ลบชื่อทุเรียนหมอนทอง! รัฐขายฝัน'ตอ.'ฮับผลไม้


เพิ่มเพื่อน    

ครม.อนุมัติแผนจัดการน้ำเขตเศรษฐกิจพิเศษ กรมทรัพยากรน้ำเชื่ออีก 10 ปีต้องใช้น้ำ 800 ล้านลบ.ม. พร้อมเห็นชอบโครงสร้างพื้นฐาน “บก-น้ำ-อากาศ” รองรับอีอีซี ไฟเขียวโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก ใช้เวลาศึกษา 6 เดือน ประสาน "เอสซีจี" ดันทุเรียนแบรนด์ประเทศไทยเกรดพรีเมียม 
    เมื่อวันอังคาร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จ.จันทบุรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ และรองนายกฯ เป็นห่วงว่าเวลาแถลงไปแล้วประชาชนอาจจะไม่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ว่าทำไม ครม.ถึงมาประชุมที่ภาคตะวันออก ซึ่งตามที่นายกฯ เคยแบ่งกลุ่มออกเป็น 6 ภูมิภาค ซึ่งมีกลุ่มระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเข้ามา ครม.จึงเห็นว่าต้องมาประชุมในพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อกัน ซึ่ง จ.ตราดและจันทบุรีเชื่อมต่อกัน  ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามผลักดันให้ทั้งสองจังหวัดเป็นเมืองรอง เพื่อเชื่อมต่อกับเมืองหลัก  
    นอกจากนั้น ในยุทธศาสตร์ชาติมีอยู่หลายเรื่อง แต่ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคตะวันอออกมีอยู่หลายอย่าง  ทั้งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งอาหาร ทั้งปศุสัตว์ ผลไม้ เป็นพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดน สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ในประเทศได้ นอกจากนั้นยังเห็นว่าภาคตะวันออกเมื่อมีโรงงานอุตสาหกรรมย่อมมีมลพิษ จึงต้องแก้ไขในเรื่องนี้ด้วย
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ทั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และนายวิษณุ  เครืองาม รองนายกฯ ได้รายงานในที่ประชุม ครม. ว่าเกี่ยวกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน ใครที่มาดำเนินการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ไม่ต้องกังวลเรื่องผังเมือง เมื่อมีคนที่ลงทุนสามารถถือครองที่ดินได้ รวมทั้งด้านแรงงาน โดยไม่ต้องวุ่นวายไปสอบลายเส้น เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษนี้สามารถดำเนินการได้อยู่แล้ว รวมทั้งบีโอไอได้ประกาศมาแล้วว่าเม็ดเงินที่มาในภาคตะวันออกมีประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ อย่างไรก็ตาม เดิมจังหวัดจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่วันข้างหน้าก็จะมีการประกาศได้อีก โดยจะประกาศได้เป็นโซนๆ เช่น กทม. ก็มีจะมักกะสันที่สามารถประกาศได้ เพราะมีรถไฟความเร็วสูง
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า ครม.ได้อนุมัติตามแผนจัดการเรื่องน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของกรมทรัพยากรน้ำ ที่เสนอให้ ครม.จัดทำแผนแหล่งในภาคตะวันออก เพราะมีเป็นพื้นที่ เขตอีอีซี ก็จะมีต้องมีแหล่งอุตสาหกรรม และคาดหมายว่าต้องมีแรงงานเกิดขึ้นในพื้นที่ประมาณ 3 ล้านคน ดังนั้น ถ้ามีความเจริญแบบนี้ จะมีความต้องการใช้น้ำทั้งอุปโภคบริโภค ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม โดยเชื่อว่าในปี 2570 มีความจำเป็นต้องใช้น้ำประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร และปี 2579 น่าจะใช้น้ำถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันได้มีการสำรวจพบว่าสามารถจัดหาน้ำได้ 427 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีความเพียงพอ เพราะมีความต้องการใช้จริงอยู่ที่ 325 ล้านลูกบาศก์เมตร  
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า มีการกำหนดแผนว่าต้องปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมที่อยู่ในเขตพื้นที่ 6 แห่ง หากปรับปรุงแล้วสามารถเพิ่มน้ำได้อีก 75 ล้านลูกบาศก์เมตร และจะจัดทำอ่างเก็บน้ำใหม่ 3 แห่ง เมื่อทำแล้วจะสามารถเก็บน้ำได้ปริมาณเพิ่ม 308 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งเชื่อมโยงแหล่งน้ำด้วยการขุดคลองระบายน้ำให้น้ำพร่องถึงกัน และผันน้ำในระยะ 5 ปี น่าจะเพิ่มต้นทุนน้ำได้อีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถ้าทำตามแผนนี้รวมทั้งแหล่งสำรองของภาคเอกชน ก็จะเพียงพอสำหรับ 800 ล้านลูกบาศก์เมตรใน 10 ปีข้างหน้า โดย ครม.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเตรียมความพร้อมจัดทำแผนปฏิบัติการของตัวเองที่จะรองรับแผนใหญ่ นอกจากนั้นยังให้หน่วยที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนที่เสนอมาว่าสามารถเพิ่มต้นทุนน้ำได้จริงตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดจากแผนเดิมที่มีอยู่
    ขณะที่นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบภาพรวมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งภาคตะวันออก ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยการพัฒนาด้านการขนส่งทางบกได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างถนนในพื้นที่ภาคตะวันออก วงเงินงบประมาณระหว่างปี 2557-2562 รวม 77,323.283 ล้านบาท ในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงิน 20,200 ล้านบาท มีกำหนดเปิดใช้งานในปี 2563 การขยายช่องทางการจราจรทางหลวง ทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา-ท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อลดความแออัดของการจราจร ทางหลวงมีนบุรี-ฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา และเส้นทางเลียบชายทะเลตะวันออก ชลบุรี-ระยอง จะมีการสร้างเส้นทางจักรยาน จุดพักรถ และจุดชมวิว 
    รวมถึงพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวรอบเกาะช้าง  ขณะที่ในระยะต่อไป กระทรวงคมนาคมมีแผนจะดำเนินโครงการต่างๆ เช่น ในปี 2563-2566 จะก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา เพื่อเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา-หนองคาย นอกจากนี้ยังมีแผนจะเพิ่มช่องทางจราจร (เขาไร่ยา)-เขาคิชฌกูฏ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
    นายณัฐพรกล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณ 236,700 ล้านบาท และการพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ บริเวณมักกะสันและที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงศรีราชา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ รวมถึงยังมีแผนพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับประเทศจีนตอนล่างเข้ากับท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือสัตหีบ และมีแผนรอบรับนิคมอุตสาหกรรมเชื่อมโยงโครงการรถไฟฟ้าทางคู่สายชุมทางศรีราชา-ระยอง มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-ทองใหญ่ ระยะทางรวม 275 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 (งบกลาง) 
    อย่างไรก็ตาม ยังมีโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ให้มีการรองรับการขยายตัวทางการค้า และรองรับปริมาณสินค้าที่ผ่านทางเรือให้มากขึ้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี 2568 ทั้งนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานระยะที่ 1 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา วงเงินงบประมาณ 10,300 ล้านบาท เพื่อนำร่องในอีอีซีในการช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและเมืองการบินภาคตะวันออก ขณะนี้อยู่ระหว่างเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล
    ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร พร้อมทั้งให้กระทรวงพาณิชย์ไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีผลไม้เมืองร้อนจำนวนมากก้าวขึ้นเป็นมหานครผลไม้ของโลก มีเป้าหมาย 4 ด้านคือ ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิตผลไม้เมืองร้อน ทั้งผลไม้สดและแปรรูป, ให้ประเทศไทยเป็นประเทศถือครองส่วนแบ่งตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ผลไม้เมืองร้อนของโลกมากที่สุด, ให้ประเทศไทยสามารถคุมกลไกการค้าผลไม้เมืองร้อนได้ และทำให้เกิดการสร้างแบรนด์ประเทศไทยกับผลไม้ให้ชาวต่างชาติมีภาพจำของผลไม้ไทยว่าเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพเกรดพรีเมียม  
    ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์การค้าผลไม้ครบวงจร  สำหรับการก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการผลิตผลไม้เมืองร้อนนั้น ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตผลไม้เมืองร้อนทั้งสดและแปรรูปให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ประกอบด้วย 1.การกำหนดและส่งเสริมมาตรฐานการผลิตและการค้าผลไม้เกรดพรีเมียม ทั้ง Q-GAP, Thai GAP, Thailnd Trust Mark โดยจะยกระดับสัดส่วนสินค้าเกรดพรีเมียม เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% ของผลผลิตรวม ให้เพิ่มขึ้นเป็น 20%
    2.ส่งเสริมการทำการตลาดผลไม้เกรดรอง โดยการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป เช่น ผลที่รูปทรงไม่สวย แก้ปัญหาโดยการแกะออกมาใส่แพ็กเกจพร้อมรับประทาน 3.การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูป และ 4.การนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ผลไม้ เช่น การทำน้ำเชื่อมลำไยหรือลำไยไซรัปรับประทานเพื่อสุขภาพ และช่วยดูดซับปริมาณผลไม้ตกเกรดได้มากขึ้น
    รมว.พาณิชย์กล่าวว่า ส่วนการก้าวขึ้นเป็นผู้ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดผลไม้เมืองร้อนมากที่สุดนั้น จะต้องมีตลาดกลางเพื่อกำหนดมาตรฐานราคาที่มีความน่าเชื่อถือได้ และต้องบุกตลาดเป้าหมายเมืองร้อน เช่น จีน จะรุกไปทุกพื้นที่มากขึ้น และพัฒนาโลจิสติกส์ควบคู่กันไป รวมถึงการสร้างคลังสินค้าที่นำระบบห้องเย็นที่สร้างขึ้นจากการผลิตพลังงาน นำส่วนที่สูญเสียมาใช้ประโยชน์ทำเป็นห้องเย็นขนาดใหญ่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)
    สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ ให้ใช้งบประมาณเดิมของหน่วยงานต่างๆ ก่อน หากมีความจำเป็นสามารถตั้งงบประมาณเพิ่มได้ กระทรวงพาณิชย์จะสร้างแบรนด์ผลไม้ของประเทศไทยให้เป็นผลไม้เกรดพรีเมียม เป็นที่ยอมรับในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน จะเริ่มต้นที่ผลไม้ 3 ชนิดก่อนคือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด เริ่มต้นปีแรกที่ทุเรียนก่อน ต่อไปทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะไม่เรียกว่าทุเรียนหมอนทอง แต่จะเป็นทุเรียนแบรนด์ประเทศไทย ซึ่งทางบริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด กำลังดำเนินการที่จะทำแบรนด์ทุเรียนของประเทศไทย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ทุเรียนของไทย ต่อไปชาวต่างชาติจะคิดถึงทุเรียนของไทยในภาพของทุเรียนคุณภาพ ไม่ใช่ทุเรียนอ่อน มีความแตกต่างจากทุเรียนของประเทศอื่น 
    "ปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนจำนวน 900,000 ตัน จะคัดทุเรียนที่ผลิตได้เกรดพรีเมียมออกมา 1% หรือประมาณ 9,100 ตัน ขณะนี้รวบรวมได้แล้วประมาณ 5,000 ตัน ส่วนนี้จะนำมาใช้สร้างทุเรียนแบรนด์ประเทศไทย คาดว่าจะประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติทราบว่าถ้าต้องการทุเรียนคุณภาพดีต้องเป็นทุเรียนของประเทศไทยได้ในเดือนเม.ย.นี้ ทั้งนี้ หลังจากที่ทุเรียนมีราคาดีในปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออกที่โค่นต้นยางพาราแล้วหันมาปลูกทุเรียนกันจำนวนมาก จะทำให้ผลผลิตทุเรียนในอนาคตมีมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเตรียมการเพื่อรองรับอนาคตด้วย" รมว.พาณิชย์ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"