พาณิชย์ถกคุมค่ารักษาฯ แต่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนค้าน อ้างต้นทุนไม่เท่ากัน


เพิ่มเพื่อน    

 

“สนธิรัตน์”ถกวาระพิเศษ ร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังความคิดเห็น หลัง กกร. มีมติให้นำ “ยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์” เป็นสินค้าและบริการควบคุม ยันภาคเอกชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เตรียมนำข้อเสนอแนะทั้งหมดมาหารือภายในอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่จะไม่เปลี่ยนจุดยืนในการดูแลผู้บริโภค

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมวาระพิเศษร่วมกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข สมาคมประกันชีวิตและวินาศภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อหารือในประเด็นที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้มีมติให้นำยาและเวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เข้าเป็นสินค้าและบริการควบคุม และทางโรงพยาบาลเอกชนต้องการที่จะแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะถึงมาตรการที่จะนำมาใช้ในการกำกับดูแล จึงได้เปิดโอกาสให้มาหารือร่วมกัน เพื่อพิจารณามาตรการที่เหมาะสมและเป็นไปได้

ทั้งนี้ ผลการหารือ เอกชนมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะโครงสร้างบริการทางการแพทย์มีความซับซ้อน ไม่ใช่แค่หนึ่งบวกหนึ่งเป็นสอง โรคเดียวกัน อาจจะใช้วิธีการรักษาไม่เหมือนกัน เครื่องไม้เครื่องมือที่จะนำมาใช้แตกต่างกัน บริการก็แตกต่างกัน หรือกระทั่งหมอที่รักษาก็มีความเชี่ยวชาญต่างกัน การใช้มาตรการแบบเหมารวม ถือว่าไม่เป็นธรรม จึงต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ

“เดิมทีเรื่องนี้ หลัง กกร. มีมติให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม ก็ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อหารือถึงมาตรการที่จะนำมาใช้ในการกำกับดูแล แต่ในเมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องอยากพูด อยากเสนอข้อคิดเห็น ผมก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้พูด เมื่อรับฟังข้อเสนอต่างๆ มาแล้ว ก็จะนำมาพิจารณาต่อว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ แต่ยืนยันไว้ตรงนี้ได้เลยว่าจะไม่มีการเปลี่ยนจุดยืนในการดูแลผู้บริโภค แต่วิธีการที่จะนำมาใช้ในการดูแลเรื่องนี้ ต้องเหมาะสม และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการด้วย ซึ่งจะมีการหารือภายในร่วมกับปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายในอีกครั้งก่อนที่จะสรุป”นายสนธิรัตน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนัดประชุมด่วนในครั้งนี้ เนื่องจากหุ้นโรงพยาบาลภาคเอกชนได้รับผลกระทบจากแรงเทขายอย่างหนัก หลังจากที่ กกร. มีมติให้นำยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เข้าสู่บัญชีสินค้าและบริการควบคุม ทำให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้รับผลกระทบจากราคาหุ้นที่ตกลง โดยประเมินว่ามูลค่าตลาดหุ้นของโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์น่าจะหายไปเป็นหลักหมื่นล้านบาท นายสนธิรัตน์จึงต้องนัดประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องวาระพิเศษ

ส่วนแนวโน้มการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป มีความเป็นไปได้ทั้งการคงให้ยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์เป็นสินค้าและบริการควบคุม และจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป แต่มาตรการที่จะนำมาใช้ดูแล จะต้องสร้างความเป็นธรรมทั้งกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ และอีกแนวทางหนึ่ง อาจจะยกเลิกการเสนอให้เป็นสินค้าและบริการควบคุม ซึ่งจะต้องมีการเสนอให้ กกร. พิจารณาเพื่อแก้ไขมติอีกครั้ง แต่กระทรวงพาณิชย์จะต้องมีมาตรการที่จะใช้ในการดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรม

นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการนำยาและเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนเป็นสินค้าและบริการควบคุม เพราะโรงพยาบาลเอกชนมีมาตรการที่โปร่งใสอยู่แล้ว และที่ผ่านมา ก็มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ควบคุมดูแล จึงมั่นใจได้ว่าการบริการของโรงพยาบาลมีความโปร่งใส่

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จะมีการติดตามการแก้ไขปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ในการดูแลราคายาและเวชภัณฑ์ รวมถึงบริการทางการแพทย์ โดยเห็นว่ามาตรการที่ควรจะนำมาใช้ คือ การกำหนดส่วนต่างของต้นทุนและกำไรที่เหมาะสม เพราะค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันมาก เช่น ค่ายาแพงกว่า 20-400 เท่า ค่าผ่าตัดไส้ติ่งเอกชนแพงกว่ารัฐ 14 เท่า แต่ของสิงคโปร์ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลรัฐและเอกชนห่างกันแค่ 2.5 เท่า ซึ่งหากกระทรวงพาณิชย์ไม่เดินหน้าต่อ มูลนิธิฯ จะฟ้องศาลปกครองว่ารมว.พาณิชย์ผิดมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดูแลประชาชน

ส่วนกรณีที่หุ้นโรงพยาบาลเอกชนร่วงหนัก มองว่าเรื่องหุ้นมีขึ้นมีลง เช่น หุ้นของโรงพยาบาล ก เคยอยู่ที่ราคา 3 บาท และปัจจุบันขึ้นไป 6 บาท และร่วงเหลือ 5 บาท ถือเป็นไปตามภาวะตลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญ คือ การดูแลชีวิตของคน ที่รัฐบาลควรจะต้องให้ความสำคัญมากกว่า


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"