ชงแก้รธน.เช็กบิล'คสช.'


เพิ่มเพื่อน    


    นักการเมืองรุมสับรัฐธรรมนูญ 60 "ส้มหวาน" ชูแก้ ม.279 เช็กบิล คสช.ย้อนหลัง ไร้อายุความ ทำลายเกราะเอาผิดคณะรัฐประหาร รอง ปธ.สถาบันปรีดีฯ ชี้เสี่ยงเผชิญหน้าเข้าสู่วงจรรัฐประหารอีกรอบ 
    เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2561 ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญของไทย ส่วนราชการ นักเรียน นักศึกษา หน่วยงาน ประชาชนทั่วไป และพรรคการเมืองต่างๆ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นำพานประดับพุ่มดอกไม้ถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่อาคารรัฐสภา ขณะที่ช่วงบ่าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายนัฑ ผาสุข เลขาธิการวุฒิสภา ก็เดินทางมาวางพานพุ่มถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เช่นกัน
    ทั้งนี้ มีนักการเมืองวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอย่างกว้างขวาง โดยนางลลิตา ฤกษ์สำราญ รองหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดโดยคณะ คสช.นั้น ไม่ได้มาจากประชาชนและมาจากการปฏิวัติรัฐประหาร จึงอยากจะให้บทเรียนกับคนไทยว่า ภายใต้ระยะเวลากว่า 5 ปีที่ประเทศถูกปกครองด้วยคณะปฏิวัติรัฐประหารนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องเกิดขึ้นภายใต้สภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนชาวไทย
     นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย  โพสต์เฟซบุ๊กว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกสร้างขึ้น
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจในการกำหนดและควบคุมทิศทางของประเทศอย่างขาดเหตุผล และไม่อยู่บนโลกความเป็นจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้โครงสร้างอำนาจกลับไปสู่ความเป็นรัฐราชการ ที่ย้อนยุคกลับไปสู่สภาวะแบบดั้งเดิม โดยใช้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นเครื่องมือสำคัญในการพันธนาการประเทศให้เคลื่อนตัวยากลำบาก อันจะมีผลทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่อาจจะมีศักยภาพเพียงพอในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากโลกที่เปลี่ยนแปลงไปต่างๆ อย่างรุนแรงและรวดเร็ว
     ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ “ฝ่าวิกฤติรัฐธรรมนูญ” โดยนายโภคิน พลกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ถูกครอบงำ โดยวัฒนธรรมและความคิดแบบอำนาจนิยม ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องทั้งหมด ไม่ใช่เพียงประชาชน แต่ยังรวมไปถึงกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคอนเซ็ปต์ดังกล่าวมีมาอย่างยาวนาน ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่าอำนาจเป็นของประชาชน หน่วยงานต่างๆ ต้องยึดหลักนิติธรรม พร้อมระบุว่า หากนายกใช้ ม.44 ให้ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ยิ่งเป็นการตอกย้ำแนวคิดดังกล่าว ซึ่งการยึดอำนาจนั้นเป็นการโกงประชาชน พร้อมมีการเขียนเรื่องการนิรโทษกรรมผู้ยึดอำนาจ กระบวนการ และผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลเองก็เห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้ไปด้วย ซึ่งปัญหาคือทำอย่างไรให้ศาลไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญต้องอาศัยเสียงพรรคฝ่ายค้าน 20% สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อีก 1 ใน 3 หรือหากเป็นประเด็นสำคัญต้องผ่านประชามติ แม้ในทางตัวอักษรจะเขียนว่าแก้ได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย พรรคอนาคตใหม่มองว่า มาตรา 279 เป็นหลุมดำที่ทำให้รัฐธรรมนูญไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ควรต้องมีการยกเลิก เมื่อยกเลิกแล้วประกาศ คสช.จะไม่มีเกราะคุ้มกันอีกต่อไป ทำให้เราสามารถตรวจสอบได้ จากนั้นต้องมีการนำประกาศคำสั่ง คสช.มาพิจารณาใหม่ทั้งหมด หากฉบับไหนสามารถใช้ได้ ให้นำเข้าสภา เปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.หรือกฎกระทรวง แต่ประกาศฉบับไหนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต้องยกเลิก และผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยา ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ก.พ. หลังการเลือกตั้ง 1 วัน พรรคอนาคตใหม่จะเริ่มรณรงค์แคมเปญแก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที
    “การล้มล้างผลพวงรัฐประหารด้วยเทคนิคทางกฎหมาย โดยให้การยึดอำนาจเมื่อปี 57 เป็นโมฆะหมายความว่าเกราะคุ้มกันคนยึดอำนาจไม่มีแล้ว สามารถนำผู้ยึดอำนาจไปดำเนินคดีได้ทันที หลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว อย่างฝรั่งเศส กรีซ หรือตุรกี  ซึ่งหากไม่ทำในส่วนนี้ คนที่มีอาวุธในมือเขาก็จ้องจะออกมายึดอำนาจอยู่ดี แต่หากเราแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างโดยการดำเนินคดีอดีตผู้มีอำนาจ เชื่อว่าอาจไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก ในอนาคตเราต้องเขียนมาตราสุดท้ายในรัฐธรรมนูญว่า การยึดอำนาจเป็นสิ่งผิด สามารถดำเนินคดีกลุ่มผู้ยึดอำนาจได้ทันที โดยไม่มีอายุความ” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ระบุ
    นายราเมศ รัตนะเชวง ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การทำประชามติร่าง รธน.ครั้งที่ผ่านมาเป็นการรณรงค์อยู่ฝ่ายเดียว คือฝ่ายสนับสนุน สมเจตนาของผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ดี หากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาธิปไตยจริง คะแนนการลงประชามติต้องเป็นเอกฉันท์ แต่ที่ผ่านมากลับไม่เป็นไปตามนั้น เพราะคะแนนที่ไม่เห็นด้วยกลับสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่วิกฤติที่รุนแรงของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวในสายตาตน คือการมี ม.44 ติดมาด้วย เท่ากับว่าประชาชนสามารถโดนยึดอำนาจได้ทุกวัน เป็นการตอกย้ำว่า ม.44 อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง
    ทางด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า เรามีรัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร พร้อมกับยังคงคำสั่งของ คสช.จำนวนมากที่ขัดกับเนื้อหาหลายมาตราของรัฐธรรมนูญ สะท้อนว่าประเทศนี้ไม่ได้ปกครองโดยรัฐธรรมนูญและไม่มีนิติรัฐ อีกทั้งรัฐธรรมนูญอันเป็นกติกาสูงสุดก็ไม่ได้มาจากประชาชน อนาคตประชาธิปไตย เศรษฐกิจการเมืองยังคงมีความไม่แน่นอนสูง หากไม่มีการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรม และทำให้การเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง การเลือกตั้งจะเป็นเพียงพิธีกรรมที่สร้างความชอบธรรมให้กับการสืบทอดอำนาจของคณะเผด็จการ คสช.เท่านั้น และเปลี่ยนผ่านประเทศจากระบอบรัฐประหารสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย
    นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่า อนาคตเศรษฐกิจไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งยังมีความไม่แน่นอน แต่สิ่งที่ผู้อำนาจรัฐและคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ทำได้ คือการจัดการเลือกตั้งให้เสรีและเป็นธรรม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองในอนาคตที่จะเกิดการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและฝ่ายสืบทอดอำนาจของ คสช. ซึ่งมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 และมีโอกาสจะเกิดรัฐประหารได้อีก และขอพยากรณ์ว่า หากสถานการณ์พัฒนาไปสู่สภาวะที่ไม่พึงประสงค์ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต โดยประเทศจะเข้าสู่ทศวรรษแห่งความถดถอยอีกรอบหนึ่ง 
    รองประธานมูลนิธิปรีดีฯ เรียกร้องว่า ผู้มีอำนาจรัฐ คสช. รัฐบาล กกต. 1.หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจและควรปล่อยให้กลไกการเลือกตั้งสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน โดย 2.ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง เพื่อให้ผู้นำประเทศยึดโยงกับประชาชนโดยตรง 3.ให้ กกต.จัดพิมพ์ โลโก้และชื่อพรรคในบัตรเลือกตั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 4.ปลดล็อกพรรคการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถชี้แจงนโยบายได้อย่างเต็มที่ 5.คืนความเป็นธรรมให้กับคดีทางการเมืองทั้งหลาย และยกเลิกการดำเนินคดีกับประชาชนที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งและหยุดการดำเนินคดีกับประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพ 6.จัดการเลือกตั้งอย่างสุจริต โปร่งใส และเป็นธรรม สามารถตรวจสอบข้อมูลและผลการเลือกตั้งได้ 
    7.แกนนำ คสช.ที่ต้องการทำงานทางการเมืองต่อ ต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง เสนอตัวแข่งขันอย่างเปิดเผย 8.กกต.ควรสนับสนุนองค์กรประชาธิปไตย องค์กรภาคประชาชน ให้ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง 9.การเลือกนายกรัฐมนตรี และการจัดตั้ง ครม.ต้องสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีบทบาท ขณะที่ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ต้องวางตัวเป็นกลางและงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี 10.เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ให้มีการจัดลงประชามติว่าสมควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผลพวงจากการรัฐประหารในมาตราหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งถามประชาชนด้วยว่าควรจะมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีหรือไม่. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"