ชู'ไทยแลนด์เฟิร์สต์'ย้อนสหรัฐ


เพิ่มเพื่อน    

   "ประยุทธ์" เผยสหรัฐไม่ได้ถามหรือกังวลเรื่องการเลือกตั้ง แต่ให้กำลังใจเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ลั่นเรามีไทยแลนด์เฟิร์สต์เหมือนกัน  “พรเพชร” จ่อตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย พร้อมเจรจาทุกประเด็นค้านเล่นตุกติกคว่ำร่างกฎหมาย ส.ส.-ส.ว.ยื้อเลือกตั้ง "มีชัย" คาดการณ์มากไม่ได้เดี๋ยวนอนไม่หลับ  ด้าน "นิพิฏฐ์" ฟันธงคว่ำ กม.ลูก-ยื่นศาล รธน.ตีความยื้อเลือกตั้งยาวแน่ "บิ๊กตู่" การันตีคุยกับ "บิ๊กป้อม" ทุกวัน อารมณ์ดีตลอดแม้ถูกโจมตีปมนาฬิกาหรู
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวตอนหนึ่ง ระหว่างเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ครั้งที่ 4 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ว่าในการพบกันระหว่างประธานเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา ตนก็ได้ระบุว่าขอเวลาให้เราอีกหน่อยในการจัดทำกฎหมาย ซึ่งเขาก็เข้าใจ
    “ผมก็ได้บอกว่าเราเองก็เหมือนกับประเทศสหรัฐ ที่ประธานาธิบดีกล่าวคำว่าอเมริกันเฟิร์สต์ ผมก็ต้องมีคำว่าไทยแลนด์เฟิร์สต์เหมือนกัน โดยจะต้องดูแลคนของเราด้วย ดูแลผลประโยชน์ของประเทศ วันนี้เรา วันนี้เราเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศในนโยบายที่เรียกว่าไทยนิยม ที่ไม่ใช่เป็นการเอาเงินไปหว่าน หลายคนบิดเบือน วิจารณ์ว่ามีการใช้งบประมาณหลายล้านบาท และในขั้นที่สองของผู้ที่ถือบัตรผู้มีรายได้น้อย จะต้องมีการฝึกอาชีพ โดยมีค่าอาหารให้ 50 บาท โดยระหว่างที่มาเราก็เลี้ยงข้าวเขา 1 มื้อ บางคนไปวิจารณ์ว่ารัฐบาลคิดอะไรไม่ออกจึงเอางบประมาณมาใช้จ่ายกันง่ายๆ ซึ่งจะก่อให้เกิดการทุจริต แต่ถามว่าถ้าเอางบประมาณหว่านลงไปไม่ทั่วถึง คนทุกกลุ่มทุกพวกไม่มีการพัฒนาขีดความสามารถตรงนี้ใช่หรือไม่ หลายคนบอกว่าประชาชนไม่สนใจ แต่ก็อยู่ที่ความอยากพัฒนาตัวเอง” นายกฯ กล่าว
    นายกฯ กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าเราจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้งหรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ต้องรักษาศักยภาพของประเทศไว้ให้ได้ ยืนยันว่าตนไม่ได้ต้องการจะยืดเวลาการเลือกตั้งออกไปอีก เพราะประเทศจะต้องเดินหน้าต่อไป
     จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงการหารือกับประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐเมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐไม่ได้มีการสอบถามหรือกังวลเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งของประเทศไทย เพียงแต่ให้กำลังใจในการเดินหน้าเข้าสู่ประชาธิปไตย โดยตนได้ยืนยันว่าจะเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ทั้งนี้ สหรัฐเข้าใจถึงความจำเป็นของไทยในวันนี้ โดยได้ให้กำลังใจและขอให้ดำเนินการสำเร็จตามที่วางไว้ นอกจากนี้ตนยังได้บอกกับเขาว่า ประเทศไทยเองก็มีปัญหาของประเทศไทย
    “สื่อรู้หรือไม่ว่าประเทศไทยต่างจากสหรัฐอเมริกาอย่างไร ต่างกันทั้งเรื่องของพื้นฐานทางสังคม การศึกษา อาชีพและรายได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีวิธีการที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งตามเวลาที่กำหนด ซึ่งมีอยู่ 2 อย่างคือ 1.ตนกำหนด 2.กฎหมายกำหนด” นายกฯ กล่าว
    ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อโต้แย้งของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า ทราบจากข่าวว่า กรธ.และ กกต.มีมติจะส่งข้อโต้แย้งทั้ง 2 ร่างกฎหมายลูก โดยในเรื่องส.ส.มีประเด็นการจัดมหรสพ การจำกัดสิทธิ์สำหรับผู้ที่ไม่ไปเลือกตั้ง และการขยายระยะเวลาบังคับใช้ 90 วันนับแต่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ยังมีเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีให้มีคนช่วยคนพิการกากบาทในคูหาเลือกตั้ง ซึ่ง กรธ.เห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการลงคะแนนต้องเป็นความลับ 
    สำหรับร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยส.ว.นั้น กรธ.อ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงกลุ่ม ส.ว. องค์ประกอบกลุ่ม และวิธีการโหวตจากการเลือกไขว้กลุ่มเป็นเลือกภายในกลุ่มกันเอง ทั้งนี้ ตนจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่ายภายในสัปดาห์หน้าพร้อมนำทุกประเด็นไปหารือว่าสามารถปรับแก้อะไร อย่างไรได้บ้าง
"มีชัย" คาดการณ์ไม่ได้
    เมื่อถามว่า ตามสัดส่วนการตั้ง กมธ.ร่วม 3 ฝ่าย แบ่งออกเป็น สนช. 5 คน, กรธ. 5 คน และ กกต. 1 คน เท่ากับขณะนี้มีเสียงเป็น 6 ต่อ 5 เสียง หรือ สนช.เป็นเสียงข้างน้อยจากเหตุดังกล่าวจะเป็นการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ร่างกฎหมายลูกตกไปหรือไม่ นายพรเพชรชี้แจงว่า จะต้องเจรจาพูดคุยกันในประเด็นต่างๆ ว่าผ่อนผันหรือกำหนดกฎเกณฑ์ใดได้บ้าง หรือถ้าจะไม่บัญญัติเลยก็ย่อมได้ ส่วนการคว่ำหรือไม่คว่ำร่างกฎหมายเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล และเป็นอิสระของสมาชิก แต่คิดว่าคว่ำลำบาก เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิก สนช. อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่จะใช้การคว่ำร่างกฎหมายลูกเป็นเทคนิคในการขยายเวลาการเลือกตั้ง เบื้องต้น สนช.เห็นว่าร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับไม่ต้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความว่าขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่  
    ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงการทำความเห็นแย้งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อตั้งกมธ.ร่วม 3 ฝ่าย ว่าจะส่งให้ สนช.วันที่ 9 ก.พ.นี้ เมื่อตั้ง กมธ.ร่วมแล้ว คงไม่ได้แก้ไขจนเปลี่ยนไปมากกว่าประเด็นที่ตั้งไว้ ส่วนที่กังวลว่า สนช.อาจลงมติคว่ำร่างกฎหมายลูกนั้น อย่าไปกังวล สนช.ก็มีเหตุผลของเขา เมื่อ กมธ.ร่วมแก้ไขแล้ว ถ้าจะไม่เห็นชอบต้องใช้เสียง 2 ใน 3 อย่าเดาล่วงหน้า ตนตอบไม่ได้ แต่ไม่ได้กระทบเรื่องเวลา ไม่ยืดยาดอะไรแน่ เป็นขั้นตอนปกติ ที่คำนวณกันก็เป็นการคิดแบบเต็มอัตราศึกแล้ว 
    "ให้ความมั่นใจไม่ได้ ผมไม่ได้จัดการเลือกตั้ง มันอาจจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนไม่รู้ อย่าคาดการณ์อะไรกันมาก เดี๋ยวนอนไม่หลับ" นายมีชัยกล่าวเมื่อถามว่าสัญญาได้หรือไม่ว่ากฎหมายลูกจะไม่คว่ำแล้วการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป
    นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า  ขณะนี้ทางสำนักงานอยู่ระหว่างประมวลความเห็นและประเด็นที่ กกต.มีความเห็นแย้ง โดยจะต้องมีการตรวจสอบถ้อยคำและความถูกต้องให้เกิดความเรียบร้อย เพื่อที่จะส่งให้ประธาน สนช.ในวันที่ 9 ก.พ. เป็นการยื่นความเห็นแล้ว 5 ประเด็นในกฎหมายเลือกตั้งส.ส. และ 1 ประเด็นในกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว. ว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการถ่วงการเลือกตั้งให้ยืดเยื้อออกไป เราทำตามกฎหมายที่กำหนดไว้ เป็นไปตามขั้นตอน
    ขณะที่นายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การตั้ง กมธ.ร่วมฯ ไม่น่ากังวลเพราะเป็นแค่ตัวหลอก แต่ขอให้จับตาดูว่า สนช.จะเอาข้อสังเกตของ กมธ.ร่วมฯ ไปปรับแก้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้หรือไม่ หากนำไปปรับแก้ ทุกอย่างก็จบ ไม่มีปัญหา แต่เท่าที่ฟังมา ทราบว่า สนช.มีการตั้งธงล่วงหน้าไว้แล้ว แม้มติ กมธ.ร่วมฯ จะออกมาอย่างไร สนช.ก็ไม่เอาด้วย คือไม่แก้ไขตาม ถึงขั้นตอนนี้ สนช.จะทำใน 2 วิธีคือ 1.สนช.อาจจะคว่ำกฎหมายลูกในหมวดเลือกตั้งนี้ฉบับใดฉบับหนึ่ง ก็จะส่งผลทำให้โรดแมปเลือกตั้งต้องหยุดชะงักยาว เพราะต้องกลับไปแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านประชามติ โดยอาจจะใช้เวลานานถึงสองปีขึ้นไป เพราะต้องมีการทำประชามติ เพื่อขอแก้ และมาเริ่มกระบวนการยกร่างกฎหมายลูกในโหมดเลือกตั้งฉบับที่ถูกคว่ำไป หากเป็นเช่นนี้จะไม่สามารถทราบหรือกำหนดระยะเวลาของการจัดการเลือกตั้งได้ 
การันตี "ป้อม" สบายดี
    "หรือ 2.สนช.รวบรวมเสียงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความในร่างกฎหมายลูกหมวดเลือกตั้ง ซึ่งหากใช้วิธีนี้จะยาวเหมือนกัน เพราะการส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความคงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาตายตัวได้ ซึ่งเป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายเคยให้สัมภาษณ์สื่อ ดังนั้นการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.2562 จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นตามที่ผู้มีอำนาจเคยบอกไว้" นายนิพิฏฐ์กล่าว   
     ที่ศาลแขวงปทุมวัน ถ.พระราม 4 พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้นำตัวผู้ต้องหา 28 ราย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จากการเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ที่จัดกิจกรรมรวมพลประชาชนคนอยากเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน ใกล้ห้างสรรพสินค้า MBK มายื่นคำร้องผัดฟ้อง โดยผู้ต้องหาทั้ง 28 รายให้การปฏิเสธ ต่อมาศาลพิจารณาแล้วให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีหลักประกัน เนื่องจากไม่มีการยื่นคำร้องฝากขัง
    ขณะที่ผู้ต้องหา 2 รายคือ นายนพพร นามเชียงใต้ และนายนพเกล้า คงสุวรรณ ให้การรับสารภาพ  พนักงานอัยการศาลแขวงปทุมวันจึงได้ยื่นฟ้องทั้งสองด้วยวาจาเป็นจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวัน ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 
    อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติดำเนินการสืบเสาะประวัติการศึกษา ครอบครัวของจำเลยทั้งสอง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาพิพากษาคดี โดยนัดฟังคำพิพากษาจำเลยทั้งสองในวันที่ 8 มีนาคมนี้    
    ยังมีความเห็นกรณีนาฬิกาหรู โดย พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวกรณีได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ภายหลังถูกโจมตีเรื่องนาฬิกาหรูบ้างหรือไม่ว่า “คุยกันทุกวัน” 
    เมื่อถามอีกว่า พล.อ.ประวิตรอารมณ์ดีหรือยัง นายกฯ ตอบว่า “อารมณ์ดีตลอด”
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุอย่ารักนายกฯ คนเดียว ต้องรักรองนายกฯ ด้วย ว่าเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์มีหลักคิดและตัดสินใจยืนข้าง พล.อ.ประวิตรอย่างเหนียวแน่นมาโดยตลอดต่อกรณีการตรวจสอบการครอบครองนาฬิกาหรู ตั้งแต่ขอให้ลดราวาศอก มาถึงการอ้อนขอให้รักรองนายกรัฐมนตรีด้วย แม้ว่ากระแสสังคมจะกดดันอย่างหนักให้ พล.อ.ประวิตรแสดงความรับผิดชอบ และคาดหวังว่าความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับเลือกยืนหยัดและให้ความเชื่อมั่นกับ พล.อ.ประวิตรมากกว่ากระแสสังคมที่กดดันอย่างหนักหรือไม่ สวนทางกับการดำเนินการที่ผ่านมา ที่ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งปลด ย้าย ระงับการปฏิบัติหน้าที่ผู้ที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน 
    “ป.ป.ช.ต้องพิสูจน์ตัวเองว่าการแสดงจุดยืนดังกล่าวของหัวหน้า คสช.ไม่มีผลกระทบต่อมาตรฐานการตรวจสอบ พล.อ.ประยุทธ์ไปเอาความมั่นใจมาจากไหน ถึงกล้าประกาศจุดยืนสนับสนุน พล.อ.ประวิตรอย่างเหนียวแน่น สวนทางกับกระแสสังคม  และผลกระทบจากการแสดงจุดยืนดังกล่าว อาจทำให้ความไว้วางใจจากประชาชนลดต่ำลงไปอีกหรือไม่   และจะสะท้อนเป็นปฏิกิริยาทางสังคมต่อไป”นายอนุสรณ์กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"