เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศยื่นข้อเสนอต่อพรรคการเมืองให้สนับสนุนสวัสดิการชุมชน เผยตั้งกองทุนทั่วประเทศแล้วเกือบ 6 พันกองทุน มีเงินรวมกัน 15,000 ล้านบาท


เพิ่มเพื่อน    

 

พอช./ ตัวแทนพรรคการเมือง 9 พรรค  ร่วมรับฟังข้อเสนอจากเครือข่ายองค์กรสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ  โดยเสนอให้พรรคการเมืองสนับสนุนระบบสวัสดิการชุมชนเป็นอีกระบบหลักของสวัสดิการสังคมในประเทศไทย  ให้รัฐบาล  องค์กรปกครองท้องถิ่น  และภาคเอกชน  หนุนเสริมภาคประชาชน  ทั้งด้านความรู้และงบประมาณ    เพื่อให้เป็น 4 พลังหลักในการจัดสวัสดิการชุมชน  ขณะที่เกิดกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศแล้วเกือบ  6 พันกองทุน  มีเงินรวมกัน 15,000 ล้านบาท  เผยรายชื่อ 9   กองทุนฯ ทั่วประเทศได้รับรางวัล ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

 

ระหว่างวันที่ 9-10 มกราคมนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับสถาบันพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  และเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศ จัดงาน “มหกรรมกองทุนสวัสดิการชุมชน” ขึ้นที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  กรุงเทพฯ  โดยมีกิจกรรมต่างๆ เช่น  เวทีเสวนา  ปาฐกถา  การเชิญพรรคการเมืองมาพูดถึงนโยบายการสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน  รวมทั้งคัดเลือกกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศที่มีผลงานดีเด่นในด้านต่างๆ  ซึ่งปีนี้จัดประกวดเป็นปีที่ 4    มีผู้เข้าร่วมงานจากผู้แทนกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศประมาณ  300 คน

 

 

โดยในวันที่ 10 มกราคม  ช่วงเช้า  มีการปาฐกถาเรื่อง “อนาคตสวัสดิการสังคมในประเทศไทย”  โดย ม.ร.ว.ปรีดียาธร         เทวกุล  ประธานสถาบันป๋วย  อึ๊งภากรณ์   มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า   ตนเองเกิดมาโชคดี  แต่คนอื่นไม่ได้โชคดีเหมือนตน  ดังนั้นรัฐต้องให้สวัสดิการช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่า  ซึ่งในอดีตรัฐก็จัดสวัสดิการต่างๆ เช่น  เรื่องการศึกษาภาคบังคับ  ต่อมาจึงมีสวัสดิการต่างๆ   เช่น  เบี้ยคนชรา  30 บาทรักษาทุกโรค  เงินช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูเด็ก  เช่นในปัจจุบัน  แต่ก็ยังไม่พอพียง  เพราะรัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีรายได้ได้เพียง 18 % ของรายได้ประชาชาติ  ขณะที่ประเทศอื่นเก็บได้ประมาณ 25-30 %  ดังนั้นตนจึงอยากให้มีการจัดเก็บภาษีสิ่งปลูกสร้าง  อาคารบ้านเรือน  เพื่อนำรายได้มาจัดสวัสดิการให้ครอบคลุม  รวมทั้งนำไปช่วยเหลือเกษตรกรที่มีความเสี่ยงในการประกอบอาชีพด้วย

 

ส่วนในช่วงบ่าย  มีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมารับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชน  เรื่อง ‘พรรคการเมืองกับทิศทางการจัดสวัสดิการชุมชน’  โดยมีพรรคการเมืองส่งตัวแทนเข้าร่วมจำนวน 9 พรรค  คือ  พรรคพลังธรรมใหม่  พรรคประชาธิปัตย์  พรรคเพื่อไทย   พรรคชาติไทยพัฒนา  พรรคพลังท้องถิ่นไท  พรรคเพื่อแผ่นดิน  พรรคชาติพัฒนา  พรรคอนาคตใหม่  และพรรคเพื่อชาติ  

 

 

นายมณเฑียร  สอดเนื่อง   ผู้แทนเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน  กล่าวถึงข้อเสนอของเครือข่ายฯ ที่ยื่นต่อพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบลหรือเทศบาลมีการจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศประมาณ 6,000 กองทุน  จากจำนวนตำบล/เทศบาลทั้งประเทศประมาณ 7,700 แห่ง  มีสมาชิกรวมกันประมาณ  5.5 ล้านคน  มีเงินกองทุนรวมกันประมาณ  15,000 ล้านบาท   บางกองทุนมีเงินสวัสดิการมากกว่า 10 ล้านบาท  และสามารถนำมาจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกได้ 30-40 เรื่อง

 

“กองทุนสวัสดิการชุมชนใช้เงิน 1 บาทที่มาจากการสมทบของสมาชิกอย่างมีพลัง  เป็นระบบสวัสดิการชุมชนที่ประชาชนทำร่วมกัน    ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม  ซึ่งวันนี้กองทุนสวัสดิการชุมชนเดินหน้ามาไกลแล้ว  เราจึงต้องยกมาตรฐานของกองทุน  และมีเป้าหมายที่จะขยายกองทุนสวัสดิการฯ ให้เต็มประเทศภายใน 5 ปีนี้  ในวันนี้เราจึงเชิญพรรคการเมืองมารับฟังข้อเสนอจากภาคประชาชนและเสนอนโยบายเรื่องสวัสดิการชุมชน”  นายมณเฑียรกล่าว

 

 

สำหรับข้อเสนอของเครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ มีดังนี้  1.สนับสนุนให้ระบบสวัสดิการชุมชนเป็นอีกระบบหลักของระบบสวัสดิการสังคมในประเทศไทย  2.ให้รัฐบาล  องค์กรปกครองท้องถิ่น  และภาคเอกชน  มาหนุนเสริมภาคประชาชน  เพื่อให้เป็น 4 พลังหลักในการจัดสวัสดิการชุมชน  ทั้งด้านความรู้และงบประมาณ 

 

3.สนับสนุนให้ระบบสวัสดิการชุมชนเป็นยุทธศาสตร์จังหวัด  เพราะหลายจังหวัดไม่มียุทธศาสตร์ด้านสังคม  หรือด้านกองทุนสวัสดิการ  4.สนับสนุนให้กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นแกนกลางหรือเชื่อมประสานกองทุนต่างๆ ในพื้นที่  เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชน  และ 5.สนับสนุนให้เกิด พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่.....)  พ.ศ.................เพื่อให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล  สามารถขยายขอบเขตการทำงานและทำธุรกรรมต่างๆ ได้

 

 

ทั้งนี้ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ ได้กล่าวชี้แจงนโยบายและทิศทางการจัดสวัสดิการชุมชน   พรรคการเมืองละ 10 นาที  และหลายพรรคการเมืองมีความเห็นเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ปัจจุบันเป็นฉบับที่ 2 พ.ศ.2550) ว่า  การยกระดับกองทุนสวัสดิการให้เป็นนิติบุคคลหรือมี พ.ร.บ.รองรับนั้น  เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องรอบคอบ  เพราะปัจจุบันกองทุนสวัสดิการต่างๆ ส่วนใหญ่ดำเนินการด้วยความอิสระ  แต่มีธรรมะช่วยควบคุม  หากมี พ.ร.บ.ก็อาจจะมีกฎระเบียบต่าง ๆ มาครอบ  หรือต้องอยู่ภายใต้การรวมศูนย์อำนาจ  ซึ่งจะทำให้กองทุนสวัสดิการทำงานได้ยากลำบาก

 

ส่วนการประกาศผลการพิจารณารางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ครั้งที่ 4  ตามแนวคิดของ อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  โดยมีกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดทั้งหมด 44 กองทุน   กองทุนที่ได้รับรางวัลต่างๆ มีดังนี้  1.ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น (ทุกช่วงวัยและเพศสภาพ) ให้มีคุณภาพชีวิต และคุณค่าในสังคม  ได้แก่  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกกลาง  อ.ลำปลายมาศ  จ.บุรีรัมย์   2. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษา ดูแล ป้องกัน สุขภาวะในชุมชน  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหาดท่าเสา  อ.เมือง  จ.ชัยนาท  3. ด้านการพัฒนาเด็กเยาวชน  และการเรียนรู้ เพื่อการเติบโตเป็นคนดี และมีคุณภาพ  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลตำหนักธรรม  อ.หนองม่วงไข่  จ.แพร่

 

4.ด้านการพัฒนาอาชีพ ทั้งในระดับครัวเรือน กลุ่มและชุมชน และการแก้ปัญหาหนี้สิน  กองทุนสวัสดิการชุมชน  กองทุนสวัสดิการภาคประชาชนตำบลรมณีย์  อ.กะปง  จ.พังงา  5.ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะการจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ   กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลศรีถ้อย  อ.แม่ใจ  จ.พะเยา   6. ด้านการจัดการ/จัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  พอเพียงต่อการดำรงชีพ   กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลคลองหินปูน  อ.วังน้ำเย็น  จ.สระแก้ว

 

7.การสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ   ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล  8.ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดี และมีธรรมาภิบาล  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลฉวาง  อ.ฉวาง  จ.นครศรีธรรมราช  9.ด้านผลงานการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวม  หลายมิติ สามารถเชื่อมโยง/บูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายแหล่งเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลริมกก  อ.เมือง  จ.เชียงราย  และ 10. ด้านการฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกลุ่ม และภาคี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่น และสังคม กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดอกคำใต้  อ.ดอกคำใต้  จ.พะเยา

 

 

ทั้งนี้การมอบรางวัลให้แก่กองทุนต่างๆ จะมีขึ้นในวันที่ 9   มีนาคมนี้  ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  เนื่องจากวันที่ 9   มีนาคมเป็นวันคล้ายวันเกิดของ อ.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ซึ่งตลอดชีวิตของท่านมีความปรารถนาอยากจะให้คนไทยทุกคนได้รับสวัสดิการจากรัฐ  ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย  และกองทุนสวัสดิการชุมชนต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้น  ถือเป็นรูปธรรมที่ภาคประชาชนนำมาสานต่อการจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเอง

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นระบบในปี 2547  ในชุมชนต่างๆ  ทั่วประเทศ  โดยมีหลักการให้สมาชิกสมทบอย่างน้อยวันละ 1 บาท  โดยรัฐจะสมทบ  1 บาท  และองค์กรปกครองท้องถิ่นสมทบ 1 บาท  แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิก  เช่น  คลอดบุตร  500  บาท,  เจ็บป่วยช่วยค่ารถหรือรักษาพยาบาลครั้งละ 100 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 วัน,  เสียชีวิต  เป็นสมาชิกครบ  6 เดือนได้ 3,000 บาท   ครบ 1 ปีได้  5,000 บาท  และครบ 3 ปีได้  10,000  บาท   นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาเด็ก  ช่วยคนพิการ  ยากไร้  ฯลฯ

          

             

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"