ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก สัมผัสพลังศรัทธาวิถีอีสาน


เพิ่มเพื่อน    

 

 ในแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศไทย จะมีการสืบสานประเพณีทางศาสนาที่ตัวเองนับถือแตกต่างกันออกไป และบางพื้นที่สามารถยกระดับเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมเยือนและเปิดประสบการณ์เรียนรู้ได้ อย่างเช่น “ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก จังหวัดยโสธร” ซึ่งจัดขึ้นถวายเป็นพุทธบูชาในวันมาฆบูชาเป็นประจำทุกปี จนกลายเป็นกิจกรรมเด่นหนึ่งเดียวในประเทศไทย และเป็นสมบัติของลูกหลานชาวอีสานที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบไป ที่สำคัญยังกลายเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยวภายใต้โครงการ “เที่ยวให้เท่..เที่ยวนอกกรอบ ออกไปเที่ยวเมืองรอง” อีกด้วย

 

นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี (รับผิดชอบจังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร) กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2562 เทศบาลตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร กำหนดจัดงานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ขึ้นเพื่อสืบสานงานบุญมาฆบูชา อันเป็นงานบุญสำคัญของชุมชน โดยชุมชนต่างๆ จะนำข้าวตอกขาวที่คัดจากข้าวเปลือกข้าวเหนียวที่ดีที่สุดมาร้อยเป็นมาลัยสูงนับสิบเมตร และประดับตกแต่งอย่างงดงามหลากหลายรูปแบบ

 

 

ส่วนภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ ประกวดมาลัยข้าวตอกชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ประกวดออกแบบของที่ระลึกจากมาลัยข้าวตอก, ประกวดหัตถกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น, ประกวดขับร้องสรภัญญะ, ชมสาธิตทำมาลัยข้าวตอก เลือกซื้อสินค้า OTOP จากกลุ่มต่างๆ ของอำเภอมหาชนะชัย บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย รวมทั้งชมขบวนแห่มาลัยข้าวตอกและร่วมแห่มาลัยข้าวตอกไปทอดถวายบริเวณวัดหอก่อง วัดฟ้าหยาด และวัดของแต่ละตำบลในเขตอำเภอมหาชนะชัย

 

“มาลัยข้าวตอก สื่อความหมายแทนดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้แห่งสรวงสวรรค์ที่จะบานเฉพาะในวันที่มีเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ได้แก่ วันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน และวันที่ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร การแห่มาลัยข้าวตอกเป็นประเพณีดั้งเดิมของชาวอีสาน และที่ชุมชนบ้านฟ้าหยาดแห่งนี้มีการสืบทอดประเพณีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นงานบุญมาฆบูชาที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด”

 

ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี กล่าวต่อว่า นอกจากมาร่วมประเพณีดังกล่าวแล้ว นักท่องเที่ยวยังสามารถเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังสถานที่สำคัญของจังหวัดยโสธรได้ทุกวันและตลอดทั้งปี อาทิ “หนองบัวแดง” แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ลักษณะเป็นบึงบัวแดงในพื้นที่ 90 ไร่ ที่แหล่งน้ำหนองเลิง บ้านสำโรง อำเภอมหาชนะชัย ขณะนี้กำลังออกดอกสีแดงบานสะพรั่งเต็มท้องน้ำ มีสะพานไม้ยื่นออกไปในบึงบัวให้ถ่ายรูปได้ 360 องศา สวยงามมาก

 

 

ถัดมาคือเส้นทางย้อนรอย “เมืองสิงห์ท่า” ชุมชนเก่า 200 กว่าปีที่อนุรักษ์ตึกเก่า อาคารสวยงามในรูปแบบสถาปัตยกรรม “ชิโน-โปรตุกีส” ไว้ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกัน ทำให้เห็นความเจริญรุ่งเรืองของเมืองยโสธรในเวลานั้น ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี

 

“โบสถ์ไม้บ้านซ่งแย้” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองซ่งแย้ หมู่ 2 ตำบลคำเตย อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร เป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว Unseen in Thailand เป็นโบสถ์คริสต์ที่สร้างด้วยไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ใช้เสาไม้ทั้งเล็กและใหญ่เกือบ 300 ต้น และไม้มุงหลังคา 80,000 แผ่น และตั้งแต่ พ.ศ.2548 เป็นต้นมา ทางจังหวัดยโสธรได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดพิธีสมรสหมู่แบบคาทอลิกให้กับคู่บ่าวสาว ในวันวาเลนไทน์ของทุกปีที่โบสถ์แห่งนี้ด้วย โดยโบสถ์คริสต์บ้านซ่งแย้ ชื่อทางการเป็นภาษาละตินว่า วัดอัครเทวามิคาแอล ตามชื่อนักบุญ เป็นภาษาอังกฤษคือ โบสถ์เซนต์ไมเคิล และเป็นภาษาฝรั่งเศสคือ โบสถ์แซงต์มิเชล

 

 

จากนั้นไม่ควรพลาดไปชมงาน “หัตถกรรมหมอนขิดที่บ้านศรีฐาน” ตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงในด้านหัตถกรรมการทำหมอนขิดซึ่งได้รักษาวัฒนธรรมทางหัตถกรรมของภาคอีสานไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และยังได้นำมาประยุกต์เข้ากับศิลปะปัจจุบันตลอดจนประโยชน์ใช้สอยได้อย่างกลมกลืนตามสมัยนิยม

 

สถานที่ต่อมาคือ “รอยพระพุทธบาทและพระพุทธรูปหยกขาว” วัดพระพุทธบาทยโสธร ถือเป็นโบราณสถานสำคัญที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ตั้งอยู่บนเนินทรายริมฝั่งแม่น้ำชี ทัศนียภาพสวยงามสงบร่มเย็น ภายในวัดโดดเด่นด้วยพระอุโบสถสีขาวหลังคาสีน้ำเงิน มีความงดงามตามแบบศิลปะประยุกต์ ทั้งการออกแบบรั้วและระเบียงที่มีลวดลายปูนปั้นที่ดูแปลกตา ภายในประดิษฐานพระประธานที่เจียระไนจากหยกขาวขนาดหน้าตักกว้าง 2.31 เมตร สูง 3.7 เมตร ซึ่งถือเป็นพระพุทธรูปหยกขาวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

 

 

ปิดท้ายด้วย “พระธาตุก่องข้าวน้อย” เป็นเจดีย์เก่าสมัยขอม สร้างในพุทธศตวรรษที่ 23-25 ตรงกับสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจ ซึ่งผิดไปจากปูชนียสถานแห่งอื่นๆ ที่มักเกี่ยวพันกับเรื่องพุทธศาสนา แต่ประวัติความเป็นมาของพระธาตุก่องข้าวน้อยกลับเป็นเรื่องของหนุ่มชาวนาที่ทำนาตั้งแต่เช้าจนเพล มารดานำข้าวมาส่งช้าผิดเวลาเกิดหิวข้าวจนตาลาย อารมณ์ชั่ววูบทำให้เขากระทำมาตุฆาต เพราะความหิวจัด คิดว่าข้าวที่แม่นำมาส่งดูจะน้อยไปไม่พอกิน ครั้นเมื่อกินข้าวอิ่มแล้ว ข้าวยังไม่หมด จึงได้สติคิดสำนึกผิดที่กระทำรุนแรงต่อมารดาของตนเองจนถึงแก่ความตาย จึงได้สร้างพระธาตุก่องข้าวน้อยแห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลขออโหสิกรรมและล้างบาปที่ตนกระทำมาตุฆาต

 

“งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอกถือเป็นงานที่รวมพลังความศรัทธาตามวิถีของชาวพุทธ และสำหรับคนที่มาร่วมงานยังถือเป็นโอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่มีความเป็นมาน่าสนใจ รับรองว่าจะไม่ผิดหวัง ได้ทั้งบุญ ทั้งสาระความรู้ และความเพลิดเพลินกลับไปอย่างแน่นอน” ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี กล่าวปิดท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานอุบลราชธานี (รับผิดชอบในพื้นที่อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร) โทร. 0-4524-3770, 0-4525-0714.

 

 

แกลลอรี่


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"