นโยบายแก้ปลายเหตุ?


เพิ่มเพื่อน    

    สถานการณ์ปาล์มน้ำมันในตอนนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะสดใส ถึงแม้จะเริ่มปีใหม่มาแล้วก็ตาม แต่จากการค้างคาของสต๊อกที่ล้นหลามของปีก่อน ยังส่งผลกระทบมาให้เห็นถึงปีนี้ รวมกับสถานการณ์ราคาที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก  ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือแม้แต่เดือนที่แล้ว
    ทั้งนี้ ความช่วยเหลือของเหล่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังมีมาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าเป็นประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งการออกนโยบาย แคมเปญ หรือกิจกรรมช่วยเหลือ ก็ดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง แต่ก็ยังเห็นผลไม่มากพอ ที่จะช่วยทำให้สถานการณ์ราคา หรือสต๊อกนั้นกลับมาดีได้ แต่ก็ยังดีกว่าอยู่เฉยๆ ให้ผลกระทบนั้นมากขึ้นกับกลุ่มเกษตรกร
    และที่ผ่านมา กระทรวงต่างๆ ทั้งเกษตรฯ พาณิชย์ รวมถึงพลังงาน ก็ออกนโยบายมาจัดการเรื่องนี้กันให้วุ่น โดยจี้ให้เอกชนและรัฐวิสาหกิจเข้ามามีส่วนร่วมในการเยียวยาปัญหาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการให้เพิ่มการสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้น เพื่อดูดซับปริมาณในตลาด หรือแม้แต่เพิ่มการผลิตไบโอดีเซล (บี 100) และเพิ่มสัดส่วนการผสมบี 100 ลงไปในน้ำมันดีเซล จากปกติ 5% เป็น 7%, 10% และมากสุดถึง 20% หรือที่เรียกว่า บี 20
    แถมยังสนับสนุนการใช้บี 20 ให้มากขึ้น โดยการแก้ไขกลไกการเก็บเงินเข้ากองทุน รวมถึงการลดภษีสรรพสามิตให้ราคาของบี 20 นั้นถูกกว่าดีเซลธรรมดา 5 บาทต่อลิตร แต่ก็ยังติดปัญหาที่ว่า ยังใช้ได้แค่รถบรรทุกเท่านั้น แต่ความพยายามที่จะช่วยเหลือก็ยังไม่หมด เพราะเมื่อเร็วๆ นี้เห็นว่าจะผลักดันให้บี 20 ออกไปขายตามหน้าสถานีบริการน้ำมัน (ปั๊ม) ทั่วไปอีกด้วย จากเดิมที่จ่ายอยู่ในฟลีตรถบรรทุกเท่านั้น
    ขณะเดียวกัน สถานการณ์น้ำมันปาล์มที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ถึงปัญหาจะยังไม่หายไป แต่ก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ ซึ่งนโยบายของกระทรวงพลังงานก็ไม่ใช่จะหมดไปแค่นั้น เพราะเมื่อล่าสุด นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “มาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยการใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้า” ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
    และได้ปล่อยเรือขนส่งน้ำมันปาล์มดิบเที่ยวแรก จำนวน 2,000 ตัน เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจากโครงการนี้เป็นการปรับสมดุลเพื่อพยุงราคาผลปาล์มน้ำมันให้สูงกว่า 3 บาทต่อกิโลกรัม ด้วยการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 160,000 ตัน (ปลายแผน) จากพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 
    ซึ่งการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไฟฟ้าครั้งนี้ กฟผ. จะเป็นผู้จ่ายค่าเชื้อเพลิงทั้งหมดเพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) สำหรับการผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันปาล์ม กฟผ.ได้ปรับปรุงโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 ให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบร่วมกับก๊าซธรรมชาติ ในอัตราส่วน 50 ต่อ 50 
    โดยจะใช้น้ำมันปาล์มดิบเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตั้งแต่เดือน ก.พ.2562 และจะสิ้นสุดโครงการประมาณเดือน ก.ค.2562 รวมระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 6 เดือน สามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบในตลาดเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ จำนวน 160,000 ตัน ซึ่งการนำน้ำมันปาล์มดิบมาใช้ผลิตไฟฟ้า จะไม่ส่งผลกระทบกับราคาค่าไฟฟ้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจะไม่นำไปคิดรวมกับค่าเอฟที จึงไม่ส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้าของประชาชนแต่อย่างใด
    ก็ต้องถือว่านโยบายแก้ปลายเหตุของกระทรวงพลังงานที่ออกมานั้น ก็สามารถเข้ามาช่วยเหลือปัญหาเรื่องปาล์มได้เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะว่าเป็นเรื่องระดับประเทศที่จะต้องร่วมมือกันแก้ และต้องมีมาตรการตรงจุดไปยังต้นเหตุ มากกว่าให้เกิดปัญหาแล้วมีมาตรการนโยบายออกมาแก้ไขที่ปลายเหตุเหมือนปัจจุบันที่เป็นอยู่ ก็หวังว่าหากมีการเปลี่ยนผ่านอะไรใหม่ๆ เข้ามาในอนาคต ปัญหาต่างๆ ที่เคยเป็นปัญหาของประเทศไทยจะมีการเข้าไปแก้ไขอย่างจริงจังและเริ่มเบาบางลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"