สสส.-ยิบอินซอย-กพย.จัด"ยา อย่า Yah!!" เปิดปมอีก34ปีเชื้อดื้อยาคนตายทั่วโลก10ล้านคน


เพิ่มเพื่อน    

        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัท ยิบอินซอย จำกัด กลุ่มใบไม้ในเมือง ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดกิจกรรมใบไม้รักษ์โลก Episode 3 : “ยา อย่า Yah!!” เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ที่ปรึกษา กพย. เปิดปมฆาตกรเงียบ อีก 34 ปี คนทั่วโลกมีเชื้อดื้อยา เสียชีวิตสูงถึง 10 ล้านคน ตายเพราะไม่มียารักษา ปัญหาสะสมจากการดื้อยาปฏิชีวนะส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก สูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในเมืองไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 20,000-38,000 คน ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติ สูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 46,000 ล้านบาท มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและจากอุบัติเหตุ

      คุณเคยสงสัยบ้างไหมว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสโลหิตนับวันยิ่งสูงมาก และคุณเคยสงสัยไหมว่า ทำไมกินยาเท่าไร โรคก็ไม่หาย เมื่อยาปฏิชีวนะที่กินเข้าไปกลับ “ทำร้าย” ร่างกายนั้น อาจเป็นเพราะคุณกำลังมีเชื้อดื้อยา เมื่อเป็นหวัด ท้องเสีย แผลสด คุณเคยกินยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ หรือยาแก้อักเสบไหม?

      ที่ลานใบไม้ บริษัท ยิบอินซอย จำกัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับบริษัท ยิบอินซอย จำกัด กลุ่มใบไม้ในเมือง ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดกิจกรรมใบไม้รักษ์โลก Episode 3 : “ยา อย่า Yah!!” เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักรู้และป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย เนื่องในสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรียประจำปี 2561 โดยมี ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เป็นประธานเปิดงาน, กาญจนา หงษ์หยก Project Manager บริษัท ยิบอินซอย จำกัด ทำหน้าที่พิธีกรดำเนินรายการตลอดงาน, ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) เป็นวิทยากรให้ความรู้

      ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนของโลกที่ต้องเผชิญหน้าในขณะนี้คือ การตายเพราะไม่มียารักษา ปัญหาจากการดื้อยาต้านแบคทีเรีย หรือที่เรียกว่ายาปฏิชีวนะ เพราะทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก และก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ในเมืองไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ 20,000-38,000 คน ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานกว่าปกติ เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละ 46,000 ล้านบาท มากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดและจากอุบัติเหตุ

      ประเทศไทยมีประชากรน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป แต่กลับมีอัตราผู้เสียชีวิตจากเชื้อแบคทีเรียดื้อยามากกว่า หากไม่เร่งแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2593 หรืออีก 34 ปีข้างหน้า การเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาทั่วโลกจะสูงถึง 10 ล้านคน ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจสูงถึง 3.5 พันล้านบาท

      การดื้อยาเกิดขึ้นเนื่องมาจากร่างกายของคนเรามีแบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เราได้รับแบคทีเรียตัวร้ายจากภายนอกมาจู่โจมเราทำให้เกิดโรค ยาต้านแบคทีเรียที่กินเข้าไปสามารถกำจัดแบคทีเรีย ทั้งที่เป็นแบคทีเรียมีประโยชน์และเป็นโทษต่อร่างกาย แต่ไม่มียาชนิดใดที่กำจัดแบคทีเรียได้หมดสิ้นทุกชนิด แบคทีเรียที่รอดชีวิตกลับสร้างตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น กลายเป็นเชื้อดื้อยา พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือแพร่สารพันธุกรรมไปสู่เชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์อื่นได้ เมื่อพัฒนาไปเรื่อยๆ จากการได้รับยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นหรือขนาดไม่เหมาะสม ในที่สุดแบคทีเรียเหล่านี้จะกลายเป็น Superbug หรือเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่รักษาได้ยาก หรืออาจไม่มียารักษาเลย

      แบคทีเรียดื้อยาที่ทนทาน (ดื้อ) ไม่ถูกกำจัดโดยยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลดี มีโอกาสแพร่พันธุ์และแพร่กระจายไปสู่คน รวมถึงสิ่งแวดล้อมได้ เมื่อยาที่เคยใช้ได้ไม่สามารถรักษาได้ ส่งผลให้ต้องใช้ยาแรงขึ้น ราคาสูง ยาตัวใหม่ก็มีความเสี่ยงต่อร่างกายมากขึ้น หากไม่มียาใดต้านแบคทีเรียได้เลยก็อาจเสียชีวิตได้ ดังนั้นสิ่งที่ต้องจำขึ้นใจให้ได้ว่า “การใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกโรค ไม่ถูกวิธี” สร้างเชื้อดื้อยา ข้อมูลปี 2554 กระทรวงสาธารณสุขเผยว่า ในรอบ 10 ปี ไทยพบปัญหาเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิดที่พบบ่อยดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น บางชนิดสูงกว่า 30 เท่าตัว เหตุเพราะการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกโรค ไม่ถูกวิธี

      สิ่งที่น่ากังวลมากในขณะนี้พบยาต้านจุลชีพ/ยาต้านแบคทีเรีย เชื้อดื้อยาและยีนดื้อยาตกค้างในสิงแวดล้อมบนฟื้นผิวดิน แล้วยังแพร่ลงไปในทะเล มหาสมุทร เสี่ยงต่อการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพนิเวศเสียหาย จุลินทรีย์ชนิดดีในสิ่งแวดล้อมถูกทำลายหรือกลายพันธุ์ ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแหล่งที่มีการแพร่เชื้อดื้อยาอยู่ในอาหาร สัตว์เลี้ยง การผลิตเอทานอลจากพืช การเลี้ยงสัตว์น้ำ ผัก ผลไม้ การใช้ยาในมนุษย์ โรงงานยาและสารเคมี ทั้ง 7 วงจรเชื่อมกันได้ทั้งหมด การจัดการต้องมองทั้งระบบและต้องทำกันอย่างจริงจังด้วย

      ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ยกตัวอย่าง พ่อนำเด็กชายวัย 7 ขวบมารักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ด้วยอาการไข้ไม่สูง หายใจเร็วมา 11 วัน ไม่มีโรคประจำตัว เมื่อซักประวัติพบว่า เมื่ออายุ 4 ขวบเริ่มเจ็บป่วยไม่สบาย ได้ยาปฏิชีวนะ 38 ครั้ง ในระยะเวลา 3 ปี เสียค่ารักษาพยาบาลไปเกือบหนึ่งล้านบาท ยาปฏิชีวนะที่ได้รับมีเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ไม่มีความจำเป็น ไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา การมีอาการไอ เจ็บคอ โดยไม่มีไข้ หรือมีเพียงน้ำมูกเล็กน้อย เป็นเรื่องโชคดีที่การเจ็บป่วยในครั้งนั้นไม่มีการติดเชื้อแทรกซ้อนและเชื้อดื้อยาอื่นๆ ถ้าหากเป็นเชื้อแบคทีเรียแกรมลบอาจโชคร้าย เพราะแทบไม่เหลือยาที่จะรักษาได้อีกเลย

      “มีข้อที่น่าสังเกตว่า เด็กที่ผ่าออกมาทางหน้าท้องโดยไม่ผ่านช่องคลอด จะเป็นโรคภูมิแพ้ง่ายกว่าเด็กที่คลอดจากครรภ์มารดาปกติ เด็กที่คลอดธรรมชาติจะมีภูมิคุ้มกันดีกว่า ในกรณีที่เด็กใช้ยาปฏิชีวนะตั้งแต่อายุน้อยๆ จะส่งผลให้เด็กอ้วน เป็นภูมิแพ้ได้ง่าย มีคำถามว่ากินนมเปรี้ยว โยเกิร์ต ดีกับสุขภาพเด็กหรือไม่ ขึ้นอยู่ว่าโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวมีรสหวานหรือไม่ ถ้าหวานก็จะทำให้เด็กติดหวาน โยเกิร์ตที่ให้ประโยชน์ควรจะมีจุลินทรีย์ที่ดี สายพันธุ์ที่หลากหลาย จะส่งผลบวกต่อสุขภาพร่างกาย บ้านเรามีกล้วยน้ำว้า ผักต้ม เป็นสารอาหารที่ช่วยเสริมจุลินทรีย์เป็นประโยชน์มาก” ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี กล่าว                          

      ขณะนี้เมืองไทยมีการใช้ยาต้านจุลชีพในร้านชำทั้งในการเกษตร ทั้งพืชและสัตว์มีการดื้อยาอย่างรุนแรง ภายในโรงพยาบาล อัตราการดื้อยาของประเทศถึงขนาดรุนแรงในคน แต่ไม่มีสถิติชัดเจนในสัตว์ มีการตรวจพบยาต้านแบคทีเรียตกค้างในอาหารสำเร็จรูป ในเนื้อหมูสด ไก่สด เป็นรายงานจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งยังมีรายงานพบเชื้อดื้อยา ยีนดื้อยาในเนื้อไก่ แต่ในรายงานภาครัฐยังไม่พบสารตกค้าง เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยมีการยาต้านแบคทีเรียอย่างไม่เหมาะสมมากมาย ทั้งในชุมชน ในโรงพยาบาล รวมถึงการใช้ในวงจรอาหาร ทั้งการปศุสัตว์ การประมง การปลูกพืชผักและผลไม้ส่งผลให้ผลไม้เกิดเชื้อดื้อยาและการตกค้างของยีนดื้อยาในสิ่งแวดล้อม

      ยาชุดมรณะมียาสเตียรอยด์ขายในร้านของชำ ร้านขายยา บางคนกินยาชุดแล้วหายป่วยเป็นปลิดทิ้ง แต่หารู้ไม่แฝงอันตรายด้วยเป็นฆาตกรตัวร้าย แม้ว่ายาสเตียรอยด์ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้อย่างรวดเร็ว แต่มีผลข้างเคียงสูง กระดูกผุ กระเพาะทะลุ บวมน้ำ ภูมิต้านทานต่ำ ระบบการทำงานของฮอร์โมนเสียสมดุล มีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ยิ่งรับประทานไม่ครบขนาดส่งผลให้มีการดื้อยาถึงกับต้องใช้ยาแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อย่างที่เรียกว่ายาบางตัวแพงยิ่งกว่าซื้อทองคำเสียอีก.

 

      รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ หัวหน้างานโรคติดเชื้อในเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า สถานการณ์การดื้อยาในเด็กมีแนวโน้มสูงกว่าผู้ใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่มีกังวลเมื่อลูกป่วย เรียกร้องหมอให้ใช้ยาแรงด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ส่งผลให้เด็กป่วยในเวลาต่อมาแล้วรักษายากขึ้น ต้องมารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยโรคในเด็กนั้นต้องตรวจอย่างละเอียดว่าเด็กมีโรคประจำตัวหรือไม่ อาทิ โรคหัวใจ เด็กบางคนมีสุขภาพแข็งแรง แต่ป่วยอย่างที่เรียกว่ามีอาการปางตาย ก็ต้องหาสาเหตุให้ได้ว่ามีผลสืบเนื่องจากการดื้อยาด้วยหรือไม่

 

ผอ.สำนัก2รณรงค์ผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพ

กินร้อนช้อนกลางล้างมือให้สะอาดเป็นนิสัย

      ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. เป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า การรณรงค์ต้านเชื้อดื้อยา เนื่องจากจุดวิกฤติการใช้ยาต้านแบคทีเรีย เราใช้ยาเพนนินซิลิน อเล็กซานตา มาแล้ว 90 ปีได้ผล หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงครามโลกครั้งที่ 2 ลดอัตราการตายเป็นล้าน เรียกได้ว่าเป็นยาวิเศษมาก แต่ถ้าใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อจะกลายเป็นอาวุธในเวลาไม่กี่ปี  เชื้อเกิดการต่อต้านกับตัวยา มีการค้นคว้าหาตัวยาใหม่ๆ อะม็อกซี ใช้ได้ดีกับอาการหวัด คอแดง ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียได้ผล 70% ปัจจุบันใช้ได้ผลไม่ถึง 10% เพราะเชื้อโรคพัฒนาตัวเอง ถ้าไม่มีมาตรการควบคุมที่ดีเสมือนหนึ่งประเทศไทยเข้าถึงยาต้านแบคทีเรียได้ง่าย โดยเฉพาะหาซื้อยารักษาคน สัตว์ ได้ที่ร้านขายของชำ

      ขณะนี้ในประเทศสหรัฐ ผู้บริโภครณรงค์ให้หลายประเทศจำหน่ายอาหารที่ไม่เอาเนื้อสัตว์จากผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะ มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่จำหน่ายอาหารที่มีเนื้อสัตว์ประกาศเจตนารมณ์ปลอดยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ ในขณะเดียวกันผู้บริโภคเองก็ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองด้วย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ มีกิจกรรมทางกาย 150 นาที/สัปดาห์ อาหารที่สะอาด กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ทำให้เป็นนิสัย ไม่ทำให้ท้องเสีย ปฏิบัติทั้งครอบครัว เป็นคนมีอารมณ์ดี เป็นการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน พักผ่อนให้เพียงพอ หายใจลึกๆ ยาวๆ บ่อยครั้ง อย่าเครียด ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ฯลฯ เมื่อจะต้องทำอาหารเองเลือกวัตถุดิบในการทำอาหารให้ปลอดภัยจากสารเคมี ช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลหวัด ไอ เจ็บคอ ไม่ง้อยา ดื่มน้ำให้บ่อยๆ เราต้องหาทางลดโอกาสที่จะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาด้วยตัวเอง ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นเรื่องวิกฤติ คนล้มตายเป็นใบไม้ร่วง เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ

      การลดยาต้านปฏิชีวนะเป็นความจำเป็นมาก ทุกครั้งที่จะใช้ยาปฏิชีวนะอยู่ในความดูแลของแพทย์ เมื่อเกิดเชื้อแบคทีเรีย สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ สิ่งสำคัญที่สุดคือการกระตุ้นให้ดูแลสุขภาพ

 

 

                        รู้หรือไม่....ปัญหาระบบยาเมืองไทย

               คนไข้ติดเชื้อในกระแสเลือดตายเพราะไม่มียารักษา

        ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบยา รู้หรือไม่ว่าคนไข้หลายคนต้องติดเชื้อในกระแสเลือดตายเพราะไม่มียารักษา เพราะปัญหาเชื้อดื้อยา รู้หรือไม่ว่ายาที่ต่างประเทศเพิกถอนทะเบียนไปแล้ว แต่เรายังใช้อยู่ รู้หรือไม่ว่ายังมียาจำเป็นอีกหลายตัวทีคนไทยเข้าไม่ถึง เพราะยามีราคาแพง รู้หรือไม่ว่าหากเจอภาวะฉุกเฉินก็อาจไม่มียาใช้ เพราะเราผลิตเองไม่ได้ รู้หรือไม่ว่ามีการระบาดของยาแผนโบราณ อาหาร เครื่องดื่มสมุนไพรที่มีการปลอมปนของสเตียรอยด์อย่างแพร่หลาย

      แผนงานเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ก่อตั้งครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2551 ได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส. เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในระบบยาที่มีต่อสุขภาพ ตั้งแต่แผนงานระยะที่ 1-ระยะที่ 4 ปี 2551-2560 เนื่องจากโลกเรามียาปฏิชีวนะจำนวนจำกัด ยาปฏิชีวนะจึงเป็นเหมือนทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ น้ำมัน ที่ใช้แล้วมีวันหมด ยิ่งใช้ยาปฏิชีวนะมากขึ้นเท่าไร เชื้อแบคทีเรียก็จะเกิดกลายพันธุ์ดื้อยา และยาปฏิชีวนะก็สูญเสียฤทธิ์ในการรักษาเร็วขึ้นเท่านั้น ยาปฏิชีวนะมีประโยชน์และจำเป็นมากในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียในเด็ก โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคปอดบวม แต่การใช้โดยไม่เหมาะสมก็มีโทษ เด็กที่ได้รับยาปฏิชีวนะมากเกินไปหรือได้รับโดยไม่จำเป็น ใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัด ซึ่งเป็นการใช้โดยไม่จำเป็น ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยาและเกิดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

      ดังนั้น เมื่อคนในครอบครัวป่วยควรถามแพทย์หรือเภสัชกรให้เข้าใจก่อนว่า 1.ป่วยเป็นโรคอะไร เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไม่ 2.ยาปฏิชีวนะที่ให้มานี้มีประโยชน์ในการรักษาโรคนี้อย่างไร 3.จำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องเริ่มกินยาปฏิชีวนะในตอนนี้ ข้อมูลนี้เผยแพร่โดยโครงการ Antibiotics Smart Use.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"