DNAสองศพลูกน้องสุรชัย ตร.เข้าลาวสาวความจริง!


เพิ่มเพื่อน    


     ตำรวจนครพนมยืนยันผลตรวจดีเอ็นเอ 2 ศพถูกฆ่าโหดทิ้งแม่น้ำโขง เป็นคนสนิท "สุรชัย  แซ่ด่าน" นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ลี้ภัยในลาว เผยเตรียมข้ามโขงเข้าตรวจสอบห้องพักของทั้ง 3  เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงต่อไป ขณะที่ "กสม." เรียกร้องนายกฯ-ประธาน สนช.สร้างหลักประกันทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
     พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน ผบก.ภ.จว.นครพนม เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา ถึงผลตรวจดีเอ็นเอ 2 ศพที่ถูกฆ่าถ่วงแม่น้ำโขงอย่างโหดเหี้ยม เหตุเกิดเมื่อปลายปี 2561 ว่า บก.ภ.จว.ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการจากสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจแล้ว ปรากฏว่าในศพของ สภ.เมืองนครพนม ดีเอ็นเอของลูกชายไม่ขัดแย้งกับศพที่ตรวจพบ และในส่วนของ สภ.ธาตุพนมก็เช่นเดียวกัน การนำดีเอ็นเอของลูกชายและแม่ไปตรวจเปรียบเทียบกับศพที่ตรวจพบก็ไม่ปฏิเสธความสัมพันธ์ บิดา  มารดา และลูก ซึ่งต่อจากนี้จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
    ทั้งนี้ เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีการพบผู้เสียชีวิต 2 ศพ อายุประมาณ 30-50 ปี ในสภาพถูกฆ่าในลักษณะเดียวกัน คือใช้เชือกไนลอนรัดคอ จับใส่กุญแจมือ ผ่าท้องแล้วยัดแท่งปูนซึ่งคล้ายหลักทางโค้งของประเทศเพื่อนบ้าน พันด้วยผ้าเทปห่อตาข่ายสีเขียว และห่อทับอีกชั้นด้วยกระสอบป่าน รัดด้วยเชือกอีกทบ ก่อนโยนทิ้งแม่น้ำโขง กระทั่งศพแรกลอยมาริมตลิ่งใกล้กับตลาดนัดไทย-ลาว หลังเทศบาลตำบลธาตุพนม อ.ธาตุพนม เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.61 
    ต่อมาวันที่ 29 ธ.ค.61 ศพที่สองก็ลอยมาติดฝั่งแม่น้ำโขงบ้านสำราญเหนือ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม โดยมีกระแสข่าวลือว่าศพที่พบอาจเป็นร่างของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (แซ่ด่าน) นักเคลื่อนไหวทางการเมือง กับคนสนิทอีก 2 คนคือ สหายกาสะลอง (นามแฝง) และสหายภูชนะ (นามแฝง) ที่หายตัวไปพร้อมกัน โดยบุคคลทั้ง 3 ลี้ภัยไปอยู่ใน สปป.ลาว 
    กระทั่งลูกชายของสหายภูชนะ คนสนิทของนายสุรชัย อ้างกับคนใกล้ชิดว่าผลการตรวจดีเอ็นเอ ออกมาแล้ว ปรากฏว่าศพที่พบในพื้นที่ สภ.ธาตุพนมมีความเกี่ยวพันกับตน ขณะที่ผลดีเอ็นเอญาติของสหายกาสะลอง ศพที่พบในพื้นที่ สภ.เมืองนครพนม ก็มีผลตรวจออกมาในลักษณะเดียวกันว่ามีความคล้ายคลึงกับศพดังกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังผลดีเอ็นเอออกมาซึ่งค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าเป็นศพของสหายกาสะลองกับสหายภูชนะ คนสนิทนายสุรชัย แซ่ด่าน เจ้าหน้าที่จึงเตรียมจะเดินทางไปขอความร่วมมือจาก สปป.ลาว เพื่อเข้าตรวจสอบที่พักที่กลุ่มนายสุรชัยใช้ลี้ภัย ซึ่งอาจจะพบหลักฐานใช้สาวถึงกลุ่มคนร้ายได้ 
    วันเดียวกัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกจดหมายเปิดผนึกเสนอความเห็นถึงนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย แนะสร้างหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อคุ้มครองสิทธิประชาชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
    โดยมีเนื้อหาระบุว่า "ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... พร้อมแจ้งผลการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้ในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ซึ่งต่อมาในคราวประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 86/2561 เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณาต่อไปนั้น
    กสม.เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย  พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีเจตนารมณ์เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม  หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อให้เป็นกฎหมายในการอนุวัติการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ กสม.จึงได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ  ฉบับดังกล่าว และเสนอความเห็นเพิ่มเติมไปยังนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน โดยมีความเห็นสรุปดังนี้
    1.โดยทั่วไปร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญที่สอดคล้องกับอนุสัญญา CAT และ ICPPED ทั้งในส่วนนิยามความผิดฐานกระทำทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย การดำเนินคดีและบทกำหนดโทษ  รวมทั้งการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายและการคุ้มครองผู้เสียหาย
    2.ในการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมามีผู้เสนอความเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นต้องบัญญัติเรื่องการห้ามยกสถานการณ์ฉุกเฉิน สงคราม ความไม่มั่นคงของรัฐ หรือสถานการณ์พิเศษใดเป็นข้ออ้างในการทรมานหรือกระทำให้บุคคลสูญหาย และการห้ามส่งตัวบุคคลออกนอกราชอาณาจักรหากมีเหตุควรเชื่อได้ว่า บุคคลนั้นจะถูกทรมานหรือถูกกระทำให้สูญหาย หรือหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement) ตามมาตรา 11 และ 12 ไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ เนื่องจากมาตรา 5 และ 6 ของร่างพระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดโดยชัดแจ้ง แล้วเมื่อการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐครบองค์ประกอบความผิดแล้วไม่ว่าในสถานการณ์ใด ก็ไม่สามารถอ้างเหตุยกเว้นความผิดตามกฎหมายได้ ส่วนกรณีการส่งตัวบุคคลออกนอกประเทศนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำหลักการห้ามผลักดันกลับไปสู่อันตรายมาพิจารณา ประกอบกับประเทศไทยมีกฎหมายที่ให้ดุลพินิจฝ่ายบริหารในการพิจารณาไม่ผลักดันบุคคลออกนอกประเทศได้อยู่แล้ว อาทิ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
    อย่างไรก็ตาม กสม.เห็นว่าบทบัญญัติในมาตรา 11 และ 12 ของร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นหลักการสำคัญของอนุสัญญา CAT และอนุสัญญา ICPPED โดยเมื่อพิจารณาเห็นว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามอนุสัญญา CAT และ ICPPED การคงมาตรา 11 และ 12  ไว้ในร่างพระราชบัญญัติฯ จะเป็นการสร้างหลักประกันทางกฎหมายที่ชัดเจนในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
    3.การกำหนดความรับผิดของผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 32 ของร่างพระราชบัญญัติฯ มีที่มาจากอนุสัญญา ICPPED ข้อ 6 (ข) ซึ่งกำหนดองค์ประกอบความรับผิดของผู้บังคับบัญชาไว้ 3 ประการ  คือ (1) ทราบหรือเจตนาละเลยข้อมูลซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาภายใต้อำนาจและการควบคุมที่มีผลของตนได้กระทำหรือจะกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (2) มีอำนาจความรับผิดชอบและการควบคุมอย่างมีผลเหนือกิจกรรม ซึ่งเกี่ยวข้องกับความผิดฐานกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับ 
    และ (3) ไม่ดำเนินมาตรการต่างๆ ทั้งหมดที่จำเป็นและเหมาะสมภายใต้อำนาจของตน เพื่อป้องกันหรือระงับการกระทำให้บุคคลหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือเสนอเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจเพื่อดำเนินการสอบสวนและดำเนินคดีนั้น จึงเห็นว่าการกำหนดความรับผิดของผู้บังคับบัญชาตามมาตรา 32 ในร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งระบุว่า 'ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรงของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิด...' อาจไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายตามข้อ 6  ของอนุสัญญา ICPPED จึงเห็นควรตัดคำว่า 'โดยตรง' ออก คงเหลือข้อความดังนี้ 'ผู้บังคับบัญชาผู้ใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของตนจะกระทำหรือได้กระทำความผิด...'
    4.กสม.มีข้อสังเกตว่า ในบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ ระบุว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญา CAT และอนุสัญญา ICPPED ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ เพราะตามข้อเท็จจริงประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีเฉพาะอนุสัญญา CAT เท่านั้น ส่วนอนุสัญญา ICPPED แม้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 10  มีนาคม 2560 แต่ประเทศไทยยังไม่ได้ดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ICPPED แต่อย่างใด การระบุว่าประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญา ICPPED จึงยังคลาดเคลื่อน".


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"