PM 2.5 ภัยเงียบแต่ร้ายแรง


เพิ่มเพื่อน    


    จากปัญหาฝุ่นควันและมลพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนเราเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งปัญหามลพิษของไทยส่วนหนึ่งมาจากการใช้รถดีเซล และน้ำมันดีเซลที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล
    นอกจากนี้ คุณภาพของน้ำมันดีเซลและเครื่องยนต์รถบรรทุกรุ่นใหม่ยังมีมาตรฐานต่ำกว่าสากล อีกทั้งมีรถดีเซลเก่าวิ่งอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ สถาบัน Economic Intlelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) ได้วิเคราะห์ถึงและแนวทางแก้ไขปัญหา PM 2.5 จากดีเซลให้เป็นรูปธรรมเพื่อลดมลพิษอย่างยั่งยืน
    ซึ่ง PM2.5 เป็นภัยเงียบแต่ร้ายแรง เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงในรถ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองถือเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพมนุษย์ทั่วโลกมากที่สุด ยิ่งกว่าการสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรืออุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก ประเมินว่าเป็นความเสี่ยงที่ทำให้อายุขัยของคนทั่วโลกโดยเฉลี่ยสั้นลงเกือบ 2 ปี
    ทั้งนี้ ฝุ่นละอองขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 มีอันตรายร้ายแรงมากที่สุด ที่นอกจากจะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด ยังส่งผลต่อสมองอีกด้วย ทั้งนี้ แหล่งที่มาอันดับ 1 ของ PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เกิดจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล คิดเป็นสัดส่วน 26% ซึ่งไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซลประกอบด้วย PM 2.5 มากกว่า 90%
    สาเหตุหลักของปัญหามลพิษ PM 2.5 จากดีเซลในไทย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านแรกเกิดจากจำนวนรถดีเซล และปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่ขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านที่ 2 เป็นเรื่องของคุณภาพน้ำมันและเครื่องยนต์ โดยคุณภาพน้ำมันดีเซลของไทยใช้มาตรฐานยูโร 4 ซึ่งยังต่ำกว่ามาตรฐานสากล ส่วนคุณภาพเครื่องยนต์นั้นมีทั้งรถดีเซลเก่าที่วิ่งอยู่บนท้องถนนจำนวนมาก และรถบรรทุกดีเซลรุ่นใหม่ที่บังคับเพียงมาตรฐานยูโร 3
    ทั้งนี้ การใช้รถดีเซลของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากโครงสร้างพื้นฐานไทย การปล่อยไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของมลพิษฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ประเทศไทย โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ กำลังเผชิญอยู่ แท้จริงแล้วเป็นปัญหาที่สะสมมานาน หลายปีที่ผ่านมาจำนวนรถดีเซลในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีรถดีเซลที่จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ถึง 2.7 ล้านคัน คิดเป็น 41% ของรถทั้งหมด (ไม่รวมรถจักรยานยนต์) ถ้ารวมทั่วประเทศมีจำนวน 10.8 ล้านคัน หรือเกือบ 60% เป็นรถที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งความพยายามที่จะลดจำนวนรถดีเซลนั้นค่อนข้างยาก
    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยจะยกระดับคุณภาพน้ำมันดีเซลเป็นมาตรฐานยูโร 4 แต่ยังได้รับประโยชน์ไม่เต็มที่ เพราะมีรถดีเซลเก่าที่เครื่องยนต์ไม่มีประสิทธิภาพวิ่งอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งจากสถิติพบว่า รถบรรทุกและรถโดยสารของไทยที่ส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลนั้นเป็นรถเก่าที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วนถึง 71% ของรถบรรทุกและรถโดยสารทั้งหมด ส่วนในกรุงเทพฯ มีอยู่ 56% ดังนั้นจึงต้องเพิ่มความเข้มงวดของการตรวจสอบการปล่อยไอเสียของรถเหล่านี้
    ปัจจุบันภาครัฐได้ออกมาตรการระยะสั้น ซึ่งยังแก้ที่ปลายเหตุ เช่น เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดถนน ฉีดพ่นน้ำในอากาศ แจกหน้ากากอนามัย N95 หยุดการก่อสร้างรถไฟฟ้าชั่วคราว ทำฝนเทียม เป็นต้น สำหรับมาตรการระยะยาว อีไอซีมองว่ายังคงต้องลงรายละเอียดและผลักดันมาตรการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เช่น ในด้านคุณภาพของเครื่องยนต์ดีเซล ต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสภาพรถ และปล่อยควันดำสำหรับรถดีเซลเก่า ส่วนมาตรฐานรถดีเซลรุ่นใหม่ควรพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรฐานของน้ำมันดีเซล โดยยกระดับเป็นมาตรฐานยูโร 5 หรือ 6 ให้เหมือนกันจึงจะได้ประโยชน์เต็มที่
    นอกจากนี้นโยบายแทรกแซงราคาดีเซล ต้องคำนึงถึงนัยของการบิดเบือนการตัดสินใจซื้อประเภทของเครื่องยนต์ ซึ่งจะนำไปสู่การใช้น้ำมันดีเซลที่มากเกินไป ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด รวมไปถึงมาตรการเสริมอื่นๆ เช่น การเพิ่มสัดส่วนไบโอดีเซลจาก B7 เป็น B10 และ B20 ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนของไบโอดีเซลที่ทำมาจากพืชมากขึ้น การเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าและไฮบริดแทนดีเซล การจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถบรรทุกหรือรถยนต์เข้าเมือง ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากการแก้ปัญหาด้านดีเซล
    อย่างไรก็ตาม ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ย่อมมีทางออก เพียงแต่ว่าเราจะเริ่มลงมือทำให้เป็นรูปธรรมเมื่อไรเท่านั้นเอง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"