รู้กฎกติกาก่อนเลือก ๒๔ มีนา


เพิ่มเพื่อน    

    บทจะเร็ว ก็เร็วซะลิงหงายท้อง!
    เช้า......
    ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.(๒๓ ม.ค.๖๒)
    บ่าย
    กกต.ประกาศ "วันเลือกตั้ง ส.ส."
    ถอดสมการตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ก็จะได้ตารางเวลาอย่างนี้
    ๔-๘ ก.พ.เปิดรับสมัคร ส.ส. 
    ๘ ก.พ.ประกาศรายชื่อ "ว่าที่นายกฯ" แต่ละพรรค
    ๑๕ ก.พ.ประกาศรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.
    ๒๔ มี.ค.เลือกตั้ง ส.ส.
    ลงคะแนนนอกราชอาณาจักร ๔-๑๖ มี.ค.
    ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในและนอกเขตจังหวัด รวมถึงการออกเสียงเลือกตั้งในสถานเลือกตั้งกลางของผู้ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ ๑๗ มี.ค.
    กำหนดวันเลือกตั้งนี้ กกต.ส่งให้รัฐบาล เพื่อนำประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปแล้ว
    เอาล่ะ......
    ทีนี้ ก็มาดูว่า แต่ละเงื่อนเวลานั้น มีที่มา-ที่ไปอย่างไร ไม่ใช่ กกต.นิมิตเอาเอง
    ค่อยๆ ทำความเข้าใจกันไปแต่ละประเด็นละกัน จะได้เป็นวัคซีนป้องกัน "ภาวะด้อยสำนึก" ที่ระบาดจากนักเลือกตั้งและพวก MV ประชาธิปไตย 
    รัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๓ วรรค ๓ บอกว่า....
    "ภายในห้าวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสี่สิบห้าวัน แต่ไม่เกินหกสิบวัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับ"
    พระราชกฤษฎีกา มีผลใช้บังคับตั้งแต่หลังสองยาม เมื่อย่างเข้าวันที่ ๒๓ มกรา ๖๒
    ฉะนั้น ภายใน ๕ วัน......
    ๒๓-๒๗ ม.ค.วันใด-วันหนึ่ง กกต.ต้องประกาศ "กำหนดวันเลือกตั้ง" ในราชกิจจานุเบกษา
    กกต.ก็ประกาศแล้ว คือ ๒๔ มี.ค."วันเลือกตั้ง"
    จะน้อยกว่า ๔๕ วัน หรือไม่เกิน ๖๐ วัน นับแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับ ก็นับกันเอง!?
    กกต.กำหนด ๔-๘ ก.พ.เปิดรับสมัคร ส.ส.
    ก็ไปดูมาตรา ๘๘ ที่บอกว่า
    "......ให้พรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ..." หมายความว่า ๘ ก.พ.ปิดรับสมัคร ส.ส.ปุ๊บ ก็จะรู้ว่า แต่ละพรรค "เสนอชื่อใคร" เป็นนายกรัฐมนตรี?
    พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา.....
    นายกฯ ปัจจุบัน จะรับเทียบเชิญพรรคพลังประชารัฐ ยอมให้เสนอชื่อเป็นว่าที่นายกฯ ของพรรคต่อกกต.หรือไม่?
    และพรรคอื่นๆ เช่น พรรคตระกูลเพื่อ ประชาธิปัตย์ รวมพลังประชาชาติไทย ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ
    แต่ละพรรค จะส่งใคร รู้กันวันนั้นแหละ!
    โดยเฉพาะกลุ่มตระกูลเพื่อ หลายปลอกคอ แต่รวมโซ่กระตุกในเส้นเดียว เขาจะเชิดใครขึ้นแต่ละหัวบ้าง
    เห็นจ้องกันตาโบ๋!
    ผมว่า "ว่าที่นายกฯ" นี่แหละ
    จะเป็นตัวชี้เป็น-ชี้ตายในวันเลือกตั้ง ๒๔ มีนาว่า พรรคไหน-ขั้วไหน จะชนะเป็นนายกฯ-เป็นรัฐบาล โดยไม่ต้องไปรอลุ้นผลตอนนั้น
    คอยดูเถอะ.......
    ชื่อนายกฯ ประยุทธ์ จะมีหรือไม่มี ในบัญชีนายกฯ ของพรรค ไม่ว่าพรรคไหน
    ปรอทเลือกตั้ง "แตก" ทั้งนั้น!
    คือมี ก็แตก ไม่มี ก็แตก
    พรรคตรงข้าม ไม่มีทางไว้ใจทั้งพลังประชารัฐ ทั้งพลเอกประยุทธ์ ต้องใช้วิชามาร ป่วนจนถึงที่สุด
    ก็บอกให้แฟนคลับ "ตู่ดิจิทัล" รู้ไว้ จะได้ไม่เป็นลม-เป็นแล้ง เมื่อเห็นลีลาประชาธิปไตยเลือกตั้งจากพวกตายอด-ตายอยาก
    มองอีกด้าน คนไทยนี่ ผมว่าโชคดี เพราะได้ลุ้น-ได้มันจากเลือกตั้งเที่ยวนี้ ถึง ๒ ขยัก 
    ขยักแรก ลุ้น "ว่าที่นายกฯ" แต่ละพรรค วันที่ ๘ กุมภา
    แล้วไปลุ้นผลเลือกตั้ง ส.ส.ขยักสอง หลังปิดหีบวันที่ ๒๔ มีนา!
    แต่เดี๋ยวก่อน ทำความเข้าใจกันอีกนิด.......
    กรอบเวลาเลือกตั้งทั้งหมดมี ๑๕๐ วัน คือ ๕ เดือน นับจากวันที่กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ๔  ฉบับประกาศใช้เมื่อ ๑๑ ธันวา ๖๑ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๘
    จะไปครบ ๑๕๐ วัน ก็ตกวันที่ ๙ พฤษภาคม ๖๒ 
    คือภายใน ๑๕๐ วัน นี้.......
    จะกำหนดให้เลือกตั้งวันไหนได้ทั้งนั้น จะ ๘ พฤษภาก็ยังได้เลย!
    ๑๕๐ วัน ไม่เกี่ยวกับการ "ประกาศผลเลือกตั้ง" อย่างที่นายหีบแตก พูดให้สับสน-ไขว้เขว 
    ทุกขั้นตอน มีบอกในรัฐธรรมนูญชัดเจนทั้งนั้น พวก "มืดบอดทางจิต" ตะแบงไปเอง
    ย้ำเข้าใจกันให้ชัด.....
    ๑๕๐ วัน เป็นกรอบกำหนดเฉพาะวันเลือกตั้ง ตามมาตรา ๒๖๘
    ไม่เกี่ยวกับประกาศผลเลือกตั้ง ว่าต้องอยู่ภายใต้กรอบ ๑๕๐ วันนั้นด้วย
    รัฐธรรมนูญ มาตรา ๘๕ วรรคสี่ ระบุไว้ว่า........
    "ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่าหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง.........."    
    ก็ชัดเจน
    เลือกตั้ง ๒๔ มีนาแล้ว กกต.ยังมีเวลาอีก ๖๐ วัน ถึง ๒๔ พ.ค.โน่น จะประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ตอนไหนก็ได้
    ถ้า กกต.จะ "เอวไวที่สุดในปฐพี"
    เลือกตั้ง ๒๔ มีนาเสร็จปุ๊บ ประกาศผลภายใน ๙ พฤษภาของกรอบเลือกตั้ง ๑๕๐ วัน ก็เอาเลย!
    เอ้า...มาดูต่อ
    ประกาศผลเลือกตั้งแล้ว จะเปิดสภากันตอนไหน-เมื่อไหร่ล่ะ?
    มาตรา ๑๒๑ บอกว่า
    "ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก"
    และมาตรา ๑๒๒ บอกว่า
    "พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม......"
    สรุป คือ ประกาศผลเลือกตั้งแล้ว นับจากนั้นไป ภายใน ๑๕ วัน เปิดประชุมรัฐสภา คือทั้ง ส.ส.-ส.ว.เป็นนัดปฐมฤกษ์
    จากนั้น ก็เข้าสู่ขั้นตอน เลือกประธานสภา เลือกนายกฯ เพื่อให้นายกฯ ไปตั้งรัฐบาล 
    ก็ตกราวๆ มิถุนาโน่นแหละ!
    ประเด็นควรจะทราบ การเลือกนายกฯ ครั้งนี้ ใช้บทเฉพาะกาล มาตรา ๒๗๒ วรรคแรก ที่บอกว่า
    "ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๙ เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙ วรรคหนึ่ง ให้กระทำร่วมกันในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๙ วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา"  
    ส.ส.มี ๕๐๐ คน ส.ว.มี ๒๕๐ คน รวม ๗๕๐ คน
    "กึ่งหนึ่ง" ของทั้งสองสภา เท่ากับ ๓๗๕ คน
    ก็หมายความว่า.......
    ใครจะเป็นนายกฯ ต้องได้เสียง "ส.ส-ส.ว." รวมกัน ตั้งแต่ ๓๗๖ คนขึ้นไป!
    สุดท้ายที่ควรทราบ ที่สงสัยกัน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จะต้องเป็น "รัฐบาลรักษาการ" ใช่หรือไม่?
    ปกติใช่.......
    แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ คสช.และ สนช. ยังเหมือนเดิมทุกประการ จนกว่ามีรัฐบาลใหม่มาแตะมือ
    เป็นรัฐบาลมีอำนาจเต็ม ทำงานทางนโยบายได้ปกติ คสช.-สนช.ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิม
    ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ ที่บอก
    "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่........"
    และมาตรา ๒๖๕ 
    "ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่......"
    เอาละมังครับ
    น่าจะเคลียร์ประเด็นสงสัย-ข้องใจในเรื่องว่าด้วยเลือกตั้งและสถานะรัฐบาล คสช.ได้พอสมควร
    วันนี้ "กินแห้ง" ไปก่อน พรุ่งนี้ค่อย "ซดน้ำ" ตามละกัน!


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"