ชี้โพรงเลือกตั้งเป็นโมฆะ! หากประกาศผลหลัง9พ.ค.


เพิ่มเพื่อน    

    "พรเพชร" แนะอย่านำงานพระราชพิธีฯ เป็นเงื่อนไขกำหนดวันเลือกตั้ง วอนทุกฝ่ายยอมรับเหตุผล ให้รอพระราชกฤษฎีกา ด้าน "สมชัย" เตือนระวังเลือกตั้งโมฆะ หากประกาศผลเลยกรอบ 150 วัน ชี้โพรงส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ สุดท้าย กกต.ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง อาจต้องควักกระเป๋าตัวเอง 5,800 ล้านบาท ขณะที่มวลชนอยากเลือกตั้งเต็มแก่นัดชุมนุมอนุสาวรีย์ชัยฯ ชูป้าย "ไม่เลื่อน"
    เมื่อวันที่ 5 มกราคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกรณีการเลื่อนวันเลือกตั้งว่า เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องศึกษาในเรื่องของความเหมาะสม และในทางที่ดีที่สุดจะต้องไม่ให้กระทบพระราชพิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นห้วงเวลาที่คนไทยมีความปลาบปลื้มมากที่สุด เพราะทุกคนเคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องมีการจัดพระราชพิธีอย่างสมพระเกียรติ 
    ดังนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องดูเรื่องเงื่อนเวลาในการจัดการเลือกตั้ง อย่ากระทบพระราชพิธีที่มีความสำคัญที่สุดในรอบหลายทศวรรษของประเทศไทย ดังนั้นกระบวนการเลือกตั้งจนถึงการจัดตั้งรัฐบาล ต้องไม่ทับซ้อนกับหมายกำหนดการจัดงานพระราชพิธีฯ ที่มีขึ้นตลอดเดือน พ.ค.นี้
    “อย่านำประเด็นงานพระราชพิธีสำคัญมาเป็นเงื่อนไขกับเรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับเหตุผลสำคัญนี้ อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง ต้องรอพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับก่อน จากนั้นการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 60 วัน” 
    เมื่อถามถึงการทำงานของ สนช. จากเดิมที่กำหนดไว้ว่าจะหยุดพิจารณากฎหมายก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน ซึ่งอาจตรงกับวันที่ 15 ก.พ.นี้ ในกรณีที่การเลือกตั้งถูกกำหนดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.นี้ นายพรเพชรตอบว่า หากมีการเลื่อนวันเลือกตั้งจริง สนช.ก็จะต้องปรับการทำงาน และเดินหน้าทำหน้าที่ต่อ โดยยังคงยึดแนวทางที่จะยุติการพิจารณากฎหมายก่อนวันเลือกตั้ง 7 วันเช่นเดิม
    ประเด็นนี้มีการแสดงความเห็นในสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง เช่น นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้ง พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต้องทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์จะทรงลงพระปรมาภิไธยเมื่อไร เป็นพระราชอำนาจของพระองค์ ขอให้กลุ่มคนที่จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน หากไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์  จงรับรู้ด้วย
    นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งไว้หมดแล้ว เราพร้อมทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเลือกตั้งวันใด เราไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เราพร้อมเดินหน้าตามโรดแมปทุกอย่าง และไม่คิดว่าพรรคเราจะได้ประโยชน์จากการเลื่อนเลือกตั้งอย่างที่หลายคนวิจารณ์ แต่ตรงกันข้าม เมื่อมีการเลื่อน เราจะต้องมีการปรับแผนใหม่ทั้งหมด ดังนั้น เราก็อยากจะเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ด้วยซ้ำไป 
รอเวลาหาบุคคลดีที่สุด
    "ไม่คิดว่าการเลื่อนเลือกตั้ง จะทำให้นักการเมืองจากพรรคการเมืองอื่นๆ ย้ายเข้าพรรค เพราะถึงแม้การเลือกตั้งจะมีขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม แต่การเข้าเป็นสมาชิกพรรคใหม่ ก็จะไม่ทันกรอบ 90 วัน ดังนั้น จึงไม่ควรวิจารณ์พรรคเราในสิ่งที่ไม่มีข้อเท็จจริง" 
    ส่วนการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีนั้น ยังไม่ถึงเวลา ขอรอดูพระราชกฎีกาเลือกตั้ง จนรู้วันเลือกตั้งก่อน แม้นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค จะบอกว่าพร้อมแล้วที่จะสู่ขอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มาอยู่ในบัญชีนายกฯ แต่ก็ต้องรอเวลาในการมองหาบุคคลที่ดีที่สุด เพื่อนำเสนอต่อประชาชน 
    ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อดีต กกต. โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีเนื้อหาระบุว่า ความหวาดผวาของ กกต.หากประกาศผลเลือกตั้งหลัง 9 พฤษภาคม กกต.มีเวลา 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ในการประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 ของ 500 คน เพื่อให้สามารถประชุมสภานัดแรกได้ หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ครบ 60 วัน คือ 24 เมษายน หากเลือกตั้งวันที่ 10 มีนาคม ครบ 60 วัน คือวันที่ 9 พฤษภาคม
    เขาระบุว่า วันที่ 9 พฤษภาคม มีความหมายอะไร คำตอบคือ เป็นวันครบ 150 วัน หลังจาก พ.ร.ป.สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ โดย พ.ร.ป.ส.ส.เป็น พ.ร.ป.ฉบับสุดท้าย มีผลใช้บังคับเมื่อ 11 ธันวาคม
    มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญเขียนว่า หลังจาก พรป.สำคัญ 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ซึ่งคำว่า “แล้วเสร็จ” ดังกล่าว เป็นคำที่ กกต.หวาดผวาที่สุด
    “แล้วเสร็จ” คือ “จัดการหย่อนบัตรเสร็จ” หรือ “ประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95"  เป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครตอบ กกต.ชุดที่ 4 เคยทำหนังสือถึง 2 หน่วยงาน คือ กรธ.และกฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว คำตอบจากประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์ เขียนเป็นเอกสารตอบมายัง กกต.ว่า “เรื่องนี้ กรธ.เป็นผู้เขียน กม.ไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบได้” ถือเป็นคำตอบที่เสียดายเงินเดือนยิ่ง
    คำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นว่า กกต.ควรสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะเหมาะสมกว่า
    เมื่อ กกต.คิดจะถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงสัมภาษณ์จากบางท่านในศาลรัฐธรรมนูญมาว่า ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนจึงจะส่งได้คือ จัดเลือกตั้งไปก่อน หากมีใครร้องมา ศาลจึงวินิจฉัย (เฮ้อ บ้านเมืองเรา)
ระวังเลือกตั้งโมฆะ
    ดังนั้น หากเลือกตั้งเสร็จ และ กกต.เอ้อระเหยไปประกาศผลหลัง 9 พฤษภาคม แล้วบังเอิญมีมือดีไปร้องศาล และบังเอิญศาลวินิจฉัยแล้วสรุปว่า กกต.จัดการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ
กกต.ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย 5,800 ล้านที่เสียไป (หาร 7 แค่คนละ 800 กว่าล้าน)
    ดังนั้น จะเลื่อนการเลือกตั้งเป็นเมื่อใด กกต.จะต้องพยายามประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 ภายใน 9 พฤษภาคม 
    หมายเหตุ งานนี้รัฐบาลไม่เกี่ยว เพราะ กกต.เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง รัฐบาลแค่ส่งรองนายกฯ มาให้ข้อมูล และเสนอวันเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างอยู่ที่ กกต.ตัดสินเองครับ
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ กองเชียร์พรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า หลายคนคาดหวังว่าจะได้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ แต่เมื่อฟังเหตุผลว่าเกี่ยวกับงานพระราชพิธี ก็คงไม่มีใครไม่ยอมหลีกทาง แต่คนไทยนั้นสั่งสมความผิดหวังจากการเลื่อนเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง จนมาถึงครั้งนี้ คิดว่าคนไทยก็คงร่วมโมทนาสาธุ แต่สิ่งที่มีปัญหาคือ การตีความกฎหมาย เรื่องกรอบ 150 วัน ที่จะสิ้นสุดวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ เกี่ยวกับคำว่า วันเลือกตั้งแล้วเสร็จ จะหมายถึงวันประกาศผลเสร็จสิ้นหรือไม่ 
    "เกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยการเลือกตั้งปี 2549 และ 2557 ที่มีการตีความกฎหมาย จนทำให้เกิดการเลือกตั้งโมฆะ ทางที่ดี ผมขอแนะนำให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า กรอบ 150 วัน คือวันเลือกตั้ง หรือวันประกาศผล เพื่อไม่ให้เกิดการเลือกตั้งโมฆะอีก เปลืองงบประมาณแผ่นดิน ส่วนถ้าจะเลื่อนวันเลือกตั้งด้วยเหตุผลเรื่องพระราชพิธี คงไม่มีใครขัดข้อง" 
    นายจตุพรยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยบอบช้ำเกินไปที่จะใช้ความรู้สึกส่วนตัวแก้ปัญหา ตนเห็นว่าเวทีรัฐสภาจะเป็นทางออกที่ดี แต่ก็ยังติดกับดักความลักลั่นของรัฐธรรมนูญอยู่ดี รัฐบาลมาจากสองสภา แต่เวลาอยู่ อยู่สภาเดียวจะก่อให้เกิดปัญหา ทั้งนี้ ในทางการเมืองไม่ใช่ มีเงินมากสุด อำนาจมากสุดแล้วชนะ มีแต่จะแพ้มากสุด พรรคเพื่อชาติเราเปลี่ยนวิธีคิด หาวิธีแก้ปัญหาชาติก่อน ผลการเลือกตั้งไว้ทีหลัง หน้าที่ของพรรคเพื่อชาติคือเสนอแนวทางแก้ปัญหาให้ชาติ 
    ขณะที่นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ข่าวเรื่อง กกต.จะเลื่อนกำหนดการเลือกตั้งหรือไม่ประการใด ไม่บังควรที่จะอ้างการพระราชพิธี! แต่ต้องคำนึงให้ดี อย่าให้ช่วงการเลือกตั้งไปกระทบบรรยากาศที่ประชาชนทั่วประเทศปรีดาปราโมทย์ และแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสถาบันพระมหากษัตริย์
ประชาธิปัตย์รับได้
    ข่าวที่จะเลื่อนเลือกตั้งจาก 24 กุมภาพันธ์ไป 9 หรือ 10 มีนาคมนั้น กกต.ก็ต้องใคร่ครวญทบทวนให้ดีว่าการเลื่อนจาก 24 กุมภาพันธ์ตามที่กำหนดไว้เดิม จะเป็นประโยชน์อะไรกับใครที่ตรงไหน เพราะต้องคิดถึงบรรยากาศในการเลือกตั้ง ให้ไกลออกไปจากการพระราชพิธีฯ ไม่ใช่คำนึงว่าใครจะเป็นรัฐบาลในช่วงการพระราชพิธีฯ ซึ่งจะเป็นความคิดที่ไม่ได้ถือเอาชาติ ศาสนาพระมหากษัตริย์ เป็นที่ตั้ง
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากมีพระราชกฤษฎีกาประกาศออกมาเมื่อไหร่ หลังจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งวันใดที่เหมาะสมนั้น เชื่อว่า ขณะนี้ทางรัฐบาลโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าไปพูดคุยกับทาง กกต.แล้ว ก็จะทราบรายละเอียดว่าควรใช้ระยะเวลาไหนที่เป็นเวลาที่เหมาะสมในการกำหนดวันเลือกตั้ง 
    เพราะฉะนั้นก็จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กกต.เป็นหลัก โดยในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ได้เตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไว้ เมื่อใดที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจนและแน่นอน ก็พร้อมที่จะเดินหน้ารณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อขอการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน ในการสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุด โดยเฉพาะสิ่งที่เราได้เตรียมไว้ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด จะเป็นในเรื่องของนโยบายพรรค การเข้ามาพัฒนาประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ การเข้ามาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่เชื่อมั่นว่า ถ้าได้มาเป็นรัฐบาล นโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจใหม่และเรื่องปากท้องจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม และเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นกว่าเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดเตรียมในขณะนี้เป็นเรื่องของนโยบาย โดยเฉพาะในส่วนของผู้สมัครที่เสร็จเกือบ 100% แล้ว
    เมื่อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นเพราะ คสช. เป็นผู้กำหนดนั้น มองว่าอย่างไร นายองอาจตอบว่า ขณะนี้เราไม่ควรไปมองอะไรเป็นอย่างอื่น เรามองเพียงเหตุผลที่รัฐบาลกับทาง กกต.ได้ปรึกษาหารือกันเป็นหลักมากกว่า และเราเชื่อว่าเวลาที่เลื่อนออกไป ถ้าไม่มากอะไร ก็เชื่อว่าทุกฝ่ายก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม เพราะทุกฝ่ายก็มีความพร้อมอยู่แล้วในเรื่องของการเลือกตั้ง ดังนั้นคงไม่มีปัญหาอุปสรรคอะไรที่จะต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ประเทศของเราเดินหน้าต่อไปได้ด้วยความเรียบร้อย
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ แถลงจุดยืนสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.ว่า แม้กำหนดวันเลือกตั้งดังกล่าวจะไม่ได้เป็นทางการ แต่เป็นที่รับรู้กันทั้งในและต่างประเทศ ถ้าเปลี่ยนวันเลือกตั้ง จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่างๆ ตนเห็นว่าการที่รัฐบาลได้หารือกับ กกต.ในเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกำหนดการต่างๆ ที่มีความสำคัญครบถ้วนแล้ว หลังจากนี้ขอให้ยุติการดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้ กกต.ขาดความเป็นอิสระในการพิจารณากำหนดวันเลือกตั้ง 
"ณัฐวุฒิ"ตามน้ำ
    "รัฐบาลนั้นถือว่าหมดความน่าเชื่อถือในการกำหนดวันเลือกตั้งไปนานแล้ว หาก กกต.กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. พรรคก็พร้อมสนับสนุน และลงรับเลือกตั้งตามกติกา แต่หากต้องเลื่อนออกไป กกต.ก็ควรมีเหตุผลให้ประชาชนได้รับทราบ ไม่ควรปกปิดไว้ ดังนั้นจึงขอให้กำลังใจ กกต.ทำงานอย่างอิสระ และให้ถือความรับผิดชอบต่อประชาชนและประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง"
    นายณัฐวุฒิกล่าวว่า วันนี้เมื่อยังไม่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ประชาชนทุกคนจึงรอฟัง กกต. แต่ กกต.ไม่ต้องรอฟังใคร เพราะรัฐบาลได้บอกว่าพูดคุยกับ กกต.ครบถ้วนทุกอย่างแล้ว หลังจากนี้ รัฐบาลควรยุติการกระทำใดๆ ที่เกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง​
    เมื่อถามว่า หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันอื่น จะกระทบต่อการหาเสียงหรือไม่ เจ้าของประโยคเด็ด "เผาเลยครับพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง" ตอบว่า หากมีการเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. พรรคมีความพร้อมเต็มที่ ถ้ามีการปรับเปลี่ยนความพร้อมก็ไม่ได้ลดลง เพียงแต่จะต้องทำงานให้หนักขึ้น แม้มีเวลาหาเสียงเพียงวันเดียวเราก็พร้อม 
    "วันนี้การที่ประชาชนออกมาตั้งคำถาม พวกเขาไม่ห่วงว่าจะเลื่อนออกไป ไม่มีใครคิดเล็กคิดน้อยอย่างนั้น เพราะกติกาที่กำหนดขึ้น ฝ่ายผู้มีอำนาจต้องการอยู่ยาวอีกหลายปี ไม่ใช่แค่ครึ่งเดือนหรือ 1 เดือน แต่อยู่ยาวหลายปี กติกานี้รู้อยู่แล้วว่าใครได้เปรียบ อยากจะขอเพียงให้แสดงความตรงไปตรงมาออกมาบ้าง ขอเวลาหาเสียงที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่บางพรรคมีเวลาหาเสียง 5 ปี แต่อีกบางพรรคยังเริ่มไม่ได้ พฤติกรรมการหาเศษหาเลยตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ประชาชนรับไม่ได้" นายณัฐวุฒิกล่าว
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า ตอนที่ทราบว่านายวิษณุไปหารือ กกต.ให้พิจารณาว่าควรจัดการเลือกตั้งเมื่อใด เพื่อให้สอดคล้องกับงานพระราชพิธีนั้น เชื่อว่าทุกฝ่ายก็คงรอฟังด้วยความปรารถนาเดียวกัน คืออยากให้พระราชพิธีเป็นไปอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ
    แต่หลังจากการหารือ ปรากฏว่า กกต.ยืนยันว่าพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. และ กกต.จะพิจารณากำหนดและประกาศวันเลือกตั้งเมื่อพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เท่ากับว่าจะมีการเลือกตั้งช้าหรือเร็วแค่ไหนก็ขึ้นกับรัฐบาล หากรัฐบาลยืดเวลาประกาศพระราชกฤษฎีกาออกไปนานๆ กกต.ก็ไม่สามารถกำหนดวันเลือกตั้งให้เร็วได้
กระทุ้ง กกต.ทำหน้าที่
    จึงมีข้อสงสัยว่า ที่พูดกันว่าจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั้น เป็นการดีแน่แล้วหรือ มีวิธีอื่นหรือไม่ที่จะทำให้การเลือกตั้งและกระบวนการดำเนินการต่างๆ ที่ตามมาไม่เป็นปัญหา เช่น เลือกตั้งตามกำหนดเดิม แล้วลดระยะเวลาในการประกาศผลการเลือกตั้งลง ซึ่งจะทำให้มีรัฐบาลใหม่ได้เร็วขึ้นโดยไม่เกิดความวุ่นวายใดๆ
    นายจาตุรนต์ระบุว่า การที่ กกต.ไม่ขานรับรัฐบาลในทันทียังทำให้มีข้อสงสัยได้อีกว่าสิ่งที่รัฐบาลคิดเป็นวิธีที่ดีที่สุด และเป็นเหตุเป็นผลจริงหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีไปตลอดเดือนพฤษภาคมโดยไม่ต้องผ่านการเลือกของรัฐสภา ผมคิดว่ารัฐบาลควรชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนโดยเร็วที่สุด
    ด้านนายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า แม้จะไม่ได้มีการฟันธงว่าจะมีการเลื่อนการเลือกตั้ง แต่การชี้แจงเหตุผลหลายประการก็ส่อเค้าว่ามีเหตุจำเป็นให้เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป จากกำหนดการที่คาบเกี่ยวกับพระราชพิธี โดยได้โยน กกต.เป็นผู้ตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้ง โดยจะเลื่อนหรือไม่ อยู่ที่ กกต.พิจารณาความพร้อม ความเหมาะสม ซึ่งก็เหมือนจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ตามหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องเป็นผู้ชี้ขาดกำหนดวันเลือกตั้ง แม้หลายฝ่ายมองว่าการเดินทางไปพูดคุยกับ กกต.ของนายวิษณุจะเป็นการกดดันให้มีการเลื่อนการเลือกตั้งก็ตาม 
    "อันที่จริงรัฐบาลมีหน้าที่ออกกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องมีมติภายใน 5 วัน หลังจากรัฐบาลประกาศกฤษฎีกาการเลือกตั้ง ซึ่งหากภายในสัปดาห์นี้รัฐบาลยังไม่ประกาศ กำหนดการต่างๆ ก็คงต้องเลื่อนออกไป"
    รองโฆษกพรรคเพื่อชาติกล่าวต่ออีกว่า ในฐานะพรรคการเมือง นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ รวมถึงกรรมการบริหารพรรค ได้แสดงความเป็นห่วง และสนใจในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งพรรคยังคงแสดงจุดยืนตามเดิมว่าต้องการให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 24 ก.พ.2562 แต่หากมีการเลื่อนออกไป พรรคก็มีความพร้อมที่จะทำตามหากยังอยู่ในกรอบของกฎหมาย เพื่อให้บ้านเมืองได้เดินหน้าต่อไป และเพื่อให้ประเทศเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด อีกทั้งเพื่อให้การจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันสำคัญยิ่งที่ประชาชนคนไทยเฝ้ารอคอยเกิดขึ้นอย่างสมพระเกียรติสูงสุด และแสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงความจงรักภักดีของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
    อย่างไรก็ตาม กลุ่มมวลชนต่อต้าน คสช.ยังคงนักชุมนุมกันต่อไป โดย น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์เฟซบุ๊กเชิญชวนรวมตัวเพื่อไปเรียกร้องไม่ให้มีเลื่อนการเลือกตั้ง ว่า “เขาอยู่ได้ถึงห้าปี เพราะ “เรายอม” พรุ่งนี้ (6 ม.ค.) สี่โมงเย็น พบกันที่สกายวอล์ก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมป้ายกระดาษ #ไม่เลื่อน ยืนด้วยสองขาของเราอย่างสงบสันติ”
    กิจกรรมดังกล่าวนี้ นายอานนท์ นำภา ทนายประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เป็นผู้ริเริ่มตามเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้ง โดยกิจกรรมจะเป็นการยืนชูป้าย “ไม่เลื่อน” หรือข้อความอื่นอันแสดงถึงเจตจำนงเดียวกัน โดยสงบที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่ขอชื่นชม และขอให้กำลังใจกลุ่มนักกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาเดินหน้าเรียกร้องให้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด หลายคนมีคดีติดตัวจากการที่แค่ไปเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งในประเทศนี้ และที่สำคัญ เราไม่อาจปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้ ซึ่งควรต้องชัดเจนเรื่องกำหนดวันเลือกตั้งได้แล้วนั้น เป็นคุณูปการของนักกิจกรรมเหล่านี้ด้วย ที่กดดันไปยังรัฐบาล คสช. และทำให้ประชาชนตื่นตัวขึ้นมา และนับวันจะมีคนอยากเลือกตั้งแบบนี้ออกมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนี่สะท้อนเห็นถึงความต้องการของประชาชนและเป็นการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"