'10 ปีสภาองค์กรชุมชน' น้อมนำศาสตร์พระราชา เดินหน้าปฎิรูปประเทศไทย...!!


เพิ่มเพื่อน    

ในจำนวนร่าง พ.ร.บ.ที่ภาคประชาชนมีส่วนในการร่างและผลักดัน จนเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้มีอยู่ไม่กี่ฉบับ และหนึ่งในนั้นก็คือ ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ที่ส่งผลให้เกิดการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ขึ้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6,000 ตำบลทั่วประเทศ

แต่หลายคนคงจะสงสัยว่า “สภาองค์กรชุมชนตำบลคืออะไร ? มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ?”

ตอบให้สั้นและกระชับก็คือ “สภาองค์กรชุมชนฯ คือ เวทีประชุมของสมาชิกในตำบล เพื่อนำปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาในตำบลมาประชุมร่วมกัน เพื่อปรึกษาหารือ เสนอความเห็น เสนอแนะปัญหา เสนอแนวทางแก้ไข หรือแนวทางการพัฒนาในท้องถิ่น”

เมื่อที่ประชุมได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาชุมชนแล้ว เรื่องใดที่สามารถดำเนินการได้เอง สภาองค์กรชุมชนฯ และสมาชิกก็สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที แต่หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ สภาองค์กรชุมชนตำบลสามารถนำไปเสนอแนะการแก้ไขปัญหาและแนวทางการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้

นอกจากนี้ในที่ประชุมระดับจังหวัดของสภาองค์กรชุมชนตำบล ยังสามารถเสนอแนะต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชน ในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม...!!

จะเห็นได้ว่า สภาองค์กรชุมชนเป็นเวทีหรือเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้วยตัวเอง โดยยึดหลักการประชาธิปไตยจากฐานรากที่แท้จริง ไม่ใช่ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิ์ออกไปหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงเพียงอย่างเดียว !!

ดังตัวอย่างของสภาองค์กรชุมชนตำบลบ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ใช้เวทีสภาฯ ขับเคลื่อนและต่อสู้จนสามารถทวงคืนผืนป่าสาธารณะห้วยเม็กจากบริษัทเครื่องดื่มผสมเคเฟอีนชื่อดังที่งุบงิบทำเรื่องขอเช่าที่ดินสาธารณะโดยไม่ถูกต้อง จนกลายเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศเมื่อไม่นานมานี้

นอกจากนี้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 มาตรา 32 ระบุว่า “ให้ที่ประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลดำเนินการเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้.....”

(3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ

ย้อนรอยร่าง พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ ฉบับประชาชน

สุวัฒน์ คงแป้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ซึ่งมีส่วนในการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เล่าว่า พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยก่อนหน้านั้นมีกลุ่มและองค์กรที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ เช่น กลุ่มออมทรัพย์ สัจจะสะสมทรัพย์ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มเกษตรอินทรีย์ กลุ่มแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้ กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ กลุ่มฌาปนกิจ กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ กลุ่มต่างๆ เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 แสนกลุ่ม

“แต่กลุ่มเหล่านี้ต่างก็ทำงานไปตามเป้าหมายของตัวเอง หรือตามเป้าหมายขององค์กรที่สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดพลัง หรือแม้แต่กลุ่มต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายในหมู่บ้านหรือตำบลบางแห่งก็ไม่ได้มีการเชื่อมโยงเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน เรียกว่าต่างกลุ่มต่างทำ ไม่ได้มองเห็นปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาร่วมกันทั้งตำบล หรือหากจะมีแผนพัฒนาก็เป็นแผนงานที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม เป็นแผนงานที่มาจากข้างนอก หรือหากชาวบ้านจะนำแผนงานไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานภาครัฐก็มักจะมองว่า กลุ่มองค์กรของชาวบ้านเป็นกลุ่มเถื่อน เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง หรือไม่มีกฎหมายรองรับ” สุวัฒน์เล่าถึงสภาพของกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ในปี 2549 มีกระแสการปฏิรูประเทศไทย แกนนำองค์กรชุมชนทั่วประเทศที่ทำงานร่วมกับ พอช. ได้จัดประชุมเพื่อทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเสนอต่อรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมได้ข้อเสนอจำนวน 8 เรื่อง และ 1 ในนั้นก็คือ ข้อเสนอเรื่อง “การยกระดับให้การทำงานขององค์กรชุมชนเป็นอิสระ” เพื่อทำให้เกิดสิทธิชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนาจากปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แผนพัฒนาที่มาจากข้างนอก หรือจากบนลงล่าง หรือแบบ “ทางการเขาสั่งมาว่า ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร” เหมือนในอดีต

จากข้อเสนอดังกล่าว แกนนำองค์กรชุมชนทั่วประเทศ เช่น ครูสน รูปสูง (ปัจจุบันเสียชีวิต) ผู้นำจากตำบลท่านางแนว อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น จินดา บุญจันทร์ ผู้นำจาก อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้นำจาก อ.แกลง จ.ระยอง ฯลฯ จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สมัชชาสภาองค์กรชุมชนแห่งประเทศไทย’ หรือ สอท. ขึ้นมา เพื่อเป็นองค์กรขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย ความเป็นอิสระขององค์กรชุมชน โดยแนวทางที่เห็นร่วมกันคือ “องค์กรชุมชนจะต้องมีกฎหมายที่สนับสนุน ส่งเสริม หรือมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาของตัวเอง เป็นแผนพัฒนาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐจะต้องนำไปประกอบการจัดทำแผนพัฒนาในทุกระดับ”

ในปี 2550 แกนนำ สอท.ได้ร่วมกันร่าง ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.........’ ขึ้นมา และนำเสนอต่อรัฐบาลผ่านกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งมีนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

แม้ว่า พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายรัฐบาล แต่ก็มีแรงต่อต้านไม่น้อย โดยเฉพาะในซีกของกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. กำนันและผู้ใหญ่บ้าน เพราะกลัวว่าจะไปทับซ้อนและลดทอนอำนาจที่มหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอยู่เดิม ที่รุนแรงถึงขั้นกล่าวหาว่า “พ.ร.บ.สภาฯ จะสร้างความขัดแย้งแตกแยกให้กับชุมชนท้องถิ่น”

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการลดแรงเสียดทานจึงมีการปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย และนำเสนอผ่านทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานสภาฯ โดยมีสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคนร่วมให้การสนับสนุนและผลักดัน เช่น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ นางมุกดา อินต๊ะสาร ฯลฯ รวมทั้งแรงสนับสนุนที่สำคัญจากประธานสภาฯ จึงทำให้ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551

สภาองค์กรชุมชน...สร้างประชาธิปไตยฐานราก

หลังจากที่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ ประกาศใช้แล้ว กลุ่มและองค์กรในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศจึงมีความเคลื่อนไหวอย่างคึกคักเพื่อจัดตั้งสภาองค์ชุมชนในตำบลของตนเองขึ้นมา โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีหน้าที่ในการส่งเสริมกิจการของสภาองค์กรชุมชนฯ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการจัดประชุมของสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้กลุ่มและองค์กรต่างๆ ในตำบลที่มีความประสงค์จะจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา จะต้องจดแจ้งการจัดตั้งกลุ่มกับผู้ใหญ่บ้านหรือกำนัน (ในกรุงเทพฯ ให้จดแจ้งกับผู้อำนวยการเขต) หลังจากนั้นให้ผู้นำทุกกลุ่มที่จดแจ้งการจัดตั้งแล้วทุกหมู่บ้านคัดเลือกตัวแทนชุมชนขึ้นมาหมู่บ้านละ 4 คน ส่วนชุมชนอื่นให้มีผู้แทนได้ชุมชนละ 2 คน

เมื่อได้ผู้แทนชุมชนดังกล่าวแล้ว ผู้แทนชุมชนจะต้องมาประชุมร่วมกันเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งการประชุมจัดตั้งสภาฯ จะต้องมีผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของผู้แทนชุมชนทั้งตำบลจึงจะเป็นองค์ประชุม และต้องเห็นสอดคล้องกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ให้จัดตั้งสภาฯ

สำหรับสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบลจะมาจากผู้แทนชุมชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้จดแจ้งจัดตั้งกลุ่มแล้ว ส่วนจำนวนสมาชิกจะขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ แต่ละตำบลจะกำหนดเอาไว้ ส่วนใหญ่สภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะมีสมาชิกประมาณ 30-40 คน (ขึ้นอยู่กับจำนวนกลุ่มที่จดแจ้งจัดตั้ง) มีการคัดเลือกประธานสภาฯ รองประธาน เลขานุการ ฯลฯ รวมทั้งมีการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในตำบลให้มาเป็นที่ปรึกษา เช่น ปราชย์ชาวบ้าน ครู พระ ฯลฯ จำนวนไม่เกิน 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิก

ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ กำหนดให้สภาฯ แต่ละแห่งจะต้องมีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง หรือหากมีวาระเร่งด่วน สมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดยังสามารถยื่นหนังสือเพื่อให้ประธานสภาฯ เปิดประชุมภายใน 7 วันนับแต่ได้รับคำร้อง เรื่องที่นำมาประชุมหรือปรึกษาหารือในสภาฯ มีตั้งแต่เรื่องปัญหาปากท้อง ข้าวยาก หมากแพง พืชผลราคาตกต่ำ ปัญหาขาดแคลนน้ำกิน น้ำใช้ ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งทุกเรื่องเป็นปัญหาในตำบลท้องถิ่น เพื่อนำปัญหามาพิจารณาและหาทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และสามารถเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้องได้

ส่วนการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับจังหวัดจะมีการจัดประชุมอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยสภาฯ แต่ละตำบลในจังหวัดนั้นๆ จะส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม ซึ่งมติที่ได้จากการประชุมสภาฯ ในระดับจังหวัดสามารถนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด เสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะ และการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

กล่าวได้ว่า สภาองค์กรชุมชนคือการสร้างประชาธิปไตยฐานราก ที่ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทั้งร่วมเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไข รวมถึงเสนอแผนงานในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้ ไม่ใช่รอคอยความช่วยเหลือหรือการพัฒนาจากหน่วยงานภายนอกเหมือนที่ผ่านมา !!

10 สภาองค์กรชุมชนฯ จัดตั้งแล้ว 6,200 แห่งทั่วประเทศ

นับตั้งแต่ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ ประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2551 ในเดือนพฤษภาคมถัดมา มีการประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งแรกของประเทศไทยที่ตำบลศรีสว่าง อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด หลังจากนั้นขบวนองค์กรชุมชนในตำบลต่างๆ ทั่วประเทศจึงได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา จากหลักสิบกลายเป็นร้อย จากร้อยเพิ่มเป็นพัน จนถึงปัจจุบันนี้ (ธันวาคม 2560) พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนมีอายุย่างเข้า 10 ปี มีการจัดตั้งสภาฯ แล้วทั่วประเทศประมาณ 6,200 สภาฯ

ทั้งนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมกิจการสภาฯ มีเป้าหมายภายในปี 2562 จะสนับสนุนการจัดตั้งสภาฯ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ หรือประมาณ 7,255 ตำบล

ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งต่างก็มีภารกิจและหน้าที่แตกต่างกันไปตามสภาพของพื้นที่ ตามสภาพแวดล้อม อาชีพ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรชุมชนตำบลเหล่านี้ต่างก็ใช้การประชุมสภาฯ เป็นเวทีขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่นของตัวเอง เช่น

จังหวัดน่าน ประชาชนส่วนใหญ่มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ป่าต้นน้ำ ฯลฯ สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดน่าน 34 ตำบล ได้ร่วมกับ อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จัดทำข้อมูลเรื่องปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปสู่การวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งจังหวัด โดยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ตำบลป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ ชาวบ้านใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนเชื่อมโยงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และทุกหน่วยงานในพื้นที่ นำปัญหาเรื่องปากท้องมาพูดคุยและวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งตำบล เช่น การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการปลูกข้าวไร่ในสวนยาง ร่วมกันรับซื้อยางพาราเพื่อนำไปขาย ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมการทำระบบตลาดในหมู่บ้านและตำบล ฯลฯ ไม่ต้องรอให้รัฐช่วยพยุงราคาเพียงอย่างเดียว

จังหวัดระยอง ที่ตำบลเนินฆ้อ อ.แกลง ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีกลางสร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน นำไปสู่การวางแผนพัฒนาทั้งตำบล โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เช่น ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แปรรูปอาหาร ผลไม้ จัดตั้งตลาดในชุมชน และเป็นแหล่งเรียนรู้ ‘มหาวิทยาลัยบ้านนอก’ รองรับนักท่องเที่ยวและผู้ที่มาศึกษาดูงานตลอดทั้งปี ประมาณปีละ 1 แสนคน ทำรายได้เข้าชุมชนประมาณปีละ 20 ล้านบาท

จังหวัดมุกดาหาร สระแก้ว ตาก ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ สภาองค์กรชุมชนฯ ในแต่ละจังหวัดได้ร่วมกับเครือข่ายประชาชนในพื้นที่ศึกษาข้อมูลและผลกระทบจากการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร แหล่งน้ำ ป่าไม้ ที่ดิน แรงงาน ฯลฯ เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาวางแผน นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน ฯลฯ

พอช.ตั้งเป้า 5 ปีส่งเสริมสภาองค์กรชุมชนตำบลเข้มแข็ง

แม้ว่าสภาองค์กรชุมชนตำบลจะมีการจัดตั้งแล้วกว่า 6,200 ตำบลทั่วประเทศ มีกลุ่มและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมจัดตั้งกว่า 120,000 กลุ่ม/องค์กร หากมองในเชิงปริมาณแล้วถือว่าประสบผลสำเร็จไม่น้อยเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องคุณภาพย่อมสำคัญกว่าปริมาณ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง

สุวัฒน์ คงแป้น ในฐานะที่ติดตามการดำเนินงานของสภาองค์กรชุมชนมาตั้งแต่เริ่มต้น ให้ความเห็นว่า หากสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศเกิดความเข้มแข็งก็จะสามารถแก้ไขปัญหาทั้งในระดับตำบล จังหวัด และเชื่อมโยงไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับประเทศได้ เพราะตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ มาตรา 32 กำหนดให้ที่ประชุมระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนดำเนินการเรื่องต่างๆ เช่น (2) ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลต่อพื้นที่มากกว่าหนึ่งจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อม

“นอกจากนี้ในมาตรา 32 (3) กำหนดให้ที่ประชุมสภาฯ ระดับชาติ สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ ซึ่งหมายความว่า ปัญหาของประชาสามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของสภาองค์กรชุมชนฯ” สุวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสภาองค์กรชุมชนตำบลกล่าว

สมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า แม้ว่าสภาองค์กรชุมชนฯ หลายตำบลจะมีความเข้มแข็ง สามารถแก้ไขปัญหาเองได้ แต่ก็มีอีกหลายแห่งที่จะต้องพัฒนาคุณภาพให้สามารถใช้สภาฯ เป็นเวทีกลางในการแก้ไขปัญหาในทุกๆ มิติของชุมชนท้องถิ่นของตนเองได้สำเร็จ ดังนั้นจากนี้ไป พอช. และขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดต่างๆ จะร่วมกันในการส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนฯ ในพื้นที่ต่างๆ มีความเข้มแข็ง เช่น การพัฒนาศักยภาพผู้นำในด้านต่างๆ ส่งเสริมให้สภาองค์กรชุมชนฯ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในระดับพื้นที่ จังหวัด และระดับชาติ เพื่อให้เกิดพลังในการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย

“นอกจากนี้ในทิศทางข้างหน้า ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีในการพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่สภาองค์กรชุมชนตำบลซึ่งเป็นกลไกของคนรากหญ้า จะได้จัดทำข้อเสนอต่างๆ ในการปฏิรูประเทศ เพื่อเสนอต่อคณะปฏิรูปชุดต่างๆ เช่นคณะปฏิรูปด้านสังคม ก็ได้มีการพูดถึงข้อเสนอของสภาองค์กรชุมชนในแง่ที่จะเข้ามาหนุนเสริมทำให้สภาองค์กรชุมชนเข้มแข็ง และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม” ผอ.พอช.กล่าว

ผอ.พอช.กล่าวด้วยว่า การส่งเสริมให้ชุมชน ตำบลท้องถิ่น สามารถพึ่งตนเองได้ในด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ฯลฯ เป็นการพัฒนาเพื่อให้เกิดการสร้างความสมดุล เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมในด้านต่างๆ ซึ่งแนวทางดังกล่าวนี้เชื่อมโยงกับหลักของความพอเพียง ตรงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

“ในอีกห้าปีข้างหน้าสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะเน้นในเรื่องของการสร้างคุณภาพให้กับสภาองค์กรชุมชนฯ ทั้งหมดที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศไปพร้อมๆ กับความร่วมมือและการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ทิศทางการพัฒนาประเทศเกิดความสมดุลอย่างแท้จริง มีเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน โดยที่เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดังนั้น คนเล็กคนน้อยก็จะมีพื้นที่ในการเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน ตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 โดยจะน้อมนำเอาศาสตร์ของพระราชา ‘เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา’ เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนต่อไป” ผอ.พอช.กล่าวทิ้งท้าย

ประชุมสภาฯ ชาติครั้งที่ 10 ‘น้อมนำศาสตร์พระราชา เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย’

การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติจะจัดขึ้นทุกปีๆ ละ 1 ครั้ง เพื่อเป็นการสรุปและทบทวนการทำงานของสภาฯ ในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งมีการประชุมเพื่อระดมความเห็นและจัดทำข้อเสนอทางนโยบาย เพื่อนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะที่เป็น รมว.รักษาการตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

โดยในปีนี้ จะเป็นการประชุมครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคมนี้ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ กรุงเทพฯ ใช้ชื่อการประชุมครั้งนี้ว่า ‘1 ทศวรรษสภาองค์กรชุมชน น้อมนำศาสตร์พระราชา เดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย’ การประชุมครั้งนี้จะมีผู้แทนสภาองค์กรชุมชนตำบลที่มาจากตัวแทนแต่ละจังหวัดๆ ละ 2 คน รวมทั้งตัวแทนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมทั้งหมดประมาณ 200 คน
(รูปประชุมสภา)

การประชุมครั้งนี้จะมีการเสวนาเรื่อง ‘ทิศทางสภาองค์กรชุมชนตามศาสตร์พระราชากับการปฏิรูปประเทศไทย’ โดยจะนำเสนอพื้นที่รูปธรรมของสภาองค์กรชุมชนตำบลที่นำศาสตร์พระราชาหรือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้และประสบผลสำเร็จ และเสนอแนะให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากนายไพโรจน์ พลเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิ และนายพลากร วงค์กองแก้ว คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม

นอกจากนี้ยังมีการประชุมกลุ่มย่อยใน 6 หัวข้อที่สำคัญ เช่น สิทธิชุมชนกับการบริหารจัดการน้ำ โดยมี ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ) นายสุรจิต ชิรเวทย์ (อดีต สว.) นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา (กลุ่มรักษ์เชียงของ) ฯลฯ การจัดการที่ดินและทรัพยากร ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม โดยรศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง (คณะฐัศาสตร์จุฬาฯ) นายบุญ แซ่จุง (เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน) นายประยงค์ ดอกลำไย (มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ)

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก โดยนางสาวพรพนา ก๊วยเจริญ (ผู้อำนวยการ กองพัฒนาที่ดิน สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน) นายพลากร วงค์กองแก้ว (คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตรช์าติฯ ) ผศ.ดร.สักรินทร์ แซ่ภู่ (คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.มหาสารคาม) อาจารย์ชล บุนนาค (คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) ความมั่นคงทางอาหารต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก โดยนายสุเมธ ปานจำลอง (เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ (มูลนิธิชีววิถี) นายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี (อุปนายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย) ฯลฯ

ทั้งนี้ข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดนี้ จะนำมาประมวลและพัฒนาเป็นข้อเสนอทางนโยบายเพื่อนำเสนอต่อพลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่จะเดินทางมารับฟังผลการประชุมและรับข้อเสนอทางนโยบายของสภาองค์กรชุมชนฯ เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ มาตรา 32 (3) สรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่างๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไข) พิจารณาสั่งการต่อไป


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"