ให้รร.ตัดสินปิดหนีฝุ่นพิษต่อ


เพิ่มเพื่อน    


    กทม.ลุยบิ๊กคลีนนิ่งทั่วเมือง "อัศวิน" ฟุ้งค่า PM 2.5 กลับสู่เกณฑ์มาตรฐานแล้ว ระบุยังต้องฉีดพ่นละอองน้ำและล้างถนนอีก "สพฐ." ให้ ผอ.โรงเรียนตัดสินใจ 4 ก.พ.จะเปิด-ปิดเรียนหนีฝุ่นพิษต่อหรือไม่ "ขนส่ง" คุมเข้มตรวจควันดำรถบรรทุก-รถโดยสาร "บิ๊กป้อม" ขอทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหา วอนอย่าโทษกันไปมา "โพล" ชี้ ปชช.เบื่อนักการเมืองเอาฝุ่นมาทำลายกัน หนุนรัฐแจกหน้ากากชาวบ้าน
    เมื่อวันที่ 3 ก.พ. กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งล้างถนนและฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ PM 2.5 โดยพล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เริ่มกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งมาตั้งแต่ช่วงเวลา 22.00 น. วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการปล่อยขบวนรถน้ำ ที่บริเวณห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาพระราม 2 เขตบางขุนเทียน ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างกองพันทหารม้าที่ 19 กองทัพเรือ สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเขตภาษีเจริญ สำนักงานเขตหนองแขม สำนักงานเขตราษฎร์บูรณะ และกองบังคับการตำรวจจราจร 
    พล.ต.อ.อัศวินนำทุกหน่วยงานฉีดพ่นละอองน้ำ และทำการฉีดล้างพื้นถนนและต้นไม้ ทั้งขาเข้าและขาออก บนถนนพระราม 2 ตั้งแต่รอยต่อจังหวัดสมุทรสาคร จนถึงแยกบางปะแก้ว ระยะทางรวม 14.5 กิโลเมตร เพื่อล้างฝุ่นละอองขนาดเล็ก ภายหลังได้ใช้เครื่องบินฉีดพ่นละอองน้ำ ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กตกลงมายังพื้นถนน จึงต้องรีบทำการฉีดล้างเพื่อไม่ให้ฝุ่นละอองขนาดเล็กลอยขึ้นไปบนอากาศ
    ต่อมาเวลา 09.00 น. นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. นำเจ้าหน้าที่สำนักการโยธา และสำนักงานเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 500 คน ปฏิบัติการฉีดพ่นละอองน้ำบนชั้นดาดฟ้า ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง หลัง กทม.ออกหนังสือขอความร่วมมือตึกสูงทั่วกรุงเทพฯ จำนวน 3,200 แห่ง ฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน 
    นายไทวุฒิกล่าวว่า สำนักการโยธาได้ส่งแบบในการติดตั้งสปริงเกลอร์บนชั้นดาดฟ้าไปยังตึกสูง 3,200 ตึก เพื่อให้แต่ละตึกนำไปประกอบการตัดสินใจในการติดตั้ง รวมทั้งไซต์งานก่อสร้าง 150 แห่ง ประกาศหยุดการก่อสร้างกว่า 40 โครงการ โดยมาตรการต่างๆ ทั้งการขอความร่วมมือหยุดการก่อสร้าง การฉีดพ่นละอองน้ำจะดำเนินการไปจนกว่าสถานการณ์มลพิษทางอากาศจะคลี่คลาย โดยการฉีดพ่นละอองน้ำจะดำเนินการทุกๆ ชั่วโมง ประมาณคราวละ 20 นาที ส่วนสปริงเกลอร์จะปล่อยละอองน้ำตลอดทั้งวัน ตามผลการศึกษาที่ว่าลักษณะน้ำเป็นฝอย ถึงจะสามารถดักจับฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กได้ 
    "ตึกสูงอีก 3,200 แห่ง อาทิ ตึกใบหยก ตึกมหานคร ตึกจีแลนด์ และเซนทรัลเวิลด์ เจ้าหน้าที่สำนักการโยธาจะเข้าไปประจำการอยู่ในแต่ละตึกเพื่อติดตามและสรุปผลในการดำเนินการ ผลที่ได้คือจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 ได้ตามผลการศึกษาไว้ รวมทั้งยังใช้รถดับเพลิงฉีดพ่นที่พื้นราบ เพื่อดักไม่ให้ฝุ่นละอองที่ตกลงมาฟุ้งกระจายกลับขึ้นไปอีก" รอง ผอ.สำนักการโยธาฯ กล่าว
    เช่นเดียวกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย- มีนบุรี ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมบิกคลีนนิ่งเดย์ จัดกิจกรรมพร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ร่วมกับสำนักงานเขตในพื้นที่ตามแนวสายทาง เพื่อรวมพลัง ทำความสะอาด ฉีดน้ำ ดูดฝุ่น ขัดล้างทำความสะอาดแผงผ้าใบ ทำความสะอาดผิวจราจร ตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อลดฝุ่นละออง ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม “One Transport ปลอดฝุ่น PM2.5” คมนาคมรวมใจช่วยลดฝุ่น เพื่อความสุข สุขภาพดีของประชาชน
ฟุ้งฝุ่นเข้าสู่เกณฑ์ดีขึ้น
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์เฟซบุ๊ก "ผู้ว่าฯ อัศวิน" ว่า ค่าฝุ่นละออง PM2.5 เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่แล้ว หลังปฏิบัติการอย่างเข้มข้นทุกรูปแบบของทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง วันนี้ (3 ก.พ.) ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กลับเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานแล้ว แต่เราก็ไม่ประมาท ยังคงเดินหน้าปฏิบัติการตามแผนงานและมาตรการต่างๆ ต่อไป
    "อย่างเช้านี้เครื่องบินเล็กโรงเรียนการบินกรุงเทพ (BAC) ได้ทำการบินต่อเนื่องเพื่อโปรยละอองน้ำจับฝุ่นละอองทางอากาศเหนือพื้นที่เขตบางแค บางบอน ทวีวัฒนา และตลิ่งชัน รวมทั้งหมด 11 เที่ยวบิน ส่วนทั้ง 50 เขตได้ระดม Big Cleaning บริเวณหน้าบ้านและสถานที่ต่างๆ โดยในช่วงค่ำ กทม.ก็จะระดมล้างถนนตั้งแต่เวลา 22.00 น. บริเวณถนนกาญจนาภิเษก ระหว่างถนนพระราม 2 ถึงถนนกัลปพฤกษ์ด้วย" พล.ต.อ.อัศวินกล่าว
    ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า สำหรับวันเปิดทำงานเช้าวันจันทร์มีแนวโน้มว่าค่าฝุ่นละอองอาจจะสูงขึ้นเล็กน้อย แต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า 4 ก.พ.62 ลมทิศใต้และตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้นต่อเนื่องจนถึงวันที่ 10 ก.พ. ทำให้มีลมเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์อีกทางหนึ่ง หากพวกเราทุกคน ทุกหน่วยงาน ดำเนินมาตรการลดฝุ่นละอองเช่นนี้อย่างเข้มข้นและต่อเนื่องเช่นนี้ ปัญหาฝุ่นละอองก็สามารถลดลงได้ในช่วงนี้ ส่วนมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว ทั้ง กทม.และหน่วยงานภาครัฐกำลังประสานหารือเพื่อประกาศเป็นแนวทางต่อไป
    ขณะที่นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า เมื่อเวลา 10.00 น.หน่วยฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว 2 หน่วยได้ขึ้นบินปฏิบัติการแล้ว โดยใช้หน่วยฝนหลวง จ.ระยอง รวมทั้ง จ.นครสวรรค์ เพื่อต่อสู้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยได้ปฏิบัติการติดตามอย่างใกล้ชิดมาตลอด
    นายสุรสีห์กล่าวว่า ขอชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ในการทำฝนหลวงได้ทำตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ทุกขั้นตอนมีการประเมินผลระหว่างวัน โดยกำหนดเป็นหลักๆ ขั้นตอนแรกคือการก่อกวน จะใช้สารเกลือแกง ที่เรารับประทานในบ้าน บดเป็นแป้ง โปรยในอากาศที่ระดับ 6,000-7,000 ฟุต ซึ่งปกติอนุภาคเกลือแกงเป็นสารแขวนลอยในอากาศอยู่แล้ว เมื่อมีความชื้นมากกว่า 60% จะไปจับร่วมกันเป็นกลุ่มน้ำมากขึ้นคือก้อนเมฆ และขั้นตอนสอง ใช้สารแคลเซียมคลอไรต์ เสริมการพัฒนาตัวเมฆให้เป็นแนวตั้ง ร่วมกับพลังจากแสงอาทิตย์ ช่วยสร้างพลังงาน พัฒนาตัวเป็นเมฆฝนให้ได้ และขั้นตอนที่สาม การโจมตี ใช้สารไปทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเย็นจัด สารยูเรีย หรือน้ำแข็งแห้ง โปรยใต้ฐานเมฆ ทำให้เกิดความเย็นมาก เร่งให้เกิดการควบแน่น เป็นหยดน้ำกลายเป็นฝนตกลงมาได้ในพื้นที่เป้าหมาย
    "เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ได้ทำให้มีฝนตกเล็กน้อย ที่เขตจตุจักร พญาไท ลาดพร้าว จากที่ได้ขึ้นบินปฏิบัติการก่อกวน ก่อเมฆ ใช้เกลือแกงโปรยแนว อ.บางบ่อ สมุทรปราการ อ.บางน้ำเปรี้ยว เมื่อเวลา 11.00 น. มีความเร็วลม 15 กม.ต่อ ชม. เมื่อเมฆเกิดขึ้นจะเคลื่อนตามทิศทางของลม ระหว่างทางเมฆไปร่วมกับเมฆอื่นๆ ดูดซับอนุภาคแขวนลอยในธรรมชาติ จากการติดตามภาพเรดาร์พบกลุ่มเมฆฝน เวลาประมาณ 16-17.00 น. จากบริเวณเราทำฝนหลวง ใช้เวลาเดินทาง 5-6 ชม. จะเห็นว่าเป็นระยะทางทำฝนมาตกในเขตจตุจักร พญาไท ลาดพร้าว" อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าว
    ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) แจ้งถึง ผอ.สพท.ในเขต กทม. ปริมณฑลและจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ว่าสำหรับการพิจารณาเปิด/ปิดสถานศึกษาตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.62 เป็นต้นไป ให้พิจารณาตามสภาพของสถานการณ์ของฝุ่น ณ จุดที่ตั้งของโรงเรียน โดยให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาพิจารณาเปิดหรือปิดได้ตามอำนาจหน้าที่ และผลกระทบที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ 
ขออย่าโทษกันไปมา
    "กรณีที่มีความจำเป็นจะต้องปิดเรียนต่อเนื่อง ขอให้สถานศึกษาแนะนำให้นักเรียนได้เรียนผ่านระบบการเรียนการสอนทางไกล DLTV ที่มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดส่งสัญญาณทั้งทางระบบโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต หรือเสนอแนะให้ทบทวนความรู้จากแอปพลิเคชัน ติวฟรี.คอม หรือจัดสอนสดผ่านช่องทางสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม" เลขาฯ กพฐ.กล่าว
    นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขส.ทบ.) กล่าวว่า มอบหมายให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศตรวจวัดควันดำรถโดยสารสาธารณะและรถอื่นๆ ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารบนถนนสายต่างๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ และเข้มงวดตรวจสอบการดำเนินการของสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) โดยได้สั่งการให้สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ จัดส่งเจ้าหน้าที่ลงสุ่มตรวจการดำเนินการของสถานตรวจสภาพรถเอกชนในเขตพื้นที่ หากพบสถานตรวจสภาพรถใดละเลยไม่ตรวจสภาพรถให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด พิจารณาสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบการ
    "ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งทั้งรถบรรทุกและรถโดยสารทั่วประเทศ นำรถเข้ารับการตรวจสภาพก่อนถึงกำหนดรอบชำระภาษีรถ เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ป้องกันสาเหตุการเกิดควันดำและก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM 2.5" อธิบดีกรมการขนส่งฯ กล่าว
    วันเดียวกัน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ในวันที่ 4 ก.พ.62 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้เรียกประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ที่สำนักนโยบายและแผน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการระยะต่างๆ รองรับการแก้ปัญหาภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสมในบรรยากาศ 
    พล.ท.คงชีพกล่าวว่า สำหรับพื้นที่ กทม. มี กทม.เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ได้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมและจัดตั้งศูนย์ประสานและแก้ปัญหามลพิษในอากาศใน กทม. เพื่อทำงานร่วมกับส่วนราชการต่างๆ รวมทั้ง 5 จังหวัดปริมณฑลอย่างใกล้ชิด โดยประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และแจ้งข้อมูลให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ทุกจังหวัดในส่วนภูมิภาคได้ร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาไปด้วยกัน ทั้งมาตรการป้องกันและการแก้ปัญหา โดยเน้นการมีส่วนร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนด้วยดี 
    "มลภาวะที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทุกฝ่ายต่างได้รับผลกระทบและมีความจำเป็นต้องมีส่วนร่วมแก้ปัญหาและให้กำลังใจกันและกัน โดยไม่โทษกันไปมา ซึ่งถือเป็นเวลาแห่งความท้าทายที่เราคนไทยทุกคนต้องตระหนักรู้ มีส่วนร่วมรับผิดชอบและรวมพลังหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเชื่อว่าเราทุกคนจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันโดยเร็ว" โฆษกกระทรวงกลาโหมกล่าว
    สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ฝุ่นพิษการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,097 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 26 ม.ค.-2 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 48.5 ติดตามข่าวฝุ่นพิษบ่อยๆ, ร้อยละ 48.3 ติดตามบ้าง และร้อยละ 3.2 ไม่ติดตามเลย 
    ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.4 เห็นด้วยที่คนไทยตื่นตัวห่วงใยสุขภาพจากปัญหาฝุ่นพิษ ปิดหน้ากากกันฝุ่นคือข้อดี อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 65.3 ไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองเอาปัญหาฝุ่นพิษมาทำลายกัน ในขณะที่ร้อยละ 20.9 เห็นด้วย และร้อยละ 13.8 ไม่มีความเห็น
    นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.9 ระบุมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นพิษคือแจกหน้ากากป้องกันฝุ่นฟรี รองลงมาคือร้อยละ 63.6 ระบุหน่วยงานรัฐเข้มงวดจริงจังต่อเนื่อง ทั้งแหล่งปล่อยฝุ่นพิษ และพวกฉวยโอกาสขายหน้ากากแพง, ร้อยละ 60.9 ระบุพ่นน้ำลดฝุ่นพิษ, ร้อยละ 55.1 ระบุควบคุมแหล่งปล่อยฝุ่นพิษระยะยาว และร้อยละ 12.8 ระบุอื่นๆ เช่น ทุกพรรคการเมืองเอาเป็นนโยบายสุขภาพ แก้ปัญหาไม่ใส่ร้ายป้ายสีกันไปมา ทุกฝ่ายช่วยกันป้องกันแก้ไข ลดมลพิษ ตระหนักรักษาสิ่งแวดล้อม หยุดเรียน หยุดทำงาน เป็นต้น.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"