ยุโรปวิตก หวั่นสหรัฐล้มสนธิสัญญามิสไซล์รัสเซีย ปลุกแข่งขันอาวุธครั้งใหม่


เพิ่มเพื่อน    

หลายชาติยุโรปแสดงความวิตก หากสหรัฐถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (ไอเอ็นเอฟ) ตามเส้นตายวันเสาร์นี้จะจุดชนวนการแข่งขันด้านอาวุธครั้งใหม่ เยอรมนีชี้รัสเซียละเมิดสัญญาก่อนทำให้ข้อตกลงนี้เป็นโมฆะอยู่แล้ว

รัสเซียนำมิสไซล์ครูซ 9เอ็ม729 แสดงต่อนายทหารและสื่อต่างชาติ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 / AFP

    รัฐบาลสหรัฐขีดเส้นตายวันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ให้รัสเซียปฏิบัติตามสนธิสัญญาที่ทำไว้ในสมัยสงครามเย็นฉบับนี้ แต่ข่าวเอเอฟพีในวันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ อ้างว่ามีรายงานว่า ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ จะประกาศถอนตัวจากไอเอ็นเอฟตั้งแต่วันศุกร์

    ชาติยุโรปตะวันตกกล่าวกันว่า ระบบมิสไซล์พิสัยกลางของรัสเซียระบบใหม่นั้นละเมิดบทบัญญัติของสนธิสัญญาปี 2530 ฉบับนี้ และทำให้เมืองในยุโรปตกอยู่ในความเสี่ยง

    เมื่อวันศุกร์ ไฮโค มาส รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี ซึ่งวิ่งรอกระหว่างกรุงมอสโกและกรุงวอชิงตันในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพยายามรักษาสนธิสัญญานี้ กล่าวว่า รัสเซียเป็นฝ่ายละเมิดไอเอ็นเอฟ และยังคงละเมิดอยู่จนถึงขณะนี้ คำร้องขอให้รัสเซียแสดงความโปร่งใสมากขึ้นและขอให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้นในช่วง 60 วันที่ผ่านมานั้นเปล่าประโยชน์

    "สนธิสัญญาที่สองประเทศทำสัญญากันไว้ และฝ่ายหนึ่งละเมิดสัญญา ถือว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นโมโมฆะ" รัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวขณะเดินทางมาพบหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) ที่กรุงบูคาเรสต์

    ลิทัวเนียและลัตเวีย สองประเทศในกลุ่มรัฐบอลติกที่ตระหนักดีถึงภัยคุกคามจากรัสเซีย ต่างสนับสนุนให้สหรัฐถอนตัวจากไอเอ็นเอฟ

    ลินัส ลิงเควิเชียส รัฐมนตรีต่างประเทศของลิทัวเนีย กล่าวว่า สนธิสัญญาใดๆ มีความสำคัญต่อเมื่อประเทศภาคีปฏิบัติตาม แต่หากมีการละเมิด คุณค่าของสนธิสัญญานี้ก็เป็นปัญหา และมี "หลักฐานชัดเจน" ว่ารัสเซียละเมิดสนธิสัญญาฉบับนี้

เจ้าหน้าที่กลาโหมของรัสเซียยืนกรานว่า ระบบมิสไซล์ของตนเป็นไปตามสนธิสัญญาฉบับนี้ / AFP

    ไอเอ็นเอฟลงนามไว้โดยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐ และประธานาธิบดีมิฮาอิล กอร์บาชอฟ ของสหภาพโซเวียตขณะนั้น เป็นข้อตกลงที่ห้ามมิสไซล์ภาคพื้นดินที่มีพิสัยระหว่าง 500-5,000 กิโลเมตร ที่ช่วยคลี่คลายภัยคุกคามจากหัวรบนิวเคลียร์ที่มีต่อชาติยุโรป

    ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย เคยกล่าวเตือนไว้ว่า หากสนธิสัญญาฉบับนี้ถูกล้มเลิก จะกระตุ้นให้มีการแข่งขันด้านอาวุธครั้งใหม่ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่หลายประเทศยุโรปกำลังตื่นตัว รัสเซียคาดว่าพวกเขาจะได้รับการแจ้งอย่างเป็นทางการจากสหรัฐภายในวันศุกร์

    ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน กล่าวว่า รัสเซียเสียใจกับแผนการถอนตัวของสหรัฐ ซึ่งได้ตัดสินใจไว้ล่วงหน้ามานานมากแล้ว

    รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเคยประกาศไว้เมื่อเดือนธันวาคมว่า สหรัฐจะเริ่มกระบวนการ 6 เดือนในการถอนตัวจากไอเอ็นเอฟ หากรัสเซียไม่ถอนระบบมิสไซล์ 9เอ็ม729 ภายในวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้

    แม้สมาชิกในกลุ่มนาโตทั้ง 29 ประเทศจะสนับสนุนคำกล่าวของสหรัฐที่ว่ารัสเซียละเมิดข้อตกลงนี้ แต่มุมมองในการโต้ตอบนั้นไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกัน

    ดิดิเยร์ เรย์นเดอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศของเบลเยียม กล่าวว่า การถอนตัวจากสนธิสัญญาไม่ใช่การโต้ตอบที่ถูกต้อง การถอนตัวไม่อาจช่วยเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย

    ส่วนคาริน คไนส์เซิล รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรีย ซึ่งมีความใกล้ชิดกับปูติน ตอบคำถามว่าควรโทษรัสเซียว่าทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้เสี่ยงต่อการพังครืนหรือไม่ โดยบ่ายเบี่ยงว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนกว่านี้ เธออ้างว่ารัสเซียกังวลเกี่ยวกับจีน ซึ่งไม่ได้อยู่ในสนธิสัญญานี้ด้วย

    เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต กล่าวว่า พวกผู้บัญชาการทหารจะเริ่มเตรียมการเพื่อรับมือ "โลกที่ปราศจากสนธิสัญญาไอเอ็นเอฟ" แต่เขายืนกรานว่ากลุ่มนาโตยังยึดมั่นต่อการลดอาวุธ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"