ขู่ใช้ยาแรงแก้ฝุ่นพิษ นายกลั่นไม่ได้ผลยกระดับขึ้น/กทม.ส่งโดรนพ่นนํ้า


เพิ่มเพื่อน    

    กทม.เปิดปฏิบัติการแก้ฝุ่นพิษ ส่งโดรน 5 ลำขึ้นบินฉีดพ่นละอองน้ำ 6 จุดวิกฤติ เอกชนเตรียมส่งเครื่องบินเล็ก 47 ลำช่วยอีกแรง พร้อมนัด 3 ก.พ.จัดบิ๊กคลีนนิ่งใหญ่ทั่วกรุง "บิ๊กตู่" ย้ำเร่งแก้ปัญหา PM 2.5 เต็มที่ ชี้หากไม่ได้ผลอาจยกระดับมาตรการแรงขึ้น แจงปิด รร.ห่วงเด็กภูมิต้านทานต่ำ "คพ." เผยแนวโน้มอากาศเริ่มดีขึ้น "จาตุรนต์" จี้รัฐบาลอย่าปิดบังสถานการณ์จริง
    ตั้งแต่เช้าตรู่ วันที่ 31 ม.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานพิธีปล่อยขบวนหน่วยปฏิบัติการแก้วิกฤติมลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.), สำนักสิ่งแวดล้อม (สวล.), สำนักงานเขตพื้นที่ กทม., ชมรมโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อนำโดรนจากจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ จำนวน 5 ลำ บรรทุกน้ำขึ้นบินปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำลดฝุ่นละอองในอากาศพื้นที่วิกฤติทั่ว กทม.
     โดยเริ่มจากจุดแรกที่ฐานบินบริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการ กทม. ก่อนจะย้ายฐานการบินไปยังจุดอื่นจบครบ  6 จุด ได้แก่ ฐานบินบริเวณลานคนเมือง, ฐานบินบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน), ฐานบินมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.), ฐานบินสวนจตุจักร จะทำการบินบริเวณห้าแยกลาดพร้าว, ฐานบินสวนลุมพินี จะทำการบินบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6 และถนนพระราม 4 และฐานบินสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร เขตบางคอแหลม โดยแต่ละจุดจะใช้เวลาในการปฏิบัติการ 1 ชั่วโมง 30 นาที-2 ชั่วโมง 
    พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า กทม.ประสานไปยังชมรมโดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งมีโดรนอยู่จำนวน 50 ลำมาร่วมปฏิบัติการขึ้นบินฉีดน้ำพ่นละอองในอากาศเพื่อช่วยดูดจับฝุ่นละออง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 1 ก.พ. โดยจะประเมินสถานการณ์และตรวจวัดคุณภาพอากาศทุก 3-5 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์
    "การปฏิบัติแก้วิกฤติครั้งนี้ จะเป็นการลดฝุ่นละออง 3 ระดับความสูง ได้แก่ ระดับบนสุด ใช้โดรนจะบินฉีดพ่นละอองน้ำ โดยโดรนแต่ละเครื่องมีรัศมีทำการบินประมาณ 2 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และสามารถบรรทุกน้ำได้ 5-10 ลิตร ก่อนจะขึ้นไปฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ ซึ่งแต่ละครั้งสามารถบินได้ประมาณ 15-20 นาที จากนั้นจะลงมาเปลี่ยนแบตเตอรี่และเติมน้ำสำหรับฉีดพ่น ส่วนระดับที่ 2 รถน้ำพร้อมอุปกรณ์จาก สปภ.และ สวล. จะฉีดฝอยละอองน้ำขึ้นไปอากาศ และระดับที่ 3 เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดของสำนักงานเขตจะกวาดและล้างทำความสะอาดบนพื้นจราจร ทางเท้าและพื้นที่สาธารณะทั่วไป" พล.ต.อ.อัศวินกล่าว 
    ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า นอกจากนี้ มอบหมายให้นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. ออกคำสั่งด่วน (ว.8) ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและเจ้าหน้าที่สำนักวิ่งแวดล้อม ฉีดพรมน้ำและล้างต้นไม้ภายในสวนสาธารณะของ กทม. เพื่อลดฝุ่นที่ดักจับเกาะตามใบไม้และกิ่งไม้ เบื้องต้น กทม.ทำการล้างต้นไม้ รวม 20 สวนแล้ว และจะดำเนินการให้ครบทุกสวนสาธารณะทุกแห่ง 
    "กทม.ยังได้รับความร่วมมือจากกองทัพภาคที่ 1 ในการร่วมสนับสนุนรถน้ำและอุปกรณ์ในการปฏิบัติการฉีดน้ำลดฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครด้วย ซึ่ง กทม.ก็จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฉีดน้ำทำความสะอาด ทั้งพื้นถนนและต้นไม้ภายในสวนต่อเนื่องตลอดทั้งวัน" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว 
ส่งบินเล็ก 47 ลำพ่นน้ำ
    จากนั้นเวลา 14.00 น. พล.ต.อ.อัศวินประชุมแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีความรู้เฉพาะทางจากทุกภาคส่วน ตลอดจนผู้ประกอบการและผู้รับเหมาก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครกว่า 300 ราย
    พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า เบื้องต้น กทม.จะมีมาตรการเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ 1.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างทุกโครงการ และบ้านเรือนประชาชนทุกหลังคาเรือนในการติดตั้งสปริงเกลอร์บนอาคาร หรือหลังคาบ้านเพื่อฉีดละอองน้ำบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง และให้หมั่นทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน 2.ขอความร่วมมือรถไฟฟ้าบีทีเอสติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์ตามสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกเส้นทาง และ 3.กทม.จะมอบหมายให้ 50 สำนักงานเขต ประชาสัมพันธ์และแจ้งพี่น้องประชาชนทุกหลังคาเรือนให้ร่วมกันจัดบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ครั้งใหญ่พร้อมกันทั่ว กทม. ในวันที่ 3 ก.พ.นี้
    รศ.วีรชัย พุทธวงศ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า การนำโดรนขึ้นบินฉีดพ่นละอองน้ำสะอาดในอากาศ ช่วยดูดจับฝุ่นละอองเป็นการแก้ไขปัญหาที่ดี โดยขณะ มก.กำลังร่วมมือโรงเรียนการบินกรุงเทพ ในการติดตั้งเครื่องบรรจุน้ำและประกอบอุปกรณ์บนเครื่องบินขนาดเล็กจำนวน 47 ลำ เพื่อบินพ่นน้ำในอากาศ โดยขอให้ภาครัฐสนับสนุนน้ำสะอาดและเงื่อนไขการบิน
    "ในอนาคตขอเสนอให้ กทม.ติดตั้งเครื่องกรองอากาศเช่นเดียวกับประเทศจีน เพราะคาดว่าจะต้องเกิดปัญหาขึ้นอีกแน่ โดยวิธีการของเครื่องกรองอากาศจะเป็นการดูดอากาศเข้ามา" กรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรฯ กล่าว  
     น.ท.ปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริษัท  บางกอกเอวิชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า โรงเรียนการบินกรุงเทพต้องการช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ กทม. ผ่านเครื่องบินขนาดเล็ก ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้โดรน เพราะบรรจุน้ำได้ลำละ 150 ลิตรต่อลำ โดยวิถีการบินจะบินเกาะกลุ่มเรียงกันเป็นหน้ากระดานด้วยรัศมีทำการบินประมาณ 1 กิโลเมตร หรือ 1,000 เมตร ประกอบด้วยเครื่องบินจำนวน 15-20 ลำ ใช้ความเร็วอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดจะบินได้ทั้งหมด 25 รอบ โดยจะช่วยฉีดพ้นน้ำครอบคลุมพื้นที่ กทม.
    "คาดว่าจะเริ่มทำการบินได้ตั้งแต่เวลา 09.00 น.ของวันที่ 2 ก.พ. โดยจะกำหนดเส้นทางการบินบริเวณถนนพระราม 2 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบภาวะวิกฤติ อยู่ไกลจากเขตพระราชฐานและเงื่อนไขการบิน เพื่อไม่ให้เส้นทางการบินกระทบต่อท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองและสุวรรณภูมิ โดยจะใช้ความสูงการบินอยู่ที่ 500-1,000 ฟุต" ผู้บริหารโรงเรียนการบินกรุงเทพระบุ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงปัญหาฝุ่นละอองว่า การบริหารทุกอย่างต้องเร่งดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องของการเผาขยะ เผาในที่โล่ง พืชและขยะที่เป็นพิษเผาเรื่อยเปื่อยไปเรื่อย โรงงานทำได้หรือไม่ ถ้าทำไม่ได้ก็เป็นอยู่อย่างนี้ PM 2.5 ก็มาอยู่อย่างนี้ แต่ส่วนที่หนักที่สุดคือยานพาหนะเกือบทั้งหมด เป็นการเผาไหม้จากเครื่องยนต์ 
    "วันนี้ก็มีเสนอมาให้ยกเลิกรถที่วิ่งแล้ว 10 ปี แล้วใครขับรถแค่ 3 ปีบ้าง คนมีหลากหลายอาชีพ หลากหลายระดับ แต่ไม่ใช่ว่ารถเก่าจะไม่มีคุณภาพ ต้องดูบริบทของประเทศไทยด้วย ที่จะห้ามหรือจะปิดอะไรก็แล้วแต่ ซึ่ง PM 2.5 วันนี้ตกใจกันทั้งประเทศ ใช่เป็นเรื่องสุขภาพ รัฐบาลก็ค่อยๆ แก้ ถ้าแก้โครมเดียวก็เดือดร้อนกันทั้งหมด ใครยอมไหม ไม่ใช้รถทั้งหมด เพราะปัญหามาจากรถมากที่สุด" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
บิ๊กตู่ชี้ไม่ดีขึ้นยกระดับแรง
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การสั่งปิดโรงเรียน เพราะเด็กมีภูมิต้านทานต่ำ ไม่เหมือนผู้ใหญ่ ตนก็เหมือนกัน ทนมาถึงวันนี้ 65 ปีแล้ว แค่นี้ก็เก่งแล้ว เพราะฉะนั้นเด็กต้องดูแลเขาก่อน ดู 2 วันจะได้เรื่องไม่ เพราะต้องการให้เด็กที่มีภูมิต้านทานต่ำเขาปลอดภัย หลายคนก็ออกมาคาดจมูกแถลง โธ่ ไม่ต้องออกมาคาดจมูกแถลงสร้างภาพอย่างนั้นหรอก ไม่ต้อง ดูถ้าท่านมาแล้ว ท่านจะทำอะไรได้บ้าง เสนอมา วันนี้เสนอมาท่านก็ลองเลือกไปแล้วกัน เสนอมาแต่ละอย่างตนก็มีเหมือนที่เขามี แต่ตนจะใช้ได้อย่างไร นั่นคือสิ่งที่ต้องคิด จะห้ามรถอย่างไร จะห้ามรถวันคี่ยอมไหม 
    "ในฐานะเป็นรัฐบาล ผมมีประชาธิปไตยเต็มที่ นึกถึงคนทุกคน จะประกาศหรือสั่งอะไรไปก็ต้องระมัดระวังมากที่สุด แต่ทุกอย่างกฎหมายปกติมีอยู่แล้ว ทำกฎหมายปกติให้เข้มงวดขึ้น อะไรที่สามารถควบคุมโรงงาน ควบคุมต่างๆ รวมถึงการเผาวัชพืชในที่โล่งมีทุกตัว ต้องเข้มงวดตรงนี้ให้ได้ แล้วดูจะลดหรือไม่ ถ้ายังไม่ลด เดี๋ยวต้องหามาตรการที่ 2 และมาตรการที่ 3  ขณะนี้เราทำมาตรการ 1 กับ 2 อยู่ เดี๋ยวถ้ามีมาตรการที่ 3 ขึ้นมา จะยิ่งกว่านี้ ถ้ายังแก้ไขไม่ได้ เพราะบางพื้นที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม เขาก็ไปวัดดูแล้ว ก็ไม่ได้มากมาย และส่วนใหญ่ก็ต่ำกว่าเกณฑ์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาฝุ่นละอองเพิ่มเติมว่า จะมอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะกำกับดูแลกรมควบคุมมลพิษ รวบรวมมาตรการ 1-3 และถ้าเป็นมาตรการที่ 4 จะยกระดับเป็นภัยพิบัติขึ้นมาทันที 
    "ต้องการให้ถึงขนาดนั้นหรือไม่ ถ้าทำถึงขนาดนั้นอาจจะมีผลเสียต่อการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งสุขภาพสำคัญที่สุด แต่ต้องคำนึงถึงอย่างอื่นด้วย การที่ออกมาพูดอะไรเป็นประเด็นการเมือง ผมก็เบื่อหน่าย เพราะไม่ใช่เพิ่งมีปัญหาในเวลานี้ แต่มีมาทุกปี แต่รัฐบาลนี้ให้ทุกคนรับทราบสถานการณ์ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยแจ้ง พอมีตัวเลขให้เห็นก็ตกใจ ตื่นตระหนก" นายกฯ กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตรกล่าวเพียงสั้นๆ ถึงปัญหาฝุ่นละอองว่า จะพยายามแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด
    นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร) กล่าวว่า พล.อ.ประวิตรได้มอบหมายให้ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เรียกประชุมหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดเป็นการด่วน เพื่อดูว่าแต่ละหน่วยงานจะลงไปทำอย่างไร เพื่อให้ปัญหาในขณะนี้ดีขึ้น โดยหน่วยงานที่เข้าไปแก้ปัญหาขณะนี้ จะพยายามปรับไม่ให้กระทบกับประชาชนมากที่สุด 
    "มาตรการเร่งด่วนที่จะใช้ตอนนี้เขาได้ดูเรื่องการก่อสร้าง การจราจร การรณรงค์เกี่ยวกับการใช้รถ ส่วนที่เหลืออยู่คือการประชุมว่าภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหาอย่างไร ถ้านายกฯ เข้าใจตรงนี้แล้วดันให้ภาคประชาสังคมเข้าไปช่วย ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหาได้ เพราะเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องปัญหาฝุ่นก็สงผลกระทบกับด้านท่องเที่ยว ทำให้ชะงักไปด้วยเช่นกัน" นายปณิธานกล่าว
    ที่กระทรวงคมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ประชุมติดตามการดำเนินมาตรการ ปลอดฝุ่น PM 2.5 หน่วยงานในสังกัดผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมสั่งการให้หน่วยงานที่มีโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะกรมทางหลวง (ทล.), กรมทางหลวงชนบท (ทช.), การรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขยายเวลางดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 22 ม.ค.62 ออกไปถึงวันที่ 15 ก.พ.62 เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยปรับเปลี่ยนแผนการทำงานไปทำด้านอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่น และหลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมคืนพื้นผิวจราจร และล้างทำความสะอาดทุกครั้งหลังเสร็จงาน
คพ.เผย PM 2.5 เริ่มลดลง
    นายอาคมกล่าวว่า เรื่องการให้บริการรถสาธารณะหลักๆ เป็นเรื่องการตรวจควันดำของรถโดยสารสาธารณะ เน้นไปที่รถของ ขสมก. เบื้องต้นได้มีการเพิ่มในการตรวจรถร่วม ขสมก.และรถร่วม บขส.โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ส่งสายตรวจไปตามสถานที่ต่างๆ 2.ติดตามตรวจควันดำรอบนอกกรุงเทพฯ มี 6 จุด 1.ทางเข้ากรุงเทพฯ จากนครปฐม สมุทรสาคร ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ได้เน้นตรวจรถโดยสารที่ไม่ประจำทาง รถทัศนาจร รถรับ-ส่งพนักงงาน รวมถึงรถบรรทุกในเขตรอยต่อ
    "เกณฑ์การวัดค่าของควันดำ ซึ่งมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ ควบคุมไว้ที่ 45% ได้ตั้งเกณฑ์ไว้สูงกว่า โดยเฉพาะรถ ขสมก. ได้ตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 30% ดังนั้นหากพบว่ารถของ ขสมก.ตรวจวัดค่าควันดำเกิน 30% ไม่ให้นำออกวิ่งให้บริการทันที" รมว.คมนาคมกล่าว
    วันเดียวกัน พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร (ผบก.จร.) ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก, สำนักงานสิ่งแวดล้อมเขตคลองเตย, กรมควบคุมมลพิษ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.จร. ออกตรวจควันจากท่อไอเสีย รถประจำทาง (ขสมก.)เครื่องยนต์ดีเซลที่อาจมีค่าควันดำเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหามลภาวะฝุ่นละอองในอากาศ (PM 2.5) ณ ท่าอู่พระราม 9 (ขสมก.) แขวง-เขตห้วยขวาง ซึ่งมีรถประจำทางสายต่างๆ มีรถเมล์ประจำทางสีครีมแดง และรถปรับอากาศ ที่มีรถทั้งหมดรวม 68 คัน ตรวจแล้ว 60 คัน จอดเสีย 4 คัน ยังไม่ได้ตรวจอีก 4 คัน เนื่องจากกำลังวิ่งอยู่ ผลการตรวจตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ไม่พบค่าฝุ่นละอองเกิดมาตรฐาน
    ขณะที่ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) สรุปข้อมูลโรงเรียนปิดการเรียนการสอนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สรุปข้อมูลในกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดในเขตปริมณฑล คือ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปิดเรียน 631 โรง คิดเป็น 58.7% นักเรียนได้รับผลกระทบ 431,997 คน ส่วนที่เหลือ 650 โรงเรียนเปิดเรียน เนื่องจากมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) แบ่งเป็น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 25,932 คน, มัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 55,690 คน และ ม.6 จำนวน 32,166 คน
    ด้านศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษในอากาศกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศประจำวันว่า พบปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ 65-108 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มีค่าเกินมาตรฐาน 24 แห่ง (ค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) และพบมี 3 แห่งที่อยู่ในระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) คือ บริเวณเขตบางพลัด บางกอกน้อย และเขตบางเขน
    อย่างไรก็ดี กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เวลา 15.00 น. วันที่ 31 ม.ค. ผลการตรวจวัดปริมาณ PM 2.5 พบมีพื้นที่ที่ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) แบ่งเป็นพื้นที่ริมถนนจำนวน 23 สถานี และพื้นที่ทั่วไป จำนวน 16 สถานี โดยรวมมีค่าลดลงเกือบทุกพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลา 07.00 น. และ 12.00 น.
    คพ.คาดการณ์ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในวันที่ 1 ก.พ. ปริมาณ PM 2.5 มีแนวโน้มลดลง อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ดำเนินมาตรการในการบรรเทาสถานการณ์อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อาทิ การประกาศปิดโรงเรียน และสถานศึกษาต่างๆ ซึ่งส่งผลให้การจราจรคล่องตัวและลดแหล่งกำเนิดมลพิษ การตรวจจับควันดำอย่างเข้มข้นโดยความร่วมมือของ บก.จร. กรมการขนส่งทางบก และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองลดลง
    ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลออกมาตรการมาแล้ว ต้องจริงจังในการดำเนินมาตรการ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมหรือจำกัดรถยนต์ที่เป็นต้นเหตุของฝุ่น PM 2.5 การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ รวมถึงเข้มงวดจริงจัง กับการเผาในที่โล่งแจ้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น 
    "ที่สำคัญรัฐบาลต้องจริงจังและจริงใจ หากปิดบังข้อมูลหรือไม่เปิดเผยความจริง ยิ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น กระทบกับการเตรียมพร้อมป้องกันสุขภาพของประชาชนเป็นล้านคน" ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ทษช.ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"