นคร-สุราษฎร์-ชุมพรยังอ่วม


เพิ่มเพื่อน    


    "ปาบึก" ถล่ม 23 จังหวัด คลี่คลายแล้ว 20 จ. "นครศรีธรรมราช-สุราษฎร์ฯ-ชุมพร" ยังท่วม สธ.สรุป รพ.เสียหาย 92 แห่ง ส่ง 4 ทีมเยียวยาผู้ประสบภัย ไม่พบปัญหาสุขภาพจิต รฟท.เร่งซ่อมทางรถไฟเปิดใช้ 8 ม.ค. เฝ้าระวังตรังรับมวลน้ำจากทุ่งสง กรมชลฯ เตรียมเครื่องสูบน้ำพร้อมรับสถานการณ์  คลื่นลมสงบประมงสงขลาเริ่มออกเรือ 
    เมื่อวันที่ 7 มกราคม นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผู้อำนวยการกลาง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 3-6 ม.ค.62 อิทธิพลจากพายุโซนร้อน "ปาบึก" ส่งผลกระทบในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 97 อำเภอ 454  ตำบล 2,887 หมู่บ้าน 133 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 222,737 ครัวเรือน 720,885 คน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ประชาชนยังอยู่อาศัยในศูนย์อพยพจังหวัดนครศรีธรรมราช 6 จุด รวม 970 คน 
    สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 20 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช  สุราษฎร์ธานี และชุมพร รวม 41 อำเภอ 251 ตำบล 1,924 หมู่บ้าน แยกเป็นนครศรีธรรมราช เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 23 อำเภอ ได้แก่ อ.หัวไทร อ.ปากพนัง อ.ขนอม อ.สิชล อ.ท่าศาลา อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.นบพิตำ อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.ทุ่งสง อ.ร่อนพิบูลย์ อ.ทุ่งใหญ่ อ.พิปูน อ.พรหมคีรี อ.ช้างกลาง อ.ถ้ำพรรณรา อ.ฉวาง อ.ลานสกา อ.พระพรหม อ.ชะอวด อ.จุฬาภรณ์ อ.เชียรใหญ่ อ.นาบอน  และ อ.บางขัน รวม 155 ตำบล 1,400 หมู่บ้าน 105 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 179,868 ครัวเรือน 539,847 คน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย 
    โดยประชาชนยังอยู่อาศัยในศูนย์อพยพ 6 จุด รวม 970 คน มีการจัดตั้งโรงครัวพระราชทานใน อ.ปากพนัง จัดตั้งโรงครัวประทานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย  ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช และอ.สิชล ส่วนท่าอากาศยานนครศรีธรรมราชเปิดให้บริการตามปกติแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทยประกาศหยุดเดินรถช่วงสถานีเขาชุมทอง-สถานีนครศรีธรรมราช โดยมีรถรับส่งผู้โดยสารจากสถานีนครศรีธรรมราชไปขึ้นรถไฟที่เขาชุมทอง ปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว
    ส่วน จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อ.ไชยา อ.ท่าชนะ อ.ดอนสัก  อ.เกาะพะงัน อ.บ้านนาเดิม อ.พุนพิน อ.เกาะสมุย อ.เมืองสุราษฎร์ธานี อ.กาญจนดิษฐ์ อ.บ้านนาสาร อ.พระแสง และอำเภอท่าฉาง รวม 57 ตำบล 316 หมู่บ้าน 25 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 9,511  ครัวเรือน 23,987 คน บ้านเรือนเสียหาย 19 หลัง ท่าอากาศยานเปิดให้บริการตามปกติ ปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว ขณะที่ จ.ชุมพร เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.ละแม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก อ.สวี อ.เมืองชุมพร และ อ.ปะทิว รวม 39 ตำบล 208 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,219  ครัวเรือน 13,783 คน ปัจจุบันฝนหยุดตกแล้ว
    ทั้งนี้ กอปภ.ก. โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยทำความสะอาดบ้านเรือน สิ่งสาธารณประโยชน์ สถานที่ราชการ และซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค รวมถึงเส้นทางคมนาคมให้ใช้งานได้ตามปกติ ตลอดจนเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ประสบภัยที่ครอบคลุมทั้งด้านการดำรงชีพ ชีวิตและทรัพย์สิน การประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ 
    สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์ภัยเริ่มคลี่คลายแล้ว ให้สำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้านเพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป พร้อมเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ  ท้ายนี้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784  ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ปาบึกถล่ม รพ. 92 แห่ง
    ที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ส่วนกลาง ติดตามสถานการณ์และการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้บริหารใน 16 จังหวัด ผ่านระบบวิดีโอทางไกลว่า มีรายงานว่าหน่วยบริการที่ได้รับความเสียหายจากพายุปาบึก 92 แห่ง ต้องได้รับการซ่อมแซมเร่งด่วน 29 แห่ง เพื่อให้สามารถกลับมาให้บริการได้ 100% ความเสียหายส่วนใหญ่เล็กน้อย เช่น หลังคา โรงรถ ต้นไม้ล้ม ทั้งหมดเปิดให้บริการได้ตามปกติ มี 1 แห่งคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านปลายทราย จ.นครศรีธรรมราช ได้ย้ายไปให้บริการที่ศูนย์พักพิงโรงเรียนประชานุกูล คาดว่าวันที่ 8 ม.ค.จะกลับมาเปิดบริการที่ รพ.สต.ได้ตามปกติ
    ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังได้ส่งทีมไปช่วยพื้นที่ประสบภัยดูแลประชาชนในระยะฟื้นฟู 4  ประเภท ส่วนใหญ่เป็นทีมจากพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ 1.ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน 2.ด้านการควบคุมป้องกันโรคระบาด 3.ด้านสุขอนามัยสภาพแวดล้อม 4.ด้านสุขภาพจิต โดยทำงานร่วมกับคลินิกหมอครอบครัว  รพ.สต. และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นอกจากนี้ยังได้กำชับให้สื่อสารกับประชาชนผู้ประสบภัยให้สังเกตความเสี่ยงที่มาหลังน้ำลด เช่น ไฟดูด สัตว์มีพิษ ไข้หวัด ตาแดง โรคอุจจาระร่วง  อาหารเป็นพิษ และโรคฉี่หนู เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนผู้ประสบภัยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติที่บ้านได้
    ในการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ได้จัดทีมเมิร์ต (MERT: Medical Emergency  Response Team) 1 ทีม, ทีมมินิ-เมิร์ต (mini-MERT) 25 ทีม, หน่วยแพทย์เคลื่อนที่พร้อมยา เวชภัณฑ์  11 ทีมใน 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร จัดส่งยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 40,800 ชุด ยาทาน้ำกัดเท้า 8,800 หลอด เสื้อชูชีพ 780 ตัว รองเท้าบูต 120 คู่ เจลล้างมือ  2,000 หลอด หน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้น และรถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่เฉพาะกิจ 2 คัน โดยโรคที่พบมากที่สุดคือ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย น้ำกัดเท้า โรคระบบทางเดินอาหาร ตาแดง ส่วนด้านสุขภาพจิตส่วนใหญ่ยังไม่พบมีภาวะเครียดหรือซึมเศร้า แต่ยังต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง นอกจากนี้ขอให้สำรวจยา เวชภัณฑ์ที่จำเป็น หากไม่เพียงพอขอรับการสนับสนุนได้ที่ส่วนกลางตลอด 24 ชั่วโมง
    "ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทุกคนที่ปฏิบัติภารกิจดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึกมาตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ทำให้ประชาชนได้รับการบริการเป็นอย่างดี ช่วงนี้เป็นช่วงฟื้นฟูหลังน้ำลด ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกแห่ง ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง หากประชาชนมีอุบัติเหตุฉุกเฉินสามารถแจ้ง 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง" ปลัด สธ.ระบุ
    ทางด้านนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสภาพเส้นทางรถไฟ พบว่าสภาพทางได้รับความเสียหายหลายจุด กระทรวงคมนาคมจึงได้มอบนโยบายให้การรถไฟฯ เร่งฟื้นฟูสภาพทาง และอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารที่เดินทางโดยเร็ว ซึ่งขณะนี้รถอัดหินสามารถเข้าพื้นที่เพื่อทำการลงหินและอัดหินเสริมความมั่นคงของรางได้แล้ว ทำให้สามารถเปิดทางและเดินรถได้ตามปกติในวันอังคารที่ 8 ม.ค.นี้เป็นต้นไป 
    รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) โดยสำนักบำรุงทาง รายงานว่าขณะนี้ ทช.ประสบอุทกภัย 1 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบ 1 สายทาง ได้แก่ ทางหลวงชนบทสาย  นศ.4020 แยก ทล.4013-บ้านบางท่าพระ อ.เมืองนครศรีธรรมราช, อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ช่วง กม.8+700-10+000 ระดับน้ำ 20 เซนติเมตร สามารถสัญจรผ่านได้ ขณะนี้หน่วยงานในพื้นที่ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมบุคลากร เครื่องมือ เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ สะพานเบลีย์ พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมถึงติดตั้งป้ายเตือน ป้ายแนะนำเส้นทางเลี่ยงเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเรียบร้อยแล้ว
น้ำจากทุ่งสงไหลเข้าตรัง
     นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้เฝ้าระวังจับตาเป็นพิเศษในพื้นที่จังหวัดตรัง หลังน้ำจากพื้นที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จะไหลลงสู่แม่น้ำตรัง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำตรังเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน (7 ม.ค.62) ระดับน้ำในแม่น้ำตรังที่สถานี X.233 อ.ห้วยยอด สูงกว่าตลิ่งประมาณ 63 เซนติเมตร 
    คาดว่าปริมาณน้ำจาก อ.ทุ่งสงจะเดินทางมาถึงแม่น้ำตรังที่สถานี X.56 อ.ห้วยยอด ใช้เวลาประมาณ 7-10 ชั่วโมง และต่อเนื่องถึงสถานี X.47 อ.เมืองตรัง ใช้เวลาประมาณ 17-19 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำตรังเพิ่มสูงขึ้นอีก กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์โดยได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 11 เครื่อง (สำรองไว้อีก 11 เครื่อง) รวมทั้งเตรียมพร้อมรถขุดไฮดรอลิก 4 คัน เครื่องผลักดันน้ำ  10 เครื่อง เครื่องสูบน้ำ 20 เครื่อง รถบรรทุก 3 คัน รถแทรกเตอร์ 1 คัน และรถบรรทุกน้ำอีก 1 คัน ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมได้ตลอดเวลา
    ที่ จ.ชุมพร นายนิคม ศิลป์ศร นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ถ้ำสิงห์ อ.เมืองชุมพร ได้รับแจ้งจากนางสุภาภรณ์ สวนชำนิ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 220/1 หมู่ที่ 1 ต.ถ้ำสิงห์ ว่าได้เกิดแผ่นดินยุบตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่ใกล้บริเวณบ้าน จึงแจ้งให้นายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบ โดยที่เกิดเหตุอยู่ริมถนนทางหลวงชนบทสายถ้ำสิงห์-ถนนเอเชีย 41 ซึ่งเป็นหน้าบ้านนางสุภาภรณ์ พบระหว่างรอยต่อของถนนทางเข้าบ้านเป็นหลุมขนาดใหญ่กว้าง 5  เมตร ยาว 7 เมตร ลึก 4 เมตร ส่วนบนพื้นถนนลาดยางมะตอยยังมีรอยแยกเป็นระยะทางยาวประมาณ  100 เมตร  
     จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ทราบว่า เนื่องจากอิทธิพลพายุโซนร้อนปาบึกทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ตำบลถ้ำสิงห์ วัดปริมาณน้ำฝนได้มากถึง 194 มิลลิเมตร อาจทำให้ดินในบริเวณดังกล่าวอุ้มน้ำไม่ไหวจนเกิดยุบตัวเป็นหลุมขนาดใหญ่ อีกทั้งในย่านดังกล่าวเป็นพื้นที่ไหล่ภูเขาถ้ำสิงห์ มีการขุดสระและเจาะบ่อบาดาลเก็บกักน้ำไว้ทำการเกษตรกันจำนวนมาก อาจทำให้ผืนดินมีการเคลื่อนตัว หรืออาจมาจากสาเหตุอื่นซึ่งจะต้องให้หน่วยงานทางด้านธรณีวิทยามาตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป
     ที่ท่าเทียบเรือประมงจังหวัดสงขลา เรือประมงทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่จอดเรียงรายตั้งแต่วันที่  29 ธ.ค.61 ได้เริ่มออกเรือทำการประมงในอ่าวไทย หลังหยุดไปกว่า 1 สัปดาห์
    ที่ท่าเรือทับละมุ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนมากเดินทางมาลงเรือทัวร์นำเที่ยว เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนเล่นน้ำทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลันและอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ หลังจากพายุปาบึกผ่านพ้นอ่อนกำลังลง อุทยานแห่งชาติทั้ง 2 แห่งจึงได้ประกาศอนุญาตให้ผู้ประกอบการเรือทัวร์นำเที่ยวสามารถเข้าชมความงดงามในเขตอุทยานฯ ได้ตามปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว (TAC) เจ้าหน้าที่อุทยานหมู่เกาะสิมิลัน และเจ้าท่าภูมิภาค สาขาพังงา ช่วยกันอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว พร้อมตรวจเข้มให้สวมใส่เสื้อชูชีพทุกคนหลังลงเรือ ห้ามเรือโดยสารบรรทุกนักท่องเที่ยวเกินน้ำหนักที่กำหนด และตรวจทะเบียนเรือ ใบอนุญาตนายท้ายเรือ เบื้องต้นพบว่าเรือส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนเสื้อชูชีพแบบใหม่ตามมาตรฐานของกรมเจ้าท่า.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"