ปวดหัวกกต.คุมเข้ม นักการเมืองซัดข้อกำหนดรุงรัง'อิทธิพร'ไม่ผ่อนผัน


เพิ่มเพื่อน    


    ระเบียบ-ประกาศ กกต.ทำ “พรรค-นักการเมือง” ไปไม่เป็น อิทธิพรย้ำผู้จะสมัคร ส.ส.ต้องแนบบัญชีจ่ายภาษีย้อนหลัง 3 ปีตั้งแต่ปี 2559-2561 ผ่อนผันไม่ได้ “หนูนา” รับปวดหัว “มาร์ค” จี้เคลียร์ด่วนหาเสียงผ่านโลกออนไลน์ รับข้อกำหนดสุดรุงรัง กกต.กทม.ลั่นให้เวลา 5 วันปลดป้ายหาเสียง ชี้สัปดาห์หน้าถึงชัดเจนว่าติดได้ที่ไหน แกนนำ “พรรคเพื่อแม้ว” พร้อมใจจี้ “ประยุทธ์” ลาออกจากเก้าอี้นายกฯ-หัวหน้า คสช.
    เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 ม.ค. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศที่ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 5 ฉบับ  ประกอบด้วย 1.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 2.ประกาศ กกต.เรื่องจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด 3.ประกาศ กกต.เรื่องการสมัครรับเลือกตั้ง  ส.ส. 4.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวันและเวลาออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งกลาง  และ 5.ประกาศ กกต.เรื่องกำหนดวัน เวลา ยื่นคำขอลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนน ส.ส.ก่อนวันเลือกตั้ง 
    ขณะเดียวกันนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือเรื่องการเตรียมการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปแจ้งไปยังผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เตรียมการจัดการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการประสานกับสำนักทะเบียนอำเภอและทะเบียนท้องถิ่น ในเรื่องการจัดทำบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง การกำหนดหน่วยเลือกตั้ง การลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งและนอกเขตจังหวัดที่ กกต.กำหนดให้เปิดลงทะเบียน 28 ม.ค.-19 ก.พ. นอกจากนี้เมื่อวันที่  23 ม.ค.นายอิทธิพรได้ลงนามแต่งตั้ง กกต.ประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต) และผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (ผอ.กต.เขต) ใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร รวม 350 เขตทั่วประเทศแล้ว
    ด้านนายอิทธิพรได้ชี้แจงถึงประกาศ กกต.เรื่องการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดเรื่องหลักฐานการยื่นสมัคร ส.ส.ในส่วนของหลักฐานแสดงการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมา กกต.ได้หารือกันเรื่องการเสียภาษีย้อนหลังอย่างเข้มข้นหลายมิติ  เพราะมีพรรคการเมืองตั้งคำถามมา ซึ่งเราอภิปรายบนพื้นฐานการไขข้อข้องใจ ตั้งใจพยายามไม่ให้เป็นปัญหาข้อปฏิบัติ ขอบเขต และเวลา ส่วนที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)  ระบุว่าหากใช้หลักฐานการเสียภาษีของปี 2559-2560-2561 อาจเป็นปัญหา เพราะการยื่นภาษีต้องยื่นภายในวันที่ 31 มี.ค.62 จึงควรใช้หลักฐานเสียภาษีย้อนหลังที่เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2558-2560 แทนนั้นไม่น่าทำได้ เพราะมาตรา 45 (2) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้ว่าต้องเป็นเวลาติดต่อกัน 3 ปีนับถึงปีที่สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้การยื่นภาษีปี 2561 ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 ดังนั้นผู้ที่จะลงสมัครจึงยังมีช่วงเวลาดำเนินการได้อยู่
นักการเมืองสุดมึน
    ทั้งนี้ หากนับตามปฏิทินของ กกต.ที่จะรับสมัคร ส.ส.ที่กำหนดไว้ในวันที่ 4-8 ก.พ.ก็จะทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ทุกพรรคเหลือเวลาการยื่นภาษีให้เสร็จสิ้นเพียงแค่ 12 วันเท่านั้น
    ส่วน น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ยอมรับว่ากังวลพอสมควรและกำลังปวดศีรษะในเรื่องดังกล่าว ถือเป็นเรื่องยากมากที่จะทำได้ทัน จึงขอฝาก กกต.ให้พิจารณาด้วย รวมถึงระเบียบขั้นตอนใหม่ เช่นเรื่องการแต่งตั้งตัวแทนประจำจังหวัดทุกจังหวัดที่ส่งผู้สมัคร แต่ในฐานะพรรคการเมืองเราก็ต้องทำให้ได้ 
    นายนิกรกล่าวว่าจะมีปัญหาต่อผู้ลงสมัครของทุกพรรคการเมือง ขอให้ กกต.พิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน
    ทั้งนี้ นอกจากเรื่องหลักฐานการยื่นการเสียภาษีย้อนหลัง 3 ปีแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องการหาเสียง  โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่ทำให้ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.และนักการเมืองไม่แน่ใจถึงกับปิดเฟซบุ๊กหรืองดโพสต์จำนวนมาก โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่าอยากให้ กกต.เร่งดำเนินการกำหนดรายละเอียดต่างๆ ในการหาเสียงให้เร็วที่สุด ทั้งการกำหนดจุดติดตั้งป้ายหาเสียง และการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการกำหนดให้มีผู้ช่วยหาเสียงได้ไม่เกิน 20 คน ถามว่าต้องนับใครบ้างและนับอย่างไร เป็นต้น
    “การหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ อยากให้ กกต.ชัดเจนในการปฏิบัติ เพราะได้กำหนดให้ต้องแจ้งชื่อผู้ผลิต ผู้ว่าจ้าง จำนวนชิ้นที่ผลิต วันที่ที่ผลิตไว้ทางด้านหน้าอย่างชัดเจน เรายินดีทำตามนี้ได้ แต่อยากเรียน กกต.ว่าค่อนข้างรุงรัง ถามว่าการกำหนดแบบนี้จำเป็นด้วยหรือ นอกจากนี้ก็อยากขอความชัดเจนในการควบคุมสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพราะพรรคเองก็ควบคุมได้เพียงส่วนหนึ่ง เช่นเพจเฟซบุ๊กเรารับผิดชอบข้อความที่เราเอาขึ้นเองได้ แต่ถ้าจะให้รับผิดชอบทุกความเห็นที่คนพิมพ์เข้ามาไม่ใช่เรื่องง่าย  ส่วนตัวผมจะไม่ปิดเพจตัวเอง เพราะมั่นใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ถ้าจะกรุณาควรกำหนดให้ชัดว่าความรับผิดชอบเป็นอย่างไรก็จะเป็นประโยชน์ เพราะ กกต.สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ภายในครึ่งวัน ไม่จำเป็นต้องให้พรรคการเมืองทำหนังสือและ กกต.ตอบกลับ 30 วัน ซึ่งจะไม่ทันเวลาในการหาเสียง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
    หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือ ไปควบคุมอะไรเสียจนทำให้บรรยากาศที่จะทำให้คนสนใจการเลือกตั้งได้รับข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางถูกทำลายไป เพราะเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม หากจำกัดการสื่อสารการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่ใช่เรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ แต่เป็นผลเสียกับการเลือกตั้งโดยตรง ดังนั้นอะไรที่ทำความชัดเจนได้เร็วที่สุดเท่าไหร่ก็ควรทำเพื่อประโยชน์ต่อทุกคน 
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า ระเบียบ กกต.เรื่องการหาเสียงใช้เฉพาะกับผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองเท่านั้น โดยเงื่อนไขมีอยู่เพียงว่าให้ไปแจ้งกับ กกต.ว่าจะใช้เพจอะไรเป็นทางการ ก่อนเริ่มต้นหาเสียง ก่อนเป็นผู้สมัคร ส.ส. ส่วนพี่น้องประชาชนทั่วไปยังใช้เสรีภาพของท่านได้ ทั้งนี้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะสมบูรณ์แบบเป็นสากล จำเป็นต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทุกๆ คนอย่ากลัวในการที่จะแสดงออกว่าจะสนับสนุนพรรคการเมืองใด หรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด นี่คือเรื่องปกติ อย่าให้ความผิดปกติของการที่รัฐบาลทหารครองอำนาจมาอย่างยาวนานกดทับเรา จนเราไม่กล้าใช้เสรีภาพ
สัปดาห์หน้าชัดพื้นที่ติดป้าย
    นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า สถานการณ์ของพรรคการเมืองทั้งใหม่และเก่าในขณะนี้เป็นไปตามคาด และเป็นเหตุให้ตัดสินใจแจ้ง กกต.เพื่อยุติพรรค เพราะเล็งเห็นว่าข้อปฏิบัติของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินกิจกรรม และสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดกฎหมายที่อาจถูกตัดสิทธิ์ กระทั่งมีโทษทางอาญาหรือทางแพ่งได้ 
    “น่าสนใจว่าเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนถึงวันสมัคร ส.ส. พรรคการเมืองต่างๆ จะมีความพร้อมได้ซักกี่พรรค ด้าน กกต.เองจะมีความพร้อมตรวจสอบและรับรองขั้นตอนต่างๆ ได้มากขนาดไหน จนทำให้พรรคการเมืองอีกหลายพรรคอาจตกม้าตายได้ง่ายๆ ซึ่งบทสรุปของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าจัดขึ้นด้วยความไม่พร้อมในทุกๆ ด้านทุกฝ่าย"
    ส่วนที่สำนักงาน กกต. น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการ กกต.ประจำ กทม.กล่าวถึงการกำหนดพื้นที่สำหรับการติดป้ายหาเสียงเลือกตั้งว่า พรรคการเมืองยังไม่สามารถติดป้ายหาเสียงได้ เนื่องจาก กกต.ยังไม่ได้กำหนดสถานที่ติดป้าย ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ก็พบป้ายของหลายพรรคการเมืองติดอยู่ตามพื้นที่สาธารณะ เบื้องต้นได้ประสานไปยังสำนักงานเขตให้ปลดป้ายแล้ว ซึ่งถ้าจะดำเนินการจริงจังต้องถือว่ามีความผิดแล้ว แต่ กกต.อยากผ่อนปรนจึงขอความร่วมมือให้ปลดป้ายลง  ดังนั้นว่าที่ผู้สมัครรายใดที่ติดป้ายหาเสียงขอให้ปลดออกภายใน 5 วัน ถ้าไม่ดำเนินการสำนักงานเขตจะเก็บป้ายและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ทั้งนี้ กกต.กทม.กำลังเร่งหารือกับสำนักงานปลัด กทม.เพื่อกำหนดสถานที่ติดป้ายหาเสียง โดยคาดว่าสัปดาห์หน้าจะชัดเจนแน่นอน
    รายงานแจ้งว่าภายหลังมี พ.ร.ฎ.ออกมา ปรากฏว่านายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขตพญาไท จตุจักร ราชเทวีได้ให้ทีมงานติดป้ายหาเสียงตัวเองในเขตเลือกตั้งดังกล่าวทันที แต่ต่อมาในช่วงเที่ยงของวันพฤหัสบดีนายอรรถวิชช์ก็ได้สั่งเก็บป้ายดังกล่าวทันที โดยนายอรรถวิชช์กล่าวว่าหลังได้ติดป้ายหาเสียงไปแล้ว นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม.ได้โทรศัพท์มาขอให้เก็บป้าย เนื่องจาก กทม.ยังไม่ออกประกาศจุดติดป้าย ดังนั้นจึงยินดีร่วมมือแต่ก็อยากให้ กทม.เร่งออกประกาศด้วย 
    ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการหาเสียงของพรรคการเมืองว่า กฎหมายกำหนดให้เริ่มหาเสียงได้ตั้งแต่วันที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เป็นต้นไป แต่เมื่อยังไม่ได้สมัคร ส.ส. ยังไม่มีหมายเลข จึงมีอะไรบางอย่างที่เป็นอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องของผู้สมัคร แต่กระบวนการต่างๆ กกต.ได้ออกระเบียบไว้หมดแล้ว ก็ทำได้เต็มที่ ส่วนรายละเอียดต่างๆ เช่น การจัดรถแห่ การโพสต์ในเฟซบุ๊ก และการจัดเวทีเสวนาต่างๆ นั้นต้องไปถามรายละเอียดกับ กกต. ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลหรือแม้แต่ตนเองที่จะไปพูด
แนะไปส่องกฎหมาย
    เมื่อถามถึงการวิจารณ์ว่ารัฐบาลกำลังเอาเปรียบทางการเมือง นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อใดมีการกล่าวหาก็ต้องทำให้เกิดความชัดเจน ซึ่งรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าทำได้ อย่างน้อยคือการจัดงานพระราชพิธี และการเตรียมการเป็นประธานอาเซียน เป็นเรื่องที่ต้องทำ เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาและโครงการต่างๆ  ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาประเทศ ใครที่บอกว่ามีปัญหาและทำไม่ได้กรุณาไปดูว่ากฎหมายมาตราใดที่ห้าม
    “ท่านอาจเป็นรัฐมนตรีหรือนักการเมืองในสมัยที่รัฐบาลยุบสภา หรือรัฐบาลครบวาระ หรือคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งจากการที่นายกฯ ลาออก ท่านจึงเคยเผชิญกับการต้องพิจารณาว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งก็ถูกต้องเพราะรัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัด แต่เวลานี้รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนอย่างนั้น ไม่ได้มีข้อห้าม ดังนั้นจึงเป็นคนละกรณี คนที่พูดกำลังบอกว่าให้แฟร์หน่อย ช่วยทำให้เหมือนเก่าหน่อย” นายวิษณุกล่าว
    เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นายวิษณุกล่าวว่า ทราบแล้ว แต่อำนาจมันมีอยู่ และพยายามจะไม่ใช้อยู่แล้ว การใช้มาตรา 44 ไม่ได้ทำกันง่ายๆ ไม่ใช่นึกสนุกก็ใช้  เพราะมันต้องมีปัญหาและมีกระบวนการอยู่ ซึ่งหลังจากจะใช้หรือไม่แล้วแต่เหตุการณ์และความจำเป็น  เพราะบางครั้งความจำเป็นเกิดจากประชาชนเรียกร้อง แต่จะเห็นว่าตั้งแต่ ม.ค.เป็นต้นมามีหลายหน่วยงานขอให้ใช้หลายเรื่อง แต่รัฐบาลปฏิเสธไม่ใช้มาตรานี้
ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ออกแถลงการณ์กรณี กกต.กำหนดให้วันที่ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้ง  โดยเรียกร้องใน 6 ข้อ คือ 1.รัฐบาลต้องใช้อำนาจเสมือนเป็นรัฐบาลรักษาการ ต้องไม่ริเริ่มโครงการใหม่ที่ต้องใช้งบประมาณผูกพัน หรืองบประมาณจำนวนมากในลักษณะสร้างความนิยมทางการเมือง ต้องไม่โยกย้ายและแต่งตั้งข้าราชการที่จะส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้ง 2.หัวหน้า คสช.ต้องงดเว้นใช้มาตรา 44 3.คสช.และรัฐบาลต้องรักษาความเป็นกลางทางการเมืองโดยเคร่งครัด 4.กกต.ต้องใช้อำนาจของตนให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 5.พรรคขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนชาวไทยร่วมกันทำให้การเลือกตั้งสุจริต เสรี และเที่ยงธรรม ด้วยการสอดส่องและเปิดโปงการทุจริตการเลือกตั้งทุกรูปแบบ และ 6.พรรคเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างสร้างสรรค์ แข่งขันนำเสนอนโยบายให้ประชาชนตัดสิน 
    นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)  โพสต์เฟซบุ๊กตั้งข้อสังเกตว่า การมีวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการไม่ใช่หลักประกันอันใดเลย หากขบวนการขัดขวางล้มการเลือกตั้งยังขับเคลื่อน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงปัจจุบันยังมีความพยายามของคนกลุ่มนี้อยู่ 
วันเดียวกันยังคงมีความเคลื่อนไหวของการเสนอบัญชีรายชื่อนายกฯ โดยนายอุตตม สาวนายน  หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า พปชร.กำลังพิจารณาผู้สมัคร ส.ส. 350 เขต และพิจารณาผู้ที่เหมาะสมเสนอชื่อเป็นนายกฯ ที่ต้องทำให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า ส่วนกรณี 4 รัฐมนตรีจะลาออกเมื่อใดนั้น ถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะลาออก อีกไม่นานจะได้ฟังพร้อมๆ กัน ยืนยันว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นก่อนวันที่ 4-8 ก.พ.
    เมื่อถามว่าได้ทาบทาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือยัง นายอุตตมตอบว่ายังไม่มีการทาบทามใครทั้งนั้น แต่กระบวนการหารือภายในพรรคได้เริ่มขึ้นแล้ว จะไปสู่จุดที่ชัดเจนและได้ข้อยุติภายในเร็วๆ นี้ โดยเมื่อเปิดชื่อออกมาจะเฮทั้งประเทศ รับรองเฮด้วยความพอใจแน่นอน
    สำหรับแคนดิเดตรายชื่อนายกฯ ในบัญชีพรรค พปชร.นั้น แม้พรรคเปิดโอกาสให้สมาชิกของพรรคเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกฯ ภายในวันที่ 28 ม.ค.เพื่อให้กรรมการบริหารพรรคให้ความเห็นชอบ แต่ขณะนี้พรรควางไว้แล้วที่จะใช้สิทธิ์เสนอชื่อ 3 คน โดยชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่  1 ขณะที่นายอุตตมอยู่ในลำดับ 2 และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ อยู่ในลำดับที่ 3 
พาเหรดบี้บิ๊กตู่พ้นเก้าอี้
    นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการลาออกของ 4  รัฐมนตรี พปชร.ว่า ต้องแล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน ไม่ก้าวล่วง แต่อยากพูดถึงตัวเองซึ่งเคยอยู่เอกชนมาก่อนก็ลาออก เพราะคิดว่ามันไม่แฟร์ที่จะเอาเวลาซึ่งเราต้องทำงานให้เอกชนทำในแง่การเมือง  เพราะการเมืองไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีเวลาให้
    นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ไม่มีประเทศประชาธิปไตยใดในโลกที่จะมีหัวหน้าคณะปฏิวัติหรือหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจตามมาตรา 44 นั่งคุมประเทศจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต.ไปจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ เพราะหัวหน้า คสช.มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่จะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองให้เป็นนายกฯ ดังนั้นเพื่อให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะสุจริต เสรีเป็นธรรม เพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรีของประเทศ ที่ประเทศไทยกำลังจะมีพระราชพิธีสำคัญที่ประชาชนรอคอย คือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงสมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช.และงดเว้นการใช้อำนาจเต็ม เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการเยี่ยงนานาอารยประเทศในทันที
    นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด คณะทำงานสื่อสารการเมืองพรรค พท.กล่าวทำนองเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์และ 4 รัฐมนตรี พปชร.ควรแสดงสปิริตลาออกได้แล้ว และควรพิจารณาในเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เพื่อให้การเลือกตั้งสุจริต เที่ยงธรรม และนำมาซึ่งการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    นายมิตติ ติยะไพรัช เลขาธิการพรรค ทษช.กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ คสช.แสดงความจริงใจในการคืนอำนาจให้ประชาชน โดย พล.อ.ประยุทธ์ควรยุติการใช้มาตรา 44 นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และขอให้รัฐบาล คสช.ยึดแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังยุบสภา และขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจุดยืนและอนาคตทางการเมืองโดยเร็ว และขอให้ กกต.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง อิสระ โปร่งใส ไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจใดๆ  
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์อีกครั้งหนึ่งว่าได้เวลาแล้วที่ต้องตัดสินใจให้เด็ดขาด ไม่ควรกั๊กว่าจะรอใครมาทาบทาม  เพราะทุกคนต่างเห็นกันอย่างชัดเจนว่าพรรค พปชร.ได้ทาบทามท่านทุกวันบนเวที พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้า คสช. มิฉะนั้นท่านจะเป็นคนเอาเปรียบมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"