ความหลากหลายของมรดกวัฒนธรรมและมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

การแสดงโขน มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ภาพจากยูเนสโก
 

     สืบเนื่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศให้โขนไทยเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ โดยขึ้นทะเบียนอยู่ในประเภทของมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ ทำให้ประเด็นเรื่อง “มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะมรดก ภูมิปัญญา ประเพณี วัฒนธรรมของไทยนั้นมีความหลากหลาย กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค อาจสร้างความข้องใจต่อหลายๆ คนว่าอะไรคือสิ่งที่จับต้องได้ และอะไรคือสิ่งที่จับต้องไม่ได้
    ในงานกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ “ภาคีเครือข่ายพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ด้านมิติมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ Intangible Cultural Heritage (ICH)” ที่จัดให้กับบุคคลากรเครือข่าย อาทิ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยูเนสโก จัดขึ้นโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เมื่อวันที่ 12-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการนำเสนอข้อมูลความรู้เรื่องมรดกวัฒนธรรมโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรก่อนที่จะนำไปปฏิบัติส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาในอนาคต 
    ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลนำประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.2003 โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมในปี พ.ศ.2559 เพื่อส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เหล่านั้น ส่วนใหญ่ล้วนกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาพื้นบ้าน นิทานพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านทั้งหมดล้วนเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่ง อพท.ในฐานะเป็นผู้สนับสนุน ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวชุมชน ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และสามารถแนะนำให้ชุมชนได้พัฒนาสู่การเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว หรือจุดขายทางการท่องเที่ยวได้ทั้งสิ้น จึงได้จัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้แก่บุคลากรและภาคีเครือข่ายขึ้นมา เพื่อสร้างความตระหนักและความรับรู้ ความเข้าใจ ให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม เตรียมความพร้อมให้บุคลากรเหล่านี้สามารถนําหลักการระดับสากลไปใช้ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมในมิติเรื่องของการท่องเที่ยวได้ต่อไป 

 

ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยา 

    ด้าน ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล อดีตผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยา ผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกวัฒนธรรม กล่าวว่า ถ้าพูดถึงมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ผู้คนมักจะนึกถึงเรื่องความสวยงาม หรือนึกถึงโขนละคร ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเท่านั้น ยังหมายถึงสิ่งที่แสดงถึงกลุ่มของตนเอง และเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในกลุ่มของตนเอง ในไทยนั้นถือว่ามีอยู่หลากหลายมากๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างอย่าง อาคาร สถานที่ หรือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาก็ตาม แต่ในส่วนของอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ.2003 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่หมายถึงสิ่งที่เราต้องส่งเสริมอนุรักษ์ไม่ให้สูญหาย โดยคำว่าจับต้องไม่ได้แน่นอนว่าไม่มีวัตถุ แต่เป็นเรื่องของความคิด ความเชื่อ มีทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม ยูเนสโกสร้างอนุสัญญานี้ขึ้นมาเพราะมีหลายปัจจัย โดยเฉพาะสิ่งที่มีคุณค่าของมนุษย์กำลังสูญหาย เช่น ภาษาถิ่น อย่างในไทย ในโรงเรียนมีการปลูกฝังให้พูดภาษากลางเป็นส่วนใหญ่ หรือดนตรีพื้นเมืองที่ถูกแปลงเป็นเพลงร่วมสมัย บางแห่งมีการนำไปดัดแปลงทำแผ่นขาย ซึ่งเจ้าของผลงานไม่ได้อะไร จึงจำเป็นที่จะต้องอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
    “ความหลากหลายบางอย่างเราก็ไม่รู้ว่ามันคือวัฒนธรรม เช่น เด็กทำแก้วตกแตกในร้านอาหาร ประเทศไทยเด็กจะร้องเสียงดัง แล้วพ่อแม่ก็ดุด่า แต่ถ้าไปเห็นที่ต่างประเทศ เหตุการณ์เดียวกัน แต่จะไม่ได้ยินเสียงเด็กร้อง หรือผู้ใหญ่เสียงดังเลย เช่น ญี่ปุ่น เขามีวัฒนธรรมความเงียบ เพื่อเป็นการให้เกียรติคนรอบๆ ไม่ให้รบกวน ขณะที่ไทยมีวัฒนธรรมการใช้เสียงเป็นหลัก ซึ่งก็เป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม และเป็นวัฒนธรรมที่เราไม่เคยสังเกต” ดร.ปริตตา กล่าว  

 

เครื่องแต่งกายพระนางของโขนอยู่ในประเภทตำนานช่างฝีมือดั้งเดิม 

    อดีต ผอ.ศูนย์มานุษยวิทยากล่าวอีกว่า ในส่วนของเรื่องโขนที่เพิ่งได้ขึ้นทะเบียนไม่นานมานี้ร่วมกับกัมพูชา เป็นคนละประเภทกัน ในส่วนของกัมพูชาเป็นละครโขน (Lkhon Khol Wat Svay Andet) เป็นมรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ที่ต้องได้รับการปกป้องอย่างเร่งด่วนแล้ว เพราะว่าใกล้สูญหาย เป็นโขนที่อยู่ในเฉพาะที่ และแสดงขึ้นตามความเชื่อเรื่องของการขอให้การเกษตรมีผลผลิตที่ดี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าประเทศใดก็ตามได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว ก็ไม่ได้แปลว่าประเทศนั้นจะเป็นเจ้าของมรดก เพราะว่าการได้รับขึ้นทะเบียนก็คือการประกาศว่าจะอนุรักษ์มรดกภูมิปัญญานั้นอย่างจริงจัง และตัวอย่างวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ถูกแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ 1.ด้านวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา เช่น พวกนิทานพื้นบ้าน สังข์ทอง ขุนช้างขุนแผน ตำนานจามเทวี ผาแดงนางไอ่ กาพย์เซิ้งบั้งไฟ ฯลฯ 2.ด้านศิลปะการแสดง เช่น หมอลำพื้น ขับเสภา ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ หนังใหญ่ ฯลฯ 3.ด้านแนวปฏิบัติสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล 4.ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล เช่น นวดไทย โหราศาสตร์ สำรับอาหารไทย 5.ตำนางช่างฝีมือดั้งเดิม เช่น พวกผ้าทอ ไม้จักสาน 6.ด้านการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว เช่น มวยไทย หมากรุก หมากเก็บ กระบี่กระบอง ฯลฯ 
    “อย่างไรก็ตาม มรดกวัฒนธรรมดังที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่จะอยู่ตามชุมชน หลายชุมชนถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยชูจุดขายทางมรดกวัฒนธรรม ซึ่งบางครั้งการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอาจเกิดผลกระทบต่อชุมชน บางชุมชนไม่พร้อมด้วยซ้ำ เพราะว่ามันเปลี่ยนบริบทเดิมที่เขาเป็น เพราะฉะนั้นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกระตุ้นท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมต้องออกจากวงจรนี้ให้ได้ ต้องให้ชุมชนเป็นคนตัดสินใจด้วย” ดร.ปริตตา ฝากทิ้งท้าย

 

รัชดาพร ศรีภิบาล รักษาการ ผอ.กลุ่มมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ 

    ขณะที่ นางสาวรัชดาพร ศรีภิบาล รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ เสริมว่า มรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้อาจมีมากกว่า 6 สาขา และ 1 อย่างอาจจัดอยู่ในหลายประเภท เช่น โนรา เป็นทั้งศิลปะการแสดง ประเพณีมุขปาฐะมีการขับร้องภาษาถิ่นใต้ แล้วก็มีเรื่องของช่างฝีมือ เพราะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของโนรามีการร้อยลูกปัดประดับด้วย และยังมีเรื่องพิธีกรรม ความเชื่อ เพราะคนภาคใต้มีความเชื่อว่าโนรารักษาโรคได้ โดยรวมแล้วเป้าหมายที่แท้จริงของอนุสัญญานี้คือการสงวน รักษา ส่วนเรื่องการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต้องขึ้นกับชุมชน ไม่ควรไปชี้นำให้เขาตัดสินใจเอง  
    "อย่างเวลาจัดกิจกรรมเทศกาลงานที่เกี่ยวกับท่องเที่ยว ต้องดูก่อนว่าส่งผลกระทบต่อมรดกอย่างไร ไม่ใช่ทำใหญ่โตไว้ก่อน ซึ่งขัดกับวิถีดั้งเดิม เทคนิคการบริหารจัดการต่างๆ ต้องมองว่าชุมชนคือผู้ได้รับประโยชน์อันดับต้นๆ บทบาทชุมชนจะต้องไม่ลดลง อยากให้ทุกคนตระหนักและเห็นคุณค่าเพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน" นางสาวรัชดาพร กล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"