"Unseen เมืองรอง" ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม


เพิ่มเพื่อน    

(แวะเก็บภาพสตรีทอาร์ต แลนมาร์คใหม่ ร้อยเอ็ด)

    ถ้าถามว่า เรารู้จักจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคามในด้านไหน ก็ต้องบอกว่า คงเป็นชื่อเสียงในเรื่องของข้าว อย่างร้อยเอ็ดก็มีการจัดงานข้าวหอมมะลิโลกทุกๆ ปี ส่วนข้าวมหาสารคามก็โกอินเตอร์ ขายในตลาดออนไลน์อย่างอาลีบาบา ซึ่งการที่สองจังหวัดมีชื่อเสียงเรื่องข้าวก็เพราะเป็น 2 ใน 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิของประเทศที่มีชื่อเสียงก้องโลก
    เราเดินทางไปร้อยเอ็ดกับมหาสารคามในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เป็นธีมโปรโมตการท่องเที่ยวเมืองรอง ซึ่งมี ททท.เป็นเจ้าภาพพาไป ซึ่งปีนี้ถึงจะเป็นเดือนพฤศจิกายนแต่ความหนาวยังไม่มาเยือนเต็มที่ อากาศจึงค่อนข้างร้อน แต่ช่วงเช้าพอจะมีลมหนาวอ่อนๆ พัดมาให้ชื่นใจบ้าง 

(สักการะพระพุทธไสยาสน์ วัดบูรพาภิราม)

    ร้อยเอ็ดทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่าเจริญมากๆ ต่างจากอดีตที่เรารู้จัก ซึ่งเมืองไม่มีอะไรเลย แต่ในวันนี้ตัวเมืองนั้นสองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้า ร้านอาหาร แหล่งบันเทิงมากมาย แต่ในนอกเมืองก็ยังมีแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์พื้นบ้านอยู่บ้าง อย่างเช่นที่บ้านกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย เป็นหมู่บ้านที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีชีวิตหลากหลายมุมด้วย

(แวะขอพรพระเจ้าใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่วัดบูรพาภิราม)

    ก่อนไปบ้านกู่กาสิงห์พวกเราแวะสักการะพระพุทธรัตนมงคลมหามุนีแห่งวัดบูรพาภิรามกันก่อน ซึ่งเป็นองค์พระเจ้าใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทย ประวัติการก่อสร้างระบุว่าพระพุทธรูปองค์นี้มีความสูง 67 เมตร 85 เซนติเมตร ถ้าใครมาร้อยเอ็ดแล้วไม่ได้มาไหว้ถือว่ายังมาไม่ถึง ไม่เพียงแต่องค์พระจะสูงใหญ่ที่สุดในโลก ภายในวัดก็มีองค์พระศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ให้ได้กราบไหว้ในคราวเดียวกัน ด้านหนึ่งมีถ้ำขนาดเล็ก มองเข้าไปด้านในถ้ำประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ อีกมุมหนึ่งมีพระพุทธรูปประมาณ 4-5 องค์กำลังนั่งสมาธิใต้ร่มไม้ องค์หนึ่งหันหลังให้ต้นไม้ โดยมีองค์ที่เหลือหันหน้ารายล้อม เดาว่าน่าจะจำลองเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้านั่งสมาธิใต้ต้นโพธิ์ เราไหว้พระครบทุกมุมที่กล่าวมา เสร็จแล้วก็ออกเดินทางต่อ 
    จากวัดบูรพาภิรามใจกลางเมือง มุ่งหน้าสู่หมู่บ้านกู่กาสิงห์ ออกจากตัวเมืองใช้เวลาประมาณ 1 ชม. อาศัยกูเกิลแมปช่วย มาตามถนนปัทมานนท์ ผ่านอำเภอจตุรพักตรพิมาน มาถึงอำเภอเกษตรวิสัย รวมๆ ระยะทางก็ประมาณ 47 กม. สังเกตป้ายดีๆ แล้วไปตามทางก็จะถึงบ้านกู่กาสิงห์

(ใส่ชุดไทยๆ ไปถ่ายรูปที่กู่กาสิงห์)

    ที่บ้านกู่กาสิงห์ เราแอบเสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้ไปย้อนรอยตำนานทุ่งกุลาร้องไห้ในสถานที่จริงๆ ด้วยเวลาที่จำกัด ที่หมู่บ้านนี้มีปราสาทกู่กาสิงห์ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ชาวร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียงนิยมมาเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ได้ยินมาว่าที่นี่ครึกครื้นเป็นพิเศษ จะมีคนแวะมาเที่ยวเยอะ

(แวะชมโบราณสถานร้อยเอ็ด "กู่กาสิงห์")

    ปราสาทกู่กาสิงห์เป็นโบราณสถานสำคัญของร้อยเอ็ด ทางวัดจัดมัคคุเทศก์ตัวน้อยที่เป็นเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านมาเป็นไกด์ทวร์พาชมรอบๆ ปราสาท จากข้อมูลที่ได้จากมัคคุเทศก์น้อยถือว่าน้องๆ เก่งมาก เพราะประวัติยาวเหยียด น้องเล่าว่าโบราณสถานแห่งนี้ซึ่งดูเหมือนจะเป็นซากปรักหักพังมีอายุร่วม 1,500 ปีมาแล้ว เป็นปราสาทหินที่ยังสร้างไม่เสร็จ มีอาคารมณฑปเป็นใจกลางสำคัญของกู่กาสิงห์ เมื่อเดินเข้ามาด้านในกู่จะเห็นปราสาท 3 หลัง และอาคารอีก 2 หลัง ปราสาททั้ง 3 หลังเรียงกันไปตามแนวทิศเหนือทิศใต้

(มัคคุเทศก์น้อยกำลังเล่าเรื่องหินที่ถูกขีด)

    ส่วนก้อนอิฐก้อนหินบางชิ้นยังมีเรื่องเล่าน่าสนใจ บางก้อนมีรอยขีดขูดคล้ายกับสีหน้าบูดเบี้ยว ทำให้ชาวบ้านคาดเดากันว่าเป็นการแสดงความรู้สึกของคนสร้าง อันนี้ไม่รู้ว่าจริงไหม ขึ้นอยู่ที่จินตนาการคนมอง บางทีอาจจะเป็นรอยขีดที่ไม่ได้ตั้งใจของใครสักคนก็ได้ สำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะเข้ามาเที่ยวปราสาทแห่งนี้ก็มาได้เลย แต่ถ้าอยากมาแบบเป็นกลุ่มชมวิถีชีวิตชาวบ้านก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ผ่าน 0-4363-2125 เขามีฐานเรียนรู้หลายฐานตั้งแต่ชมโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ศูนย์ผ้าไหม แล้วก็สวนเกษตรของชาวบ้านด้วย แอบกระซิบบอกนิดหนึ่งว่า ถ้ามาเป็นกลุ่มจะได้อิ่มมื้อกลางวันกับอาหารอีสานรสแซ่บด้วย ทั้งส้มตำ ต้มไก่บ้าน ปลาแห้งทอด หมูทอด กินกับข้าวเหนียวร้อนๆ ซึ่งเราลองแล้วอร่อยมากๆ ไม่ใช่แค่เราที่บอกอร่อย แต่เพื่อนที่มาด้วยกันดูเหมือนจะติดใจส้มตำเป็นพิเศษ จนต้องขอเพิ่มเป็นจานที่สอง ถ้าขอจานที่สามได้คงทำไปแล้ว

(สตรีทอาร์ตฝายน้ำล้นของร้อยเอ็ด)

    ใช้เวลาเดินชมโบราณสถานกู่กาสิงห์สักพักใหญ่ๆ ถ่ายรูปบ้าง นั่งพักใต้ร่มไม้บ้าง พอแดดร่มลมตก ก็ต้องออกจากกู่กาสิงห์ย้อนกลับเข้าสู่ตัวเมืองอีกครั้ง เพื่อไปถ่ายรูปกับแลนมาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด นั่นก็คือ สตรีทอาร์ตสุดคูล ที่กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่หลายชีวิตร่วมกับจังหวัดลงมือวาดเขียนภาพอาร์ตๆ ลงบนกำแพง ได้ยินมาว่ามีถึง 4 จุดเลยทีเดียว แต่เราไปมาแค่ 2 จุด ในจุดแรกนั้น ตอนแรกคาดหวังว่าจะได้เห็นภาพอาร์ตๆ สวยๆ บนกำแพงขนาดใหญ่เหมือนอย่างที่เคยเห็นหลายๆ ที่ แต่ปรากฏว่าภาพที่เห็นนั้นไม่ใช่ กลับกลายเป็นว่าภาพอยู่ตามแนวผนังของน้ำในคลอง ซึ่งเรียกว่าฝายน้ำล้น หลังวัดบูรพาภิราม เราจึงได้แต่มองภาพอาร์ตๆ จากบนสะพาน พอลงมาด้านล่างมีทางเดินให้ถ่ายรูปกับภาพอาร์ตๆ ทั้งสองฝั่ง ทำให้คลองเล็กๆ ที่ดูเหมือนไม่มีอะไร แต่กลับกลายเป็นมีสีสันสวยงามน่ามอง

(สตรีทอาร์ตที่ยาวสุดในภาคอีสานกับภาพแสดงวิถีชีวิตชาวนา)

    จากนั้นเราก็ได้แวะไปจุดที่สอง เป็นภาพสตรีทอาร์ตที่อยู่บนกำแพงจริงๆ แล้ว มีคนบอกว่ายาวที่สุดในภาคอีสาน แต่ยาวเท่าไหร่ไม่รู้เพราะมาถึงก็มัวแต่ตื่นเต้นกับภาพบนกำแพงจนไม่ได้สังเกตความยาว สตรีทอาร์ตแห่งนี้อยู่ข้างคลองบริเวณใกล้สถานีดับเพลิง มีภาพการ์ตูนหลายภาพ แต่มีภาพหนึ่งที่สะดุดตาเรามากๆ เป็นภาพคนที่อยู่กับควายกลางทุ่ง โดยคนแต่งกายด้วยชุดลำลองเกี่ยวข้าว ในมือถือรวงข้าว บ่งบอกวิถีชีวิตคนร้อยเอ็ดได้เป็นอย่างดีว่ามีความผูกพันกับข้าวและวิถีชาวนามากแค่ไหน

(สะพานไม้แกดำ จากฝั่งบ้านหัวขัว)

    ในเช้าวันใหม่เราเดินทางสู่วัดดาวดึงษ์ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม เพื่อมาชมสะพานไม้แกดำ สะพานไม้โบราณเก่าแก่ที่อยู่กลางทุ่ง ทอดตัวยาวท่ามกลางหนองน้ำแกดำไกลสุดลูกตากว่า 1 กม. ถามชาวบ้านที่นี่บอกว่าสร้างสะพานขึ้นมาเพื่อใช้ในการไปมาหาสู่กันระหว่างคนสองฟากฝั่งหนองน้ำ ซึ่งก็คือชาวบ้านหัวขัวและบ้านแกดำ เป็นสะพานไม้ที่สร้างขึ้นด้วยวิธีง่ายๆ ปักเสาลงไปในโคลนใต้น้ำจนถึงชั้นดิน ปูด้วยแผ่นไม้ที่พอจะหามาได้ แต่ชาวบ้านบอกว่าสะพานนี้ก็ยังคงอยู่มาร้อยปีได้ เราลองเดินบนสะพานไปจากฝั่งบ้านหัวขัว ค่อนข้างหวาดเสียว แรกๆ ที่เดินจากฝั่งบ้านหัวขัวด้านล่างสะพานเป็นบึงดอกบัวและพืชสีเขียว คอยบดบังน้ำที่อยู่ด้านล่าง มองลงไปจึงไม่ค่อยน่าหวาดเสียวเท่าไหร่ แต่พอเดินไปเรื่อยเราเริ่มรู้สึกว่าทำไมไม่ถึงฝั่งเสียที เพราะมาได้ครึ่งทางเริ่มกลัวแล้ว ไม่มีบึงบัวคอยบังแม่น้ำที่อยู่ด้านล่าง บวกกับสะพานที่ค่อนข้างโยกเยก คดโค้ง เดินไปขาสั่นไป  แต่สุดท้ายก็ข้ามมาถึงฝั่งจนได้

(เรียนรู้การทำเสื่อกกกับชาวบ้านแกดำ)

    เดินขึ้นฝั่งมาได้ก็เห็นวิถีชีวิตของชาวบ้านแกดำกำลังทำเสื่อกก เพราะชาวมหาสารคามขึ้นชื่อเรื่องการทำเสื่อกก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการทอคล้ายทอผ้าไหม แต่ดูท่าแล้วน่าจะยากกว่าด้วยซ้ำ เพราะต้องนั่งพื้น และใช้เวลา เวลาสานเสื่อก็ต้องงอตัว ทำอย่างนั้นทั้งวันกว่าจะได้เสื่อผืนหนึ่ง เดินผ่านบ้านอีก 2-3 หลังก็เห็นทอเสื่อกกอีกเหมือนกัน คนทอก็มีแต่คนรุ่นย่ายายทั้งนั้น ไม่มีแล้วรุ่นลูกหลาน เพราะฉะนั้นคงไม่ต้องพูดเรื่องฝีมือและลวดลายของเสื่อกกว่ามีความประณีตสวยงามแค่ไหน ถ้าได้มาที่นี่ชาวบ้านเขาใจดีสอนทำด้วย

(สาวๆ เลือกกระเป๋าแฟชั่นทำจากเสื่อกก ที่บ้านแพง)

    อีกหนึ่งแห่งที่เราอยากแนะนำในมหาสารคามคือ บ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย เป็นแหล่งผลิตเสื่อกกชื่อดังด้วยเช่นกัน แต่มีผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ทำจากเสื่อกกด้วย ไม่ว่าจะเป็นที่รองแก้ว กระเป๋า กล่องใส่ของทั้งแบบเล็กใหญ่ ถ้าสาวๆ ได้เห็นจะต้องช็อปจนกระเป๋าแฟบแน่ๆ เราได้แวะบ้านแพงก่อนไปขึ้นเครื่องกลับที่ขอนแก่น เพื่อนๆ พี่ๆ ที่ไปด้วยกันช็อปผลิตภัณฑ์ที่บ้านแพงกันไปคนละอย่างสองอย่าง แฮปปี้กันทั้งแม่ค้าและลูกค้าเลยทีเดียว ซึ่งใครสนใจก็ต้องไปแวะช็อปกันได้โดยตรงที่บ้านแพง จากมหาสารคามมาตามถนนสายมหาสารคาม-โกสุม-ขอนแก่น อำเภอห่างจากจังหวัด 27 กม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"