เศรษฐกิจหมุนเวียน


เพิ่มเพื่อน    

    การขยายตัวทางเศรษฐกิจมักจะเชื่อมโยงกับการกระตุ้นการบริโภค ส่งผลให้ต้องมีการเร่งการผลิต เพื่อมารองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควัน และมลพิษต่างๆ ก็ล้วนมาจากกระบวนการแปรรูปของอุตสาหกรรมต่างๆ นี่เอง
    ทุกวันนี้ โลกธุรกิจ ทุนนิยม ที่มองเรื่องผลกำไรเป็นตัวตั้ง ลืมมองเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา เราไม่ได้คิดเลยว่า เงินที่หามาได้นั้น ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปขนาดไหน และหลังจากเกิดปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปกคลุมไปทั่ว กทม. และปริมณฑล ก็น่าจะกระตุกความคิดของทุกคนแล้วว่า เราจะมีส่วนช่วยในการลดการทำลายธรรมชาติ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อย่างไรได้บ้าง
    สำหรับภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม ที่เป็นหนึ่งในต้นต่อของฝุ่น ก็ควรจะต้องปรับทิศทางการทำงาน โดยมองหาการจัดการสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
    ซึ่งในขณะนี้มีทฤษฎีหนึ่งที่หลายองค์กรในโลก และองค์กรใหญ่ๆ ในไทยเริ่มกล่าวถึงกันมาก นั้นก็คือทฤษฎี  “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy” ซึ่งหัวใจของทฤษฎีนี้ก็คือการให้คุณค่ากับวัตถุดิบให้มากที่สุด โดยคำนึงการสร้างผลิตภัณฑ์ที่รักษาและเก็บไว้ได้นาน และมีการสร้างของเสียหรือมลพิษที่ต่ำที่สุด  
    แนวคิดการจัดการของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จะแตกต่างกับการจัดการกระบวนการผลิตในอดีตที่เรียกว่า เศรษฐกิจแบบเส้นตรง “Linear Economy” ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรครั้งละมากๆ เพื่อทำต้นทุนให้ต่ำที่สุด และส่วนมากไม่มีความคิดที่จะนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งวิธีนี้ได้สร้างภาระให้กับโลกไว้อย่างมากมาย เห็นได้จากปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ และปัญหาน้ำเน่าเสีย ก็ล้วนเกิดมาจากกระบวนการผลิตแบบนี้แทบทั้งนั้น
    สำหรับหัวใจของเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งอยู่บนหลักการสามข้อ ประกอบไปด้วย 1.การรักษาและเพิ่มประสิทธิภาพทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ 2.การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ 3.การรักษาประสิทธิภาพของระบบด้วยการระบุและลดผลกระทบเชิงลบให้มากที่สุด ซึ่งวิธีการที่จะไปถึงหลักการดังกล่าว ก็ทำได้หลากหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น 1.การดีไซน์สินค้าให้ใช้ได้อย่างยาวนาน (Long-Lasting Design), การบำรุงรักษา (Maintenance), การซ่อมแซม (Repair), การนำกลับมาใช้ใหม่ (ReUse) การนำกลับมาผลิตใหม่ (Remanufacturing) การปรับแต่งใหม่ (Refurbishing) การแปรรูปกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) และการแปรขยะให้กลับมาใช้เป็นสิ่งใหม่ (Upcycling)  
    โดยในปัจจุบันประเทศผู้นำการผลิตของโลกอย่าง  เยอรมนี ญี่ปุ่น และจีน ก็เริ่มนำวิธีคิดแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น เพราะเชื่อว่าด้วยวิธีการนี้จะ ‘ปลดล็อก’ ปัญหามากมายที่มากับระบบเศรษฐกิจรูปแบบเดิม
    สำหรับประเทศไทย แม้ว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน” จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มันก็ยังอยู่ในวงจำกัด ซึ่งก็มีบริษัทยักษ์ของประเทศบางแห่งปรับตัวนำแนวคิดนี้มาประยุกต์เข้ากับแนวทางการทำงานบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย ซึ่งในความเป็นจริง หลักการของ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ก่อให้เกิดผลดีต่อทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ เพราะหากธุรกิจสามารถลดการใช้ทรัพยากรมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะประหยัดต้นทุนทางการเงินได้มากขึ้นเท่านั้น บางครั้งแม้จะเป็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย เช่น การลดขนาดใบเสร็จ ก็ช่วยบริษัทประหยัดเงินได้ ยิ่งถ้าสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีกยิ่งจะช่วยกดต้นทุนให้ต่ำลงไปอีก เป็นต้น
    ทั้งนี้ เคยมีผลการศึกษาจากบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของโลก อย่างแมคคินซีย์ พบว่าภาคอุตสาหกรรมในกลุ่มสหภาพยุโรปมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น หลังปรับมาใช้การผลิตในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่วนใหญ่มีผลกำไรดีขึ้นจากการลดต้นทุนการสั่งซื้อวัตถุดิบลง
    แต่อย่างไรก็ดี การรักษาสภาพแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากเอกชน ภาคธุรกิจปรับตัวแล้ว แต่ภาครัฐไม่มีการสนับสนุน ทั้งในแง่กฎหมาย หรือมาตรการส่งเสริมทางภาษี การจะผลักดันสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นก็ยาก ขณะเดียวกันประชาชน ทุกคนต้องให้ความร่วมมือด้วย โดยเฉพาะการสร้างอุปนิสัยการแยกขยะให้เกิดขึ้น ซึ่งแค่แยกขยะก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ได้ง่ายขึ้น และก็จะช่วยลดภาระของภาคเอกชนในการคัดแยกขยะ ซึ่งสุดท้ายถ้าลดการใช้วัตถุดิบลง การทำลายธรรมชาติก็จะลดลง และสุดท้ายผลดีก็จะกลับคืนมาสู่ประชาชนเอง.

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"