ชี้ปปช.กำหนดแจ้งทรัพย์สิน อัดมหา’ลัยเป็นสมบัติส่วนตัว


เพิ่มเพื่อน    

    ชัดเจนแต่ยังไม่สะเด็ดน้ำ! "วิษณุ"   ชี้โพรง ป.ป.ช.จะต้องเลือกกำหนดเอาเองว่าจะเอาตำแหน่งใดอย่างไรบ้างต้องยื่น ถ้าให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ก็โยกไปอยู่ในกลุ่มไม่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ นักวิชาการอัด ม.44  กำลังจะทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นสมบัติส่วนตัวและเป็นมรดกตกทอดอย่างถาวร
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2561 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เกี่ยวกับผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ได้ยกเลิกประกาศของ ป.ป.ช. ไม่ได้ไปล่วงล้ำอำนาจของ ป.ป.ช.แต่อย่างใด เว้นแต่กรณีที่ ป.ป.ช.ขอให้เขียนยกเลิกข้อ 5 เพื่อทำให้เหตุการณ์สงบเรียบร้อย ส่วนอย่างอื่นนั้น ป.ป.ช.จะจัดการเอาเอง 
    ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวพันกับการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินซึ่งมีอยู่ 3 ประเภท คือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งต้องยื่นอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งป.ป.ช. จะเป็นผู้กำหนดว่าตำแหน่งใดต้องยื่น แต่ก็ไม่ต้องเผยแพร่สู่สาธารณะ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ที่ต้องยื่น โดย ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิเลือกกำหนดตำแหน่ง และต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ 
    เขากล่าวว่า เดิมกรรมการมหาวิทยาลัยอยู่ในนิยามของคำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงด้วย ดังนั้นสิ่งที่คำสั่ง คสช.แก้ไขคือ เอากรรมการในหน่วยงานทั้งหลายของรัฐย้ายไปอยู่ในประเภทเจ้าหน้าที่ของรัฐ จากนี้ ป.ป.ช.จะต้องเลือกกำหนดเอาเองว่าจะเอาตำแหน่งใดอย่างไรบ้างต้องยื่น ถ้า ป.ป.ช.กำหนดว่าให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน คราวนี้ก็ต้องยื่น แต่จะไม่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะ
    "คสช.ไม่ได้เป็นผู้ประกาศกำหนด เพราะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. และคำสั่ง ม.44 ดังกล่าวก็ไม่ได้ไปยกเลิกประกาศคำสั่งฉบับนั้นของ ป.ป.ช. ดังนั้นฝากเรียนใครต่อใครที่ออกมาให้ข่าวว่า คำสั่ง คสช.ฉบับนี้ไปยกเลิกประกาศของ ป.ป.ช.เรื่องยื่นทรัพย์สินนั้น ไม่ใช่เป็นการยกเลิก เพราะถ้ายกเลิกก็ต้องไม่มีการให้ยื่นทรัพย์สินอีกแล้ว แต่อันนี้ไม่ใช่ และที่ต้องใช้ ม.44 เพราะนี่คือการแก้กฎหมาย เนื่องจากคำว่า กรรมการ ในนิยามนั้นอยู่ในกฎหมาย ประเภทผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ถ้ายังอยู่ในนิยามนั้นก็ยังติดขัดอยู่ ดังนั้นจึงต้องทำให้คล่องตัวขึ้นโดยแก้กฎหมาย เพื่อให้ย้ายประเภทมาอยู่ในประเภทเจ้าหน้าที่ของรัฐ" นายวิษณุ กล่าว
    นายอารีย์ หาญสืบสาย อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัย ประเภทผู้แทนผู้บริหาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ระบุว่า หลักการของเรื่องคือเป็นมาตรการป้องปรามการทุจริตแบบหนึ่งเท่านั้น ถ้ากรรมการสภาฯ มีความตั้งใจทำงานเพื่อชาติจริง บริสุทธิ์ใจจริง ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ไม่อยากอยู่ก็ลาออกไป มีคนเป็นจำนวนมากที่อยากจะเข้ามาทำงานแทน ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมาใช้วิธีกดดันสังคมแบบนี้   
    "แต่ที่ประหลาดใจคือ คสช.กลับเกรงใจ ยอมคนกลุ่มนี้ ลืมไปเลยว่าเคยประกาศว่าเกลียดการทุจริต คอร์รัปชัน ยอมเสียสัตย์ง่ายๆ ไม่รู้เป็นเพราะได้ข้อมูลด้านเดียวรึเปล่า"
    กรรมการสภาฯ หลายคนแทบจะยึดเป็นอาชีพเสียด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะตัวนายกสภาฯ บางแห่ง อยู่กันมานานกว่า 20 ปี และเวลานี้มีการสร้างเครือข่ายในหมู่อธิการบดีและกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเลียนแบบ แลกเปลี่ยนวิธีการสร้างผลประโยชน์ สัมปทาน ในกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน 
    ดังนั้น การปลดล็อกด้วย ม.44 จึงเท่ากับสร้างความล่อแหลมที่จะทำให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ มีคนบอกว่า คสช.ทำแบบนี้เหมือนเตะหมูเข้าปากหมา (อีกแล้ว) แต่ดูๆ ไป มันชักจะไม่ใช่แบบนั้นซะแล้ว คงจะมีอะไรๆ มากกว่านี้แน่ๆ ในท้ายที่สุดขอย้ำว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขระบบบริหารงานมหาวิทยาลัยนอกระบบ ไม่แก้ไข การให้อำนาจกรรมการสภาฯ แบบเอาแต่ได้อย่างนี้ ต่อไปมหาวิทยาลัยของรัฐก็จะกลายเป็นสมบัติส่วนตัวและ เป็นมรดกตกทอดของคนกลุ่มนี้ไปอย่างถาวร" นายอารีย์ระบุ
    ขณะที่ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) และองค์กรเครือข่าย  แถลงการณ์ฉบับที่ 5 ระบุว่า คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2561 เสมือนเป็นการแทรกแซงกระบวนการทำงานอย่างถูกต้องและโปร่งใสขององค์กรอิสระ กระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงต่อความเชื่อมั่นของประชาชนชาวไทยในการยึดถือหลักนิติรัฐและธรรมาภิบาลของประเทศ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศจะหวังพึ่งในความยุติธรรมที่เที่ยงแท้จากรัฐบาลได้อย่างไร และยังเป็นการทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) และองค์กรเครือข่าย 
    จึงขอคัดค้านคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 21/2561 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายแสดงบัญชีทรัพย์สินกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย อย่างถึงที่สุด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"