ร้องเอาผิดโฆษณาน้ำเมาบนตึก 


เพิ่มเพื่อน    

    เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ร้องผู้ว่าฯ กทม.เอาผิดป้ายโฆษณาน้ำเมาบนตึกสูง รวมทั้งตามผับ บาร์ที่มีเกลื่อน ชี้ขัดกฎหมายชัดเจน รวมทั้งผู้อนุญาตก็อยู่ในข่ายร่วมกระทำความผิด นักกฎหมายชี้ กม.ควบคุมน้ำเมามีการบังคับใช้มาแล้ว 10 ปี ถึงเวลาต้องแก้ให้ทันยุคสมัย เน้นเรื่องการโฆษณาให้ชัดเจน
    ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร วันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วยนายวันชัย พูลช่วย เลขานุการเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา และกลุ่มเยาวชน กว่า 20 คน นำหลักฐานการทำผิดกฎหมายเข้าร้องเรียน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. ผ่านทาง พล.ต.ท.ชินทัต มีสุข รองผู้ว่าฯ กทม. กรณีปรากฏป้ายโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งในรูปแบบของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง รวมไปถึงป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้า ผับ บาร์ต่างๆ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  
    นายธีรภัทร์กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯ ได้เฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายของธุรกิจสุรา รวมถึงคอยหนุนเสริมการทำงานภาครัฐในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 และต้นเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เครือข่ายเยาวชนฯ ลงพื้นที่สำรวจป้ายโฆษณาของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีการทำผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 จำนวนมาก ทั้งในรูปแบบของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง รวมไปถึงป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้า ผับ บาร์ต่างๆ   
    “แปลกใจอย่างยิ่งว่ามีการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่จำนวนมากในพื้นที่ กทม. ทำไมไม่มีใครเห็นป้ายผิดกฎหมายนี้เลยหรือ ใครอนุญาตให้ขึ้นป้ายที่ผิดกฎหมายลักษณะนี้ได้ แล้วทำไม กทม.ถึงไม่มีมาตรการใดๆ จัดการกับป้ายที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ ปล่อยให้ติดกันอย่างโจ๋งครึ่ม ใหญ่โตทั่วกรุงเทพฯ ได้อย่างไร ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเร่งตรวจสอบเอาผิดโดยด่วน เพราะเกือบทั้งหมดแม้จะอ้างว่าเป็นตราสัญลักษณ์ของสินค้าอื่น เช่น โซดา เครื่องดื่ม แต่โดยรวมแล้วมีสัญลักษณ์แทบจะเหมือนกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และในส่วนที่เป็นคำว่าโซดาหรือเครื่องดื่มก็มีสัดส่วนที่เล็กมาก แท้จริงแล้วจงใจโฆษณาให้ผู้คนเข้าใจว่าเป็นตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า อันนี้ขัดกับกฎกระทรวงชัดเจน กทม.ต้องเท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของธุรกิจน้ำเมาเหล่านี้ด้วย” นายธีรภัทร์กล่าว  
    ด้านนายวันชัย พูลช่วย กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะครบรอบ 10 ปีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้แล้ว จึงอยากเห็น กทม.จริงจังกับการบังคับใช้กฎหมาย คงหมดเวลาที่จะประชาสัมพันธ์ ตรวจเตือนกันอีกแล้ว มันนานพอที่จะรับรู้กันกฎหมายกันอย่างกว้างขวาง ถึงเวลาต้องเด็ดขาดได้แล้ว และทางเครือข่ายมีข้อเสนอถึงผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครโดยตำแหน่ง เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้ 
    1.ขอให้ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับผู้ดำเนินการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 32 และกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการแสดงภาพสัญลักษณ์เพื่อประกอบการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรูปของป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ป้ายโฆษณาที่ติดบนผนังตึก อาคารสูง รวมไปถึงป้ายโฆษณาตู้ไฟ ตามร้านเหล้า ผับ บาร์ต่างๆ ที่มีการใช้ตราสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงตราสัญลักษณ์ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจากการตรวจสอบของเครือข่ายพบว่ามีป้ายการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผิดกฎหมายดังกล่าวจำนวนมาก
    2.ในการกระทำดังกล่าว ขอให้ตรวจสอบด้วยว่าป้ายดังกล่าวมีการขออนุญาตจากกรุงเทพมหานครหรือไม่ และหากมีการอนุญาตให้มีการติดตั้งป้ายซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมาย จึงเกิดคำถามว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจมีส่วนร่วมกระทำความผิดให้เกิดการโฆษณาที่ผิดกฎหมายด้วยหรือไม่ ซึ่งในทางที่ถูกต้องแล้ว กรุงเทพมหานครไม่ควรอนุญาตให้โฆษณาผิดกฎหมาย และต่อไปควรขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งดูแลกฎหมายนี้ก่อนอนุญาตเพื่อความชัดเจน
    3.ขอให้มีการประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานครเป็นการด่วน เพื่อพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ รวมถึงการกำหนดแนวทางลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ เพื่อให้มีระยะเวลาในการเตรียมการวางแผนรับมืออย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม
    4.ขอเรียกร้องผ่านไปยังผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เคารพกฎหมายและหยุดหาช่องเพื่อโฆษณาหลบเลี่ยงกฎหมายโดยไร้ซึ่งความรับผิดชอบ
    วันเดียวกัน ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หนึ่งในนักกฎหมายที่ร่วมยกร่าง พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 กล่าวในงานเสวนา "1 ทศวรรษแห่งการปกป้องสังคมและสุขภาพ" ในกิจกรรม "1 ทศวรรษ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551" ว่า ได้มีการทำวิจัยเมื่อประมาณปี พ.ศ.2548-2549 เกี่ยวกับกฎหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ พบว่าระบบกฎหมายในขณะนั้นเน้นเรื่องการเก็บภาษี เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายต่างประเทศก็พบว่ามีมาตรการลดการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขึ้น ซึ่งก็มีข้อกำหนดตั้งแต่ต้นทางตามหลักการว่าจะกระทบกับกฎหมายของกระทรวงหรือทบวงอื่นไม่ได้ เช่น การเก็บภาษี เป็นต้น
    ทั้งนี้ ในตอนแรกก็ได้มีข้อเสนอว่าต้องห้ามการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมดเช่นเดียวกับบุหรี่ แต่ก็มีการต่อรองจากกลุ่มธุรกิจให้สามารถโฆษณาได้ภายใต้ขอบเขต ทำให้กลายเป็นปัญหาในเรื่องโฆษณาอย่างทุกวันนี้คือ ห้ามโฆษณาหรือแสดงชื่อ หรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม แต่กระทำการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ได้เฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารและความรู้เชิงสร้างสรรค์สังคม โดยไม่มีการปรากฏภาพของสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เว้นแต่เป็นการปรากฏของภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคม กล่าวว่า การออกกฎหมายควบคุมน้ำเมากลายเป็นคุณูปการระดับหนึ่ง แต่ต้องมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เพราะตอนนั้นกลุ่มธุรกิจยังขยับตัวไม่ทัน จนเข้าสู่ปี 2557 กลุ่มธุรกิจเริ่มรู้ตัวเหตุการณ์การควบคุมจึงไม่เหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อมีการใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมาแล้ว 10 ปี ควรมีการปรับปรุง วาระสำคัญคือ เรื่องของการโฆษณาให้ทันยุคสมัย เพราะตอนร่างเราอยู่ในยุคอนาล็อก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยมีการควบคุมขอบเขตการโฆษณาทางโซเชียลมีเดียให้ชัดเจนว่าต้องมีการควบคุมทางกฎหมายอย่างไร และต้องอ้างอิงจากข้อมูลต่างๆ ทั้งทางการแพทย์ คดีความ อุบัติเหตุ หากการบังคับใช้ยังไม่ผลไม่ดีพอ ก็ให้มีการยกระดับการควบคุมให้เข้มข้นไปอีก ส่วนการจะยกระดับห้ามโฆษณาเลยเหมือนบุหรี่ ฝ่ายการเมืองต้องเห็นความสำคัญของปัญหาด้วย และต้องไม่แก้ให้กฎหมายอ่อนกว่าเดิม
    ศ.นพ.รณชัยกล่าวว่า ทางการแพทย์ยืนยันชัดว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสารเสพติด โดยคนไทยมีค่าเฉลี่ยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ 7 ลิตร ซึ่งมีผลต่อสุขภาพชัดเจน ทำให้ระบบประสาทส่วนปลายหลายประสาทอักเสบ จึงชาตามปลายมือ ปลายเท้า เหน็บชา เสียการทรงตัว ดื่มมากขึ้น ทำให้มึนเมา ง่วงนอน หลับ หมดสติ หากดื่มสุราเรื้อรังจะมีผลทำให้เป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง ทำให้ความจำเสื่อม นอกจากนี้ก็จะยังสร้างปัญหาให้คนอื่น เช่น การทะเลาะวิวาท และก่ออุบัติเหตุดังเช่นที่เคยเป็นข่าว ทำให้เกิดปัญหาการฆ่าตัวตาย และเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวถึง 3.68% ซึ่งค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากสาเหตุการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงขึ้นทุกปี
    "ถึงเวลาที่ต้องตั้งคำถามว่าคุ้มหรือไม่กับการเก็บภาษี คนไข้ที่ป่วยจริงมีมากล้นโรงพยาบาลแล้ว นอกจากนี้ยังมีการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เข้าถึงง่ายมาก ในทางกฎหมายเรื่องนี้ควรทำความเข้าใจและต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคณะกรรมการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งประเทศ" ศ.นพ.รณชัยกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"