'พม.เติมสุขทั่วไทย' มอบของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2562


เพิ่มเพื่อน    

พอช.มอบบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย 2,562  ครัวเรือนทั่วประเทศ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  มอบ 4 ความสุขเป็นของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2562 ให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด "พม.เติมสุขทั่วไทย 2562” ขณะที่ พอช.มอบบ้านให้ผู้มีรายได้น้อย 2,562 ครัวเรือนทั่วประเทศ และร่วมลงนามบันทึกข้อตกกับการรถไฟแห่งประเทศไทย-สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่มีรายได้น้อย

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มอบความสุขให้แก่ประชาชนทั่วประเทศเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2562  โดยมอบหมายให้กระทรวงต่างๆ จัดหาของขวัญเพื่อมอบให้แก่ประชาชน ในส่วนของกระทรวง พม.ได้มอบ 4 ความสุขเป็นของขวัญปีใหม่ 2562 ให้ประชาชน ภายใต้แนวคิด "พม.เติมสุขทั่วไทย 2562”

พม.มอบของขวัญ 4 ความสุข  : เป้าหมาย ‘คนอยู่ดีมีสุขในสังคมคุณภาพ’

พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  กล่าวว่า  กระทรวง พม. ได้จัดเตรียมของขวัญปีใหม่  ประจำปี 2562  ภายใต้แนวคิด "พม.เติมสุข ทั่วไทย 2562” (Fill with Happiness) เพื่อส่งความสุขให้กับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ ประกอบด้วย 4 ความสุข  ดังนี้  

1. สุขถ้วนหน้า (Happy All) ได้แก่ 1.1 ทุกสิทธิคนพิการผ่านบัตรประชาชนใบเดียว  เพื่อเข้ารับบริการหน่วยงานภาครัฐ  และ 1.2 คงอัตราดอกเบี้ย  สถานธนานุเคราะห์  ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดร้อยละ 25 สตางค์ต่อเดือน

2. สุขอาศัย (Happy Home) ได้แก่  2.1 มอบบ้านสร้างชุมชนไทยทุกคนมั่นคงเข้มแข็ง 2,562  หลัง  2.2 บ้านปันสุขเพื่อผู้สูงอายุ 1,000 หลัง   2.3 ร่วมใจ สร้างไทย สร้างที่อยู่อาศัยผู้ประสบภัย 75 หลัง  และ 2.4 Easy Home ซื้อง่ายจ่ายสบาย  

3. สุขร่วมใจ (Happy Heart)  ได้แก่ 3.1 เปิดตัวศูนย์เรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยี และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ  3.2 ศาสนสถานเชื่อมบุญ  เกื้อหนุนคนพิการและผู้สูงอายุ  3.3 หนาวนี้ที่บนดอย  ตามรอยภูมิวัฒนธรรม 3.4 พม.เชื่อมใจ  แบ่งปันความสุขสู่สังคม  3.5 สร้างพื้นที่เป้าหมายขจัดภัยความรุนแรง  และ 3.6 เปิดตัวเว็บไซต์  รวมใจยุติความรุนแรง

และ 4. สุขยั่งยืน (Happy Time) ด้วยการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ  เรื่อง "สังคมผู้สูงอายุ”

ส่วนหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง พม.ที่มอบของขวัญให้แก่ประชาชน  เช่น  การเคหะแห่งชาติ  มอบความสุข “สุขอาศัย” ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัย  ด้วยโปรโมชั่น “Easy Home ซื้อง่าย จ่ายสบาย” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2562   เช่น  ลดราคาโครงการบ้านเอื้ออาทร  จำนวน 35 โครงการ  ราคา 250,000 - 420,000 บาท,  โครงการบ้านแลกบ้าน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับลูกค้าที่ทำสัญญากับการเคหะฯ และมีความประสงค์ที่จะย้ายถิ่นฐานหรือย้ายแหล่งงาน ฯลฯ

กรมผู้สูงอายุ (ผส.) มอบของขวัญปีใหม่ "บ้านปันสุขเพื่อผู้สูงวัย" ซ่อมแซม  ปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ เพื่อการอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย  ให้แก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ 1,000 หลัง

กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.)  โครงการ “พม. เชื่อมใจ แบ่งปันความสุขสู่สังคม”  โดยจัดทำเมนู – จับคู่ผู้ให้ – ส่งใจมอบของขวัญ  เช่น  จัดทำเมนูการให้ความช่วยเหลือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก จากข้อมูล Family Data จำนวน 2,562 ครัวเรือนทั่วประเทศ   ประสานภาคเอกชนสนับสนุน  เครื่องอุปโภคบริโภค  ทุนและเครื่องมือประกอบอาชีพ  ทุนการศึกษา  และอื่น ๆ  เพื่อช่วยเหลือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก 2,562 คน   และส่งมอบของขวัญ 2,562 ชุด  โดยหน่วยงานสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร  ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์    ฯลฯ

พลเอกอนันตพร กล่าวด้วยว่า  นอกจากของขวัญปีใหม่ พ.ศ. 2562 แล้ว  รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความเป็นธรรมในสังคม  และการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ  โดยกระทรวง พม.ได้ขับเคลื่อนภารกิจสำคัญในการพัฒนาคนและสังคม  ด้วยการสร้างโอกาส  และความเสมอภาคทางสังคม  ความเข้มแข็งของประชาชน  ชุมชน  ภาคีเครือข่าย   และความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน  ตามแนวทางประชารัฐ  

“กระทรวง พม.ได้น้อมนำแนวทางตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนางาน   รวมทั้งการดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และยุทธศาสตร์กระทรวง พม. ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2560 - 2564) ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘พม.เป็นผู้นำด้านสังคมของไทยและอาเซียน  มุ่งสู่คนอยู่ดีมีสุขในสังคมคุณภาพ’ รวมทั้งดำเนินการตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติด้วย” รมว.พม.กล่าว

 

พอช.มอบบ้านให้ผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ 2,562   ครัวเรือน

               

สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  กล่าวถึงการมอบของขวัญปีใหม่ของ พอช.ให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย  ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวง พม.ว่า   ในปี 2562 นี้  พอช.จะมอบบ้านให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ จำนวน  2,562 หลังคาเรือน   โดยแยกเป็น 1.บ้านมั่นคง  จำนวน  1,115  หลังคาเรือน  2.บ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 1,235 หลังคาเรือน  และ 3.บ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว  จำนวน 212 หลังคาเรือน

สำหรับของขวัญปีใหม่ที่มอบให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อยไปแล้ว  เช่น  จังหวัดสุโขทัย  มอบบ้านมั่นคงเมืองจำนวน  486  หลังคาเรือน  บ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 221 หลังคาเรือน  รวม 707 หลังคาเรือน  จังหวัดหนองคาย   พลเอกอนันตพร  กาญจนรัตน์  รมว.พม.  มอบบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 150 หลังคาเรือน  เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา

จังหวัดจันทบุรี  มอบบ้านมั่นคงเมือง  จำนวน 186  หลังคาเรือน  มอบเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม  จังหวัดตรัง  มอบบ้านมั่นคง  จำนวน 180 หลังคาเรือน  บ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 332 หลัง  รวม  512  หลังคาเรือน  มอบเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม   จังหวัดสิงห์บุรี  มอบบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 220 หลัง  มอบเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2562   กรุงเทพฯ บ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว  จำนวน 212 หลัง  จะมอบในวันที่ 30 มกราคม  

 

ผอ.พอช.กล่าวว่า  พอช.ให้การสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการต่างๆ  เช่น  บ้านพอเพียงชนบท  สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมบ้านเรือนในชนบทที่มีสภาพทรุดโทรม  ครอบครัวมีความเดือดร้อน  งบประมาณไม่เกินหลังละ 19,000 บาท  ขณะที่ชุมชนและเจ้าของบ้าน  องค์กรปกครองท้องถิ่น  รวมทั้งภาคเอกชน  จะช่วยกันซ่อมแซม  จัดหาวัสดุ  และแรงงานมาสมทบ  ทำให้ซ่อมสร้างบ้านได้เร็วและประหยัดงบประมาณ  ซึ่งในปี 2560-2561  พอช.สนับสนุนบ้านพอเพียงชนบทไปแล้วจำนวน 26,674 หลัง  และในปี 2562  มีเป้าหมายสนับสนุน 11,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ

บ้านมั่นคงเมือง  เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหรือชุมชนที่มีความเดือดร้อน  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัยได้รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  ขอเช่าที่ดินจากหน่วยงานรัฐ  หรือหาซื้อที่ดินใหม่  เพื่อสร้างบ้านใหม่  โดยชุมชนจะต้องจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุน  และ พอช.จะสนับสนุนด้านต่างๆ  เช่น  ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปส่งเสริมการรวมกลุ่ม  ส่งสถาปนิกชุมชนไปร่วมออกแบบ  วางผังชุมชนร่วมกับชาวบ้าน    ฯลฯ

โดย พอช.สนับสนุนงบพัฒนาระบบสาธารณูปโภคไม่เกิน 45,000 บาทต่อครัวเรือน  งบอุดหนุนที่อยู่อาศัย 25,000 บาทต่อครัวเรือน  ฯลฯ สินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่เกินครัวเรือนละ 300,000 บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4   บาท  ผ่อนชำระคืนภายในเวลา 15 ปี   เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2546  ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วประมาณ 100,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ

โครงการบ้านมั่นคงชนบท  เช่น  โครงการบ้านมั่นคงในที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่นำที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน  และพอช.อุดหนุนการสร้างบ้าน 40,000 บาทต่อครัวเรือน  พัฒนาระบบสาธารณูปโภค เศรษฐกิจ  สังคม  เฉลี่ย 17,000 บาทต่อครัวเรือน  (ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้สินเชื่อ) 

ในปีงบประมาณ 2561 พอช.สนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท  รวม 7,590 ครัวเรือน  และในปี  2562  มีเป้าหมายสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงทั้งเมืองและชนบท  รวม  5,500 ครัวเรือน

โครงการบ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว  พอช.สนับสนุนงบพัฒนาสาธารณูปโภคไม่เกินครัวเรือนละ  50,000 บาท  งบอุดหนุนสร้างบ้านครัวเรือนละ  25,000  บาท  งบอุดหนุนผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 72,000 บาท  รวมงบช่วยเหลือครัวเรือนละ 147,000 บาท  และสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 400,000 บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  4   บาทต่อปี  ผ่อนชำระคืนภายในเวลา 20 ปี  ขณะนี้สร้างบ้านไปแล้วประมาณ 3,000 หลัง  จากเป้าหมายทั้งหมด 7,069 หลัง  ใน 50 ชุมชนริมคลองลาดพร้าว

นอกจากการมอบของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนแล้ว  พอช.ยังร่วมกับหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยในที่ดินของหน่วยงานต่างๆ เช่น  ที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  โดย รฟท.มอบสัญญาเช่าที่ดินให้แก่ชาวชุมชนตลาดบ่อบัว  อ.เมือง  จ.ฉะเชิงเทรา  เมื่อวันที่ 26 ธันวาคมที่ผ่านมา  เนื้อที่ 6.7 ไร่  ระยะเวลาเช่า 30 ปี  อัตราค่าเช่า 20 บาท/ตารางเมตร/ปี (ปรับอัตราค่าเช่าขึ้น 5% ทุก 5 ปี  โดย 2 ปีแรกจะคิดค่าเช่า 50%)   จำนวนผู้อยู่อาศัย 99 ครอบครัว   โดย พอช.จะสนับสนุนงบประมาณตามโครงการบ้านมั่นคงเมือง

ที่ดิน ส.ป.ก. (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)  มีพิธีลงนามความร่วมมือ 9 หน่วยงาน เพื่อการบูรณาการพัฒนาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ที่ดิน ส.ป.ก.ที่ยึดคืนจากผู้ที่ครอบครองไม่ถูกต้องตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 และพื้นที่โครงการจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา  ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม,  กรมชลประทาน, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมทรัพยากรน้ำ, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, กรมพัฒนาที่ดิน, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  เพื่อพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก.ให้มีสาธารณูปโภค  มีแหล่งน้ำเพื่อเกษตรกรรม  ไฟฟ้า  พัฒนาที่ดินให้มีความสมบูรณ์  เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง  และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

 

‘บ้านประชารัฐริมคลอง  น่ามองน่าอยู่’

 

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554  ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการระบายน้ำในคลองสายหลักในเขตกรุงเทพฯ ไม่มีประสิทธิภาพ  เนื่องจากมีบ้านเรือนปลูกสร้างรุกล้ำลงไปในคลองเป็นจำนวนมาก รัฐบาล คสช. โดยคณะกรรมการอำนวยการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการสิ่งก่อสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ       ซึ่งมีพลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  เป็นประธาน  จึงมีนโยบายจัดระเบียบสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ  เริ่มที่คลองลาดพร้าวเป็นแห่งแรก 

โดยรัฐบาลมอบหมายให้กรุงเทพมหานครรับผิดชอบการสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมในคลองลาดพร้าว  เริ่มจากบริเวณอุโมงค์เขื่อนพระราม 9 (ใกล้ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) เขตวังทองหลาง  ไปยังประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้  เขตสายไหม  ระยะทาง (ทั้งสองฝั่ง) 45.3 กิโลเมตร  ความกว้างของแนวเขื่อน 25 - 38 เมตร  และขุดลอกคลองให้ลึกกว่าเดิม 4 เมตร  ตามแผนงานมีเป้าหมายแล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน  2562

ขณะที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ  ‘พอช.’ จัดทำแผนงานรองรับชาวชุมชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนรุกล้ำที่ดินราชพัสดุและรุกล้ำคลองลาดพร้าว  ตามแผนงาน ‘บ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าว’  เพื่อสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่รองรับประชาชน  รวมทั้งหมด 50 ชุมชน  ใน 8 เขต  คือ วังทองหลาง  ห้วยขวาง  ลาดพร้าว  จตุจักร  หลักสี่  บางเขน  ดอนเมือง  และสายไหม  รวม  7,069   ครัวเรือน   

สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช.  กล่าวว่า  โครงการบ้านประชารัฐริมคลองเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559  โดยใช้แนวทางตามโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.  ซึ่ง พอช.ทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยมาตั้งแต่ปี 2546  หลักการสำคัญ  คือ ให้ชาวชุมชนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา   เป็นการพัฒนาแนวใหม่  ไม่ใช่รูปแบบของการสงเคราะห์หรือหน่วยงานรัฐเข้าไปสร้างบ้านให้ชาวบ้านแบบให้เปล่า  แต่ให้ชุมชนหรือชาวบ้านมีส่วนร่วมและเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา 

เช่น  รวมกลุ่มกันโดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา  เพื่อสำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ  ช่วยกันออกแบบบ้าน  วางผังชุมชน   จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และสหกรณ์เคหสถานเพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านหรือจัดซื้อที่ดิน  และร่วมกันบริหารโครงการ  ฯลฯ  โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนด้านความรู้และความช่วยเหลือ  เช่น  พอช.ส่งสถาปนิกเข้าไปให้คำแนะนำแก่ชุมชน  เรื่องการออกแบบบ้าน  ออกแบบผังชุมชน  กรมส่งเสริมสหกรณ์เข้าไปให้ความรู้เรื่องการจัดตั้งสหกรณ์เคหสถาน  ฯลฯ

ส่วนรูปแบบในการดำเนินโครงการบ้านประชารัฐริมคลอง  คือ  1.กรณีสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม หากชุมชนใดสามารถอยู่ในที่ดินเดิมได้หลังจากสำรวจและวัดแนวเขตว่าพ้นจากแนวเขื่อนฯ แล้ว จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ระยะเวลาช่วงแรก 30 ปี (สามารถต่อสัญญาได้ครั้งละ 30 ปีตามระเบียบของกรมธนารักษ์) อัตราค่าเช่าประมาณ 1.25 - 4  บาท/ตารางวา/เดือน (ขึ้นอยู่กับทำเล)

และเนื่องจากพื้นที่ชุมชนริมคลองมีจำกัด  ดังนั้นครอบครัวใดที่เคยครอบครองที่ดินมากก็จะต้องเสียสละแบ่งปันที่ดินให้ครอบครัวอื่นๆ ได้อยู่อาศัยร่วมกัน  โดยการแบ่งที่ดินให้แต่ละครอบครัวเท่ากัน   สร้างบ้านในลักษณะทาวน์เฮาส์  ขนาดบ้านประมาณ  4x6 - 4x8 ตารางเมตร  มีทั้งบ้านชั้นเดียวและ  2  ชั้น  (บางชุมชนมี 3 ชั้น) ขึ้นอยู่กับความต้องการของชาวบ้านและความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อ

               2. หากชุมชนใดมีพื้นที่ไม่เพียงพอ  ชาวบ้านอาจจะรวมตัวกันไปหาที่ดินแปลงใหม่ที่อยู่ไม่ไกลจากชุมชนเดิม เพื่อความสะดวกในการประกอบอาชีพ การเดินทาง สถานศึกษา เช่น ที่ดินของบริษัทในสังกัดกระทรวงการคลัง หรือที่ดินเอกชน โดย พอช.จะให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้าน

               3.หากไม่มีที่ดินที่เหมาะสม พอช.จะประสานกับการเคหะแห่งชาติเพื่อหาที่อยู่อาศัยรองรับชาวชุมชน  เช่น  โครงการบ้านเอื้ออาทร แฟลตการเคหะ  ฯลฯ

ส่วนการสร้างบ้านนั้น  ชุมชนจะคัดเลือกบริษัทหรือผู้รับเหมามาสร้างบ้านทั้งชุมชน  มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา  เพื่อแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบ  เช่น  สืบราคา  จัดซื้อวัสดุ  ตรวจสอบ  จัดทำบัญชี  ฯลฯ  เพื่อให้การก่อสร้างบ้านและบริหารโครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส

                สำหรับชาวชุมชนที่ไม่มีรายได้  ผู้ด้อยโอกาส  หรือผู้สูงอายุ  ที่ไม่มีความสามารถในการผ่อนชำระเพื่อก่อสร้างบ้านใหม่นั้น   ที่ผ่านมามีหลายชุมชนที่ชาวบ้านร่วมกันลงขันครัวเรือนละ 1,000  บาท  เพื่อก่อสร้างบ้านกลางให้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้ด้อยโอกาส  เช่น  ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  ชุมชน กสบ.หมู่ 5  เขตสายไหม  ชุมชนหลัง ว.ค.จันทรเกษม  เขตจตุจักร  ฯลฯ

“ส่วนการสนับสนุนการสร้างบ้านใหม่  พอช.จะสนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภค  ครัวเรือนละ  50,000 บาท  อุดหนุนสร้างบ้านครัวเรือนละ  25,000  บาท  อุดหนุนผู้ได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 72,000 บาท  รวมงบช่วยเหลือครัวเรือนละ 147,000 บาท  และสินเชื่อสร้างบ้านไม่เกินครัวเรือนละ 400,000 บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ  4   บาทต่อปี  ผ่อนชำระคืนภายในเวลา 20 ปี  ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จไปแล้ว  จำนวน 3,015 หลัง  จากเป้าหมายทั้งหมด 7,069 หลัง  ใน 50 ชุมชนริมคลองลาดพร้าว” ผอ.พอช.บอกถึงความคืบหน้าของโครงการ

อวยชัย  สุดประเสริฐ   ผู้นำชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ  ซอยพลหลโยธิน 54/1 เขตสายไหม  ซึ่งสร้างบ้านเสร็จตั้งแต่ปี 2560  รวม 65   หลัง  บอกว่า  จากสภาพเดิมเป็นชุมชนแออัด  บางส่วนรุกล้ำลงไปในคลอง  ขยะลอยฟ่อง  บ้านเรือนก็ทรุดโทรม  ผุพัง  เพราะส่วนใหญ่ปลูกสร้างมานานไม่ต่ำกว่า  50-60 ปี  ทางเดินก็คับแคบ  เฉอะแฉะ  เด็กๆ ไม่มีที่วิ่งเล่น

“แต่หลังจากสร้างบ้านเสร็จทั้งชุมชนแล้ว  ชุมชนมีสภาพแวดล้อมที่ดีและสะอาดกว่าเดิม  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม มีทางเดินเลียบคลอง  เด็กๆ มีที่วิ่งเล่น  มีเครื่องออกกำลังกาย  มีไฟฟ้าริมทางจากพลังงานแสงอาทิตย์  ข้างบ้านก็ปลูกต้นไม้  ปลูกผักสวนครัว  มีถังบำบัดน้ำเสียในชุมชนก่อนปล่อยลงคลอง” อวยชัยฉายภาพชุมชนใหม่

ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญถือเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว  โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุนตามแนวทาง ‘บ้านประชารัฐริมคลอง’   เช่น  การสร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชน  การจัดการขยะ  บำบัดน้ำเสีย  ไฟฟ้าส่องสว่างริมคลองจากพลังงานโซล่าร์เซลล์  การปรับปรุงถนนทางเข้าชุมชน  ลานกีฬา  เครื่องออกกำลังกาย  ฯลฯ

นอกจากชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญแล้ว  ชุมชนอื่นๆ ที่สร้างบ้านเสร็จแล้ว  ประมาณ 20 ชุมชน  ได้เข้าร่วมโครงการ ‘ชุมชนริมคลอง  น่ามองน่าอยู่’ ดำเนินการในช่วงปี 2561-2562  โดยได้รับการสนับด้านงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และบุคลากรจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร  เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่  สภาพแวดล้อม  ฯลฯ  ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ  โดยจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ  เช่น  การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม  การบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงคลอง  ความปลอดภัยในชุมชน  การส่งเสริมอาชีพ  ฝึกอบรมช่างชุมชน  กิจกรรมเยาวชน  สตรี  ผู้สูงอายุ  ฯลฯ

ส่วนการจัดกิจกรรมมอบของขวัญปีใหม่ 2562 ให้แก่ชาวชุมชนริมคลองลาดพร้าว จะมีขึ้นในวันที่ 30 มกราคมนี้  ที่ชุมชน กสบ.หมู่ 5 เขตสายไหม  ขณะนี้สร้างบ้านประชารัฐริมคลองลาดพร้าวในเขตสายไหมเสร็จไปแล้ว   4 ชุมชน  รวม  212 ครัวเรือน  ทำให้แต่ละครอบครัวมีบ้านใหม่ที่สวยงาม  และชาวบ้านจะร่วมกันพัฒนาชุมชนและคลองให้น่ามอง  น่าอยู่กันต่อไป...!!

จากบ้านพอเพียงสู่ ‘บ้านสร้างสุข มุกดาหาร 36 ปี’ รูปธรรมการใช้สภาองค์กรชุมชนฯ เชื่อมโยงหน่วยงานร่วมพัฒนาชุมชน

 

โครงการบ้านพอเพียงชนบท  เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีเป้าหมายรวม 352,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ  (จากเป้าหมายแผนแม่บทฯ ทั้งหมด 1 ล้านครัวเรือน) เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559   ขณะนี้สนับสนุนการซ่อมสร้างไปแล้ว  รวม  26,674 หลัง  และในปี 2562  มีเป้าหมายสนับสนุนอีก 11,500 ครัวเรือนทั่วประเทศ

โครงการบ้านพอเพียงชนบท  เป็นการสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนในชนบทที่มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  โดยมีงบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านจาก พอช. ไม่เกินครัวเรือนละ 19,000 บาท  ซึ่งถือว่าเป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก  เนื่องจากวัสดุ  อุปกรณ์การก่อสร้างต่างๆ  มีราคาสูงขึ้น  ดังนั้นแต่ละตำบลหรือชุมชนที่จัดทำโครงการบ้านมั่นคงจึงต้องเชื่อมโยงหรือบูรณาการหน่วยงานต่างๆ มาทำงานร่วมกัน  เพื่อระดมทุนทั้งแรงคนและงบประมาณ  ดังตัวอย่างการจัดทำโครงการบ้านพอเพียงชนบทที่จังหวัดมุกดาหาร  โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนงาน

จ.มุกดาหารใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน

ลาวัณย์ ปัญญนันต์   กองเลขานุการขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดมุกดาหาร  เล่าว่า  ในปี 2561 เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนและกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดมุกดาหารได้สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  เพื่อจัดทำโครงบ้านพอเพียงชนบท  จำนวน 32 ตำบล  พบว่า  มีจำนวนครัวเรือนผู้เดือดร้อน 404 ครัวเรือน  สภาพปัญหาของผู้เดือดร้อนส่วนใหญ่  เป็นเรื่องที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง  บ้านเรือนทรุดโทรม  เนื่องจากมีฐานะยากจน  ไม่มีทุนในการซ่อมแซมบ้าน   ทางขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดมุกดาหารจึงมีกระบวนการในการคัดเลือกผู้เดือดร้อนชุดแรก  จำนวน 150 ครัวเรือน  เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช.

ส่วนขั้นตอนและกระบวนการทำงานเริ่มจาก  1.สภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดมุกดาหาร   ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ  สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในตำบล  จัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหา   2.รวบรวมข้อมูล  จำนวนผู้เดือดร้อน  โดยมีข้อมูลจากสภาองค์กรชุมชนตำบล  สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด (จปฐ.) ข้อมูลการสำรวจของเครือข่ายจิตอาสาประชารัฐ  ข้อมูลผู้ด้อยโอกาสจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมุกดาหาร (พมจ.มุกดาหาร)

3.สรุปจำนวนข้อมูล  และทำความเข้าใจหลักเกณฑ์เงื่อนไขของการพิจารณาระดับจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการพิจาณากลั่นกรองระดับจังหวัด  ซึ่งประกอบด้วย  ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ  เช่น   ผู้แทนจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบล  อำเภอละ 1 คน  จำนวน 8 คน  ผู้แทนจาก พมจ.  ผู้แทนจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดมุกดาหาร  ผู้แทนจากสภาเกษตรจังหวัดมุกดาหาร   ผู้แทนจากวิทยาลัยชุมชนจังหวัดมุกดาหาร  ผู้แทนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  ฯลฯ

4.สภาองค์กรชุมชนตำบล  นำเสนอข้อมูลผู้เดือดร้อนของแต่ละตำบล  รายครัวเรือน  เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาผู้เดือดร้อนทุกครัวเรือน  ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลในปี 2561 จำนวน 404 ครัวเรือน  5.คณะกรรมการพิจารณาผู้ผ่านเกณฑ์โดยการวิธีการโหวตเสียงข้างมาก  คัดเหลือจำนวน 150 หลังคาเรือน  5.นำเสนอข้อมูลผลการพิจารณาเพื่อขอรับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  6.จัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อเบิกจ่ายงบประมาณ  7.ดำเนินการตามแผนงาน

จากบ้านพอเพียงสู่ ‘บ้านสร้างสุข มุกดาหาร 36 ปี’

ลาวัณย์ เล่าต่อว่า  การใช้ข้อมูลความเดือดร้อนของชุมชน  เพื่อเสนอของบประมาณสนับสนุนการซ่อมแซมบ้านจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ทำให้หน่วยงานภาคีต่างๆ เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ประกอบกับหลายๆ หน่วยงานมีงบประมาณในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในลักษณะเดียวกัน  จึงนำมาบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ที่เดือดร้อน  เนื่องในโอกาสครบรอบ 36 ปี  การก่อตั้งจังหวัดมุกดาหาร   จึงได้เสนอกิจกรรมที่จะมอบความสุขให้กับชาวมุกดาหาร  จนพัฒนามาเป็นโครงการ “บ้านสร้างสุข  มุกดาหาร 36 ปี”

โดยมีการบูรณาการงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ  ดังนี้  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โครงการบ้านพอเพียงชนบท  ครัวเรือนละ  19,000 บาท   พมจ.มุกดาหาร  3 โครงการ   คือ  โครงการซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ  ครัวเรือนละ 20,000 บาท   โครงการปรับสภาพแวดล้อมของผู้พิการ  ครัวเรือนละ 20,000 บาท   และโครงการ 1 ตำบลซ่อม 1 ตำบลสร้าง  ครัวเรือนละ  20,000 บาท  และเหล่ากาชาดจังหวัดมุกดาหาร  จำนวน 30,000 บาท  ซึ่งแต่ละครัวเรือนที่ได้รับการสนับสนุนจะแตกต่างกันออกไป  ขึ้นอยู่กับสภาพความเดือดร้อน  คือ  ประมาณ  50,000 – 89,000 บาทต่อครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการมอบสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้แก่ครัวเรือนต่างๆ  ด้วย

“ขั้นตอนการดำเนินงานบ้านสร้างสุข  มุกดาหาร 36 ปี   มีความแตกต่างจากการดำเนินงานตามโครงการปกติ เนื่องจากมีการบูรณาการงบประมาณจากหลายส่วนงาน   ดังนั้นการกำกับติดตามเพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนของงบประมาณจึงมีความจำเป็นมาก  โดยทุกภาคส่วน   ทั้งสภาองค์กรชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าของบ้าน  จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการที่ได้รับการสนับสนุน  และหารือเรื่องการซ่อมสร้างบ้านเป็นรายหลังคาเรือน  เพื่อประเมินราคาในการซ่อมแซมหรือสร้างใหม่”  กองเลขานุการสภาองค์กรชุมชนฯ ชี้แจงขั้นตอน

ส่วนกระบวนการในการดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนชาวบ้านที่เดือดร้อนทั้ง 150 ครัวเรือน  ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  อาสาสมัคร  สภาองค์กรชุมชนตำบลในแต่ละพื้นที่  ได้ร่วมแรง  ร่วมใจ  ซ่อมแซม  และสร้างบ้านให้กับผู้ด้อยโอกาส   บางพื้นที่มีหน่วยทหารช่างเข้ามาช่วยเหลือ  บางพื้นที่คนในชุมชนช่วยเหลือกันเอง  แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความสามัคคีของคนในชุมชนที่มีความต้องการจะช่วยเหลือเพื่อนบ้าน   ขณะที่เจ้าของบ้านก็เตรียมข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูตามอัตภาพ   ทำให้การซ่อมสร้างบ้านดำเนินไปด้วยความรวดเร็ว

สภาองค์กรชุมชนฯ เชื่อมประสานพลังภาคีในท้องถิ่นร่วมกันพัฒนาชุมชน

จากการจัดทำโครงการซ่อมสร้างบ้านเรือนทั้ง 150 ครัวเรือน  คณะทำงานได้สรุปผลการดำเนินโครงการ  โดยพบว่า  1.สภาองค์กรชุมชนสามารถเป็นแกนหลักในการสำรวจข้อมูล  เชื่อมประสานภาคี  เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชนได้  2.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหา  และสามารถเข้ามาเป็นภาคีสำคัญในการดำเนินงาน  3.หน่วยงานทหาร  มีกำลังหลักสำคัญที่สามารถช่วยเหลืองานช่างให้กับชุมชนได้  ฯลฯ

ทั้งนี้สภาองค์กรชุมชนตำบลมุกดาหารจัดตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  โดยจัดตั้งสภาฯ ครบทุกพื้นที่  รวม 54 ตำบล (ปัจจุบันจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้วประมาณ  6,300  แห่ง / 1 ตำบล 1 สภา)  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ   โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเวทีในการปรึกษาหารือ  เวทีในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่น  และสามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐ  ทั้งในระดับจังหวัด  รวมถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้ ( พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนฯ มาตรา 32)

“ก่อนที่จะมี พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พศ.2551 ชุมชนไม่มีพื้นที่ที่จะแสดงออก  หรือจะไปอาศัยขอความช่วยเหลือ  ขอความร่วมมือจากใครก็ไม่ได้  แต่พอมี พ.ร.บ.องค์กรชุมชนแล้ว  ทำให้ชุมชนมีสถานะ  มี พ.ร.บ.รับรองว่าเป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย  เราจึงใช้สภาองค์กรตำบลเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น  ส่งเสริมอาชีพชุมชน อาชีพจักสาน แปรรูปอาหาร  ท่องเที่ยวชุมชน  ป่าชุมชน  รวมทั้งการแกไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับพี่น้องที่มีความเดือดร้อนด้วย”   ลาวัณย์ยกตัวอย่าง

บ้านมั่นคงบนที่ดิน ส.ป.ก   9 หน่วยงานจับมือพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน

โครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบทตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ดำเนินการโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีเป้าหมายรวม รวม 77 จังหวัด  จำนวน 6,450 ชุมชน  รวม  701,702  ครัวเรือน (แยกเป็นบ้านมั่นคงเมืองและชนบท  จำนวน 6,450 ชุมชน  รวม  690,000 ครัวเรือน,  ชุมชนริมคลองกรุงเทพฯ  74 ชุมชน  รวม 11,004  ครัวเรือน  และคนไร้บ้าน 3 ศูนย์  กรุงเทพฯ/ขอนแก่น/เชียงใหม่  รวม 698 ครัวเรือน)

พอช.หนุนสร้างบ้านมั่นคงบนที่ดิน ส.ป.ก.

ส่วนโครงการ ‘บ้านมั่นคงบนที่ดิน ส.ป.ก.’ นั้น   สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช. กล่าวว่า  เป็นโครงการบ้านมั่นคงชนบทที่ พอช.สนับสนุนการสร้างบ้านให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินจากสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2560  โดย พอช.สนับสนุนไปแล้วใน 8  จังหวัด  คือ  กาญจนบุรี  กาฬสินธุ์    ชลบุรี  นครราชสีมา  มหาสารคาม    สระแก้ว  สุราษฎร์ธานี  และอุทัยธานี   รวม 16 ตำบล  16 โครงการ  จำนวน  1,510  ครัวเรือน  งบประมาณรวม 77 ล้านบาทเศษ   เกษตรกรสร้างบ้านเสร็จไปแล้ว  651  ครัวเรือน  และในปี 2562 นี้มีเป้าหมายสนับสนุนอีก 1,300 ครัวเรือนในพื้นที่ 10   จังหวัด

“การสนับสนุนของ พอช.นั้น  จะเริ่มตั้งแต่การสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน  เพราะเกษตรกรที่เข้ามาอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก.ต่างคนต่างมาคนละทิศ  เมื่อมาอยู่ร่วมกันจึงต้องมีกฎระเบียบการอยู่อาศัยร่วมกัน  เช่น  มีการจัดตั้งคณะกรรมการหรือตัวแทนชาวบ้านเข้ามาบริหารงานในรูปแบบของสหกรณ์  มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างบ้านหรือประกอบอาชีพ  นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนให้เกษตรกรได้ร่วมออกแบบบ้าน  วางผังชุมชน  วางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณการสร้างบ้าน  การพัฒนาสาธารณูปโภค ประมาณครัวเรือนละ  72,000 บาท  แม้ว่าจะเป็นเงินไม่มาก  แต่เกษตรกรสามารถใช้วัสดุเก่านำมาสร้างบ้าน  และช่วยกันลงแรงสร้าง  จึงทำให้ประหยัดงบประมาณได้พอสมควร”  ผอ.พอช.อธิบาย 

ทั้งนี้ที่ดิน ส.ป.ก.ที่นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกินนั้น  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ ได้ดำเนินการตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ  โดย คสช.ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44   ออกคำสั่งที่ 36/2559 (ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559) เพื่อยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศที่มีการครอบครองไม่ถูกต้อง  แล้วนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกิน   โดยในช่วงปี 2559-2561  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ  สามารถยึดที่ดินคืนในพื้นที่  28 จังหวัด  รวมเนื้อที่ประมาณ  400,000 ไร่เศษ  และนำมาจัดสรรให้เกษตรกรไปแล้วประมาณ  35,000 ไร่  

ขณะเดียวกันการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ให้แก่เกษตรกรในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  รวมทั้งที่ดินที่ยึดคืนตามคำสั่ง คสช.ที่ 36/2559 ยังมีปัญหาต่างๆ  เช่น  การชลประทานยังไม่ทั่วถึง  ขาดสาธารณูปโภค  ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  เกษตรกรขาดแหล่งทุนและความรู้  ปัญหาด้านการตลาด  ขาดการประสานระหว่างหน่วยงานรัฐ  ฯลฯ  ทำให้เกษตรกรไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้เต็มที่  ขาดรายได้  เกษตรกรบางส่วนจึงขายสิทธิ์ที่ดินมือเปล่า  หรือเอาที่ดินไปให้คนอื่นเช่า 

9 หน่วยงานร่วมพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก.

กฤษฎา  บุญราช  รมว.เกษตรและสหกรณ์   กล่าวว่า  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ได้นำที่ดินมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกินทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 35   ล้านไร่  จนถึงปัจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปี  แต่พบว่าบางพื้นที่ยังไม่มีเกษตรกรเข้าไปทำกิน  หรือเข้าไปแล้วแต่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่  ตนจึงให้เลขาธิการ ส.ป.ก.ไปตรวจสอบ  พบว่าส่วนใหญ่ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์  ขาดสาธารณูปโภค  แหล่งน้ำ  ไฟฟ้า  เกษตรกรขาดทุนในการตั้งต้น  ดังนั้น ส.ป.ก.จึงประสานให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  รวม  8 หน่วยงานให้มาทำงานร่วมกัน  เป็นการบูณาการแผนงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคที่จำเป็นในเขตปฏิรูปที่ดิน

โดยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา  ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการพัฒนาพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน  พื้นที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 และพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล   เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ  ให้เกษตรกร  โดยมีนายกฤษฎา  บุญราช  รมว.เกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน  มีผู้แทน 9 หน่วยงานร่วมลงนาม  คือ ส.ป.ก.  กรมชลประทาน  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  กรมทรัพยากรน้ำ  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์  กรมพัฒนาที่ดิน  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 

 “หลังจากลงนามทั้ง 9 หน่วยงานแล้ว  แต่ละหน่วยงานก็จะร่วมมือกันลงไปสำรวจ  ดูพื้นที่ร่วมกัน  เพื่อกำหนดแผนงานที่จะทำเพื่อพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก.  เพื่อให้เกษตรกรได้เข้าไปทำมาหากิน  เป็นการแก้ไขปัญหาเกษตรกรเอาที่ดิน ส.ป.ก.ไปให้คนอื่นเช่า  หรือขายโดยไม่มีเอกสารสิทธิ์  รวมทั้งแก้ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เต็มที่ด้วย”  รมว.เกษตรฯ กล่าว

โดยแต่ละหน่วยงานจะมีหน้าที่และแผนปฏิบัติการต่างๆ  เข้าไปในเขต ส.ป.ก.  เช่น  กรมชลประทาน  กรมทรัพยากรน้ำ  กรมทรัพยากรน้ำบาดาล  พัฒนาแหล่งน้ำและกระจายน้ำให้เกษตรกรอย่างทั่วถึง  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  ขยายเขตไฟฟ้าเข้าไป  กรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ จัดหาพลังงานทดแทนและระบบโซล่าร์เซลล์  กรมพัฒนาที่ดิน  สำรวจ  วิเคราะห์  ปรับปรุงและพัฒนาดินให้เกิดความอุดมสมบูรณ์   กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  สนับสนุนการพัฒนาสาธารณูปโภค  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน  พัฒนาความเข้มแข็งของกลุ่ม  องค์กรชุมชน  และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ประชาชนที่เข้าไปอยู่ในที่ดิน ส.ป.ก.

ทั้งนี้คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44  ที่  36/2559  ลงวันที่ 5 กรกฎาคม  2559   เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบกฎหมาย   มีสาระสำคัญคือ  ให้ ส.ป.ก. นำที่ดินในเขต ส.ป.ก.ทั่วประเทศที่มีการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย   คือ 1. ที่ดินที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่มีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป   2. ที่ดินที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดมีมติให้เกษตรกรผู้ได้รับการจัดที่ดินสิ้นสิทธิเข้าทําประโยชน์แล้วและครอบครองโดยบุคคลที่มิใช่ผู้ได้รับการจัดที่ดิน  มีเนื้อที่ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป    และ  3. ที่ดินที่ศาลมีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ส่งมอบแก่สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้วและมีเนื้อที่ตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป   โดยนำมาจัดสรรให้เกษตรกรทั่วประเทศที่ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน 

สร้างบ้านมั่นคง 219 ครัวเรือนบนที่ดิน ส.ป.ก.สระแก้ว

ที่ดิน ส.ป.ก.ที่จัดสรรให้แก่เกษตรกร  แบ่งเป็นที่ดินเพื่อสร้างบ้านจำนวน 1   ไร่  ที่ดินทำกินประมาณ  5 ไร่  โดย ส.ป.ก.จะให้เกษตรกรเข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน  แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์  ช่วงแรก 30 ปี ในลักษณะการรวมกลุ่มกันเป็นสหกรณ์การเกษตร  (สหกรณ์จะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินจาก ส.ป.ก.ช่วงแรก 30 ปี) เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกผักสวนครัว  ปลูกข้าวโพด  มันสำปะหลัง  เลี้ยงไก่  เป็ด  ปลาดุก  กบ  ฯลฯ  แต่บางพื้นที่ที่ดินไม่มีความเหมาะสมในการปลูกพืช  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์  เช่น  ที่ดิน ส.ป.ก.ตำบลสิงห์  อ.ไทรโยค  จ.กาญจนบุรี  สนับสนุนให้เกษตรกรเลี้ยงแพะเนื้อ  โดยมอบแม่พันธุ์และพ่อพันธุ์แพะ  อบรมการเลี้ยง  การให้อาหาร  ฯลฯ

 

ละอองดาว  สีลาน้ำเที่ยง  คณะกรรมการเครือข่ายที่ดินและที่อยู่อาศัย  จ.สระแก้ว  บอกว่า  ในจังหวัดสระแก้วมีที่ดิน ส.ป.ก.ที่จัดสรรให้เกษตรกรไม่มีที่ดินทำกินตั้งแต่ปี 2560  รวมทั้งหมด 6 แปลง  ในอำเภอโคกสูง  หนองม่วง  วัฒนานคร  วังน้ำเย็น  และอรัญประเทศ  รวมเนื้อที่ทั้งหมด 3,181 ไร่   มีเกษตรกรที่ได้รับจัดสรรที่ดินรวม 219 ครอบครัวๆ ละ 6 ไร่  แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย 1 ไร่  ที่ดินทำกิน 5 ไร่   

โดยขณะนี้เกษตรกรได้เข้าไปทำกินแล้ว  แต่ที่ผ่านมายังมีปัญหาต่างๆ  เช่น  ขาดแหล่งน้ำในการทำเกษตร  ขาดไฟฟ้า  ประปา  ทำให้มีความลำบาก   เมื่อมีการลงนามร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว  ก็เชื่อว่าเกษตรกรจะได้เข้าไปทำกินอย่างเต็มที่   แม้ว่าจะไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์  แต่ก็ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน  ไม่ต้องเช่าที่ดินจากคนอื่น 

ส่วนการก่อสร้างบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.นั้น  ละอองดาวบอกว่า  ที่ดิน ส.ป.ก.แปลงอำเภอหนองม่วงเนื้อที่ 655 ไร่  มีเกษตรกรได้รับจัดสรรที่ดินรวม 63 ครอบครัว  ขณะนี้สร้างบ้านเสร็จเกือบทุกหลังแล้ว  ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว  ขนาด  4X6 ตารางเมตร  ก่อด้วยอิฐบล็อก  ส่วนที่ดินแปลงอื่นๆ  เช่น  ต.คลองหินปูน  อ.วังน้ำเย็น  เนื้อที่ 318 ไร่กำลังก่อสร้างบ้าน 36  หลัง

“นอกจากสร้างบ้านแล้ว  เกษตรกรที่เข้าไปอยู่ในดิน ส.ป.ก.แต่ละแปลงก็จะต้องร่วมกันพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  และส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้รายวัน  เช่น  ปลูกผักสวนครัวเพื่อเก็บขายได้ทุกวัน  เลี้ยงปลา  เลี้ยงไก่  เพื่อให้มีรายได้รายเดือน  ปลูกมันสำปะหลัง  ปลูกข้าวโพด  อ้อย  หรือผลไม้  เพื่อให้มีรายได้รายปี  นอกจากนี้ก็จะมีการส่งเสริมการตลาด  เช่น  ทำร้านค้าหรือตลาดชุมชนเพื่อให้เกษตรกรเอาผลผลิตมาวางขาย ซึ่งขณะนี้เปิดตลาดแห่งแรกแล้วที่ริมถนนใกล้ที่ดิน ส.ป.ก.อำเภอหนองม่วง”  ละอองดาวยกตัวอย่าง

ทั้งนี้ พอช.มีเป้าหมายสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่เข้าอยู่อาศัยในที่ดินส.ป.ก.ในจังหวัดสระแก้วช่วงปี 2561-2562 รวม 219 ครัวเรือน ครัวเรือนละ 72,000 บาท รวมงบประมาณ 15.7 ล้านบาทเศษ นอกจากนี้ในปี 2562 นี้  พอช.มีแผนงานจะสนับสนุนการสร้างบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศอีกประมาณ 1,300 หลังด้วย !! 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"