สธ.จ่อขึ้นทะเบียน หมอแสงสู้มะเร็ง


เพิ่มเพื่อน    

หมอแสง

 กรมการแพทย์แผนไทยฯ เตรียมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทยพื้นบ้านไทย-นักกฎหมายพิจารณารับรอง "แสงชัย" เป็นหมอพื้นบ้าน ชี้เข้าข่ายขึ้นทะเบียน แจ้งส่งเอกสารเพิ่มเติม เผยเก็บข้อมูลคนไข้มะเร็งที่รับยา 50% รักษาคู่ขนานแผนปัจจุบัน
    วันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 11.00 น. ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยผู้บริหารกรม ร่วมแถลงข่าวกรณีมีกระแสข่าวรับรองนายแสงชัย แหเลิศตระกูล หรือหมอแสง ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากต่อแถวขอรับยาสมุนไพรรักษาโรคมะเร็งเป็นหมอพื้นบ้าน ว่า สืบเนื่องจากนายแสงชัยได้ยื่นหนังสือขอรับรองเป็นหมอพื้นบ้านมายังกรมการแพทย์แผนไทยฯ ซึ่งตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2555 ผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองฉบับนี้สามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ 
    1.การรักษาด้วยตนเอง 2.การช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ป่วยตามหน้าที่ ตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยา โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน 3.กระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด 4.ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะตามที่รัฐมนตรีกำหนด 
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อกำหนดของการรับรองหมอพื้นบ้าน เบื้องต้นคาดว่าเข้าข่ายที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้าน โดยหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนนั้น หมอจะต้องอยู่ในพื้นที่ชนบทและมีความรู้ความสามารถในการรักษาโรคเฉพาะได้ แต่จากการพิจารณาขณะนี้พบว่า การขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้านของนายแสงชัยยังขาดหลักฐานที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมบางส่วน ทางกรมจึงได้แจ้งให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม การได้รับอนุญาตเป็นหมอพื้นบ้านจะต้องรักษาเพียงโรคที่มีความเชี่ยวชาญตามขอบเขต เพราะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีค่ายกครูในบางกรณีได้ แต่ไม่สามารถเปิดคลินิกหรือทำเวชปฏิบัติเหมือนแพทย์ทั่วไปได้ 
    "หลักฐานที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ การรับรองจากชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ จึงได้ส่งเอกสารแจ้งให้ดำเนินการจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ หากมีการรับรองหมอพื้นบ้านแล้ว และพบว่ามีการนำยาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สามารถที่จะเพิกถอนใบรับรองได้ในภายหลัง นอกจากนี้ นายแสงชัยได้แจ้งมาในเอกสารขอการรับรองหมอพื้นบ้านว่ามีความเชี่ยวชาญใน 5 ด้าน อาทิ ยาสั่ง, ฝีในตับ และอื่นๆ ส่วนการใช้สมุนไพรข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ น้ำมันรำข้าวในการรักษามะเร็งนั้น ที่ผ่านมาพบว่าใช้มากในการรักษามะเร็ง แต่ไม่ทั้งหมดทุกตำราที่เคยมีมา" นพ.เกียรติภูมิกล่าว  
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า จากกรณีที่นักวิจัยลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนไข้มะเร็งที่ไปรับยากับนายแสงชัยที่จังหวัดปราจีนบุรี พบว่าคนไข้ 50% มีการรักษาคู่ขนานระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนไทย ส่วน 20% อยู่ระหว่างรอการรักษาของหมอแผนปัจจุบัน 30% ทิ้งการรักษาของหมอแผนปัจจุบัน ด้วย 4 เหตุผลหลักที่คนไข้หันมารักษาด้วยด้วยยาสมุนไพรคุณแสงชัย คือ 1.ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน 2.จากประสบการณ์ที่เห็นการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจากคนรอบข้าง ด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้วคนไข้เสียชีวิต 3.สู้ค่าใช้จ่ายการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่ไหว 4.หมดหนทางรักษา จากการสอบถามคนไข้ที่มารับยาสมุนไพรนายแสงชัยอย่างต่อเนื่อง บอกถึงความรู้สึกว่า 60% รู้สึกดีขึ้น 30% เหมือนจะดีขึ้น และ 10% รู้สึกเฉยๆ 
    นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการรักษา หากเป็นมะเร็งระยะแรก แนะนำให้ไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันก่อน หากถึงระยะสุดท้ายอาจหันมารักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก เช่น อโรคยาศาล วัดคำประมง จ.สกลนคร และแผนกดูแลสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งใน รพ.ของรัฐ ที่มีแผนกดูแลผู้ป่วยประคับประคองเฉพาะด้วยศาสตร์การแพทย์ผสมผสาน ก็เป็นสิทธิ์ที่คนไข้สามารถที่จะเลือกได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า 80% ที่หันมารักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยจะมีอาการกินข้าวได้ นอนหลับ และมีเรี่ยวแรงดีขึ้น 
    ด้าน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า หลักเกณฑ์ในการคัดกรองหมอพื้นบ้านมีทั้งหมด 8 ข้อ คือ 1.มีผู้มารับบริการสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ดูแลสุขภาพในชุมชน หรืออยู่ ณ ที่ตั้ง ไม่เร่ขายยา ไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบสถานพยาบาลและมีหลักฐานบันทึกผู้รับบริการ 2.สืบทอดความรู้จากบรรพบุรุษหรือองค์ความรู้จากท้องถิ่นตามหลักการแพทย์ดั้งเดิม 3.มีความสามารถในการบำบัดโรค รู้จักยา รู้วิธีรักษา รู้จักการดูแลสุขภาพและแนะนำผู้อื่นได้ 4.ไม่หวงวิชา มีผู้รับสืบทอดความรู้และถ่ายทอดวิชาด้วยความเมตตา (ไม่ใช่การรับมอบตัวศิษย์ที่มีค่าธรรมเนียม) 5.มีการถ่ายทอดความรู้มีบทบาทในการถ่ายทอดความรู้ในฐานะครูภูมิปัญา วิทยากร งานพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน เป็นต้น 6.ไม่เรียกร้องค่ารักษาเกินควร ไม่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ ไม่โฆษณา 7.เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับนับถือจากคนในชุมชนในฐานะหมอพื้นบ้าน 8.มีคุณธรรม มีความเมตตา มีบทบาทช่วยเหลือเกื้อชุมชน และไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2552 มาตรา 32 (3)-(7). 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"