9 หน่วยงานร่วมลงนามพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก. เผยยึดคืนที่ดินจากนายทุนแล้ว 4 แสนไร่ ขณะที่ พอช.หนุนเกษตรกรสร้างบ้านในปีนี้ 1,300 หลัง


เพิ่มเพื่อน    

กระทรวงเกษตรฯ / 9 หน่วยงานร่วมลงนาม MOU พัฒนาที่ดิน ส.ป.ก.ที่ยึดคืนจากนายทุนให้เกษตรกรที่ยากไร้  และพื้นที่โครงการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล  เนื่องจากที่ผ่านมา ส.ป.ก.ดำเนินการเพียงหน่วยงานเดียวทำให้เกิดความล่าช้า  อีกทั้งที่ดินยังขาดความสมบูรณ์  ขาดน้ำ  ไฟฟ้า  ขาดการสนับสนุนต่างๆ ทำให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่  ด้านเลขาธิการ ส.ป.ก.เผยใช้ ม.44 ตามคำสั่ง คสช.ยึดที่ดินคืนจากผู้ครอบครองไม่ถูกต้องแล้วกว่า 400,000 ไร่ จัดสรรให้เกษตรกร  13  จังหวัด รวม 35,000 ไร่  ขณะที่ พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านเพิ่มในปีนี้อีก 1,300 หลัง

 

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44   ออกคำสั่งที่ 36/2559 (ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559) เพื่อยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศที่มีการครอบครองไม่ถูกต้อง  แล้วนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน  โดยในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สามารถยึดที่ดินคืนในพื้นที่  28 จังหวัด  รวมเนื้อที่ประมาณ  400,000 ไร่เศษ  และนำมาจัดสรรให้เกษตรกรไปแล้วประมาณ  35,000 ไร่   ขณะเดียวกันการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรในช่วงที่ผ่านมาประมาณ  35 ล้านไร่  ยังมีปัญหาต่างๆ  เช่น  การชลประทานยังไม่ทั่วถึง  ขาดสาธารณูปโภค  ดินขาดความสมบูรณ์  เกษตรกรขาดทุนและความรู้  ปัญหาด้านการตลาด  ขาดการประสานระหว่างหน่วยงานรัฐ  ฯลฯ

 

 

ล่าสุดวันนี้ (27 ธันวาคม) เวลา 10.00 น.  ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ถนนราชดำเนินนอก  กรุงเทพฯ   มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน  พื้นที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 และพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล   เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ  ให้เกษตรกร  โดยมีนายกฤษฎา  บุญราช  รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน  มีผู้แทน 9 หน่วยงานร่วมลงนาม  คือ ส.ป.ก.  กรมชลประทาน  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  กรมทรัพยากรน้ำ  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์  กรมพัฒนาที่ดิน  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 

นายกฤษฎา  บุญราช  รมว.เกษตรและสหกรณ์   กล่าวว่า  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ได้นำที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกินทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 35   ล้านไร่  จนถึงปัจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปี  แต่พบว่าบางพื้นที่ยังไม่มีเกษตรกรเข้าไปทำกิน  หรือเข้าไปแล้วแต่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่  ตนจึงให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ไปตรวจสอบ  พบว่าส่วนใหญ่ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  ขาดสาธารณูปโภค  แหล่งน้ำ  ไฟฟ้า  เกษตรกรขาดทุนในการตั้งต้น  ดังนั้น ส.ป.ก.จึงประสาน  8 หน่วยงานให้มาทำงานร่วมกัน  เป็นการบูณาการแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่จำเป็นในเขตปฏิรูปที่ดิน

 

 “หลังจากลงนามทั้ง 9 หน่วยงานแล้ว  แต่ละหน่วยงานก็จะร่วมมือกันลงไปสำรวจ  ดูพื้นที่ร่วมกัน  เพื่อกำหนดแผนงานที่จะทำเพื่อพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก.  เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าไปทำมาหากิน  เป็นการแก้ไขปัญหาเกษตรกรเอาที่ดิน ส.ป.ก.ไปให้คนอื่นเช่า  หรือขายโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์  รวมทั้งแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เต็มที่ด้วย”  รมว.เกษตรฯ กล่าว

นายวิณะโรจน์   ทรัพย์ส่งสุข  เลขาธิการ  ส.ป.ก.  กล่าวว่า  การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินพื้นที่ยึดคืนตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559  และพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในวันนี้  มีเป้าหมายเพื่อบูรณาการการวางแผนงานร่วมกัน  เพื่อแก้ไขปัญหาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น  เช่น  ถนน  แหล่งน้ำ  ไฟฟ้า  ฯลฯ  ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ  สร้างรายได้  ส่งเสริมสวัสดิการ  พัฒนาคุณภาพชีวิต  เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี  และใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

โดยแต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่และแผนปฏิบัติการต่างๆ  เข้าไปในเขต ส.ป.ก.  เช่น  กรมชลประทาน  กรมทรัพยากรน้ำ  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  พัฒนาแหล่งน้ำและกระจายน้ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง  การฟ้าส่วนภูมิภาค  ขยายเขตไฟฟ้าเข้าไป  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ จัดหาพลังงานทดแทนและระบบโซล่าร์เซลล์  กรมพัฒนาที่ดิน  สำรวจ  วิเคราะห์  ปรับปรุงและพัฒนาดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์   กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  สนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภค  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่ม  องค์กรชุมชน  และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนที่เข้าไปอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก.

 

เลขาธิการ ส.ป.ก.กล่าวด้วยว่า  ตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559  ให้ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีผู้ครอบครองไม่ถูกต้องเพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน  ซึ่ง ส.ป.ก.ได้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559  นั้น  ปัจจุบัน ส.ป.ก.ได้ยึดคืนพื้นที่แล้วใน 28   จังหวัด  รวมพื้นที่ประมาณ 400,000 ไร่เศษ  และนำมาจัดสรรให้เกษตรกรได้เข้าไปทำกินแล้วประมาณ  35,000  ไร่

 

 

ทั้งนี้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44  ที่  36/2559  ลงวันที่ 5 กรกฎาคม  2559   เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย   มีสาระสำคัญคือ  ให้ ส.ป.ก. นำที่ดินในเขต ส.ป.ก.ทั่วประเทศที่มีการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   คือ 1. ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป   2. ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิเข้าทําประโยชน์แล้วและครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่ผู้ได้รับการจัดที่ดิน  มีเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป    และ  3. ที่ดินที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วและมีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป   โดยนำมาจัดสรรให้เกษตรกรทั่วประเทศที่ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน  

 

นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.  กล่าวว่า  พอช.ได้เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ในด้านต่างๆ  เช่น  สนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านหรือประกอบอาชีพ  การสนับสนุนให้เกษตรกรได้ร่วมออกแบบบ้าน  วางผังชุมชน  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณการสร้างบ้าน  การพัฒนาสาธารณูปโภค  ฯลฯ  ประมาณครัวเรือนละ  72,000 บาท  นอกจากนี้ยังสนับสนุนการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต  และพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน

 

 

“ตั้งแต่ปี 2560 พอช.ได้สนับสนุนเกษตรกรในที่ดิน ส.ป.ก.ไปแล้ว  ใน 8  จังหวัด    รวม 16 ตำบล  16 โครงการ  จำนวน  1,510  ครัวเรือน  งบประมาณรวม 77 ล้านบาทเศษ  สนับสนุนการสร้างบ้านเสร็จไปแล้ว  651  ครัวเรือน  และในปี 2562 นี้มีเป้าหมายสนับสนุนอีก 1,300 ครัวเรือนในพื้นที่ 10   จังหวัด”  นายสมชาติกล่าว  และว่า  จังหวัดที่ดำเนินการไปแล้ว  เช่น  กาญจนบุรี  กาฬสินธุ์    ชลบุรี  นครราชสีมา  มหาสารคาม    สระแก้ว  สุราษฎร์ธานี  อุทัยธานี  ฯลฯ

 

ทั้งนี้ที่ดิน ส.ป.ก.ที่จัดสรรให้แก่เกษตรกร  แบ่งเป็นที่ดินเพื่อสร้างบ้านจำนวน 1   ไร่  ที่ดินทำกินประมาณ  5 ไร่  เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกผักสวนครัว  ปลูกข้าวโพด  มันสำปะหลัง  เลี้ยงไก่  เป็ด  ปลาดุก  กบ  ฯลฯ  แต่บางพื้นที่ที่ดินไม่มีความเหมาะสมในการปลูกพืช  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์  เช่น  ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลสิงห์  อ.ไทรโยค  จ.กาญจนบุรี  สนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเนื้อ  โดยมอบแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แพะ  อบรมการเลี้ยง  การให้อาหาร  ฯลฯ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"