ตร.ต้านปฏิรูปรบ.ดองยาว ยุร้องปปช.ผิดยุทธศาสตร์


เพิ่มเพื่อน    

     "พรเพชร" ระบุ สนช.ยุติการพิจารณากฎหมายก่อนกาบัตรเลือกตั้ง 1 สัปดาห์ ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจ 2 ฉบับของ "มีชัย" แท้ง! หลังสีกากีค้านหนักรัฐบาลไม่กล้าดันเข้า ครม. ส่อดองยาว อดีตโฆษก กรธ.รับ รธน.ไร้บทลงโทษ แนะร้อง ปปช.ตรวจสอบผิด พรบ.ยุทธศาสตร์หรือไม่ เวทีพรรคการเมืองเห็นตรงกันแยกงานสอบสวน
     ที่รัฐสภา วันที่ 24 มกราคม นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช) แถลงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.62 ว่า หลังจากนี้ สนช.จะพยายามเร่งรัดการพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ในสภาวาระ 2-3 ประมาณ 100 ฉบับให้เสร็จมากที่สุดด้วยความรอบคอบ ตั้งเป้าว่า 1 สัปดาห์จะพิจารณาให้เสร็จ 10-15 ฉบับ แม้ตามไทม์ไลน์แล้ว สนช.จะทำงานได้ถึงก่อนวันเปิดประชุมสภาครั้งแรก แต่ สนช.คำนึงถึงมารยาทและความเหมาะสม 
    "ดังนั้นจะหยุดพิจารณากฎหมายทุกฉบับ 1 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง ยกเว้นจะมีเรื่องเร่งด่วนสำคัญจริงๆ เช่น สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องเร่งลงนาม เรื่องร้ายแรงที่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด หรือ เรื่องเร่งด่วนที่มีความสำคัญจริงๆ ส่วนการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ที่ยังค้างอยู่ใน สนช.นั้น ในขั้นตอนการคัดเลือกของกรรมการสรรหาที่ไม่เกี่ยวกับ สนช.คงดำเนินการต่อไป  แต่เมื่อเรื่องมาถึง สนช.แล้วคงต้องรอให้สภาชุดใหม่เป็นผู้พิจารณา" นายพรเพชรกล่าว     
    แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และคณะกรรมการดังกล่าวได้จัดทำร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจขึ้น 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับโครงสร้างของตำรวจ และร่าง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา พ.ศ.  ซึ่งเป็นการปฏิรูปการสอบสวนขึ้นมา โดยทั้ง 2 ร่างได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และได้ส่งกลับไปให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.และไม่มีวี่แววว่าจะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.แต่อย่างใด 
    "คาดว่าน่าจะไม่มีการนำเข้าที่ประชุม ครม.ในยุคนี้ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับถูกต่อต้านจากตำรวจอย่างมาก และรัฐบาลน่าจะหลีกเลี่ยงเรื่องดังกล่าว ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ  และหัวหน้า คสช.ระบุว่ากฎหมายปฏิรูปตำรวจเข้าสู่ชั้น สนช.แล้วนั้น เป็นกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ" แหล่งข่าวระบุ
    ด้านนายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกระแสข่าว สนช.อาจจะพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจไม่เสร็จในรัฐบาลนี้ว่า ตาม รธน.กำหนดไว้ภายหลังรธน.ประกาศใช้ภายใน 1 ปี หากจัดทำกฎหมายดังกล่าวไม่เสร็จจะต้องแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจตามหลักอาวุโส และยืนยันว่าไม่มีบทลงโทษหากรัฐบาลนี้ทำไม่เสร็จ เพราะจริงๆ แล้วการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมีอีกหลายเรื่องที่รัฐบาลอาจทำไปแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับตำรวจเพียงอย่างเดียว  ส่วนการติดตามเรื่องดังกล่าวคงต้องเป็นหน้าที่ของ ส.ว.สรรหา 250 คนและ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่
    ที่โรงแรมสุโกศล มีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ "นโยบายพรรคการเมืองต่อการปฏิรูปตำรวจและงานสืบสวน" จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร.) และมหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีตัวแทน 5 พรรคการเมืองเข้าร่วม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย (พท.)  พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) และพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 
    ทั้งนี้ ผู้จัดได้กำหนด 5 ประเด็นให้แต่ละพรรคกล่าวถึงนโยบาย ได้แก่ 1.การกระจายอำนาจเป็นตำรวจจังหวัด 2.การแยกงานสอบสวนออกจากตำรวจ 3.การสร้างระบบตรวจสอบการสอบสวนจากภายนอกโดยพนักงานอัยการ และฝ่ายปกครองในคดีสำคัญ หรือเมื่อมีการร้องเรียนตามหลักสากล 4.การออกหมายเรียกผู้ต้องหาหรือเสนอศาลออกหมายจับต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ 5.การโอนตำรวจเฉพาะทาง 11 หน่วยและงานสอบสวนให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบ 6.การจัดตั้งศาลจราจรให้เปรียบเทียบปรับคดีจราจร
    โดย พล.ต.ต.มณเฑียร ประทีปะวณิช ตัวแทนพรรค พท.กล่าวว่า เห็นด้วยกับการโอนตำรวจ 11  หน่วย เพราะไม่ได้เป็นการตัดอำนาจสอบสวน และเห็นด้วยกับการตั้งศาลจราจรเพื่อให้ผู้ทำผิดเข็ดหลาบ ปัญหาต่างๆ จะน้อยลง ถ้าเสียค่าปรับก็จะทำผิดอีก แต่ไม่เห็นด้วยที่จะกระจายอำนาจให้เป็นตำรวจจังหวัด ถามว่าจังหวัดมีความพร้อมหรือไม่ ส่วนการแยกการสอบสวนออกจากตำรวจมีตัวอย่างที่ไม่เป็นผลสำเร็จมาแล้ว ทั้งดีเอสไอที่คดีค้างกว่า 3-4 หมื่นคดี ป.ป.ช.ค้าง 4-5 หมื่นคดี ส่วนการเปิดให้อัยการมีส่วนร่วมในการสอบสวน ไม่เห็นด้วยเพราะการร่วมหลายหน่วยไม่ใช่เรื่องง่าย แทนที่จะเร็วก็อาจจะช้าในการปฏิบัติ  
    พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ตัวแทนพรรค ปชป.กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ แต่ไม่เห็นด้วยที่นำไปผูกกับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเดิมทีตำรวจขึ้นกับมหาดไทยก็มีปัญหามากมาย  ตอนนี้ขึ้นกับสำนักนายกฯ จะมีหลักประกันอะไรในการแต่งตั้งโยกย้ายของผู้ว่าฯ จะรู้หรือว่าตำรวจคนนั้นเป็นอย่างไร ต้องยกระดับตำรวจให้เป็นอธิบดีภาคให้หมด ส่วนการแยกการสอบสวนออกจากตำรวจเห็นด้วย แต่ถามว่าหน่วยไหนจะรับงานไป อัยการก็ยังไม่เอา คิดว่างานสอบสวนจะต้องอยู่กับตำรวจต่อไป เห็นด้วยที่คนภายนอกมาร่วมตรวจสอบ เห็นด้วยกับการโอน 11 หน่วยเฉพาะทางเพราะบางเรื่องตำรวจไม่มีความรู้ 
    ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ ตัวแทนพรรค รปช.กล่าวว่า สนับสนุนตำรวจจังหวัด แต่ที่มาของผู้ว่าฯ ต้องชัดเจนก่อนว่าจะมีคุณภาพจริง ไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง เห็นด้วยที่แยกงานสอบสวนออกจากตำรวจเพราะงานหนักจริงๆ สิ่งที่ควรทำคือรับเจ้าหน้าที่นิติศาสตร์เข้ามาโดยเฉพาะ ให้เข้าเป็นพนักงานสอบสวน และมีความก้าวหน้าเหมือนอัยการและผู้พิพากษาได้ เห็นด้วยที่มีคนภายนอกมาช่วยตรวจสอบตำรวจ แต่อยากให้มองในมุมช่วยกันทำงานดีกว่า อย่างเช่นเก็บพยานหลักฐาน บางครั้งอยากให้โรงพยาบาลมาช่วย เห็นด้วยในการโอน 11 หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา แต่ให้สอบถามเจ้าหน้าที่ก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนกับตำรวจดับเพลิง
    นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์ ตัวแทนพรรค ชทพ.กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ ส่วนจะให้ตำรวจไปขึ้นกับใคร ให้คนของเขาดูแลคนของเขา จะออกมาเป็นภาคหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ต้องมีการถ่วงดุล ให้คณะกรรมการประจำจังหวัดที่มีนักธุรกิจ ประชาชน ข้าราชการเข้ามามีส่วนร่วม ในอดีตพนักงานสอบสวนคือฝ่ายปกครอง ซึ่งตำรวจไม่อยากได้ก็คืนกลับไปฝ่ายปกครอง ไม่เห็นด้วยหากให้อัยการออกหมายเรียกและหมายจับเป็นการเพิ่มภาระ แต่เห็นด้วยที่โอนตำรวจ 11 หน่วยให้ แต่ต้องค่อยทำค่อยไปไม่ต้องบังคับว่าเขาต้องไป
    พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ตัวแทนพรรค อนค.กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเงินเดือนยังน้อย คนจึงเป็นพนักงานสอบสวนน้อย ต้องเพิ่มเงินเดือนให้ใกล้เคียงกับอัยการกับศาล เพิ่มระบบสอบเข้าให้ยากเหมือนอัยการเพื่อจะช่วยเพิ่มดุลพินิจให้ดีขึ้น ปัญหาปัจจุบันคือตำรวจมีคดีในมือเยอะ โรงพักขาดทรัพยากร ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญ คือคดีดัง คนรวย คนมีเส้น ส่วนคนดี คนจนจึงถูกละเลย เกิดความไม่เท่าเทียม ต้นตอคือมีสายบังคับบัญชาที่ยาวเกินไป ถ้าตัดสายบังคับบัญชาก็จะตัดระบบอุปถัมภ์ได้ด้วย ส่วนการให้อัยการมีอำนาจออกหมายเรียกหมายจับเป็นการเพิ่มขั้นตอน ทำให้รอบคอบแต่ช้าขึ้นและเพิ่มภาระงาน อาจจะมีการเพิ่มงบมากขึ้น ทำให้ขั้นตอนสั้นลงจะดีกว่าด้วยการปฏิรูปโครงสร้าง แยกฝ่ายจับกับสอบสวนออกจากกัน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"