'บิ๊กป้อม'สั่งส่องตปท.แก้ฝุ่น


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กป้อม" สั่งกองทัพ-ตร.ศึกษาวิธีต่างประเทศแก้ฝุ่นพิษ ลุยติดเครื่องพ่นน้ำบนอาคารสูง นักวิชาการแนะลอกจีนสเปรย์น้ำตึกสูง 100 เมตรได้ผล คพ.แจงธาตุมะเร็งที่มากับฝุ่น เร่งทำบัญชีระบาย
    เมื่อวันที่ 26 มกราคม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการแก้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศว่า กองทัพยังคงให้การสนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดมลภาวะจากฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่วิกฤติของกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางเดือน ม.ค. โดยได้ประสานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมแก้ปัญหาเร่งด่วนในเขตพื้นที่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การสนับสนุนกำลังพลและรถบรรทุกน้ำ ทำความสะอาดถนน การจัดอากาศยานบินโปรยละอองน้ำระยะสูงตามห้วงเวลา ควบคู่กับการสนับสนุนทำฝนเทียม เป็นต้น
    พล.ท.คงชีพกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หามาตรการเร่งระบายการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน และแก้ปัญหาการชะลอตัวของรถในเส้นทางหลักให้เป็นผลอย่างจริงจัง เพื่อช่วยลดมลภาวะจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงบนท้องถนน พร้อมทั้งสั่งการให้ทุกเหล่าทัพศึกษาการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจากต่างประเทศ พัฒนาปรับใช้กับทรัพยากรของกองทัพที่มีอยู่ เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้กองทัพอยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องพ่นละอองน้ำติดตั้งบนอาคาร และการพิจารณานำอากาศยานไร้คนขับมาใช้ประโยชน์ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ โดยคาดว่าจะสามารถทยอยติดตั้งบนอาคารสูงของภาคเอกชนและปฏิบัติงานได้ในเร็ววันนี้ เพื่อร่วมกันลดมลภาวะจากฝุ่นละอองดังกล่าว
    กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เวลา 15.00 น. ว่า จากสภาพอุตุนิยมวิทยาที่ในช่วงบ่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลมพัดแรง ยังคงไม่มีฝนตก ทำให้เจือจางฝุ่นละอองได้บางส่วน โดยบริเวณพื้นที่ริมถนน มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) 3 สถานี ส่วนพื้นที่ทั่วไป มีค่าเกินมาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) อยู่ 3 สถานี คาดการณ์ในวันที่ 28 ม.ค. จากการพยากรณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา อากาศลอยตัวได้ดี แต่ลมพัดอ่อนลง ประกอบกับเป็นการทำงานวันแรกของสัปดาห์ที่มักมีการจราจรหนาแน่น ส่งผลทำให้ปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 มีโอกาสสูงขึ้น
    คพ.ได้ประสานงานกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กทม. กองบังคับการจราจร  ขนส่ง กองทัพ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงคมนาคม และผู้ว่าราชการจังหวัดปริมณฑล ทั้ง 5 จังหวัด ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง ดังนี้ กทม.ล้างถนนทุกวันทุกสาย และได้มีการฉีดพ่นละอองน้ำที่เขตบางรักและเขตสาทร ทั้งนี้ ยังคงขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และพื้นที่ใกล้เคียง งดการเผาในที่โล่งทุกประเภทอย่างเด็ดขาด และงดการใช้รถยนต์ที่มีควันดำอย่างเด็ดขาด 
    จากกรณีที่นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลวิจัยที่เกี่ยวกับโลหะหนักในฝุ่นละออง PM 2.5 ที่วัดได้ในชั้นบรรยากาศทั่ว กทม.  มีประเด็นผลวิจัยเป็นเวลา 1 ปี พบธาตุทางเคมีที่เป็นโลหะหนัก ก่อมะเร็งปะปนอยู่ในอากาศระดับต้องเฝ้าระวังอยู่ถึง 3 ชนิด คือ สารหนู, ซีลีเนียม และแคดเมียม โดยเกิดจากการเผาไหม้ของอุตสาหกรรมและยานพาหนะ และคณะวิจัยฯ ได้เก็บค่าระดับความเข้มข้นของโลหะหนักในฝุ่น PM 2.5 จากสถานีตรวจวัดฝุ่นละอองที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 2 ปี พบธาตุโลหะหนักเพิ่มอีก 2 ชนิดคือ ทังสเตนและแคดเมียม ธาตุ 2 ชนิดนี้พบในส่วนผสมของโลหะดิสก์เบรกยานยนต์ ซึ่งปริมาณโลหะหนักที่ปนเปื้อนในอากาศขณะนี้ทั้งหมดมีฤทธิ์ก่อมะเร็งในร่างกายได้ หากสะสมไว้ปริมาณมากนั้น
    นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชี้แจงว่า ปริมาณฝุ่น รวมทั้งองค์ประกอบของฝุ่นจะมีความแตกต่างกันตามฤดูกาลและกิจกรรมในบริเวณใกล้เคียง การวิเคราะห์องค์ประกอบของฝุ่นสามารถใช้เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิดของฝุ่นได้ เช่น โปแตสเซียม เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผาไม้ สังกะสี เป็นองค์ประกอบจากแหล่งกำเนิดการเผามูลฝอย อะลูมิเนียม เหล็ก แมงกานีส แคลเซียม เป็นองค์ประกอบของฝุ่นในเมืองหรือฝุ่นฟุ้งกระจายจากถนน และสารหนู แคดเมียม เป็นองค์ประกอบของฝุ่นจากอุตสาหกรรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม บุคคลมีความแตกต่างกันอย่างมากในหลายประการ เช่น ความแข็งแรงของร่างกาย โรคประจำตัว อุปนิสัย เป็นต้น การพิจารณาผลกระทบจากปริมาณฝุ่นและองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นที่บุคคลได้รับ ในประเด็นนี้ต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างรอบคอบ
    นายประลองกล่าวว่า ปัจจุบันหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานสำหรับองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นบางชนิดเป็นค่ามาตรฐานแล้ว เช่น กำหนดค่ามาตรฐานของตะกั่วซึ่งเป็นองค์ประกอบของฝุ่นมาตั้งแต่ปี 2538 (ค่ามาตรฐานตะกั่วในบรรยากาศ เฉลี่ย 1 เดือน ไม่เกิน 1.5 มคก.ต่อ ลบ.ม.) นอกจากนี้ คพ.มีโครงการความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น ด้านการจัดการคุณภาพอากาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทยและกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น  ซึ่งกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ การจัดทำบัญชีการระบายฝุ่นละอองขนาดเล็ก การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีและแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง และการพัฒนานโยบายมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองสำหรับประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินการอย่างน้อย 2 ปี (2561-2563)  
    ทางด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊กถึงการแก้ฝุ่นพิษในประเทศจีนว่า มหาวิทยาลัยในประเทศจีนได้ทำวิจัยเพื่อต่อสู้กับปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนในช่วงฤดูหนาว โดยสังเกตว่าในช่วงที่ฝนตกหนักมากจะทำให้ PM 2.5 ลดลงจาก 220 มคก./ลบ.ม. เหลือเพียง 30มคก./ลบ.ม. จึงมีแนวคิดติดตั้งหัวกระจายน้ำเป็นฝอยบนหลังคาตึกสูงหรือติดตั้งบนเสาสูงเหมือนเสาส่งสัญญาณ CCTV (Skyscraper sprinkler system)โดยต้องสเปรย์น้ำเป็นฝอยให้มีขนาดอนุภาคของน้ำ 0.1-3.0 ไมครอน ไปในบรรยากาศให้มีความสูงอย่างน้อย 100 เมตร หรือความสูงตึก 25-30 ชั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 นาที-2 ชั่วโมงในช่วงเช้าและเย็น เพื่อจับกับฝุ่น 2.5 ไมครอน ซึ่งจะสามารถลดปริมาณฝุ่นในบรรยากาศจาก 100 มคก./ลบ.ม. เหลือ 35 มคก./ลบ.ม. ได้ในบางช่วงในบริเวณนั้น
    โดยรัฐบาลจีนขอความร่วมมือให้ตึกสูงที่ตั้งอยู่ในเมืองทุกแห่งติดตั้ง Skyscraper sprinkler system ที่ได้ออกแบบมาดังกล่าวและช่วยพ่นละอองฝอยของน้ำไปในบรรยากาศในวันที่มี PM 2.5 สูงเกินมาตรฐานที่กำหนด นอกจากนี้จีนได้ผลิตปืนใหญ่ฉีดน้ำขนาดใหญ่เพื่อใช้พ่นน้ำเป็นละอองฝอยขึ้นไปในอากาศได้สูงถึง 2,000 ฟุต เพื่อช่วยลด PM 2.5 ในวันที่อากาศปิดและมีค่าฝุ่นสูง ทั้งนี้ กรุงเทพฯ และเมืองต่างๆ ของไทยในเวลานี้ โดยเฉพาะที่มหาชัย แม่กลอง กำลังประสบปัญหา PM 2.5 อยู่ในระดับเป็นอันตรายต่อสุขภาพมาก ซึ่งหน่วยราชการลองพิจารณาเอาแนวคิดของจีนมาจัดการอย่างน้อยเขาก็ทำมาแล้ว
    ที่ถนนพระราม 2 นายสมคิด จันทมฤก ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นำทีมเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ติดถนนพระราม 2 และล้างถนนสายหลักและสายรองเพื่อลดฝุ่นบนถนนไม่ให้ฟุ้งกระจาย ทั้งนี้ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ลดลงมาอยู่ที่ระดับสีส้ม อยู่ที่ 64 มคก.ลบ.ม. จากเดิมที่อยู่ในระดับสีแดง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"