เที่ยวใกล้ๆ นครปฐม-ราชบุรี


เพิ่มเพื่อน    

(ฝูงลิงจำนวนมากริมถนน)

    ใครที่อยากจะไปเที่ยวในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ติดขี้เกียจไม่อยากเดินทางไกล บอกเลยว่าใกล้ๆ กรุงเทพฯ มีจังหวัดที่น่าเดินทางไปเที่ยว ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์อยู่ไม่น้อยเลยล่ะ อย่างในทริปนี้ ททท.ได้พาเราเดินทางไปแบบวันเดย์ทริปที่จังหวัดนครปฐม และจะเดินทางไปกินกุ้งที่เมืองราชบุรีแบบคูลๆ กัน
    อย่างที่ทุกคนรู้จักว่า นครปฐม เปรียบเสมือนอู่อารยธรรมที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีของกินขึ้นชื่ออย่างข้าวหลามและส้มโอ และยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ครบทุกรสแน่นอน

(นักท่องเที่ยวนั่งเรือชมนาบัว)

    คณะเดินทางได้เลือกเดินทางมายัง บ้านศาลาดิน อ.พุทธมณฑล ที่ตั้งอยู่บริเวณคลองมหาสวัสดิ์ คลองแห่งสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชุมชนต่างๆ ริมคลองมากว่า 150 ปี แต่หลายสิ่งหลายอย่างก็ได้ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ชุมชนบ้านศาลาดิน หนึ่งในชุมชนริมคลองแห่งนี้ก็ได้ปรับตัวและพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แต่ยังคงมีกลิ่นอายของวิถีชีวิตดั้งเดิมในแบบของชาวสวนที่มีพืชผลหลากหลายชนิด ทั้งสวนฟักข้าว ส้มโอ ขนุน กล้วย มะละกอ สระบัว เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาได้สัมผัสกับเสน่ห์ในแบบของบ้านศาลาดินอย่างเต็มอิ่ม ด้วยการล่องเรือลัดเลาะไปตามริมสองฝั่งคลอง แวะยังจุดท่องเที่ยว 5 จุด คือ นาบัว บ้านฟักข้าว นากล้วยไม้ สวนผลไม้และนาข้าว และตลาดน้ำบ้านศาลาดิน ที่จะมีให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ในส่วนของราคาอยู่ที่ลำละ 350 บาท นั่งได้ 6 คน และค่าหัวในการแวะไปยังจุดต่างๆ ก็อยู่ที่คนละ 100 บาท
    ก่อนที่จะลงเรือ เราก็มาทำกิจกรรมจุดแรกกันที่ตลาดน้ำบ้านศาลาดิน จุดนี้จะได้เห็นการสาธิตทำข้าวตังที่มีการดัดแปลงรูปร่างให้น่าทาน เป็นรูปหัวใจ แบบสามเหลี่ยม และแบบวงกลมดั้งเดิม แผ่นข้าวตังที่ไม่หนาจนเกินไป ทอดกรอบจากกระทะร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟให้เราได้เลือกใส่หน้าได้เอง มีทั้งหน้าหมูหยอง พริกเผาหมูหยอง และธัญพืช
    หลังเสร็จจากจุดแรก เรามาลงเรือกันที่ท่าตลาดน้ำบ้านศาลาดิน หรือสามารถลงเรือได้อีกท่า คือ ท่าวัดสุวรรณาราม ซึ่งเป็นเรือให้บริการนำเที่ยวลำพอดี มีหลังคามุงกันร้อน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับอากาศในช่วงนี้ ในระหว่างที่เรือแล่นออกจากท่า เราก็นั่งชมวิวบ้านเรือนริมสองฝั่งคลอง บ้านหลายหลังก็ยังคงมีศาลาริมน้ำ มีโรงจอดเรือ แต่ก็มีอีกหลายหลังที่ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ถนนลาดยางที่เข้ามาเพิ่มเพื่อการเดินทางที่สะดวกมากขึ้น

(กลุ่มดอกบัวเบ่งบานสดใส)

    เรือเทียบท่าจุดที่สอง ที่บ้านป้าติ๋ว หรือ ประไพ สวัสดิ์โต เจ้าบ้านก็ออกมาต้อนรับ พร้อมพาไปยังนาบัวที่มีทั้งบัวฉัตรชมพู และบัวฉัตรขาว อยู่ในสระบัวประมาณ 15 ไร่ มีศาลาขนาดใหญ่ เป็นท่าเรือสำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ล่องเรือ เก็บบัว หรือจะนั่งรับลมเย็น ชมบัวชิลๆ น่าเสียดายช่วงที่เรามาบัวยังบานออกมาได้ไม่เต็มที่ จะให้ดีคือช่วงหน้าร้อน บัวจะเบ่งบานเต็มที่ ยิ่งเวลาประมาณ 07.00 น. จะได้เห็นภาพบัวบานเต็มสระแน่นอน แต่ก็ยังโชคดีที่จะมีบัวบานกลุ่มเล็กๆ ให้เราได้พายเรือเข้าไปชมแบบใกล้ๆ ป้าติ๋วใจดี พายเรือไปเก็บบัวมาสอนพวกเราพับดอกบัวสวยๆ เอาไว้ไปถวายพระอีกด้วย

(สวนกล้วยไม้)

    เรือแล่นพาเราไปต่อยังจุดที่สาม ที่ "บ้านฟักข้าว" ลูกฟักข้าวสีแดงส้มผลใหญ่ห้อยโตงเตง มองดูผิวเผินเหมือนผลปลอมมากๆ แต่นี่คือผลฟักข้าวของจริง มายังจุดนี้มีผลิตภัณฑ์น้ำฟักข้าวแท้ให้ชิมกันด้วย ถ้าติดใจก็ซื้อกลับได้เลย ต่อมายังจุดที่สี่ "นากล้วยไม้" สีม่วงสดของดอกกล้วยไม้ เบ่งบานรอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้ลงไปถ่ายรูปเล่นได้สักพัก 

(อีแต๋นพาแว้นชมท้องนา)

    เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปต่อกันที่จุดสุดท้าย สวนผลไม้และนาข้าว ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เรารอคอย เพราะผลไม้นานาชนิดทั้งแห้งและสดจากสวนได้จัดวางไว้พร้อมทาน แถมยังได้ชิมเมี่ยงกลีบบัวด้วย รสชาติใช้ได้เลย ใครอยากจะลองนั่งรถอีแต๋นไปชมนาข้าวก็จ่ายเพิ่ม 100 บาท แต่นั่งได้ถึง 10 คน ซึ่งเราได้นั่งแล้วต้องบอกลีลาการขับรถของคนขับเฟี้ยวฟ้าวไม่เบาทีเดียว อิ่มท้อง แถมยังได้ล่องเรือแบบชิลๆ มาที่เดียวแต่รู้สึกว่าคุ้มมากๆ

(กุ้งตัวโตๆ)

    เราเดินทางต่อไปยังจังหวัดราชบุรีที่อยู่ติดกับนครปฐม ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงกว่าก็ถึง และที่จะพลาดไม่ได้คือ ต้องมากินกุ้งบางแพ ตัวใหญ่ เนื้อแน่น ไม่ว่าจะเป็นเมนูกุ้งเผา กุ้งทอดกระเทียม และอีกสารพัดเมนูกุ้งรสเด็ด แซ่บถึงใจแน่นอน

(ถ้ำฤาษีเขางู ด้านในถ้ำมีพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท ปางแสดงธรรมเทศนา)

    จังหวัดราชบุรียังเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย เรามุ่งหน้าไปยังถ้ำฤาษีเขางู ข้อควรระวังของที่นี่คือลิงจอมซน อย่าได้เผลอทีเดียวเชียว ก่อนจะถึงตัวถ้ำต้องเดินขึ้นบันไดไปอีกนิด ด้านในถ้ำมีพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท ปางแสดงธรรมเทศนา มีลักษณะแบบสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ 11-13 และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่อีกหลายองค์ และฤาษีตามที่ชาวบ้านให้ความเคารพ อีกทั้งยังมีแผ่นจารึกโบราณอักษรปัลลวะภาษาสันสฤต อ่านว่า ปุญกรรมชระศรีสมาธิคุปตะ ซึ่งแปลว่าพระศรีสมาธิคุปตะเป็นผู้บริสุทธิ์ด้วยการทำบุญ

(พระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่หันพระเศียรไปทางปากถ้ำ)

    เดินทางต่อไปยัง ถ้ำฝาโถ ซึ่งอยู่ไม่ไกลกันมาก มีบันได้ให้เดินขึ้นชมวิวมุมสูงระหว่างทาง ลักษณะของตัวถ้ำไม่ใหญ่เท่าถ้ำแรกที่เราได้ไปมา ด้านในไม่ลึกมากนัก บริเวณผนังถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่หันพระเศียรไปทางปากถ้ำ ด้านบนเศียรพระมีประติมากรรมลักษณะคล้ายต้นไม้ มีเครื่องประดับ นับว่าเป็นร่องรอยของประวัติศาสตร์ที่งดงามอย่างมาก จุดหมายสุดท้ายของเย็นนี้คือ อุทยานแห่งชาติเขาหินงู ระหว่างขับรถทุกคนจะได้เห็นลิงเป็นฝูงเยอะมากๆ เกาะกลุ่มกันอยู่ตามริมสองฟากถนน แต่ห้ามจอดให้อาหารเด็ดขาด อาจเสี่ยงถูกรุมยื้อแย่งอาหารจากลิงทั้งฝูง

(ปั่นเป็ดยามเย็นที่อุทยานแห่งชาติเขาหินงู)

    อุทยานแห่งชาติเขาหินงู ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งระเบิดและย่อยหิน แต่ธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรม จึงได้มีการยกเลิกสัมปทาน ต่อมาทางจังหวัดราชบุรีจึงได้พัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะ มีการสร้างพระพุทธรูปหินและสะพานเชื่อมให้นักท่องเที่ยวได้เดินเล่นชมวิวธรรมชาติ มีเรือเป็ดปั่นในน้ำรับลมเย็นๆ เหมาะสำหรับการมานั่งเล่น เดินเล่นชิลๆ มาก

(พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี)

    วันสุดท้าย เราเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ที่ในอดีตเคยเป็นศาลากลางจังหวัด อาคารแห่งนี้ทำให้เราสนใจตั้งแต่สีชมพูของตัวอาคาร และลักษณะสถาปัตยกรรมที่เป็นแบบตะวันตก ทำให้รู้สึกสดใสน่ารัก เหมือนย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เลย ด้านในถูกจัดแบ่งเป็นโซนเล่าเรื่องของจังหวัดราชบุรี 5 เรื่องด้วยกัน โดยโซนแรกจะเป็นเรื่องราวของสภาพทางภูมิศาสตร์และธรรมชาติวิทยา โซนที่สอง ประวัติศาสตร์และโบราณคดีของราชบุรีตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีการจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญ อาทิ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี
    ถัดมาในโซนที่สาม จัดแสดงเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ของจังหวัดราชบุรีที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประกอบพิธีกรรม บ้านเรือนและการดำรงชีวิต โซนที่สี่ มรดกดีเด่น ห้องที่รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวและบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงและทำคุณประโยชน์ให้แก่จังหวัด และโซนที่ห้า จัดแสดงราชบุรีในปัจจุบันที่ทำให้เราได้เห็นถึงการพัฒนาต่างๆ ของจังหวัดนี้

(ทองอยู่ กำลังหาญ ผู้สืบสานทอผ้าลายตีนจก)

    เราได้มาที่บ้านคูบัว ชมผ้าทอลายตีนจก ผ้าพื้นถิ่นดั้งเดิม เราได้พบกับคุณยายทองอยู่ กำลังหาญ ที่สืบสานการทอผ้าตีนจกมาตั้งแต่ยังสาวๆ ปัจจุบันยายทองอยู่มีอายุ 88 ปี ได้เล่าให้เราฟังสั้นๆ ว่า แต่ก่อนผ้าตีนจกไม่ค่อยมีคนใส่ แต่แม่ของตนยังคงใส่และทอเองเรื่อยมา โดยเฉพาะเอกลักษณ์ที่ทอกลับจากด้านหลัง ลายจึงอยู่ด้านหลัง อย่าง ลายเกี้ยวซ้อนกาบที่เคยทอถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และส่วนใหญ่สีที่นิยมก็สีแดง เขียว เหลือง ทำให้ผ้ามีสีสัน ปัจจุบันก็ส่งต่อการทอผ้าต่อให้หลานๆ ให้อนุรักษ์ลายผ้าตีนจกนี้ไว้ ในส่วนของราคาก็จะอยู่ที่ 500-10,000 บาทขึ้นไป
    แวะเดินกาดวิถีชุมชนคูบัวที่มีอาหารและของพื้นบ้านมาจำหน่าย และมุ่งหน้าไปยังจุดหมายสุดท้ายที่

(อ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้ม)

    ศูนย์ศึกษาวิทยาการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.โพธาราม นั่งรถรางรับลมเย็นๆ สัมผัสไร่แปลงสาธิตบนพื้นที่กว่า 849 ไร่ บางทีอาจจะเป็นแรงบันดาลใจและความรู้ในการเอากลับไปทำเกษตรที่บ้านด้วยนะ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"