รู้ไว้ก่อนส่งไม้ต่อธุรกิจครอบครัว


เพิ่มเพื่อน    


    ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จได้จากรุ่นสู่รุ่นนั้น ย่อมมีองค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยในช่วงที่ผ่านมามีผลสำรวจชี้ให้เห็นว่ารายได้ของธุรกิจครอบครัวมีการเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยพบว่ากิจการภายใต้ผู้นำรุ่นแรกเติบโตดีกว่ารุ่นอื่นๆ ขณะที่ผู้นำรุ่นปัจจุบันค่อนข้างมีความมั่นใจว่ารายได้ในอีก 2 ปีข้างหน้ายังโตต่อเนื่อง โดยธุรกิจครอบครัวมากกว่าครึ่งหรือ 53% มีผลประกอบการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก มีการกำหนดคุณค่าองค์กรที่ชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนธุรกิจครอบครัวไทย ผู้นำรุ่นใหม่ยังเผชิญความท้าทายด้านช่องว่างระหว่างวัย การได้รับการยอมรับในฝีมือบริหาร หลังทยอยส่งไม้ต่อการบริหารให้ผู้นำรุ่นที่ 3
    นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย หัวหน้าสายงานธุรกิจครอบครัว และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย ได้ให้ความเห็นว่าจากการสำรวจข้อมูลของบริษัท ซึ่งประกอบไปด้วยครอบครัวจำนวน 2,953 บริษัท ใน 53 ประเทศทั่วโลก พบว่ารายได้ของธุรกิจในปีที่ผ่านมาเติบโตเป็นเลข 2 หลัก ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2550 โดย 84% ของผู้บริหารคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ 16% ยังมองด้วยว่า รายได้จะเติบโตอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดอีกด้วย
    นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นแรกมีความสามารถในการเพิ่มรายได้ให้เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลักมากกว่าผู้นำรุ่นอื่นๆ  อย่างชัดเจน ขณะที่ 75% ของผู้บริหารธุรกิจครอบครัวเชื่อว่าการมีวัฒนธรรมองค์กรและคุณค่าที่แข็งแกร่งจะช่วยสร้างความได้เปรียบให้กับกิจการได้มากกว่าธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว โดย 49% ของผู้บริหารได้มีการกำหนดคุณค่าองค์กรโดยเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
    ส่วนผลการดำเนินงานภายใต้การบริหารธุรกิจครอบครัวของผู้นำรุ่นบุกเบิกที่เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักมากกว่ารุ่นอื่นๆ นั้น สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการสร้างสมดุลระหว่างการบริหารความต่อเนื่องของรูปแบบทางธุรกิจกับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยการที่องค์กรมีการกำหนดคุณค่าที่ชัดเจน และมีการเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ยังส่งผลต่อการกำหนดแผนเชิงกลยุทธ์ในเชิงบวก รวมถึงแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งด้วยเมื่อเทียบกับผู้นำในรุ่นปัจจุบัน จะเห็นว่าผู้นำรุ่นนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ หรือแม้แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตอย่างมาก
    มาดูกันว่าเมื่อแบ่งเป็นรายทวีปแล้วธุรกิจครอบครัวเป็นอย่างไรกันบ้าง โดยครอบครัวในทวีปตะวันออกกลางและแอฟริกา แสดงความเชื่อมั่นต่อการเติบโตของรายได้มากที่สุด และ 28% คาดว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตามด้วยธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก 24% ยุโรปตะวันออก 17% อเมริกาเหนือ 16% อเมริกากลางและใต้ 12% และยุโรปตะวันตก 11% สำหรับความท้าทาย 3 อันดับแรกของธุรกิจครอบครัวในอนาคตจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนวัตกรรม การเข้าถึงแหล่งแรงงานที่มีทักษะ และการเข้าสู่ดิจิทัล
    ปีเตอร์ อิงกลิช หัวหน้าสายงานธุรกิจครอบครัว บริษัท PwC โกลบอล กล่าวเสริมว่า ธุรกิจครอบครัวและธุรกิจเอกชนมากกว่า 350,000 รายที่มีจะต้องมีการส่งไม้ต่อในอนาคต เนื่องจากผู้นำรุ่นปัจจุบันจะเกษียณ จะยิ่งทำให้เกิดความกังวลถึงความต่อเนื่องของการประกอบธุรกิจ โดยผู้นำรุ่นต่อไปจะยิ่งเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ต่างไป ทั้งในเรื่องของผลกระทบจากเทคโนโลยี เช่น เอไอ หุ่นยนต์ และความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไซเบอร์
    สำหรับประเทศไทยเองก็มีธุรกิจครอบครัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะมากกว่า 80% ของธุรกิจไทยนั้นเป็นธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ หรืออย่างบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เองที่ 3 ใน 4 นั้น เป็นธุรกิจครอบครัวเช่นกัน สถานการณ์ที่ผ่านมาธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่อยู่ภายใต้การบริหารงานของผู้นำรุ่นที่ 2 และบางครอบครัวเริ่มส่งต่อกิจการให้แก่ผู้นำรุ่นที่ 3 แล้ว ต้องยอมรับว่ากลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของไทยเหล่านี้ก็เผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตคล้ายคลึงกับผู้นำรุ่นใหม่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างที่เกิดจากการสร้างความน่าเชื่อถือ และช่องว่างในการสื่อสาร เป็นสิ่งที่ผู้นำทั้ง 2 รุ่นจำเป็นต้องเปิดใจและมีการสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น.

รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"