ดำเนินคดีนายจ้าง สะเพร่าคร่า5ศพ


เพิ่มเพื่อน    

    ตัวแทนสภาวิศวกรเข้าตรวจจุดเกิดเหตุเครนถล่มคร่าคนงาน 5 ศพ พบเป็นเครนเก่าสภาพไม่สมบูรณ์ ไล่เบี้ยวิศวกรคุมงาน ถ้าพบมีความผิดถึงขั้นถอนใบอนุญาต ขณะที่ตำรวจก็เตรียมแจ้งข้อหาประมาททำให้มีคนตาย-บาดเจ็บ รมว.แรงงานสั่งจ่ายสิทธิประโยชน์ผู้ประสบเหตุ 
    เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 มกราคมนี้ นายเสถียร เจริญเหรียญ วิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร นายชูเลิศ จิตเจือจุณ นายวัฒนพงษ์ หิรัญมา นายนรงค์ กระจ่างยศ คณะผู้เชี่ยวชาญชำนาญการด้านโยธาและการก่อสร้างสภาวิศวกร และ พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส ผกก.สน.บางโพงพาง เดินทางเข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุในไซต์งานก่อสร้างคอนโดมิเนียมลุมพินีคอนโด โครงการลุมพินีเพลส พระรามสาม-ริเวอร์ไรน์ ถนนพระราม 3 ซอย 45 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ หลังเกิดเหตุเครนถล่ม มีผู้เสียชีวิต 5 ศพ บาดเจ็บ 5 ราย
    พ.ต.อ.สมโภชเปิดเผยว่า ตำรวจได้สอบปากคำไปแล้ว 5 ปาก คือ พยานผู้ตายและพยานแวดล้อม แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการเกิดเครนถล่มมาจากสาเหตุใด ต้องรอผลการตรวจจากกองพิสูจน์หลักฐาน สภาวิศวกร มาประกอบคดี ทั้งนี้ ทางนายจ้างจะต้องมีการเยียวยาทั้งในส่วนของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต และได้ประสานญาติให้นำศพผู้เสียชีวิตไปบำเพ็ญกุศลตามภูมิลำเนา อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยังไม่ส่งตัวแทนเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าขณะเกิดเหตุมีวิศวกรควบคุมงานหรือไม่ ต้องรอสอบปากคำคนเจ็บโดยละเอียดอีกครั้งจึงจะสรุปได้ ยืนยันตำรวจจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
    ตำรวจระบุว่า ผู้รับเหมาก่อสร้าง คือ บริษัท ตรัย กรุ๊ป รัชดา จำกัด ซึ่งรับเหมาก่อสร้างต่อจากบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) จะได้เรียกผู้บริหารมาสอบปากคำในประเด็นการก่อสร้างและติดตั้งเครน ว่ามีการขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ รวมถึงมีการว่าจ้างให้ใครดำเนินการ หากพบความผิดจะแจ้งดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้องในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ
    ขณะที่นายชูเลิศกล่าวว่า สภาวิศวกรมีหน้าที่กำกับดูแลวิศวกร ในกรณีนี้เป็นเหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย ในส่วนของการก่อสร้างจะต้องมีวิศวกร 2 ส่วน คือ วิศวกรควบคุมอาคาร และวิศวกรควบคุมการสร้างเครน จะต้องประสานงานกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าขณะเกิดเหตุมีวิศวกรคุมงานหรือไม่ แต่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเกิดจากความประมาทของตัววิศวกรเอง ซึ่งถ้าผลการตรวจสอบพบว่ามีความผิด ก็จะถูกลงโทษเพิกถอนใบอนุญาตตลอดชีวิต
    ส่วนนายสุทัศน์ รุจิณรงค์ ผอ.เขตยานนาวา เปิดเผยว่า ในส่วนของการแจ้งติดตั้งเครนตามหนังสือหารือการติดตั้งเครนขนส่งวัสดุใช้ในการก่อสร้าง ปี 49 ระบุว่า เครนไม่ใช่ส่วนหนึ่งของอาคาร ทางผู้รับเหมาหรือโครงการก่อสร้างจะต้องแจ้งให้ทางสำนักงานเขตรับทราบว่าจะมีการติดตั้งเครน หากไม่ได้แจ้งก็ไม่มีข้อกฎหมายระบุความผิด แต่ทางสำนักงานเขตจะสุ่มตรวจสอบทุกเดือนในการก่อสร้างภายในเขต อย่างไรก็ตาม หากจะทำการรื้อถอนเครน ทางโครงการต้องทำหนังสือแผนการรื้อถอน และแผนปฏิบัติงานความปลอดภัย ส่งให้สำนักงานเขตพิจารณา จึงจะสามารถรื้อถอนได้ หากต้องการติดตั้งใหม่ก็ต้องทำหนังสือขออนุญาตกับทางเขตจึงจะสามารถติดตั้งเครนได้
    ต่อมา นายชูเลิศเปิดเผยภายหลังเข้าตรวจพื้นที่จุดเกิดเหตุว่า เบื้องต้นเครนที่ถล่มเป็นเครนเก่ามีอายุการใช้งานหลายปี และไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลพบว่า การถล่มเกิดจากการประกอบเครน ซึ่งในส่วนนี้จะต้องมีผู้ควบคุม 2 ส่วน คือ วิศวกรโยธาควบคุมโครงการ และวิศวกรช่างกลควบคุมเครน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าขณะเกิดเหตุมีวิศวกรควบคุมหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างเรียกตัววิศวกรมาให้ข้อมูล หากพบว่าเป็นความผิดพลาดของตัววิศวกรจริง ก็จะมีโทษตั้งแต่ตักเตือน พักใบอนุญาต และเพิกถอนใบอนุญาต และเบื้องต้นพบว่าไม่มีผลกระทบกับตัวอาคาร มีเพียงรอยแตกร้าวเล็กน้อยบนพื้นที่ชั้น 12 ซึ่งต้องรื้อทำใหม่
    สำนักงานเขตยานนาวาได้ติดป้ายคำสั่งห้ามใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน โดยในวันนี้มีเพียงคนงานเฝ้าพื้นที่และไม่มีการก่อสร้างใดๆ 
    พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ทายาทของลูกจ้างที่เสียชีวิตจากการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 เป็นค่าทำศพจำนวน 40,000 บาท ค่าทดแทนร้อยละ 70 ของค่าจ้างเป็นเวลา 10 ปี และทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกองทุนประกันสังคม ส่วนลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับเงินทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาลวงเงิน 50,000 บาทถึง 1 ล้านบาท กรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ค่าทดแทนกรณีหยุดงานร้อยละ 70 ของค่าจ้าง โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี ค่าทดแทนกรณีสูญเสียไม่เกิน 10 ปี กรณีทุพพลภาพจะได้รับค่าทดแทนไม่น้อยกว่า 15 ปี และค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งแบ่งเป็นค่าฟื้นฟูด้านอาชีพ 24,000 บาท และค่าฟื้นฟูด้านการแพทย์ 24,000 บาท
    พร้อมกันนี้ ได้สั่งให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ตามมาตรา 14
    นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ที่ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุเครนถล่ม ว่า จากการตรวจสอบพบว่าสถานที่ก่อสร้างดังกล่าวได้ก่อสร้างถึงชั้น 12 จึงทำการต่อเครนเพื่อก่อสร้างชั้น 13 โดยมีบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นเจ้าของโครงการ และมีบริษัทเป็นผู้รับเหมาช่วงก่อสร้าง โดยในเบื้องต้นได้รับรายงานว่า โครงการดังกล่าวมีการใช้ปั้นจั่นชนิดอยู่กับที่ หรือ Tower Crane จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจากปั้นจั่นเครื่องที่หักโค่นลงมาอยู่ในระหว่างการเพิ่มความสูงของปั้นจั่น โดยใช้ปั้นจั่นอีกเครื่องทำหน้าที่ยกชุดคอสวิงที่ประกอบไปด้วย ห้องบังคับปั้นจั่น แขนปั้นจั่น มอเตอร์และน้ำหนักถ่วง ซึ่งระหว่างที่เพิ่มความสูงโดยการติดตั้งชิ้นส่วนของหอปั้นจั่น โครงสร้างหอปั้นจั่นอาจแกว่งจนเสียสมดุล ทำให้ชุดนอตหรือสลักที่ใช้ยึดขาด ทำให้โครงสร้างหักโค่นลงมาพร้อมกับลูกจ้างที่กำลังทำหน้าที่ยึดชุดนอตพลัดตกลงมาด้วย อีกทั้งยังดึงเอาปั้นจั่นอีกเครื่องที่ทำหน้าที่ยกชุดคอสวิงของปั้นจั่นที่หักโค่นจนได้รับความเสียหายเช่นเดียวกัน
    นายวิวัฒน์กล่าวว่า จากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า นายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยในวันนี้ (24 ม.ค.62) นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดี กสร. พร้อมด้วยพนักงานตรวจความปลอดภัยได้ลงพื้นที่เกิดเหตุ และจะได้ร้องทุกข์กล่าวโทษนายจ้างตามฐานความผิดดังกล่าวต่อพนักงานสอบสวน สน.บางโพงพาง นอกจากนี้ พนักงานตรวจความปลอดภัยจะตรวจสอบเพิ่มเติมว่านายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 14 ในกรณีที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในสภาพการทำงานหรือสภาพแวดล้อมในการทำงานที่อาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย นายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำงาน และแจกคู่มือปฏิบัติงานให้ลูกจ้างทุกคนก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงาน เปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนสถานที่ทำงาน รวมทั้งมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้วแต่ฐานความผิด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"