ก่อนจะถึงกุสินารา


เพิ่มเพื่อน    

ภายในรถไฟชั้น Sleeper Class ค่าโดยสารถูกเป็นลำดับรองสุดท้าย

เรือยนต์นำเรากลับมายังท่าอัศวเมศ มิชาเอลจ่ายค่าเรือ 500 รูปี และทำท่าจะจ่ายให้พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีลอยอังคาร 300 รูปี หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 150 บาท ตามคำแนะนำของกุนเธอร์-มังสวิรัติผู้มัธยัศถ์ยิ่ง ผมบอกเขาว่าคงไม่ใช่แค่นี้หรอก วันก่อนได้ยินจากพราหมณ์หนุ่มเพื่อนของเราว่าขั้นต่ำประมาณ 3,000 รูปี และผมก็ย้ำกับกุนเธอร์มาก่อนแล้วว่าต้องทำความเข้าใจเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้เข้าใจตรงกันเสียตั้งแต่ต้นจะได้ไม่กระอักกระอ่วนเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน แต่เขากลับตีค่าประกอบพิธีส่งวิญญาณเพื่อนรักสู่โลกใหม่น้อยแค่ 4 ยูโร

ผมจึงบอกพราหมณ์หนุ่มช่วยอธิบายให้เยอรมันทั้งคู่เข้าใจ ก็ได้ความอย่างที่ผมบอกไปว่าขั้นต่ำประมาณ 3,000 รูปี นอกจากนี้ก็ต้องถวายผลไม้แด่พราหมณ์ด้วยเนื่องจากพราหมณ์ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ นี่คงเป็นธรรมเนียมแต่เดิม คือถวายเฉพาะผลไม้ซึ่งต้องเผื่อให้กับครอบครัวของพราหมณ์ด้วย ส่วนการถวายเงินน่าจะเกิดขึ้นทีหลัง เหมือนกับการถวายเงินพระสงฆ์ในสังคมชาวไทยพุทธ

ตลาดผลไม้ที่อยู่ใกล้ๆ ท่าอัศวเมศคนค่อนข้างเยอะ พวกเราจึงเดินไปตั้งหลักกันที่ร้าน Jyoti ในซอยบังกาลีโตลา กุนเธอร์เดินไปซื้อผลไม้ พราหมณ์หนุ่มสั่งชามาซาล่ามาดื่มครบคน เมื่อกุนเธอร์กลับมาพร้อมผลไม้หลากหลายชนิดในถุงใบใหญ่ ก่อนถวายพราหมณ์กุนเธอร์ก็แบ่งส่วนของเขาออกมาแล้วจัดการกินเสียก่อนที่มิชาเอลจะนำผลไม้ที่เหลือใส่จานยื่นถวายพราหมณ์

ร้านอาหาร Aadha Aadha Café บนชั้นดาดฟ้าของ Baba Guest House

ด้านพราหมณ์หนุ่มบอกให้มิชาเอลคุกเข่าลงเอามือจับเท้าของพราหมณ์ประกอบพิธี เขาก็คุกเข่าลงแต่ไม่ทันจะได้จับเท้า พราหมณ์ประกอบพิธีก็จับไหล่ให้เขาลุกขึ้น ท่านคงเห็นว่าฝรั่งไม่ถนัด จากนั้นมิชาเอลก็ควักเงิน 3,000 รูปีถวายแด่พราหมณ์ประกอบพิธีเหมือนไม่เต็มใจแต่ไม่อยากให้เสียบรรยากาศ พราหมณ์กอบผลไม้ในจานใส่ถุงแล้วลากลับบ้าน เพราะพราหมณ์อย่างท่านจะกินที่ร้านอาหารไม่ได้ ส่วนพวกเราเดินกลับเกสต์เฮาส์

ผมจัดกระเป๋าอย่างรวดเร็วแล้วขึ้นไปกินมื้อเช้าบนร้านอาหารชั้นดาดฟ้า เอมี่-สาวฝรั่งเศสผู้จัดการนำค่าอาหารจากการ์ดสะสมแต้มที่ผมเคยกินที่ร้านทั้งหมดมาบวกกัน ลดราคาให้ 5 เปอร์เซ็นต์ของราคารวมทั้งหมด ส่วนลดที่เธอคืนมาเกือบ 100 รูปี ผมหย่อนลงกล่องทิป และขอเก็บการ์ดไว้เป็นที่ระลึก

ราเชศ-กุ๊กจากพุทธคยานำเงินค่าวิสกี้มาคืน 500 รูปี เมื่อคืนนี้เด็กขี่มอเตอร์ไซค์ตระเวนทั่วเมืองก็หาซื้อไม่ได้เพราะเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์เนื่องในวันคล้ายวันเกิดของท่านมหาตมะ คานธี ผมทอนเขาไป 100 รูปี เขาดูงงๆ จึงบอกว่าเป็นทุนตั้งต้นสำหรับขวดต่อไป เขาก็รับไว้ด้วยยินดี

เมื่อลาทุกคนในร้านอาหาร ลาคณะชาวเยอรมัน แล้วก็ลงไปจ่ายค่าที่พัก เจอเด็กเฝ้าประตูผู้น่าสงสาร หน้าตามอมแมม ใส่เสื้อตัวเดิมมาหลายวันติดกันแล้ว ผมล้วงเหรียญในกระเป๋าที่มีทั้งหมดยื่นให้ เขาขอบคุณยกใหญ่พร้อมคำอวยพร

ในช่วงแรกที่ผมเพิ่งได้รู้จักกับกุนเธอร์ เขารู้ว่าผมจะเดินทางต่อไปยังประเทศเนปาลโดยจะแวะสักการะสังเวชนียสถาน 2 แห่ง คือกุสินารา และลุมพินีวัน เขาขอร่วมทางไปกับผมด้วย และหลุดประโยคหนึ่งออกมาว่า “จะได้ประหยัดค่าที่พักและค่าเดินทางจำพวกรถเหมา เพราะมีคนหารสอง”

ง่ายๆ สไตล์อินเดีย

ตอนแรกผมไม่คิดอะไรมากแม้จะตั้งใจมาว่าจะลุยเดี่ยวเที่ยวโทงเทงตามถนัด แต่ขณะนี้รู้สึกหนักใจนิดหน่อยที่พลาดท่าอนุญาตให้เขาร่วมทางไปด้วย เพราะตลอดช่วงเกือบสัปดาห์ที่มักคุ้นกันเขาแสดงอะไรบางด้านออกมาในแบบที่ผมรู้สึกรำคาญ แต่เมื่อตอบตกลงไปแล้วก็คงต้องลองกันสักตั้ง

เราเดินไปแถวๆ แยก Godowlia หากจากสถานีรถไฟ Varanasi Junction ประมาณ 4 กิโลเมตร ได้รับการทาบทามจากคนขับออโต้ริคชอว์คนแล้วคนเล่า ผมมอบประกาศิตการตัดสินใจเลือกสารถีแก่กุนเธอร์พร้อมกับเปรยๆ ไปว่าราคามาตรฐานอยู่ที่ 150 รูปีสำหรับเหมา กระทั่งมีคนเสนอราคานี้เขาก็ยังไม่ตกลงแม้ว่ากำหนดเวลารถไฟออกของเราเหลืออีกไม่มาก

โชเฟอร์คนหนึ่งเสนอราคา 150 รูปี ผมบอกกุนเธอร์ว่าตอบตกลงไปเถอะ เราเดินตามโชเฟอร์ไปยังจุดที่เขาจอดรถ กุนเธอร์ต่อเหลือ 100 รูปี เขาไม่ลดให้ กุนเธอร์ก็ไม่ยอมขึ้นรถ บอกว่าจะขึ้นที่ราคา 100 รูปีเท่านั้น จนโชเฟอร์โมโห สบถออกมาว่า “ฟักยู” ผมถือว่าไม่ได้ด่าผม จึงไม่ได้ตอบโต้อะไร ขณะกุนเธอร์เดินหนีไปก่อนแล้ว

ระหว่างทางพาราณสี – โกรัคปูร์

ในที่สุดผมต้องบอกกุนเธอร์ว่าคราวนี้ให้อยู่เฉยๆ ผมจะเจรจาเอง เด็กวัยรุ่นอายุราว 15 ปี ขับออโต้แบบไฟฟ้าผ่านมา ผมถามเขาว่า “ไปสถานีรถไฟคนละเท่าไหร่ ?” เขาตอบ “20 รูปีต่อคน” ผมขึ้นทันที แล้วบอกให้กุนเธอร์รีบขึ้นตามมา นี่คือราคาคนท้องถิ่น เด็กคนนี้ไม่มีเล่ห์

รถยังไม่ทันขยับออก ผู้ใหญ่คนหนึ่งคาดว่าจะขับออโต้เช่นกันเดินเข้ามาคุยกับหนุ่มน้อยของเรา และเมื่อออกรถมาได้ไม่เท่าไหร่โชเฟอร์รุ่นเยาว์ก็หันมาบอกว่า “คนละ 50 รูปีนะนาย” คงเพราะโดนผู้ใหญ่คนนั้นเป่าหูมา แล้วเขาก็รับผู้โดยสารเพิ่มมาอีกคนโดยให้นั่งด้านหน้าฝั่งซ้ายมือของเขา

ระหว่างรถวิ่งไปผมก็นึกขึ้นได้ว่ายังไม่คืนกุญแจห้องพักให้กับเกสต์เฮาส์ บอกกุนเธอร์ว่าขอฝากมาคืนด้วยตอนที่เขากลับจากเนปาลมาพาราณสีอีกครั้งราว 1 สัปดาห์ข้างหน้า ช่วงนี้เกสต์เฮาส์คงมีกุญแจสำรองใช้ไปก่อน แต่ปรากฏว่าเมื่อเราไปถึงสถานีรถไฟคนของเกสต์เฮาส์ก็โทรหากุนเธอร์เพื่อทวงกุญแจ ผมจึงต้องหาที่ฝากแล้วให้คนของเกสต์เฮาส์ขี่มอเตอร์ไซค์มารับ ส่วนกุนเธอร์นั่งเฝ้ากระเป๋าใกล้ชานชาลา โชคดีผมเห็นแผนกช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอยู่ที่มุมหนึ่งของสถานี เจ้าหน้าที่สาวหาเบอร์ของ Baba Guest House จากอินเตอร์เน็ตต่อสายคุยกับคนของเกสต์เฮาส์จนเข้าใจกันเรียบร้อย

รอกันต่อไป รถไฟยังไม่มา

รถไฟออกตรงเวลา 11.45 น. กำหนดถึงสถานีโกรัคปูร์ 16.25 น. เรานั่งชั้น Sleeper Class ซึ่งเป็นชั้นรองสุดท้ายในบรรดาที่นั่งโดยสารรถไฟ อนา-ผู้จัดการเกสต์เฮาส์เป็นคนซื้อตั๋วให้จากตัวแทนจำหน่ายในซอยบังกาลีโตลา ราคา 280 รูปี โดยเอเยนต์คิดค่าดำเนินการเพียง 20 รูปีเท่านั้น ผ่านสถานี Varanasi City ซึ่งเป็นอีกสถานีหนึ่งของกรุงพาราณสี มีโทรศัพท์เข้ามาที่เครื่องของกุนเธอร์ เขาไม่รับ บอกว่าคนที่เกสต์เฮาส์โทรมาหลายครั้งแล้วแต่เขาฟังภาษาอังกฤษของปลายสายไม่รู้เรื่อง ผมให้เขากดรับแล้วขอคุยเอง

ไม่ทันที่ผมจะกล่าวขอโทษในความสะเพร่า วัยรุ่นชายพูดว่า “ขอบคุณมากครับ เราได้รับกุญแจที่ฝากไว้แล้ว ขออวยพรให้คุณทั้งสองเดินทางโดยสวัสดิภาพ” วางสายแล้วผมก็บอกกุนเธอร์ว่าถ้าไม่ฟังอย่างตั้งใจก็จะไม่รู้ว่าพวกเขาน่ารักขนาดไหน

กุนเธอร์นอนเหยียดยาวลงบนเก้าอี้ตรงข้ามกับผม หันหัวติดกับหน้าต่าง เอาผ้าปิดตาคล้ายไม่อยากรับรู้เรื่องราว

บ้านไร่ชายนา ระหว่างเส้นทางรถไฟ พาราณสี – โกรัคปูร์

ชายชาวอินเดียที่นั่งอยู่ปลายเท้าของกุนเธอร์หน้าตาน่าเกรงขามแต่อัธยาศัยดีแม้ว่าเขาจะพูดภาษาอังกฤษแทบไม่ได้ พอเห็นว่าผมชอบออกไปถ่ายรูปวิวตรงบริเวณข้อต่อระหว่างตู้รถไฟเขาก็เดินออกไปชี้นั่นชี้นี่ให้ผมถ่าย โดยเฉพาะแม่น้ำและสะพานต่างๆ ชายคนที่นั่งฝั่งเดียวกับผมลุกขึ้นไปนอนเกยสลับหัวสลับหางอยู่กับเพื่อนอีกคนบนที่นอนลอยฟ้าของอีกฝั่งทางเดิน ใช้ภาษาใบ้ขอยืมหูฟังโทรศัพท์ทั้งที่เขาไม่รู้ว่าผมมีหรือไม่มีกันแน่ ผมล้วงจากกระเป๋าเป้ยื่นให้ นี่คือภาพชีวิตชีวาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นเสมอในรถไฟอินเดีย

บนรถไฟขบวนนี้มีผู้โดยสารขึ้นและลงสับเปลี่ยนกันเกือบทุกๆ สถานี บางครั้งเราได้สนทนากับด็อกเตอร์และอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เป็นนักศึกษาก็มีหลายคน ส่วนมากจะจบลงด้วยการขอถ่ายรูปแบบเซลฟี่ ที่สถานีหนึ่งรถไฟจอดค่อนข้างนาน เด็กมัธยมกลุ่มหนึ่งขึ้นมาขอเซลฟีคนแล้วคนเล่า ซึ่งเราอย่าได้แปลกใจ คนอินเดียโดยเฉพาะวัยรุ่นชอบถ่ายเซลฟี่กับคนแปลกหน้าเป็นบ้าเป็นหลัง

เด็กคนหนึ่งเห็นผมสะพายกล้องอยู่ก็ขอให้ผมถ่ายรูปเขากับเพื่อนอีกคนแล้วขอดูผลงาน เขาบอกผมว่า “ลบหน่อย รูปมืดไป” ให้ผมถ่ายใหม่ พอเขาพอใจก็ยกนิ้วโป้งให้ แล้วลงจากรถไฟไป ไม่ได้คิดจะโดยสารไปไหน

สองข้างทางที่รถไฟวิ่งผ่านพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาเวิ้งว้าง เห็นบ้านที่สร้างไม่เสร็จจำนวนมากแต่คนเข้าอยู่อาศัยกันแล้ว ลักษณะอิฐสีแดงเปลือยๆ ทั้งสี่ด้าน หลังคามุงบ้างไม่มุงบ้าง มีงบเมื่อไหร่ก็ค่อยสร้างต่อ

ตอนใกล้ๆ จะถึงเมืองโกรัคปูร์กลิ่นหอมของดอกสาละที่กำลังบานสะพรั่งโชยเข้าจมูก เกิดความสดชื่นขึ้นมาทันใด รถไฟมาถึงช้าไปมากกว่า 2ชั่วโมง สถานีโกรัคปูร์ (Gorakhpur Junction) มี 26 ราง 10 ชานชาลา และชานชาลาที่ 1 มีความยาวถึง 1,366.33 เมตร เป็นชานชาลารถไฟที่ยาวที่สุดในโลกเลยทีเดียว

โฉมหน้านักศึกษาอินเดีย

สถานที่ปรินิพพานอยู่ห่างไปราว 50 กิโลเมตร เราต้องค้างคืนที่โกรัคปูร์แล้วพรุ่งนี้เช้าค่อยเดินทางไปยังกุสินารา ผมยังไม่ได้จองที่พัก ได้แค่ดูๆ ไว้จากอินเตอร์เน็ตก่อนหน้านี้ เมื่อออกจากสถานีก็จ้างออโต้ราคา 50 รูปีเพื่อเดินทางไปยัง Hotel Ganesh ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร แต่โรงแรมนี้ไม่รับลูกค้าชาวต่างชาติ เดินออกไปเจออีกโรงแรมก็มีนโยบายเหมือนกัน

เราเดินหาไปเรื่อยๆ โรงแรมที่ 3 ก็ยังรับเฉพาะลูกค้าชาวอินเดีย กุนเธอร์แวะคุยกับชายคนหนึ่งแถวๆ ป้อมตำรวจ ได้ความว่าโรงแรมที่จะรับลูกค้าชาวต่างชาติต้องขอใบอนุญาตอีกประเภทหนึ่ง และชายผู้นี้ก็เดินข้ามถนนอันจอแจไปส่งเราที่โรงแรมชื่อ Hotel President ห่างไปราว 300 เมตร แล้วเขาก็เดินกลับโดยที่เรายังไม่ทันจะแสดงความขอบคุณอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

รีเซ็พชั่นหนุ่มบอกราคาคืนละ 2,000 รูปี มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ใจผมรับได้เพราะคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,000 บาท เมื่อหารสองก็จ่ายคนละ 500 บาท ทั้งไม่อยากเดินหาต่อโดยต้องแบกสัมภาระไปด้วยเพราะเวลาขณะนี้ก็ปาเข้าไปเกือบ 3 ทุ่มแล้ว กุนเธอร์ไม่ตกลง เขาว่าสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่กล่าวมาล้วนเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการ รีเซ็พชั่นลดราคาลงมาเหลือ 1,700 รูปี คุณลุงยอดมัธยัศถ์ก็ไม่ตกลง แถมยังถามรีเซ็พชั่นกลับไปว่ามีที่ไหนราคาถูกกว่านี้แนะนำไหม ก็ได้รับคำตอบว่า “ไม่มีข้อมูล” แปลเป็นไทยคือ “กูไม่บอกมึงหรอก”

ผมเสนอให้กลับไปสอบถามบริเวณตรงข้ามสถานีรถไฟ เราเรียกออโต้มาคันหนึ่งราคามาตรฐาน 50 รูปี บรรดาที่พักตั้งเรียงอยู่เป็นตับ เกินครึ่งไม่รับชาวต่างชาติ ที่รับราคาก็ไม่ค่อยถูกใจกุนเธอร์ แต่ดูๆ ไปแล้วไม่มีที่ไหนราคาน้อยกว่า 1 พันรูปีเลย

ขณะเข้าไปสำรวจที่ Hotel Sunrise กุนเธอร์อ่อนแรงลงไปมากและห้องที่นี่ไม่ค่อยสะอาด ผมจึงอาสาเดินกลับไปดูห้องที่ Hotel Kushal ซึ่งเราแวะถามราคาก่อนหน้านี้แล้ว ถ้าห้องสะอาดก็จะโทรมาให้กุนเธอร์เดินไปเช็กอิน

Hotel Kushal ราคาคืนละ 990 รูปี ไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ห้องนอนกว้าง ห้องน้ำสะอาดและไหลแรง แถมยังมีบริการอาหารแบบรูมเซอร์วิส ผมโทรหากุนเธอร์ให้รีบเดินกลับมาก่อนคนอื่นจะคว้าห้องไป ไม่มีรีเซ็พชั่นคนไหนอ้อนวอนให้เราพักสักแห่ง เพราะโรงแรมใกล้สถานีรถไฟมักเต็มอยู่เสมอ

ผมมีเงินสดเหลือ 800 รูปีถ้วน กุนเธอร์มี 300 กว่ารูปี เราต้องจ่ายค่าห้องก่อนเข้าพัก ผมจ่ายเกลี้ยงทั้ง 800 กุนเธอร์ให้มา 200 เงินทอน 10รูปีผมก็ให้เด็กยกกระเป๋าไป กุนเธอร์นำ 100 กว่ารูปีที่เหลือไปหาข้าวกิน ส่วนผมต้องไปหาตู้เอทีเอ็ม

ก่อนนี้ระหว่างนั่งออโต้ กุนเธอร์เอามืออุดหูเพราะรำคาญเสียงแตรรถ และพูดว่าเขาไม่มีความคิดที่จะออกสำรวจโกรัคปูร์เลย อยากจะออกไปจากเมืองนี้ให้เร็วที่สุด ผมจึงเสนอว่า “พรุ่งนี้เช้าเราแยกกันก็ได้”

เขาเสียงอ่อนลงไป แต่ผมแอบภาวนาให้เป็นเช่นนั้น เพื่อจะได้ไปกุสินาราอย่างสบายใจ.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"