'วิษณุ' ชี้ 24 มี.ค.เหมาะเลือกตั้งที่สุด คาด พ.ร.ฎ.เลือกตั้งประกาศในสัปดาห์หน้า


เพิ่มเพื่อน    

17 ม.ค.62 - ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่บางฝ่ายเกิดความกังวลว่าหากเลื่อนวันเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 24มี.ค.แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะไม่สามารถรับรองส.ส.ได้ทันวันเปิดประชุมสภาว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจหน้าที่ แต่ถ้ากกต.เชื่อว่าสามารถทำได้ก็เป็นหน้าที่ของกกต. รัฐบาลหรือใครๆไม่สามารถไปเกี่ยวข้องได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ที่ถามกันไปถามกันมา คือ เรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง แต่สำหรับเรื่องการประกาศผลวันเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องของกกต.ทั้งหมด จะทำเสร็จหรือไม่เสร็จ หรือจะประกาศวันใดก็เป็นหน้าที่ของกกต. เพียงแต่ได้พูดคุยกันให้ทราบว่า การจะประกาศวันเลือกตั้งวันใดนั้นมีความหมายมาก เพราะถือเป็นการนับหนึ่งที่จะกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินเปิดสภาภายใน 15 วันหลังจากนั้น ดังนั้นที่เกรงกันก็คือเรื่องการประกาศผลการเลือกตั้งไปก่อนแล้วนับ 15 วัน จะไปอยู่ในช่วงพระราชพิธี จึงได้พูดคุยกันว่าให้ยึดวันที่ 9 พ.ค.เป็นหลัก และหากวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 มี.ค.ก็จะห่างอยู่ประมาณ 45-47 วัน ซึ่งถ้ากกต.คิดว่าทำได้ทัน และดูแล้วก็ไม่ติดพระราชพิธีใดๆ ดังนั้นจะให้อยู่ในกรอบวันที่ 9 พ.ค.ก็อยู่ที่กกต.บริหารจัดการ ทั้งนี้รัฐบาลเป็นห่วงอยู่เพียงเรื่องที่จะไปทับซ้อนกับพระราชพิธีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นไปอย่างที่ได้พูดคุยกันข้างต้นก็ไม่มีปัญหา

"ส่วนที่กลัวกันว่าจะมีปัญหาหรือไม่ หากประกาศผลเลือกตั้งไปก่อนแล้วมาสอยทีหลัง ถ้าหากมีกรณีที่เป็นปัญหามากๆ อยู่หลายรายก็อาจจะเกิดปัญหาจริงในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลตั้งขึ้นมาโดยอาศัยพรรคการเมืองเหล่านั้น อาศัยเสียงเหล่านี้สนับสนุนอยู่ แต่พอถึงเวลาโหวตก็โหวตกันได้ แต่พอถึงเวลาอยู่ไปแล้วถูกสอยออกรัฐบาลก็กลายเป็นเสียงข้างน้อย อย่างนั้นอาจเป็นปัญหาจริง" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า ตนและนักกฎหมายทั้งหลาย หรือแม้แต่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)เอง ซึ่งเคยชี้แจงในสภาว่า ในการประกาศผลการเลือกตั้งช่วง 60 วัน เป็นคนละเรื่องกับ 150 วัน แต่ถ้ากกต.คิดว่าเพลย์เซฟ แล้วเอามาเป็นเรื่องเดียวกันก็แล้วไป ไม่มีปัญหา เพียงแต่ขอให้บริหารจัดการให้ได้เท่านั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าระยะเวลา 45-47 วัน ในการรณรงค์หาเสียงเพียงพอหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาเป็นเวลาที่พอดี แต่บังเอิญว่าคราวนี้พิเศษ เนื่องจากจะเป็นบัตรเลือกตั้งใบเเดียว เลือก 2 ชนิด และการนับคะแนน จะต้องมีวิธีการคิดเพื่อให้เกิดเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ก็อาจมีปัญหาล่าช้า แต่ถ้าหากกกต.เชื่อว่าสามารถบริหารจัดการได้ก็ไม่เกิดปัญหาอะไร และสมมติว่าถ้าถึงวันที่ 9 พ.ค.แล้วยังไม่เสร็จ ยังต้องนับคะแนนต่อ ยังไม่สามารถประกาศผลได้นั้น ตนก็เห็นว่า ไม่มีข้อขัดแย้งอะไร หากตอนนั้นสงสัยคิดว่าไม่ทันแล้วจะเกินเวลา จะไปถามศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วยค้นและได้มาอธิบายกับตน แต่ตนก็บอกว่าอย่ามาอธิบายกับตนเลยให้ไปอธิบายกับสื่อก็แล้วกัน เพราะถ้อยคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็เขียนแบบเดียวกันว่า ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในเท่าไหร่ ซึ่งเมื่อจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ การประกาศผลก็นับจากนั้น แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่ได้ใช้คำว่า ประกาศผล แต่ใช้คำว่า ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 60 หรือ 90 วัน ซึ่งการจะเปิดสภาก็คือจะต้องประกาศผลนั่นเอง นับเป็นระยะเวลาคนละส่วนกันกับการจัดการเลือกตั้ง

"สำหรับผม ผมเห็นว่าถ้ายังไม่เสร็จก็ยังสามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าจะมีคนเถียงหรือท้วง ว่าไม่ได้จะต้องให้แล้วเสร็จ อย่าง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ก็ท้วงอยู่คนเดียว ท้วงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก็ไม่เป็นไร ถ้าสงสัยในตอนนั้น แล้วกลัวว่าไม่เสร็จไม่ทัน ค่อยไปยื่นหารือศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะไปหารือในวันนี้ อย่าตีตนไปก่อนไข้ ไม่ทันเห็นน้ำแล้วตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกก็จะโก่งหน้าไม้ เพราะเลือกก็ยังไม่เลือก แล้วไปคิดก่อนว่ามันจะไม่เสร็จ มันจะไม่ทัน แล้วจะเกินเวลา แล้วจะโมฆะ คิดอย่างนั้นจินตนาการมากไปแล้วล่ะ" นายวิษณุระบุ

เมื่อถามว่า ส่วนตัวเห็นว่า 24 มี.ค.เหมาะเป็นวันเลือกตั้งใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แล้วแต่กกต.เห็นว่าเหมาะอย่างไร แต่สำหรับตนมองเห็นหลายจุดว่า 3 และ 10 มี.ค.อาจจะกระชั้นไปเมื่อเทียบกับวันที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่รู้จริงว่าจะประกาศเมื่อไหร่ จึงอาจทำให้เหลือระยะเวลาหาเสียงสั้น ถ้าเป็น 17 มี.ค.อาจจะมีปัญหากับเด็กที่สอบ TCAS จำนวนเป็นแสนคน และเป็นวัยที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนั้น ดังนั้นจึงเหลือวันที่ 24 มี.ค.ซึ่งก็น่าจะเหมาะที่สุด และพระราชกฤษฎีกาก็น่าจะประกาศใช้ได้ในสัปดาห์หน้าอย่างที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมบอกไว้

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้เกิดความสงบในช่วงเลือกตั้ง เพราะมีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหว นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ก็สงบอยู่แล้ว และแน่นอนว่ารัฐบาลและคนไทยต้องการความสงบเรียบร้อยตลอดเวลา โดยเฉพาะในยามนี้ที่ต้องการความสงบเรียบร้อยมากขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะเหตุสำคัญ 2 อย่าง คือ ช่วงเลือกตั้ง กับ ช่วงพระราชพิธีสำคัญ ไม่ถือเป็นความยุ่งยาก เพราะสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำอยู่ทุกวันนี้ก็ถือเป็นความสงบ อย่าทำอะไรให้รุนแรงไปจากที่มีอยู่ในเวลานี้ก็ถือว่าเพียงพอ และกำลังเป็นที่จับตาดูของทั่วโลกอยู่เหมือนกันที่ต้องการเห็นประเทศไทยมีความสงบสุขเรียบร้อย

เมื่อถามว่า กลุ่มคนอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมเคลื่อนไหว 19 ม.ค.นี้ เพื่อกดดันและขีดเส้นให้รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งให้ชัดเจน นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่ได้กดดันอะไร และไม่สามารถกดดันได้ เว้นแต่เขาตั้งใจจะกดดันคนอื่น เมื่อถามว่า ตามที่รองนายกฯ ระบุว่า 24 มี.ค.62 มีความเหมาะสมในการจัดการเลือกตั้ง สามารถประกาศในนามรัฐบาลได้เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ที่ตนตอบเพราะสื่อถามนำว่าเหมาะสมหรือไม่ ตนมี 3 ทางในการเลือกตอบ คือ 1.ไม่เหมาะสม 2.เหมาะสม และ 3.เฉย โดยความเห็นส่วนตัว การจะตอบไม่เหมาะสมมันก็เท็จ จะบอกว่านิ่งเฉยเสียก็อาจจะดีที่สุด แต่เมื่อเผลอตอบไปแล้วก็ตอบว่าเป็นไปได้ ตนไม่ได้บอกว่าเหมาะสมเลย

“วันที่ 3 มีนาคม 2562ไม่เหมาะสมเอาเลย แต่10 มีนาคม 2562มีความเป็นไปได้ แต่เมื่อยังไม่รู้ว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งจะมีวันไหน จะเหลือเวลาหาเสียงน้อยไป บางพรรคอาจไม่บ่น บางพรรคบอกเลือกเร็วๆดีแล้ว ทุกวันนี้จ่ายเงินทุกวัน ยิ่งเหลือเวลาหาเสียงหลายวันยิ่งจ่ายมากขึ้น มีบางพรรคมาบอกผมอย่างนั้น ก็เรื่องของคุณ แต่ถึงอย่างไรต้องคำนึงถึงระยะเวลาหาเสียงที่เพียงพอ เมื่อจะขยับวันเลือกตั้ง วันหาเสียงก็ไม่ควรน้อยกว่ากำหนดเดิมคือ 52 วัน จึงจะเป็นธรรม” นายวิษณุ

เมื่อถามว่า กรณีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังสามารถออกรายการเดินหน้าประเทศไทย : มติคณะรัฐมนตรี ฉบับประชาชน ทุกวันอังคาร ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังสามารถทำได้ ที่แล้วมาโฆษกรัฐบาลที่ลงสมัครเลือกรับเลือกตั้งแบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์มีมาทุกยุคสมัย แต่ต้องระมัดระวังเหมือนกับรัฐมนตรี ในเรื่องเวลาราชการกับเนื้อหาที่แถลง การแถลงผลงานรัฐบาลถือเป็นหน้าที่ แต่จะไปแถลงเรื่องของพรรคในเวลาราชการไม่ได้

เมื่อถามว่า หากโฆษกรัฐบาลเป็นว่าที่ผู้สมัครส.ส.แล้วมีการพูดถึงนโยบายรัฐบาล แต่เผลอหลุดพูดอะไรที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง เช่น พลังประชารัฐจะมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “อย่าไปหลุดพูดเลย ต้องระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องเนื้อหา” เมื่อถามว่า เนื้อหาบางอย่างที่โฆษกรัฐบาลแถลงมีความก้ำกึ่ง นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้ามีความก้ำกึ่งก็ยังถือว่าเป็นงานของรัฐบาลอยู่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"