จับตา5สายกวาดเก้าอี้ส.ว.


เพิ่มเพื่อน    

     กกต.รับพลาดเป้าผู้สมัคร ส.ว. จากระดับแสนมาแค่ระดับพัน กัดฟันไม่กระทบสรรหา เผยมีบางชื่อผิดสเปกแล้ว “วิษณุ” ตีมึนไม่รู้มีคนวิ่งเต้น ชี้ภาระหนักพ้นเก้าอี้ 2 ปีเล่นการเมืองไม่ได้ ปูดวาง 5 สายคั่วเก้าอี้
     เมื่อวันอาทิตย์ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า สำนักงาน กกต.กำลังสรุปยอดอย่างเป็นทางการอยู่ แต่คร่าวๆ อยู่ที่ 7,100 คน ซึ่งหลังจากนี้ผู้อำนวยการเลือก ส.ว.จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร 5 วัน และประกาศรายชื่อผู้สมัครในวันที่ 5 ธ.ค. ส่วนผู้ไม่มีชื่อในประกาศ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 3 วัน หรือภายในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ 
     ด้านนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.ยอมรับว่า ยอดผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็น ส.ว.กว่า 7,000 คน ไม่เป็นไปตามที่ กกต.คาดไว้ที่ 90,000- 100,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งอาจมีหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้มาสมัครน้อย แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบหรือทำให้การเดินหน้าคัดเลือกผู้สมัครมีปัญหา ทั้งนี้ ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัครตามช่องทางต่างๆ ทั้งเว็บไซต์และ กกต.จังหวัด โดยหากพบว่ามีข้อมูลเท็จหรือทุจริต สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สำนักงาน กกต.ทุกจังหวัด เมื่อ กกต.ได้รับข้อมูลแล้วจะตรวจสอบหาพยานหลักฐานมาประกอบ ถ้าพบมีมูลความจริงจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
     “เบื้องต้นพบผู้สมัครที่ขาดคุณสมบัติแล้ว 1-2 ราย เช่น มีผู้ที่เพิ่งพ้นโทษยังไม่เกิน 5 ปี องค์กรเดียวกันแต่ส่งผู้สมัครซ้ำ และเป็นบุพการีสามีหรือภรรยาของผู้ที่สมัครแล้ว ซึ่งไม่สามารถสมัครได้” นายณัฏฐ์ระบุ
     นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอแนวความคิดในการคัดเลือกกันเองของผู้สมัคร ส.ว.ว่า กกต.ส่วนกลาง หรือ 7 เสือ กกต.ควรมีมติให้มีการแนะนำตัวด้วยการเชิญมาประชุมพร้อมหน้ากันของผู้สมัครทั้ง 3 ระดับ และกำหนดกติกาขึ้นมาว่าจะให้พูดคนละไม่เกินกี่นาที เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของผู้สมัครว่าจะเลือกใคร
“การส่งเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวให้ผู้สมัครของแต่ละกลุ่มและวิธีการสมัครก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่า 3วันนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการได้ข้อมูล ควรจัดให้ผู้สมัครมาพบกัน เห็นตัวเป็นๆ ฟังการพูดแนะนำตัว เป็นการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยไปในตัว” นายบุญเลิศกล่าว
     ส่วนนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าไม่ทราบรายละเอียด ทราบเพียงแต่ว่าคณะกรรมการดังกล่าวจำนวน 9-12 คน จะแต่งตั้งภายในเดือน ธ.ค.นี้ หลังจากนั้นเขาจะใช้วิธีการสรรหาวิธีใดก็แล้วแต่ แต่คิดว่าคงไม่ใช้วิธีรับสมัคร เพราะจะวุ่นวาย และอาจมีผู้สมัครมากจนไม่มีเวลาไปตรวจสอบ แต่ที่สำคัญคือเรื่องคุณสมบัติ เพราะจะไม่เหมือนกับการเปิดรับสมัครของ กกต. ที่แต่ละคนจะรับรองคุณสมบัติตัวเองได้ แต่ถ้าไม่เปิดรับสมัครเรื่องคุณสมบัติเป็นเรื่องยาก คงต้องให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้ไปคิดเอาเอง ส่วนที่มีกระแสข่าวสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พยายามวิ่งเต้นเป็น ส.ว.นั้น ไม่ทราบ ไม่รับรู้ ตอนที่เขารับสมัครกันเหมือนจะสนุก แต่จริงๆ แล้วใครจะเป็น ส.ว.นั้น มีภาระหน้าที่ยาก และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและประกาศ อีกทั้งระหว่างเป็น ส.ว.เป็นกรรมการอะไรของรัฐไม่ได้เลย เมื่อพ้นจากตำแหน่งยังไปเป็นข้าราชการการเมืองอะไรไม่ได้อีก 2 ปี 
     มีรายงานถึงความเคลื่อนไหวการเตรียมคัดเลือก ส.ว. 194 คนในโควตา คสช.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใกล้จะประกาศรายชื่อคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 9-12 คนแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลจากฝ่ายบริหารเป็นหลัก และมีแนวโน้มว่าคณะกรรมการสรรหาฯ จะเลือกและทาบทามมากกว่าใช้วิธีการเปิดรับผู้สมัครเหมือน กกต. 
     รายงานแจ้งอีกว่า ขณะนี้มีความเคลื่อนไหวที่คึกคักทั้งจากอดีต สปช.และอดีตสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมีการจับกลุ่มนัดหารือกันเป็นประจำในชื่อ ชมรมสมาชิก สปช. 2557 รวมทั้งในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งแนวโน้มของผู้ที่จะถูกทาบทามให้เป็น ส.ว.ขณะนี้มีด้วยกัน 5 สาย ประกอบด้วย 1.สายของ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มเพื่อนนายกฯ 2.สาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม 3.สายของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนายทหารสายประจำการ 4.สายของนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และ 5.สายที่เคยทำงานให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร และมีสายสัมพันธ์อันดี ทั้งนักธุรกิจ ตัวแทนองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) และนักวิชาการ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"