หญิงหน่อยขี่ชัชชาติ พลังเงียบหนุนนำเฉียดฉิว โพลชี้24มี.ค.ซื้อเสียงหนัก


เพิ่มเพื่อน    

     "เจ๊หน่อย-ชัชชาติ" เบียดลุ้นนายกฯ โพลชี้คะแนนนิยมสูสี หายใจรดต้นคอ อดีต รมว.คมนาคมโยนกรรมการบริหารพรรคชี้ขาด จับมือสุดารัตน์สร้างภาพ กลมเกลียว หย่อนบัตร 24 มี.ค. ประชาชนเชื่อซื้อเสียงหนักหน่วง  
     นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการทำบัญชีรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยว่า  พรรคเพื่อไทยไม่มีความขัดแย้ง วันนี้เรามากันเป็นทีม โพลต่างๆ ที่ออกมาก็เพียงแค่เอามาอ่านดูเท่านั้น ส่วนสุดท้ายพรรคจะเสนอชื่อใครนั้น ก็แล้วแต่กรรมการบริหาร 
      ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา แกนนำพรรคเพื่อไทยคือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชชาติ ที่มีข่าวพรรคเพื่อไทยจะส่งเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่หาเสียงร่วมกันที่สวนลุมพินี โดยระหว่างทั้งสองคนให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชี้ให้อีกคนเป็นนายกฯ
    ด้านนายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงประเด็นเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคว่า ไม่มีปัญหา คงจะลงตัวในไม่กี่วัน และน่าจะเป็นคนในพรรค ไม่ลำบากไปสู่ขอคนนอกพรรค และไม่ว่าจะเป็นใคร เราก็จะทำงานเป็นทีม ทำตามนโยบายพรรค และจะเป็นผู้นำสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งจะมีศักยภาพแข่งกับแคนดิเดตของพรรคอื่นๆ ได้แน่นอน ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เราสัมผัสได้ถึงสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ความทุกข์ในแววตาของพี่น้องประชาชน เราตระหนักว่าเรามีหน้าที่นำความหวัง นำความสุขกลับมาให้คนไทยให้ได้ นี่คือเป้าหมายของพรรค
    วันเดียวกันนี้ นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง อนาคตประเทศไทยของคนวัยทำงาน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,064 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา 
    ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า จากการสอบถามประชาชน 3 กลุ่มจุดยืนทางการเมือง ว่าระหว่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเพื่อไทย ควรเสนอชื่อใครให้ประชาชนสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า ทั้งคู่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนสูสีมากเกินจะตัดสินใจได้ โดยภาพรวม 51.0 เปอร์เซ็นต์ ระบุเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่ 49.0 เปอร์เซ็นต์ ระบุเป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และเมื่อจำแนกกลุ่มคนตอบออกเป็นสนับสนุนรัฐบาล คสช. ไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช. และ กลุ่มพลังเงียบ พบที่น่าสนใจอีก เพราะกลุ่มคนพลังเงียบ 50.5 เปอร์เซ็นต์ ระบุเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่เปอร์เซ็นต์ 49.5 ระบุเป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
    นอกจากนี้ กลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาล คสช. 54.5 เปอร์เซ็นต์ ระบุเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่ 45.5 เปอร์เซ็นต์ ระบุเป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช. 48.7 เปอร์เซ็นต์ ระบุเป็นคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในขณะที่ 51.3 เปอร์เซ็นต์ ของกลุ่มคนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล คสช. ระบุเป็นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
    ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,132 คน ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม 2562 สรุปผลได้ ดังนี้
    โดยเมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไร? กับการเปิดตัวหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ณ วันนี้ อันดับ 1    ทำให้บรรยากาศทางการเมืองดีขึ้น ใกล้จะมีการเลือกตั้ง 30.72%, อันดับ 2 ทำให้รู้จักผู้สมัครแต่ละพรรค รู้นโยบาย 25.31%, อันดับ 3 มีการสร้างกระแส โจมตีกันไปมา ยังคงเป็นการเมืองรูปแบบเดิมๆ 24.69%, 
อันดับ 4 แต่ละพรรคเริ่มลงพื้นที่หาเสียง พบปะประชาชน 17.90%, อันดับ 5 มีการหาเสียงผ่านช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น เช่น การใช้สื่อโซเชียล    12.81%
    ส่วนเมื่อถามว่า สิ่งที่ประชาชนอยากฟัง/รับรู้จากการหาเสียงของนักการเมือง ณ วันนี้ คือ
อันดับ 1 นโยบายของพรรค ตัวผู้สมัคร คุณวุฒิ ประสบการณ์การทำงาน 45.29%, 
อันดับ 2 การพัฒนาบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคม    40.67%, อันดับ 3 วิธีการแก้ปัญหา แนวทางการช่วยเหลือประชาชน 38.54%, อันดับ 4 แนวคิด มุมมอง ความคิดเห็นของตัวผู้สมัคร 32.35%, อันดับ 5 สิ่งที่จะทำหลังเลือกตั้ง ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ 11.65%
    สำหรับสิ่งที่ประชาชนไม่อยากฟัง/ไม่อยากรับรู้ จากการหาเสียงของนักการเมือง ณ วันนี้ คือ
อันดับ 1 คุยโม้โอ้อวด พูดเกินจริง สัญญาว่าจะให้    34.04%, อันดับ 2 ใส่ร้ายป้ายสี โจมตี พาดพิงผู้อื่น ไม่สุภาพ 32.80%, อันดับ 3 พูดไม่ตรงประเด็น เรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน 26.48%, อันดับ 4 เรื่องในอดีต เรื่องเก่า เรื่องที่ผ่านมาแล้ว 25.77%, อันดับ 5    ปัญหา เรื่องที่ทำให้เครียดมากขึ้น 19.39%
    และเมื่อถามถึงสิ่งที่ประชาชนอยากฝากนักการเมืองเกี่ยวกับการหาเสียง ณ วันนี้ คือ อันดับ 1    ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งอย่างเคร่งครัด    32.68%, อันดับ 2 ไม่ซื้อเสียง ใช้วิธีการหาเสียงที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม 28.52%, อันดับ 3 ไม่ใส่ร้ายป้ายสี  โจมตีคู่แข่ง 24.71%, อันดับ 4 มีจุดยืน จริงใจ เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัย 17.44%, อันดับ 5    นโยบายที่นำเสนอสามารถทำได้จริง 10.51%
    ส่วนศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การหาเสียงกับการเลือกตั้ง 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-24 มกราคม 2562 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง 2562  
    จากการสำรวจเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นต่อพรรคการเมือง ว่าจะสามารถทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ได้จริง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.28 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 23.84 ระบุว่าไม่เชื่อมั่นเลย, ร้อยละ 20.48 ระบุว่าเชื่อมั่นมาก และร้อยละ 2.40 ระบุว่าเชื่อมั่นมากที่สุด 
    สำหรับนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งจะมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.มากน้อยเพียงใด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.32 ระบุว่ามีผลต่อการตัดสินใจค่อนข้างมาก รองลงมา ร้อยละ 28.08 ระบุว่าไม่ค่อยมีผลต่อการตัดสินใจ, ร้อยละ 15.36 ระบุว่ามีผลต่อการตัดสินใจมาก และร้อยละ 14.24 ระบุว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลย
    ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการซื้อ- ขายเสียง ช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.16 ระบุว่ามีแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 18.88 ระบุว่าไม่มีแน่นอน และร้อยละ 2.96 ระบุว่าไม่แน่ใจ              
    เมื่อถามถึงความกระตือรือร้นของประชาชนที่จะไปลงคะแนนเลือกตั้งในครั้งที่จะถึงนี้ หลังจากไม่มีการเลือกตั้งมา 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.64 ระบุว่ามีความกระตือรือร้นเพิ่มขึ้น รองลงมา ร้อยละ 19.68 ระบุว่าไม่ค่อยมีความกระตือรือร้น และร้อยละ 7.68 ระบุว่าไม่มีความกระตือรือร้นเลย    
    ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงลักษณะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ประชาชนอยากได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.32 ระบุว่าเข้าถึงประชาชน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและนำมาแก้ไข รองลงมา ร้อยละ 15.36 ระบุว่ามีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ, ร้อยละ 14.16 ระบุว่ามีนโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และมีแนวทางปฏิบัติให้เป็นจริงได้, ร้อยละ 12.24 ระบุว่าดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้, ร้อยละ 9.84 ระบุว่ามีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดีและเป็นที่ยอมรับ, ร้อยละ 7.60 ระบุว่ารับฟังความคิดเห็นของประชาชน, ร้อยละ 6.48 ระบุว่าเป็นผู้มีอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี, ร้อยละ 2.96 ระบุว่า ส.ส.หน้าใหม่ หรือคนหนุ่มสาว และร้อยละ 1.04 ระบุว่าไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เช่น แจกเงินหรือสิ่งของเพื่อให้ผู้ใดลงคะแนนให้ตนเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"