนาจมากกว่า เพราะคุณทำ ก็ไม่มีใครไปลงโทษคุณ ผมไม่ใช่ลูกน้องคุณนะ คุณจะเรียกทหาร ก็เรียกไป เรียกตำรวจ ก็เรียกไป แต่ผมพรรคการเมือง เป็นประชาชน ผมไม่ยินดีพบกับคุณ แต่คุณพบกับผมไหม ลงเลือกตั้งตัวต่อตัว ผมท้าคุณ ประยุทธ์ กับเสรี ให้ประชาชนเลือกเอา ถ้าคุณชนะ ผมจะเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต ถ้าผมชนะ คุณเลิกเล่นการเมืองไหม ตลอดชีวิตไหม" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์กล่าว
    น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เผยว่า พรรคขอยืนยันว่าจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมหารือดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะเห็นว่าการจัดประชุมหารือนั้นไม่ใช่หน้าที่ของ คสช.ที่จะเป็นเจ้าภาพในการจัด แต่หน้าที่ของ คสช. คือถอยหลังออกมาดูการทำงานของ กกต. ให้ กกต.ทำงานอย่างอิสระ ไม่ต้องเข้าไปแทรกแซง ไม่ต้องหาเหตุผลต่างๆ มาเพื่อหาเรื่องเลื่อนวันเลือกตั้งอีก และหากวันเลือกตั้งคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 จริงๆ ก็ควรจะปล่อยให้บรรดาพรรคการเมืองได้ทำกิจกรรมหาเสียงได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่ว่าประชาชนจะได้รับทราบถึงนโยบายของแต่ละพรรค และมีเวลาตัดสินใจว่าพรรคไหนจะตอบสนองความต้องการของเขาได้มากที่สุด
เพื่อไทยไม่ใช่ตัวปัญหา
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ในวันที่ 3 ธ.ค. เวลา 10.00 น. พรรคจะเรียกประชุมใหญ่นักการเมือง อดีต ส.ส.และสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในข้อกฎหมายและรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำตัวแทนพรรคประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ซึ่งเมื่อเราได้ตัวแทนประจำจังหวัดครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว เราก็จะสามารถส่งผู้สมัครได้ครบทั่วประเทศ 
    ช่วงที่ผ่านมาพรรคได้ผ่านช่วงวิกฤติดูดอย่างมโหฬารมาแล้ว และเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรรคยังมั่นคง แข็งแรง และพร้อมทำงานการเมือง เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน ส่วนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.62 หรือไม่นั้น ไม่มีใครรู้ แต่พรรคมีหน้าที่ทำตัวเองให้พร้อม เพื่อให้ประชาชนเห็นว่าเราไม่ใช่ตัวปัญหา 
    นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้มีแรงกดดันทั้งจากในประเทศและต่างชาติค่อนข้างมาก ที่อยากเห็นประเทศไทยเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นคำตอบและเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้นอยากให้ พล.อ.ประยุทธ์อย่าหงุดหงิด เข้าใจได้ว่าคนที่อยู่ในอำนาจนานๆ เมื่อกำลังจะถึงจุดที่ต้องเปลี่ยนผ่านอำนาจ ก็จะออกอาการแบบนี้ได้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีสติ ในฐานะที่ท่านเป็นผู้นำรัฐบาลและหัวหน้า คสช. เป็นธรรมดาที่ต้องถูกถามเรื่องแบ่งเขต เพราะท่านไปออกคำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 ให้อำนาจรองรับ กกต.แบ่งเขตได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นท่านคือต้นทางของปัญหา 
    "ท่านจึงต้องหนักแน่นและให้คำอธิบาย การโมโหหรือใช้อารมณ์ไม่อาจกลบปัญหาหรือสร้างความเข้าใจให้ประชาชนได้ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้เหตุผล การใช้วาจาหรือถ้อยคำที่รุนแรงจะทำให้ตัวท่านเองเสื่อมลง ความเสื่อมเกิดจากตัวเองทั้งสิ้น" เลขาธิการพรรคเพื่อไทยกล่าว
    ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ความพยายามในการสืบทอดอำนาจเห็นได้อย่างชัดเจนจากการใช้อำนาจเงิน อำนาจรัฐ เช่น การใช้มาตรา 44 ให้อำนาจ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยทราบดีว่าจะต้องเผชิญกับการใช้อำนาจรัฐ ใช้อำนาจเงินอย่างไร  ดังนั้น ผู้มีอำนาจรัฐจะทำอะไรเอาที่สบายใจ เอาให้เต็มที่ พรรคเพื่อไทยมีหน้าที่พิสูจน์ตัวเองกับประชาชน มองการเลือกตั้งครั้งนี้มีความแตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นการเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว และการนับคะแนนด้วยระบบจัดสรรปันส่วนผสม อาจจะไม่ได้บุคคลที่ตรงตามเจตนารมณ์ของประชาชน แม้จะชนะการเลือกตั้งก็ตาม
หญิงหน่อยลง ส.ส.เขต
    "ดังนั้นเมื่อกลไกเกิดความบิดเบือน ประชาชนจึงต้องใช้สติปัญญาในการกาบัตรอย่างมียุทธศาสตร์ ต้องคิดว่าจะเลือกใคร และให้ใครเข้ามาทำงาน ซึ่งเชื่อว่าท้ายที่สุดจะเหลือคนแค่ 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ และคนที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ประชาชนต้องใช้พละกำลังออกไปกาบัตรให้มากที่สุด โดยกาบัตรอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งหากไม่สนับสนุนผู้มีอำนาจชุดปัจจุบัน หรือผู้มีอำนาจชุดปัจจุบันทำงานอยู่และไม่มีความสุข ขอให้พิจารณาและตัดสินใจกาอย่างมียุทธศาสตร์" คุณหญิงสุดารัตน์กล่าว
    รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า การจัดวางผู้สมัครรับเลือกตั้งในหลายพื้นที่ลงตัวมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.ของพรรคเพื่อไทย มีการวางตัวผู้สมัครคืบหน้าไปมากหลายเขต ส่วนใหญ่เป็นอดีต ส.ส.ที่เคยเป็นเจ้าของพื้นที่เดิม หากใครไม่มีคดีทางการเมือง ขยันทำพื้นที่ เสียงตอบรับจากชาวบ้านดี ก็จะได้ลงในเขตเดิม ขณะเดียวกันบางพื้นที่พรรค จะเปิดโอกาสให้ผู้สมัครหน้าใหม่ คนรุ่นใหม่ทางการเมือง ที่มีการทำพื้นที่อย่างต่อเนื่องลงในบางเขต
    ในเขตดอนเมือง นายการุณ โหสกุล อดีต ส.ส.หลายสมัย เจ้าของพื้นที่เดิม ที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่สามารถลงรับเลือกตั้งได้ ซึ่งตอนแรกมีกระแสข่าวจะผลักดันนางพิมพ์ชนา โหสกุล ภรรยา ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน แต่ล่าสุดเกิดการเปลี่ยนแปลง หลังจากคุณหญิงสุดารัตน์สนใจที่จะลงสนามการเมืองในระบบเขตเลือกตั้งอีกครั้ง เนื่องจากประเมินว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยจะได้ส.ส.ระบบเขตเต็มจำนวน ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ อาจจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว ประกอบกับในฐานะผู้นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง จะได้เข้าไปทำงานในส่วนของสภาผู้แทนฯ อย่างสง่างาม
    มีรายงานอีกว่า สำหรับพื้นที่อื่นค่อนข้างลงตัวแล้ว ในส่วนของบุคคลที่ทำงานการเมืองอย่างใกล้ชิดกับคุณหญิงสุดารัตน์ อาทิ นายวัฒนา เมืองสุข จะลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตบางแค, น.ส.สุณิสา ทิวากรดำรง จะลงในเขตวังทองหลาง เป็นต้น 
    ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ จัดคนลงสมัคร ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชแล้วคือ เขต 1 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส. เพราะมีฐานเสียงในเขตเทศบาล มีพี่ชายเป็นนายกเทศมนตรี และคุ้นเคยกับคนใน อ.เมืองฯ จัดกิจกรรมต่อเนื่อง เช่น ฟุตซอลเดือนสิบ มา 15 ปี ส่วนเขต 2 นายวิทยา แก้วภราดัย ลงเพราะเป็นพื้นที่เดิม ที่เคยสมัคร ส.ส.ตั้งแต่ปี 29 จนถึงปัจจุบัน, เขต 3 น.ส.นริศา อดิเทพวรพันธ์ มีฐานเสียงและเคยลงสมัครในเขต อ.พระพรหม อ.เฉลิมพระเกียรติมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนเขต 4 นายประกอบ รัตนพันธ์ เพราะ อ.ทุ่งสงเป็นเขตเดิม เพิ่ม อ.บางขัน ก็เป็นพื้นที่ของ อ.ทุ่งสง มาก่อนแยกเป็นอำเภอ
กังวลระบบเลือกตั้งใหม่
    เขต 5 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม ทั้งฉวาง พิปูน รวม อ.ทุ่งใหญ่กับ อ.ถ้ำพรรณรา ก็เคยเป็นเขตเดิมของนายชินวรณ์เช่นกัน, เขต 6 นายชัยชนะ เดชเดโช ส่วน อ.ลานสกา อ.ช้างกลาง อ.นาบอน เคยเป็นฐานเสียงเดิมของนายวิฑูรย์ เดชเดโช บิดา ตอนสมัยเป็นนายก อบจ., เขต 7 นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ เพราะ อ.ท่าศาลา และบางส่วนของอำเภอเมืองฯ เป็นพื้นที่เก่าเคยลงสมัครพื้นที่นี้มาหลายสมัยแล้ว และเขต 8 น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นพื้นที่เดิมมาตั้งแต่สมัยนายมาโนช วิชัยกุล ผู้เป็นบิดา สมัคร ส.ส.ครั้งแรก ปี 22 ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาในชั้นคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครในนามพรรคอีกครั้งเพื่อความรอบคอบและเป็นไปตามกฎหมายกำหนด
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า พรรคชาติพัฒนาขอแสดงความเป็นห่วงกังวล เรื่องความสับสนที่อาจเกิดขึ้นของพี่น้องประชาชนที่เกี่ยวกับเขตเลือกตั้งที่ปรับเปลี่ยนหลายครั้ง รวมทั้งกฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งที่เป็นสิ่งใหม่ๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่เปลี่ยนแปลงจากของเดิมอย่างมาก อาทิ 1.บัตรเลือกตั้งมีแค่ใบเดียว จากเดิมที่มี 2 ใบ   2.เบอร์ของผู้สมัครแต่ละพรรคการเมือง ไม่ใช่เบอร์เดียวกันทุกเขตเลือกตั้งทั้งประเทศ 3.วิธีการคำนวณจำนวนที่มาของ ส.ส. ที่แต่ละพรรคจะได้ตามระบบการเลือกตั้งใหม่   
    4.การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของแต่ละพรรค 3 รายชื่อก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองที่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี จะต้องได้รับเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% หรือเท่ากับต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 25 คน รายชื่อนายกรัฐมนตรีที่เสนอถึงจะมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณา 5.บทเฉพาะกาล 5 ปีแรกที่ให้สมาชิกวุฒิสภาเข้ามาร่วมโหวตนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. เป็นต้น
    "พรรคชาติพัฒนาจึงขอฝากข้อคิดเห็นไปยัง กกต. เพื่อพิจารณาในเรื่องของการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมอย่างจริงจัง เพื่อเน้นย้ำเรื่องเขตเลือกตั้งที่แบ่งใหม่ และกติกาใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ที่เปลี่ยนแปลงไปจากความคุ้นเคยเดิมของประชาชน เพื่อให้ประชาชนที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ได้มีความรู้ความเข้าใจ สามารถตัดสินใจอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง เพื่อทำให้กระบวนการการเลือกตั้งเรียบร้อย ไม่สับสน ได้รับการยอมรับและได้คนดีคนเก่ง ตามที่ประชาชนต้องการให้เข้ามาทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศต่อไป" นายเทวัญกล่าวทิ้งท้าย
อะไรที่คนไทยอยากรู้
    น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้งบประมาณขาดดุลไปแล้วกว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ประชาชนกลับไม่ได้รู้สึกว่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แถมยังแย่ลง รายได้ของคนส่วนใหญ่ลดลง แต่พอใกล้เลือกตั้งรัฐบาลก็ออกมาแจกเงิน และนำโครงการช็อปช่วยชาติ แบบฉบับรัฐบาล คสช. ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จกลับมาทำใหม่ และล่าสุดถึงกับจะมีการคืนแวตจากการช็อปปิ้งช่วงตรุษจีนอีก จนมองว่ารัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากอย่างไร้ยุทธศาสตร์จนน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะรัฐบาลที่จะมารับหน้าที่ต่อภายหลังจากมีการเลือกตั้ง อาจประสบปัญหาด้านงบประมาณ ที่จะใช้ในโครงการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน ดังนั้นรัฐบาลจึงควรพิจารณาการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
    น.ส.ชยิกากล่าวว่า การลด แลก แจก แถม ของรัฐบาล คสช.ในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้งไม่กี่เดือนนั้นไม่ได้เกิดจากความจริงใจที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจาก 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลดำเนินนโยบายที่เอื้อการผูกขาดให้แก่เอกชนบางกลุ่ม ความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย 96% กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคนเพียง 1% เท่านั้น จนประเทศตกอยู่ในภาวะรวยกระจุก จนกระจาย ส่งผลให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก ดังจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ขยายตัวต่ำที่สุดในอาเซียนมาตลอด
    "ขณะที่โครงการโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใต้ดิน ระบบการจัดการน้ำ กลับเพิ่งเริ่มต้น รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่หายไปอย่างมากตลอดเวลา 4 ปี ซึ่งคนที่เสียหายและเสียโอกาสคือประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น วันนี้ทุกฝ่ายจึงอยากเห็นประเทศไทยกลับสู่เส้นทางของการพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกก้าวหน้าไปในทิศทางที่ถูกต้อง และกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย มากกว่าการที่ต้องเดินถอยหลัง เพราะตกอยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่มุ่งสืบทอดอำนาจเผด็จการรัฐประหาร" น.ส.ชยิกากล่าว
    กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ  ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “เลือกตั้งครั้งใหม่ อะไรที่คนไทยอยากรู้?” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,200 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 69.6 อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลการเลือกตั้งเกี่ยวกับวิธีการลงคะแนนเสียง รองลงมาร้อยละ 68.1 อยากได้ข้อมูลด้านตัวผู้สมัคร และร้อยละ 59.8 อยากได้ข้อมูลด้านพรรคการเมืองต่างๆ
สำหรับช่องทางที่จะติดตามข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 79.3 จะติดตามผ่าน สปอตทีวี รองลงมาคือ สื่อโซเชียล Facebook Youtube Line (ร้อยละ 49.1), ป้ายโฆษณาต่างๆ (ร้อยละ 26.8), หนังสือพิมพ์ (ร้อยละ 18.9), สปอตวิทยุ (ร้อยละ 17.5) และแอปพลิเคชัน (ร้อยละ 12.4)
    สุดท้ายเมื่อถามว่า “ในขณะนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับการการเลือกตั้งในด้านต่างๆ เพียงพอหรือไม่แก่ตัวท่าน” ส่วนใหญ่ร้อยละ 70.3 ระบุว่าไม่เพียงพอ ขณะที่ร้อยละ 20.3 ระบุว่าเพียงพอแล้ว และร้อยละ 9.4 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"