ฟันธงหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลผสม


เพิ่มเพื่อน    


    "สุวัจน์" ฟันธงหลังเลือกตั้งได้รัฐบาลผสม แนะลืมความขัดแย้งแล้วจะเกิดบรรยากาศที่ร่วมมือกันได้ง่าย "ธนกร" ซัด "เสรีพิศุทธ์" วันๆ ไม่มีอะไรทำเอาแต่ด่านายกฯ ระวังประชาชนจะลืมภาพวีรบุรุษนาแก เพื่อไทยยังไม่เปิดแคนดิเดตนายกฯ "เจ๊หน่อย" ลั่นต้องเสนอให้ครบ 3 คน
    นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะต้องเป็นรัฐบาลผสมค่อนข้างแน่นอน แต่ว่าจะผสมกันอย่างไรตอนนี้ยังไม่ทราบ การเลือกตั้งครั้งนี้วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งยาก เพราะมีความเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องกติกา  เทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารที่ถึงมือประชาชน คนรุ่นใหม่ กระแสเศรษฐกิจ กระแสการปฏิรูปการเมือง
    "โอกาสที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ผมว่าโอ้โห..ต้องได้เสียงมากจริงๆ ซึ่งดูด้วยรัฐธรรมนูญและหลายๆ อย่างก็คิดว่าโอกาสสูงที่จะเป็นรัฐบาลผสม แต่จะผสมอย่างไรไม่ทราบ"
    นายสุวัจน์กล่าวว่า ที่พรรคพลังประชารัฐบอกว่าพร้อมร่วมทำงานกับทุกพรรคนั้น คิดว่าก็ดีที่วันนี้เราเริ่มต้นโดยอย่าไปสร้างเงื่อนไขอะไรที่ทำให้การเมืองหาจุดลงตัวที่ยาก วันนี้ต้องพยายามลืมอดีตลืมความขัดแย้ง และอย่านำเสนออะไรที่จะทำให้เกิดอุปสรรคทางการเมือง ฉะนั้นถ้าเกิดทุกคนเปิด แล้วมีความเป็นพรรคเป็นพวกเพื่อนฝูงกันไว้ก่อน แล้วจังหวะทางการเมือง ตัวเลขของการเลือกตั้งออกมาอย่างไร มันก็จะทำให้มันเกิดบรรยากาศของการที่จะร่วมไม้ร่วมมือกันได้ง่าย
    "ผมว่าพรรคใหญ่พรรคเล็กก็มีโอกาสเหมือนๆ กัน เพียงแต่พรรคเล็กอาจจะเสียเปรียบตรงที่ว่า  โอกาสที่จะส่งผู้สมัครครบ 350 เขตอาจจะทำได้ยากไม่เหมือนพรรคใหญ่ แต่โอกาสการตัดสินใจของประชาชนที่มีต่อพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคเล็ก ผมว่าเที่ยวนี้เป็นฉากใหม่ของการเมือง ฉะนั้นทุกพรรคมีโอกาสตราบใดที่เสนอคนดีๆ เสนอนโยบายดีๆ และเที่ยวนี้มีเงื่อนไขอีกเรื่องที่ไม่เคยมี คือการเสนอบุคคลที่สมควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นจะมีปัจจัยใหม่ๆ มาประกอบการตัดสินใจของประชาชนมาก และเป็นโอกาสของทุกพรรคว่าจะได้มีโอกาสเกิดทางการเมือง แต่จะได้มากได้น้อยไม่ทราบ" ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนากล่าว
    นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ยื่น กกต.สอบยุบพรรคพลังประชารัฐ ฐานจูงใจบุคคลสมัครเป็นสมาชิกพรรคและเข้าข่ายความผิดค้ามนุษย์ว่า ในฐานะรองโฆษกพรรคมีหน้าที่ป้องกันส่วนได้ส่วนเสียของพรรค  ทั้งนี้ด้วยความเคารพ ตนรู้สึกผิดหวังกับอดีตนายตำรวจมือปราบมาก เพราะตอนเด็กๆ ชื่นชมการทำงานของท่าน การที่ประชาชนที่มีอุดมการณ์รักบ้านรักเมืองมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐจะมีความผิดฐานค้ามนุษย์นั้น กกต.คงจะต้องสอบคนทั้งประเทศ เพราะวันนี้นอกจากผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคแล้ว ยังมีพี่น้องประชาชนทั่วประเทศมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ด้วยความชื่นชอบในพรรค  ในนโยบายของพรรคที่จะนำพาประเทศเดินไปข้างหน้า
เหมือนคนไม่มีอะไรทำ
    "อยากให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เดินหน้าสู่การเลือกตั้งอย่างสร้างสรรค์จะดีกว่า นำเสนอนโยบายที่ดีให้ประชาชนเลือก ดีกว่าไปทำในสิ่งที่ไม่มีสาระไปวันๆ เหมือนคนไม่มีอะไรทำ นั่งด่าแต่นายกฯ เข้าใจว่าท่านอยากเป็นนายกฯ แต่อย่าใช้วิธีการแบบนี้ มันเสียชื่อตำรวจมือปราบ ที่สำคัญพี่น้องประชาชนไม่ได้ประโยชน์ และหากทำการเมืองแบบนี้ประชาชนจะลืมภาพวีรบุรุษนาแกของท่าน ขอให้ประชาชนจดจำความดีที่ท่านเคยทำในอดีตจะดีกว่า อย่างไรก็ตามที่ผมผิดหวังสุดๆ ก็คือ การที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์เลือกที่จะยืนเคียงข้างพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ซึ่งมันสวนทางกับความดีที่ท่านเคยทำไว้ให้กับบ้านเมือง" นายธนกรกล่าว
    ที่พรรคพลังประชารัฐ ภายหลังมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป มีการเปิดแนวนโยบายของพรรค โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีการนำป้ายสโลแกนหาเสียงที่สอดคล้องกับนโยบายพรรคมาแสดง อาทิ สังคมประชารัฐขจัดความขัดแย้ง, ก้าวข้ามความขัดแย้งไม่แบ่งสีไม่แบ่งฝ่าย, เศรษฐกิจประชารัฐขจัดความยากจน 
    นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค กล่าวว่า เราอาสาพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง ไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย จะเป็นประชาธิปไตยเป็นของทุกฝ่าย ไม่ใช่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เป็นของคนไทยอย่างแท้จริง จากนี้สังคมไทยต้องเป็นสังคมสงบสุขอย่างแท้จริง พปชร.ให้ความมั่นใจได้ว่าเรามีความพร้อมเต็มที่ ทั้งบุคลากรที่เป็นตัวจริงเสียงจริง มาจากหลายฝ่าย หลายเหล่า หลายภาคส่วน คนเดิมที่เพียบด้วยประสบการณ์ และคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เต็มไปด้วยความคิด เรายังเพียบด้วยนโยบาย โดยพรรค พปชร.เปิด 7-7-7 นโยบาย ซึ่งตั้งอยู่บน 3 พันธกิจหลัก คือ 7 สวัสดิการประชารัฐ 7 สังคมประชารัฐ และ 7  เศรษฐกิจประชารัฐ
    "เราทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ประชาชน สิ่งไหนที่ดีเราต่อยอด สิ่งใหม่เรามีแน่นอน โดยเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเราต่อยอดแน่นอนถ้าเลือกเราร่วมรัฐบาล จะทำสิ่งเหล่านี้ให้ดีขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นบัตรสวัสดิการ เกษตร ที่ทำกิน ที่จะต้องมาจัดหากัน ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทย" นายอุตตมระบุ
    ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการคัดผู้สมัครรับเลือกตั้งในส่วนของพรรคว่า ในส่วนของเขตขณะนี้ยังขาดอยู่ 7 คน คาดว่าในช่วงบ่ายวันที่ 28 ม.ค.จะมีการประชุมกรรมการบริหารพรรคเพื่ออนุมัติ เช่นเดียวกับในระบบบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาจะเสนอต่อที่ประชุมด้วย ส่วนวันที่ 31 ม.ค.จะมีการเชิญผู้สมัครทั้ง 500 คนเพื่อปฐมนิเทศทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและข้อปฏิบัติต่างๆ อีกทั้งตั้งใจจะพิจารณารายชื่อในบัญชีนายกรัฐมนตรีด้วย ซึ่งตามข้อบังคับพรรคต้องมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างกรรมการบริหารพรรคกับอดีต ส.ส.
ประชานิยมฉบับจตุพร
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) กล่าวถึงนโยบายพรรคว่า  ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่จะมีประชากรผู้สูงอายุถึง 1 ใน 5 มากกว่าคนรุ่นใหม่อายุ 18-25 ปีถึง 2 เท่า ดังนั้นพรรคเพื่อชาติได้คิดแล้วว่าเราไม่ได้ละเลยคนรุ่นใหม่  แต่เราต้องไม่ลืมผู้สูงวัย เพราะฉะนั้นเบี้ยยังชีพเป็นเงินสวัสดิการ ซึ่งปกติมีการเริ่มต้นแบบขั้นบันได ซึ่งเราเองเห็นว่าไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน 
    เพราะฉะนั้นนโยบายของพรรคเพื่อชาติชัดเจนก็คือว่า จะให้เงินยังชีพผู้สูงอายุ 2,000 บาททุกเดือน  ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยให้เสมอกันไม่เป็นขั้นบันได และถ้าวันข้างหน้าเศรษฐกิจของชาติดีขึ้นก็จะเพิ่มเป็น 3,000 บาท หรือมากกว่านั้น ในวันนี้เราต้องเดินไปสู่คำว่ารัฐสวัสดิการ โดยเฉพาะการดูแลผู้สูงวัย เพื่อให้เขาได้ยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรีในสังคมไทยอย่างเสมอภาคกัน
    นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในวันที่ 28 ม.ค.พรรคจะเชิญผู้สมัครทั้งหมดจากทั่วประเทศมาประชุมร่วม เพื่อแนะแนวยุทธศาสตร์ แนวทางข้อกฎหมาย ข้อบังคับ ข้อควรระวังในช่วงของการเลือกตั้ง รวมถึงการตรวจสอบคุณสมบัติก่อนจะยื่นใบสมัครในวันที่ 4 ก.พ. ทั้งนี้ในวันดังกล่าวจะเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขตเป็นหลัก ในส่วนของผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ รวมถึงแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 รายชื่อจะเปิดตัวไม่เกินวันที่ 8 ก.พ. เนื่องจากในส่วนของรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ  นอกเหนือจากการนำรายชื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพรรค ยังต้องสอบถามความคิดเห็นของสมาชิกอย่างกว้างขวาง รวมถึงตัวแทนพรรคประจำจังหวัดและสาขาพรรคด้วย 
    นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า บัญชีรายชื่อนายกฯ ทั้ง 3 ท่าน ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะเอาเข้ากรรมการบริหารแล้วมีมติอนุมัติ ซึ่งตามกฎหมายระบุต้องฟังความเห็นจากสมาชิกพรรค ตัวแทนสาขาแต่ละจังหวัดด้วย โดยบุคคลที่เราเห็นสมควรจะส่งไปยังตัวแทนสาขาพรรคแต่ละจังหวัด ถึงจะมีข้อยุติเพื่อนำส่งกรรมการบริหาร โดยตามกฎหมายเสนอชื่อได้ถึงวันสุดท้ายของวันสมัครรับเลือกตั้งคือวันที่ 8 ก.พ.  
'เจ๊หน่อย' ขอ 3 คน
    คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าต้องเสนอให้ครบ 3 รายชื่อ เป็นส่วนสร้างความแข็งแรงและความเชื่อมั่นให้ประชาชน
    ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องที่เคยพูดกับพี่น้องภาคอีสานที่เรียกร้องให้เลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยให้มากๆ เพื่อจะได้มาจับมือกันให้ได้ถึง 375  เสียงว่า ขึ้นอยู่กับประชาชน คำว่าประชาธิปไตยวันนี้มี 2 แบบ คือคนที่ยึดมั่นที่มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย กับคนที่ไม่ได้เชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เรียกว่าอาศัยประชาธิปไตยเป็นช่องทางเข้ามา ส่วนเรื่องตัวเลขคงไม่ได้คาดการณ์อะไร ก็ทำให้ดีที่สุดแล้วหาแนวร่วม
    นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า จากนี้ไปถือว่าได้เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเต็มตัว อยากให้พี่น้องประชาชนเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง เพราะจากนี้ไปอำนาจจะกลับมาอยู่ที่ปลายปากกาของพี่น้องประชาชน จะเป็นคนตัดสินใจว่าจะมอบอำนาจบริหารประเทศให้ใคร จะมอบอำนาจให้กับกลุ่มคนฝ่ายเผด็จการที่มาเป็นนั่งร้านเพื่อการสืบทอดอำนาจต่อหรือไม่ 4 ปีกว่าก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าคนไทยผิดหวังและเดือดร้อนแค่ไหน หรือจะเลือกฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และมีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องได้ดีกว่าและเพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"