'อองซาน ซูจี' โอ่ศักยภาพเศรษฐกิจ จีบต่างชาติลงทุนเมียนมา


เพิ่มเพื่อน    

นางอองซาน ซูจี เปิดการประชุมด้านการลงทุนอย่างเป็นทางการครั้งแรกของเมียนมาเมื่อวันจันทร์ เรียกร้องนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาลงทุนในเมียนมา ชูศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่กลับไม่กล่าวถึงการแก้วิกฤติโรฮีนจาที่สร้างความวิตกแก่นักลงทุน

นางอองซาน ซูจี กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างพิธีเปิดการประชุมอินเวสต์เมียนมาซัมมิต ที่กรุงเนปยีดอ เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 / AFP

    นางอองซาน ซูจี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมาซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนเมียนมาโดยพฤตินัยมานับแต่ปี 2559 ได้กล่าวเปิดการประชุมอินเวสต์เมียนมาซัมมิต ที่กรุงเนปยีดอ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 มกราคม 2562 บรรยายถึงมาตรการปฏิรูปหลายประการที่รัฐบาลชุดนี้ดำเนินการมา รวมถึงข้อดีของประเทศนี้ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นศักยภาพทางเศรษฐกิจ, ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่น่าดึงดูด, ตลาดในประเทศที่กำลังขยายตัว และประชากรวัยหนุ่มสาว

    "โปรดมาที่เมียนมา ซึมซับบรรยากาศที่เปี่ยมด้วยโอกาส และเป็นประจักษ์พยานความมีชีวิตชีวาทางเศรษฐกิจที่เพิ่งค้นพบของเราด้วยสายตาของพวกท่านเอง" นางซูจีกล่าวต่อที่ประชุมนักธุรกิจ, นักการทูต และผู้สื่อข่าว โดยยืนยันว่ารัฐบาลเมียนมายึดมั่นกับแผนการปฏิรูปและจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อการลงทุน แต่นางกล่าวถึงรายละเอียดของแผนการปฏิรูปไม่มากนัก

    ที่ผ่านมานักลงทุนโอดครวญกันว่ารัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญกับการยุติความขัดแย้งด้านอาวุธในประเทศ และละเลยการปฏิรูปเศรษฐกิจและความต้องการของนักลงทุน

    รอยเตอร์กล่าวว่า สุนทรพจน์ครั้งนี้ นางซูจีไม่ได้กล่าวถึงวิกฤติโรฮีนจาที่ส่งผลสะเทือนถึงการลงทุน ธุรกิจจำนวนมากวิตกว่าชาติตะวันตกจะกลับมารื้อฟื้นการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาอีกเหมือนในสมัยของระบอบทหาร

    การปราบปรามของกองทัพในรัฐยะไข่ทางภาคตะวันตกของเมียนมาภายหลังกองกำลังติดอาวุธโรฮีนจาโจมตีที่ตั้งของฝ่ายความมั่นคงหลายสิบจุดและสังหารตำรวจชายแดนกว่า 10 นายเมื่อปี 2560 ส่งผลให้ชาวมุสลิมโรฮีนจาที่เมียนมาไม่ยอมรับว่าเป็นพลเมือง อพยพข้ามแดนเข้าสู่บังกลาเทศราว 730,000 คน

แฟ้มภาพ ตำรวจตระเวนชายแดนเมียนมายืนมองครอบครัวชาวมุสลิมโรฮีนจา ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในรัฐยะไข่ ระหว่างที่รัฐบาลพาสื่อมวลชนลงพื้นที่ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2562 / AFP

    คณะทำงานค้นหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติระบุในรายงานว่า กองทัพเมียนมาสังหารหมู่และข่มขืนขืนชาวโรฮีนจาด้วย "เจตนาล้างเผ่าพันธุ์" พร้อมเรียกร้องให้เมียนมาดำเนินคดีกับพวกนายพล รัฐบาลเมียนมาไม่ยอมรับผลการสอบสวนนี้

    ปีที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่านักลงทุนต่างชาติบางส่วนชะลอการขออนุมัติโครงการขั้นสุดท้ายไว้ก่อนจนกว่าจะมีความชัดเจนว่าสถานการณ์นี้จะคลี่คลายอย่างไร

    สหภาพยุโรป (อียู) กำลังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการคว่ำบาตรทางการค้าต่อเมียนมาสืบเนื่องจากวิกฤติในรัฐยะไข่ โดยมีความเป็นไปได้ที่อียูจะถอดเมียนมาออกจากสิทธิพิเศษทางการค้าแบบปลอดภาษีศุลกากรภายในตลาดอียู มาตรการที่ว่านี้อาจรวมถึงภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำและอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานนับหมื่นตำแหน่ง

    เมื่อต้นเดือนมกราคม อียูเพิ่งประกาศเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวจากเมียนมาและกัมพูชา แต่เป็นเหตุผลเพื่อควบคุมปริมาณนำเข้าข้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากสองประเทศนี้ นางซูจีไม่ได้กล่าวถึงมาตรการของอียูเช่นกันระหว่างกล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันจันทร์

    ธนาคารโลกเคยแถลงเมื่อเดือนธันวาคม โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเมียนมาในปีงบประมาณ 2561-2562 จะลดลงมาอยู่ที่ 6.2% เทียบกับ 6.8% ของปีก่อนหน้านั้น เนื่องจากมีปัจจัยหลายประเทศ รวมถึงการมองเห็นความเสี่ยงขาลงเพิ่มขึ้นจากผลกระทบที่รุนแรงขึ้นจากวิกฤติรัฐยะไข่ที่ทำให้การขยายตัวชะลอลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"