ร้องศาลวินิจฉัย ชุมนุมไล่แม้ว-ปู ชอบด้วย'รธน.'


เพิ่มเพื่อน    

กลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยการชุมนุม กปปส.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังตำรวจ-อัยการยังคงดำเนินคดีแกนนำ กปปส. ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมายและผูกพันทุกองค์กร 
    เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา คณะบุคคลในนามกลุ่มยุติธรรมภิวัฒน์ จำนวน 11 คน นำโดยนายสมเกียรติ  พงษ์ไพบูลย์, นายประยงค์ ชัยศรี, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, พลตำรวจเอกประทิน สันติประภพ, พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ  เป็นต้น เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัย กรณีการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวต่อสู้ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), องค์การพิทักษ์สยาม และ กปปส.ว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
    พวกเขาให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยว่า การกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญและได้รับการคุ้มครอง ซึ่งผลคำวินิจฉัยของศาลจะต้องผูกพันกับทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและอัยการยังคงดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม และล่าสุดอัยการก็เพิ่งสั่งฟ้อง กปปส.ในข้อหากบฏ สะท้อนให้เห็นว่าองค์กรอื่นๆ ไม่ยอมผูกพันคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ จึงต้องขอให้ศาลวินิจฉัยอีกครั้งเพื่อให้คำวินิจฉัยมีผลผูกพันต่อการดำเนินคดีของศาลอื่นๆ ซึ่งขณะนี้มีคดีค้างอยู่และยังไม่ถึงที่สุดจำนวนมาก ทั้งกรณีปิดล้อมสนามบิน  บุกทำเนียบรัฐบาล หรือการชุมนุมแบบดาวกระจาย
    นายประยงค์ให้สัมภาษณ์ว่า ในการต่อสู้ขององค์การพิทักษ์สยามในปี 2555 ได้มีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ร้องเป็นคนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เช่น นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ โดยร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อสู้ขององค์การพิทักษ์สยามขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ถือว่าเป็นการล้มล้างรัฐบาล และเป็นการใช้สิทธิ์ในการชุมนุมที่มิชอบ ตนในฐานะทนายขององค์การพิทักษ์สยามในขณะนั้นได้เข้ามาไต่สวนกับศาล ซึ่งผลที่สุดศาลวินิจฉัยว่าองค์การพิทักษ์สยามได้กระทำไปภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่เข้าข่ายการล้มล้างรัฐบาล 
    โดยเป็นสิทธิการชุมนุมโดยชอบ ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 50 โดยศาลยกคำร้องของผู้ร้อง  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ประชาชนชุมนุมเรียกร้องในขณะนั้น เท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองว่าเป็นชุมนุมโดยชอบแล้ว และสิ่งที่เห็นว่ารัฐบาลในขณะนั้นประกาศบอกว่าจะมีมือที่สามเข้ามาก่อกวนผู้ชุมนุม โดยรัฐบาลจะไม่รับผิดชอบ ซึ่งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 81 (2) รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลปกป้องประชาชนไม่ให้มีการละเมิดจากบุคคลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ 
     แต่ผลสุดท้ายเพียงแต่องค์การพิทักษ์สยามได้เริ่มการชุมนุม ไม่ปรากฏว่ามีมือที่สามเข้ามาก่อกวน  แต่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาดำเนินการปราบปราม เพื่อไม่ให้เราแสดงออกตามสิทธิที่ควรจะพึงมี ซึ่งเป็นสิทธิที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองเอาไว้แล้ว นอกจากนั้นในการชุมนุม กปปส. มีคนของรัฐบาลมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า กปปส.ชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ผิดหลักมาตรา 68 ซึ่งศาลก็ยกคำร้องด้วยเช่นกัน นั่นก็แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญได้คุ้มครอง
    "การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามและ กปปส.เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งเจตนารมณ์ของผู้ชุมนุมก็เป็นการออกมาต่อสู้รัฐบาลที่กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ  ถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กลับโดนข้อหาก่อการร้าย เป็นภัยต่อความมั่นคง  เป็นกบฏต่อราชอาณาจักรได้อย่างไร ในกรณี กปปส.ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งที่ขณะนี้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากอำนาจหน้าที่ไปแล้ว ดังนั้นตำรวจและพนักงานอัยการที่เป็นผู้ฟ้องคดีควรพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และดูเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ควรตั้งข้อหากับประชาชน ดังนั้นกลุ่มจึงมาร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการชุมนุมของ พธม. องค์การพิทักษ์สยาม และ กปปส.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่" เขาระบุ
    ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ วันเดียวกัน นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ พร้อมกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี  2553 ยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด ขอให้ติดตามและสอบถามความคืบหน้าในคดีสลายการชุมนุม เนื่องจากทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สรุปสำนวนส่งพนักงานอัยการบางส่วนแล้ว โดยมีนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับหนังสือ
     นายโชคชัยกล่าวว่า ในฐานะที่เป็นทนายความของญาติผู้เสียชีวิต ได้มายื่นหนังสือขอให้อัยการสูงสุดเร่งรัดฟ้องคดีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในการสลายการชุมนุม ซึ่งคดีสลายการชุมนุมเดิมนั้น ดีเอสไอเคยมีความเห็นสมควรสั่งฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ภายหลังศาลชี้ว่าคดีอยู่ในอำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่เรื่องนี้ยังมีผู้เกี่ยวข้องอื่นที่เป็นผู้กระทำความผิดด้วย เช่นผู้ที่ลงมือกระทำและผู้สั่งการระดับปฏิบัติงาน ซึ่งตนก็ทราบว่าคดียังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร ยังไม่มีการส่งตัวฟ้องหรือสั่งฟ้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดดังกล่าว จึงมายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดในวันนี้ 
    โดยในคำสั่งไต่สวนชันสูตรพลิกศพที่ศาลเคยมีคำสั่งแล้ว ส่วนใหญ่พบว่าผู้เสียชีวิตถูกกระสุนปืนจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิด อย่างในเหตุการณ์ที่วัดปทุมวนารามฯ ก็ปรากฏตัวผู้กระทำความผิดชัดเจน เราจึงขอให้ดำเนินการเพราะเหตุการณ์นี้ผ่านมา 8 ปีแล้ว ถือว่านานมาก
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ดีเอสไอสรุปสำนวนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องบางส่วนให้อัยการแล้วใช่หรือไม่ นายโชคชัยตอบว่า ดีเอสไอมีการดำเนินการในเรื่องนี้และสรุปสำนวนส่งให้อัยการแล้ว การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ ในรายละเอียดที่ดีเอสไอสรุปสำนวนของเจ้าหน้าที่คนใดบ้างนั้น ทนายความและญาติก็ยังไม่ทราบรายละเอียดในส่วนนี้ว่ามีความเห็นควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องใครบ้าง
     เมื่อถามว่าในส่วนของนายอภิสิทธิ์และสุเทพที่ส่งให้ ป.ป.ช.ได้ติดตามความคืบหน้าหรือไม่ นายโชคชัยกล่าวว่า ในส่วนของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพศาลฎีกาชี้ว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. ที่ต้องส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ญาติก็ได้ไปยื่นเรื่องติดตามบ้างแล้ว ซึ่งรอการแจ้งตอบกลับของ ป.ป.ช.อยู่ว่าเรื่องถึงไหนแล้ว และญาติก็ยังไม่ทราบว่า ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนขึ้นมาแล้วหรือไม่
     นายโกศลวัฒน์กล่าวว่า จากที่ทนายความกล่าวว่าเรื่องมีอยู่หลายที่ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าสำนวนอยู่ในชั้นใด แต่เมื่อได้รับคำร้องเร่งรัดคดีในวันนี้ก็จะนำเรียนอัยการสูงสุด ถ้าเรื่องใดที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด ตนก็จะนำเรื่องส่งให้อัยการสูงสุดขอให้เร่งรัดคดีตามที่มีคำร้องมา เราจะติดตามความคืบหน้าเพื่อแจ้งให้ทนายความและญาติผู้เสียชีวิตทราบ ส่วนหากสำนวนยังมาไม่ถึงอัยการ เราจะนำเรียนผู้บังคับบัญชาว่าจะมีทางใดให้ความเป็นธรรมได้บ้าง นโยบายของอัยการสูงสุดหากมีคำร้องมาเราจะต้องตอบได้ทุกเรื่อง ซึ่งหากดีเอสไอส่งสำนวนมาจริง คดีนี้จะเข้าสู่สำนักงานอัยการคดีพิเศษ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"