ยื่นสภาทนายช่วย สนช.ปฏิบัติมิชอบ สกัด'5ว่าที่กสม.'


เพิ่มเพื่อน    


    4 ผู้ผ่านการสรรหาเป็น กสม.ร้องสภาทนายฯ ช่วยเหลือทางกฎหมาย หลัง สนช.ตีตก แฉเหมือนเตรียมการล็อกตำแหน่ง ข้องใจตั้ง กก.ตรวจสอบความประพฤติซ้ำซ้อนเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ จ่อขอศาล รธน.เพิกถอนมติเพื่อวางบรรทัดฐานให้ชัดเจน 
    ที่สภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ถ.พหลโยธิน วันที่ 7 มกราคม นางสมศรี หาญอนันทสุข, ผศ.ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร, นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก 4 ผู้ผ่านการสรรหาเสนอชื่อเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่ไม่ผ่านการรับรองจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง กสม. เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายนคร ชมพูชาติ  ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความฯ เพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีนายดำรงศักดิ์ เครือแก้ว อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความฯ และนายนครเป็นผู้รับเรื่อง
    โดยคำร้องระบุว่า "กรณีเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2561 สนช.ได้มีมติรับรองผู้ผ่านการสรรหาให้ดำรงตำแหน่ง กสม.จำนวน 2 คน ได้แก่ น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ และนางปิติกาญจน์ สิทธิเดช และมีมติไม่รับรองผู้ผ่านการสรรหาจำนวน 5 คน ได้แก่ นางสมศรี หาญอนันทสุข, นายไพโรจน์ พลเพชร,  ผศ.ดร.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร, นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ และนายสุรพงษ์ กองจันทึก โดยมติของที่ประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมลับ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและเหตุผลในการลงมติให้สาธารณชนทราบ  รวมทั้งผู้ที่ผ่านการสรรหาทุกคนด้วย
    ปรากฏว่าในการพิจารณาของ สนช.ดังกล่าว มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งเพื่อมาทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกับกรรมการสรรหา อันถือได้ว่ากระทำการขัดต่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ ทำให้ข้าพเจ้าทั้งสี่คนได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำของ สนช.ดังกล่าว ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก อีกทั้งพฤติกรรมการลงมติมีลักษณะที่เหมือนกับการเตรียมการในการลงคะแนนเสียงมาก่อน ซึ่งเป็นการไม่ชอบ ทำให้ข้าพเจ้าทั้งสี่คนไม่อาจเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสม.ได้ จนดูราวกับว่า สนช.ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับและไม่ประสงค์ให้นักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการสรรหาอย่างถูกต้องจากกรรมการสรรหา ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนของประเทศตามกลไกของกฎหมายที่กำหนดไว้ เป็นการทำลายประวัติการทำงานและชื่อเสียงของข้าพเจ้าทั้งสี่ อีกทั้งเป็นการลงโทษที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถกลับไปสมัครเป็นผู้รับการสรรหาเป็น  กสม.ได้อีก รวมทั้งอาจส่งผลต่อการสมัครเป็นกรรมการในองค์กรอิสระอื่นๆ ด้วย
    การกระทำของ สนช.ดังที่กล่าวมาย่อมถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เที่ยงธรรมและไม่โปร่งใส เป็นการกระทำที่ผิดหลักการในเรื่องการเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 ตลอดจนหลักการและกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องโดยข้อเท็จจริงทั้งหมด ขอให้สภาทนายความพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการต่อหน่วยงานต่างๆ หรือการดำเนินคดีทางศาล เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานและอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม" คำร้องระบุ
    ภายหลังรับเรื่องนายนครกล่าวว่า เมื่อสภาทนายความฯ ได้รับเรื่องแล้วจะไปพิจารณาว่าประเด็นร้องเรียนเข้าหลักเกณฑ์ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร มีผลกระทบต่อประชาชนแค่ไหน ให้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาเพื่อหาวิธีดำเนินการต่อไป โดยรายละเอียดเราจะสอบผู้ร้องเรียนให้ชัดเจนอีกครั้ง  เรื่องนี้คู่กรณีคือ สนช.ทำหน้าที่แทนวุฒิสภา ไม่ได้มีปัญหากับ คสช. ที่ สนช.ดูเหมือนสร้างแนวบรรทัดฐานที่จะเป็นปัญหา
    ผู้สื่อข่าวถามถึงคณะกรรมาธิการที่ผู้ร้องเรียนระบุว่า สนช.ตั้งขึ้นมาซ้ำซ้อน นายนครระบุว่าเป็นคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ โดยทั่วไปกรณีอื่นๆ อาจพอยอมรับได้ที่ สนช.จะตรวจสอบเพิ่มเติม  แต่ในกรณีสรรหา กสม. จุดเริ่มต้นมาจากกรรมการสรรหาที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. กำหนดให้มีคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ตำแหน่งฐานะสูงมาก ปกติสรรหาได้แล้ว สนช.น่าจะนำรายงานสรรหานี้มาพิจารณา ส่วนกรณีนี้มีการตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบอีกครั้ง เหมือนทำหน้าที่ซ้ำ และดูจะมีอำนาจมากกว่า ถ้าตั้งกรรมาธิการศึกษารายงานผลการสรรหาพอฟังได้ 
    "ถ้ากรรมการสรรหาไปหามาใหม่จะหาแบบไหนที่ สนช.ต้องการและสอดคล้องกับกฎหมาย ตามข้อบังคับมีหลักเกณฑ์อยู่ แต่ไม่ควรทำงานซ้ำ ใช้อำนาจเหนือคณะกรรมการสรรหา ไม่เหมาะสม อย่างไรก็ควรเปิดเผยเพราะ กสม.เป็นตำแหน่งที่ทั่วโลกเฝ้ามองอยู่ เราถูกจัดอันดับที่ไม่สามารถร่วมประชุมกับเขาได้ สรรหามาแล้วออกมาในลักษณะนี้อันตรายที่สุด มีผลกระทบต่อประชาชนและประเทศชาติ" นายนครกล่าว
    นายนครกล่าวด้วยว่า ถ้าเป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย อาจจะต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนมติ  ขึ้นอยู่กับประเด็นที่จะร้องขึ้นไป สนช.เป็นตำแหน่งทางการเมือง การกระทำใดๆ อาจจะต้องไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนในทางแพ่งอาจจะให้เพิกถอนมติ และทางอาญาจะถึงขั้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ เมื่อมีการดำเนินคดีจะชี้ว่าทำได้แค่ไหน เป็นเรื่องใหญ่ต้องวางบรรทัดฐานให้ชัด ให้วุฒิสภาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ดังนั้นเป้าหมายคือเพิกถอนมติ ส่วนปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่ต้องดูกันต่อไป
    ด้าน ผศ.ดร.จตุรงค์กล่าวว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. มาตรา 13 (3) คณะกรรมการสรรหาต้องหาผู้ที่มีประสบการณ์ ทัศนคติ เขียนชัดเจนให้ทำการตรวจสอบความประพฤติของผู้สมัคร ดังนั้นอำนาจหน้าที่ตรวจสอบความประพฤติถูกกำหนดไว้แล้ว มาตรา 14 ให้นำเสนอผู้มีความเหมาะสมจำนวน 7 คน มาตรา 16 สนช.มีหน้าที่ในการรับรองผู้ผ่านคณะกรรมการสรรหา จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง การที่ สนช.มีมติให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความประพฤติอีกชั้นเป็นการทำงานซ้ำซ้อน
    "จากประสบการณ์ที่เราถูกตรวจสอบเรียกไปสัมภาษณ์นั้นบรรยากาศไม่ดี เหมือนมีการตั้งเป้าหาความผิดที่จะไม่รับรองพวกเรา ที่มาร้องสภาทนายความฯ มีมิติทางกฎหมายที่ต้องพิจารณาถกกัน สนช. มีอำนาจตั้งข้อบังคับแต่สมควรหรือไม่" ผศ.ดร.จตุรงค์กล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"