สังคมเสื่อมได้เพราะสื่อทราม?


เพิ่มเพื่อน    

    ตรวจสอบสถานการณ์กันนิด 
    หลายพรรคการเมือง แสดงท่าทีค่อนข้างชัดเจน ว่าไม่มีปัญหา หากการเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปอีกครั้ง 
    ย้ำคำว่า "อีกครั้ง" เพราะเลื่อนมาหลายรอบ จนคนบางกลุ่มนำไปเป็นเงื่อนไขเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง
    คำอธิบายจาก "วิษณุ เครืองาม" ที่เกี่ยวเนื่องไปถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จำต้องลงไปในรายละเอียดถึงการตระเตรียมงานพระราชพิธีในบางส่วน 
    โดยเฉพาะการเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก 
    ประเด็นนี้เกี่ยวเนื่องไปถึง คุณผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Bow Nuttaa Mahattana 
    ที่รู้จักกันในนาม โบว์ อยากเลือกตั้ง 
    หลังจาก "ป๋าเปลว" เขียนถึงเธอ 
    เธอก็ตอบกลับทันควัน ด้วยหัวข้อ
    สังคมเสื่อมได้เพราะสื่อทราม
    "โบว์วิจารณ์คุณวิษณุ ก็บิดเบือนให้เป็นเรื่องสถาบัน เมื่อวานเพิ่งแจ้งความหมิ่นประมาทไปสำหรับคนที่มีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ คุณเปลวสีเงิน ควรพิจารณาเจตนาและจรรยาบรรณสื่อของตนเองค่ะ แต่คงไม่ทันแล้วเพราะที่ผ่านมาก็บิดเบือนสร้างความเกลียดชังให้เกิดขึ้นตลอดมา สังคมเสื่อมได้เพราะสื่อทรามค่ะ"
    ย้อนกลับไปโพสต์แรกของเธอ ที่อ้างว่าวิจารณ์คำพูด "วิษณุ เครืองาม"
    "สิทธิพื้นฐานของคนทั้งประเทศถูกปฏิเสธมาจนแตะ 5 ปี หลังจากนี้จะมีเหตุผลใหม่อะไรได้อีกที่จะอ้างเพื่อเหยียบสิทธิการเลือกตั้งให้จมดินต่อไป? นี่คือคำถามสำคัญ ไม่ใช่เรื่องรายละเอียดว่าคุณต้องไปสรรหาน้ำจากแม่น้ำไหนในโลกมาทำพิธี วันนี้ วิษณุ เครืองาม ได้ตบหน้าคนไทยทั้งชาติ #เลื่อนเลือกตั้ง"
    ประโยคที่ว่า "ไม่ใช่เรื่องรายละเอียดว่าคุณต้องไปสรรหาน้ำจากแม่น้ำไหนในโลกมาทำพิธี"
    หมายความว่าอะไร?
    เป็นการพูดถึง "วิษณุ เครืองาม" อย่างนั้นหรือ?
    ภาษามี วรรค ตอน  
    แต่ความคิดคน ยากที่จะคาดเดา 
    ฉะนั้นเมื่อ คิดออกมาเป็นภาษา ก็ถือว่า นั่นคือความคิดที่ต้องการสื่อสารกับสังคม
    "คุณต้องไปสรรหาน้ำจากแม่น้ำไหน"
    "คุณ" คือใคร? 
    จะมีกี่คนที่อ่านแล้ว ฟันธงว่า "คุณ" คือ "วิษณุ เครืองาม"
    นี่คือพระราชพิธี
    ไม่ใช่อีเวนต์ของคนอยากเลือกตั้ง ที่จะใช้คำอะไรก็ได้โดยไม่สนใจว่าสังคมจะคิดอย่างไร 
    อธิบายอย่างละเอียด ขั้นเตรียมพิธี ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นน้ำที่ตักมาจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศและมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญต่างๆ ในแขวงนั้นๆ 
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้น้ำอภิเษกจากสถานที่ต่างๆ รวมทั้งหมด ๖ แห่ง ได้แก่
    ๑.สระเกศ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี
    ๒.แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก
    ๓.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี
    ๔.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง
    ๕.แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงษ์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม
    ๖.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับในรัชกาลก่อนๆ 
    แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ได้เพิ่มน้ำจากปัญจมหานทีของอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เจือลงไปด้วย     
    เพราะเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย ทรงได้น้ำจากปัญจมหานทีมาด้วย ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ จึงใช้น้ำอภิเษกทั้งหมด ๑๑ แห่ง
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ 
    แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ได้เพิ่มน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ  ตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลมาตั้งทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ได้แก่
    ๑.แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาทอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา    
    ๒.ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ
    ๓.น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย)
    ๔.แม่น้ำนครไชยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี
    ๕.บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีนครศรีธรรมราช
    ๖.บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพเยาว์ และนครเชียงใหม่
    ๗.บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีเสกที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง
    นอกจากนี้ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก ๑๐  มณฑล คือ
    ๑.วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์
    ๒.วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์
    ๓.วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา
    ๔.วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน
    ๕.วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี
    ๖.วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี
    ๗.วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี
    ๘.วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต
    ๙.วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร
    ๑๐.วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี
    รวมสถานที่ที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด ๑๗ แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม ๑๘ แห่ง สถานที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้เป็นสถานที่เดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 
    เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด
    พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
    แต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาเป็นที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน
    เมื่อได้น้ำอภิเษกที่ได้ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำส่งมายังพระนครก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันงานจึงจะได้เชิญเข้าพิธีสวดพระพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์
    นี่คือคำตอบว่า "สรรหาน้ำจากแม่น้ำไหน" ในพระราชพิธีราชาภิเษก ๑๑ ครั้งที่ผ่านมา
    และนี่คือพระราชพิธีที่ปฏิบัติต่อเนื่องตลอดยุครัตนโกสินทร์ แห่งราชวงศ์จักรี
    มีความศักดิ์สิทธิ์ในแง่วัฒนธรรม
    ไม่ใช่เพิ่งมาทำกันวันสองวัน 
    สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิในการเลือกตั้ง เป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลย 
    เพียงแต่ การเลือกตั้ง กับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถูกกำหนดขึ้นในเวลาที่คาบเกี่ยวกัน จึงจำต้องสับหลีกเวลาบางส่วนไม่ให้ชนกัน 
    การเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่ ก่อนพระราชพิธีฯ 
    แต่จะเป็นวันไหนนั้น มีการย้ำแล้วย้ำอีกว่า รอให้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมาก่อน
    แล้ว กกต.ถึงจะประกาศวันเลือกตั้งได้ 
    เรื่องที่ต้องเข้าใจมันมีอยู่แค่นี้ ไม่ได้ยากเย็นสำหรับผู้มีใจรักประชาธิปไตยทั้งหลายแต่อย่างใด
    มันไม่ใช่เรื่องไปตีโพยตีพายว่า การเลือกตั้ง เป็นเรื่องสกปรก ที่จะทำช่วงมีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่ได้ เหมือนที่นักการเมืองในพรรคอนาคตใหม่พยายามบิดเบือน 
    เพื่อปั่นกระแสความไม่พอใจจากการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป! 
    ดังนั้นถ้าจะบอกว่า สังคมเสื่อมได้เพราะสื่อทราม ก็กรุณาคิดเสียใหม่ 
    ความเสื่อมเกิดจากอะไร?
    วันก่อนผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Bow Nuttaa Mahattana คนเดียวกันนี้ เห็นดีเห็นงามกับอีเวนต์ "ชูนิ้วกลาง" ให้กับทุกคนที่ยังบอกว่าตัวอยู่ตรงกลางระหว่างความชั่วกับสิ่งที่ถูกต้อง
    ใครที่คิดว่าตัวเองอยู่ตรงกลางก็ให้รู้ไว้ "โบว์" เธอแจกกล้วยให้เรียบร้อยแล้ว 
    ทุกคน!
    เธออธิบายว่า
    "การแสดงออกแบบนี้ในทางวัฒนธรรมการเมืองมันไปไกลกว่าความหมายของอวัยวะเพศมากค่ะ (พูดให้สุดคือไม่เกี่ยวกับนัยยะทางเพศเลย) แต่หากไม่มีพื้นฐานที่จะเข้าใจก็คงยากที่โบว์จะอธิบายโดยใช้เวลาสั้นๆ การแสดงออกทางการเมืองผ่านสัญลักษณ์และเพลงแรพที่มีเนื้อหาตรงไปตรงมาคือเครื่องมือต่อกรของคนมือเปล่ากับอำนาจที่เบ็ดเสร็จ จึงได้บอกว่าใช้สำหรับคนที่ยังยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความชั่วกับสิ่งที่ถูกต้อง เพราะในสถานการณ์เช่นนั้น คนยืนตรงกลางก็เท่ากับการมีส่วนส่งเสริมความชั่วร้าย"
    มีคำอธิบายสำหรับคนที่เธอมองว่าโง่ ยาวกว่านี้ แต่ยกมาเพียงท่อนเดียวก็ได้ความหมายที่ต้องการสื่อครอบคลุม 
    ต่อไปคงจะได้สอนลูกหลานชูนิ้วกลางเพื่อแสดงออกทางการเมือง 
    หรือการติดแฮชแท็ก "เลื่อนแม่งสิ" ก็เป็นเรื่องของปัญญาและการสร้างสรรค์
    และเธอไปแจ้งความฟ้อง "ป๋าเปลว" ข้อหาหมิ่นประมาทเป็นที่เรียบร้อย 
    จากเธอที่สนับสนุนการแก้ไข ม.๑๑๒.
                            ผักกาดหอม


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"