ยื้อ 'นาฬิกาหรู' จนหยดสุดท้าย


เพิ่มเพื่อน    

ผ่านมาแล้วปีกว่า หลังจากการถ่ายรูปคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 จนมีคนสะดุดตา แหวนและ นาฬิกาหรูที่ข้อมือของ บิ๊กป้อมพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระหว่างเอามือป้องแสงแดดที่แยงตา

อันเป็นปฐมบทนำมาสู่การตั้งข้อสงสัยเรื่องราคา ซึ่งมาจากความหรูหรา ก่อนจะขยายไปสู่การตรวจสอบ หลังพบว่าแหวนและนาฬิกาไม่ได้อยู่ในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

  จากวงเดียวและ เรือนเดียวต่อยอดมาถึงการขุดคุ้ยนาฬิกาข้อมือในอดีตของ บิ๊กป้อมที่เคยสวมใส่ รวมแล้ว 22 เรือน

  ตลกร้ายกว่านั้น 22 เรือน กลับไม่ได้อยู่ในรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ บิ๊กป้อมเคยยื่นเอาไว้กับ ป.ป.ช.เลย

  ช่วงแรกบิ๊กป้อมใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว แต่ยิ่งนิ่งยิ่งกลายเป็น ตำบลกระสุนตกจากเรื่องปัจเจกบุคคล กระทบชิ่งไปสู่ภาพลักษณ์รัฐบาลโดยรวม จนที่สุดต้องออกมาชี้แจงว่าเป็นนาฬิกาที่ยืมเพื่อนมา

  ประเด็นยืมอาจดูจบในแง่กฎหมายที่เปิดช่องเอาไว้ แต่สำหรับสังคมต้องการความกระจ่างมากกว่านั้น เรื่องไม่มีวี่แววจบสงบลง มีการเร่งเร้าหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่าง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ

   หลังเกิดเรื่องป.ป.ช.ให้ บิ๊กป้อมส่งหนังสือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน ก่อนจะขยายเวลาเพิ่มเติมให้หลัง บิ๊กป้อมระบุว่าติดภารกิจต่างประเทศ จึงทำไม่ทัน

ภายหลังบิ๊กป้อมส่งคำชี้แจง ป.ป.ช.ได้สั่งคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงและที่มาของนาฬิกาหรูแต่ละเรือน มีการสอบพยาน โดยเฉพาะญาติของ ปัฐวาท สุขศรีวงศ์ที่มีการอ้างว่าเป็นเจ้าของนาฬิกา

  มีนาคม 2561 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายให้คณะทำงานฯ หาข้อมูลหมายเลขประจำเครื่องนาฬิกา (ซีเรียลนัมเบอร์) และรายงานกลับเข้ามา

แต่ปรากฏว่า หลังจากขอข้อมูลจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยแล้วต้องพบความล้มเหลว เพราะตัวแทนจำหน่ายในประเทศไม่มีข้อมูลตรงนี้

  ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ป.ป.ช.ทำเรื่องประสานขอข้อมูลจากบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศ ประกอบด้วย สวิตเซอร์แลนด์ และ ฝรั่งเศส

ต่อมาอีกเดือนวรวิทย์ สุขบุญเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยืนยันว่า ขอเวลาอีก 2 เดือน จะสามารถสรุปเรื่องดังกล่าวได้ กระทั่งต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ออกมาเปิดเผยอีกครั้งว่า ได้ข้อมูลนาฬิกาครบแล้ว และจะชงเรื่องเข้าภายในปีนี้

   ข้อมูลที่ยืนยันตรงกันคือ คณะทำงานฯ สรุปข้อมูลเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยใช้เวลาในชั้นนี้ 1 ปีเต็ม นับแต่วันแรกที่เกิดเรื่องในการ แสวงหาข้อเท็จจริง

   สำหรับแนวทางที่คณะทำงานฯ สรุปให้ที่ประชุมมี 2 แนวทางคือ 1.ขยายเวลาออกไป และ 2.ตีตก เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

   โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นผู้ชี้ขาดว่า จะใช้แนวทางไหน เนื่องจากคณะทำงานฯ มีหน้าที่เพียงแต่ป้อนข้อมูลที่ไปหามาได้เท่านั้น

ตลอดทั้งวันที่ 26 ธ.ค. ซึ่ง ป.ป.ช.นัดประชุมเรื่องนี้ มีกระแสข่าวออกมาหนาหูว่า ป.ป.ช.จะตีตกเรื่องดังกล่าว เนื่องจากข้อมูลที่ได้จากต่างประเทศมีเพียง 10 เรือน จาก 22 เรือน

  โดยถ้าป.ป.ช.เลือกขยายเวลาต่อ ก็มีคำถามว่า คณะทำงานฯ จะสามารถหาข้อมูลมาได้เพิ่มเติมหรือไม่ ในเมื่อรอบแรกได้ประสานไปยังทุกที่แล้ว แต่ได้มาเพียงจำนวนเท่านี้

   กล่าวคือ ยื้อไปก็ไร้ประโยชน์แล้ว!

  ขณะที่การ ตีตกโดยยกประโยชน์ให้ บิ๊กป้อมนั้นมีข้ออ้างในเรื่องกฎหมาย คือ กรณีที่ข้อมูลไม่เพียงพอจะชี้มูลหรือตั้งไต่สวนใคร จึงให้ บริสุทธิ์ไว้ก่อน เหมือนกระบวนการยุติธรรมทั่วไป ซึ่งในอดีตมีหลายคดีที่ ป.ป.ช.ต้องตีตกเพราะสาวไม่ถึง

  แต่แล้วการพิจารณากลับถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 27 ธ.ค. โดยอ้างว่าประชุมไม่ทันในวันนี้ พร้อมกับอีกกระแสที่พลิกกลับมาว่า อาจยื้อต่อไป

  ซึ่งไม่มีกระแสไหนเลยที่ผลการพิจารณาจะเป็นลบต่อ บิ๊กป้อม

ดังนั้น บทสรุปสุดท้ายของคดีนี้ ไม่ว่าจะใช้เวลาอีกนานแค่ไหน แต่สุดท้ายผลลัพธ์คงไม่มีอะไรให้ลุ้น นอกจากเหตุผล ป.ป.ช.ที่คนจับจ้อง ว่าฟังขึ้นหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"