ครม.ผ่านกม.คู่ชีวิต ทอมดี้ตีทะเบียนได้


เพิ่มเพื่อน    

    ครม.ผ่านร่างกฎหมายคู่ชีวิต ให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศจดทะเบียนสมรสกันได้ ระบุไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายลักษณะนี้ แต่ไม่รู้จะผ่าน สนช.ชุดนี้หรือไม่ เพราะมีกฎหมายอื่นรออยู่อีก 50 ฉบับ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 25 ธันวาคมนี้ นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รัฐบาลจึงผลักดันกฎหมายในการสร้างครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ 
    สาระสำคัญของร่างกฎหมายคือ ผู้ที่จะจดทะเบียนได้ต้องไม่ใช่คู่ชายหญิง มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย ทั้งสองฝ่ายยื่นคำร้องและแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียน ส่วนหลักเกณฑ์การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต จะสิ้นสุดลงโดยความตาย สมัครใจเลิกกัน หรือศาลพิพากษาเพิกถอนการเป็นคู่ชีวิต
    นายณัฐพรกล่าวอีกว่า ยังมีการกำหนดความสัมพันธ์เรื่องทรัพย์สินและมรดก ให้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาบังคับใช้โดยอนุโลม ลักษณะคล้ายการจดทะเบียนสมรส อย่าง สวัสดิการของภาครัฐ เช่น ข้าราชการจะมีสวัสดิการครอบคลุมสามี ภรรยาด้วย อีกเรื่องคือสิทธิการลดหย่อนทางภาษีในแง่สามีภรรยา ส่วนเรื่องบุตรไม่อยู่ในกฎหมาย แต่ครอบคลุมอยู่ในเรื่องบุตรบุญธรรม สองคนมาอยู่ด้วยกันสามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว 
    "ร่างกฎหมายดังกล่าว ไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายลักษณะนี้ หลังจาก ครม.เห็นชอบจะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณารายละเอียด เมื่อเห็นชอบจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และใช้ระยะเวลา 120 วันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ส่วนจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่นั้นก็ไม่แน่ใจ อาจมีการแปรญัตติซึ่งต้องใช้เวลา และไม่ทราบว่าจะทัน สนช.ชุดนี้หรือไม่ เนื่องจากมีกฎหมายที่ผ่าน ครม.ส่งไป สนช. 50 ฉบับ ซึ่งการพิจารณาจะเรียงลำดับตามความเหมาะสมเร่งด่วน" นายณัฐพรกล่าว
    สำหรับร่างกฎหมายนี้มีชื่อเต็มว่า ร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ... มีทั้งสิ้น 70 มาตรา ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังใช้คำว่าคู่ชีวิต เนื่องจากสถานภาพยังไม่ใช่คู่สมรส แต่ใกล้เคียงสถานภาพผู้จดทะเบียนสมรส โดยที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมได้ร่วมกับภาคประชาสังคมเสนอแนวคิดเทียบเคียงกับต่างประเทศ พร้อมแก้ไขปรับปรุง สาระสำคัญเน้นการแก้ปัญหาให้กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการสร้างครอบครัว และใช้สิทธิ์ในการอยู่ร่วมกันที่ควรจะเป็นในการช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะ รวมทั้งการระบุถึงทรัพย์สินที่ทั้ง 2 ฝ่ายสร้างมาหลังใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และการจัดการมรดก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงไป
    ในการจดทะเบียนชีวิตคู่ ทั้งสองต้องบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย มีสัญชาติไทย หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสัญชาติไทย สามารถแจ้งความประสงค์ได้ทุกอำเภอทั่วประเทศ ทุกเขตใน กทม. หรือกรณีอยู่ต่างประเทศสามารถทำได้โดยให้พนักงานทูต หรือกงสุลไทย เป็นนายทะเบียน เช่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรสของคู่ชาย-หญิง ยกเว้นมีคู่สมรส หรือได้จดทะเบียนคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว รวมถึงบุคคลทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์เป็นผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรม
    กรณีคู่ชีวิตไม่สามารถอยู่ด้วยกันโดยปกติสุข หรืออีกฝ่ายมีชู้ อาจร้องต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้ต่างฝ่ายต่างอยู่ มีการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูตามควร หรือแล้วแต่กรณี ซึ่งการจดทะเบียนคู่ชีวิตจะเป็นโมฆะ ต้องร้องขอให้ศาลพิพากษาเท่านั้น โดยทรัพย์สินที่ทำมาร่วมกันให้แบ่งคนละครึ่ง นอกจากนี้ กรณีสมัครใจเลิกกันจากการเป็นคู่ชีวิตจะสมบูรณ์ต้องทำหนังสือ และมีพยานลงชื่ออย่างน้อยสองคนต่อหน้านายทะเบียน เป็นต้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"