ห่วงฝุ่นพิษยาวถึงสิ้นมี.ค. เศรษฐกิจวอด4หมื่นล้าน


เพิ่มเพื่อน    

    ศาลปกครองนัด "นายกฯ-กก.วล.-ผู้ว่าฯกทม." ไต่สวนละเลยควบคุมฝุ่นละออง 7 ก.พ.นี้ "วิษณุ" ระบุขอเลื่อนหรือส่งตัวแทนแจงได้ ชี้เรื่องปกตินายกฯ ไทยถูกฟ้อง "คพ." เผยเมืองกรุง-ปริมณฑลอากาศดีขึ้น "อุตุฯ" ยัน 6-8 ก.พ.ค่า PM 2.5 ไม่แย่ตามข่าวลือ ระบุแค่ลมพัดเบาลง "อัศวิน" เดินหน้าระดมฉีดพ่นละอองน้ำต่อเนื่อง "ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ" ห่วงฝุ่นพิษลากยาวถึงสิ้น มี.ค. จะเสียหายถึง 4 หมื่นล้านบาท
    เมื่อวันที่ 6 ก.พ. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวถึงความคืบหน้าการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีนายกรัฐมนตรีและคณะละเลยการปฏิบัติหน้าที่แก้ปัญหาฝุ่นละอองว่า  ศาลปกครองกลางได้มีหมายกำหนดนัดให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) นายกรัฐมนตรี และผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีไปศาลเพื่อไต่สวน ในวันพฤหัสฯ ที่ 7 ก.พ.2562 เวลา 10.00 น. หลังสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและชาว กทม.จำนวน 41 คน ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2562 กล่าวหาว่าบุคคลทั้งสามละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ กรณีไม่ยอมใช้อำนาจตามมาตรา 9 ประกอบมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 และมาตรา 28/1 แห่ง พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2560 ในการควบคุมอันตรายจากการแพร่กระจายของฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ เป็นเหตุให้โรงเรียนต่างๆ ต้องหยุดเรียน และองค์กรภาคธุรกิจเอกชนต้องหยุดการทำงานเพื่อหลีกหนีมลพิษ และทำให้ประชาชนจำนวนมากเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ นักท่องเที่ยวหนีหาย เศรษฐกิจของประเทศต้องเสียหายเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท 
    ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้ทางสำนักเลขาธิการนายกฯ เป็นเจ้าของเรื่องที่ดำเนินการ และปกติสามารถส่งผู้แทนไปชี้แจงแทน หรือส่งคำชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร หรือขอเลื่อนก็ได้ เพราะเป็นการฟ้องในตำแหน่ง ไม่ใช่ฟ้องในฐานะตัวบุคคล เป็นกระบวนการปกติในศาลปกครอง และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีประเทศไทยถูกฟ้องไปเป็นจำนวนมาก    
    กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ประจำวันว่า ปริมาณ PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ลดลงจากเมื่อวันที่ 6 ก.พ. เกือบทุกพื้นที่ ปริมาณฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุกพื้นที่ ทั้งนี้ จากแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณ PM 2.5 ของ คพ. คาดการณ์ว่าในวันที่ 7 ก.พ. ปริมาณ PM 2.5 มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการดำเนินมาตรการเพื่อลดฝุ่นละอองของหน่วยงานต่างๆ อย่างเข้มข้น ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงได้
    แอปพลิเคชัน Air4Thai รายงานดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย พบคุณภาพอากาศพื้นที่ กทม.และปริมณฑลอยู่ในระดับดีมากถึงดี อาทิ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ, แขวงบางนา เขตบางนา, ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี และแขวงพญาไท เขตพญาไท คุณภาพดีมาก ส่วนริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง และริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน คุณภาพดี เป็นต้น
    ด้านนายภูเวียง ประคำมินทร์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีข่าวลือช่วงวันที่ 6-8 ก.พ. ฝุ่นละอองจะกลับมาวิกฤติอีกครั้งว่า ช่วงวันที่ 6-8 ก.พ.นี้ ไม่ได้มีอะไรน่ากังวล ลมที่เคยพัดแรงในพื้นที่ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็จะยังคงมีอยู่ แค่อาจจะพัดเบาลงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ช่วงที่ลมอาจจะนิ่งๆ ในพื้นที่ กทม.คือช่วง 13-15 ก.พ.นี้ เนื่องมาจากตั้งแต่ในช่วง 10-11 ก.พ. จะมีความกดอากาศสูง หรือมวลความเย็นระลอกใหม่เคลื่อนลงมาปกคลุมประเทศไทย รวมถึงในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ จะทำให้ช่วงแรกกรุงเทพฯ อาจจะมีฝนฟ้าคะนอง ซึ่งถือเป็นปกติของช่วงที่อากาศเปลี่ยน ก่อนที่ช่วงวันที่ 12 ก.พ.พื้นที่ กทม.จะเย็น หลังจากนั้นมวลความเย็นจะอ่อนกำลังลง ทำให้ลมที่เคยพัดก็จะกลับมานิ่งสงบอีก 
    พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้คุณภาพอากาศของ กทม.อยู่ในระดับคุณภาพดีเกือบทุกพื้นที่ (สีเขียว) มีเพียงเขตบางเขน ที่อยู่ระดับ 54 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน แต่ไม่นิ่งนอนใจ วันที่ 7 ก.พ.นี้ ที่คาดว่าสภาพอากาศอาจปิดอีกครั้ง กทม.จึงระดมเจ้าหน้าที่ฉีดพ่นละอองน้ำทั้งกลางวันและกลางคืน รวมถึงกองทัพภาคที่ 1, กรมโยธา, สำนักสิ่งแวดล้อม, สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นำรถฉีดล้างถนนหลังเวลา 22.00 น. รวมทั้งสวนสาธารณะต่างๆ 37 สวน จะระดมฉีดน้ำวันเว้นวัน และกรมการบินพลเรือนจะขึ้นบินพ่นละอองน้ำจำนวน 4 ลำ เพื่อป้องกันไว้ก่อน   
    "ตึกสูงทั้งรัฐและเอกชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ในการติดตั้งสปริงเกลอร์พ่นละอองน้ำ รวมถึงโรงเรียน 437 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ติดเครื่องพ่นละอองน้ำเพื่อแก้ปัญหาฝุ่น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ดำเนินการมา 2 สัปดาห์ เห็นผลเป็นที่น่าพอใจ ค่าฝุ่นลดลง โดยขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาฝุ่นครั้งนี้" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
    อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลกระทบจากวิกฤติปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยประเมินว่า หากวิกฤติฝุ่นคลี่คลายลงในช่วงกลางเดือน ก.พ.นี้ มูลค่าความเสียหายจะอยู่ระหว่าง 8,000-10,000 ล้านบาท จากภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อหน้ากากอนามัย ค่ารักษาพยาบาลของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้และโรคระบบทางเดินหายใจ การสูญเสียเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้าหน้ากากรุ่น N95 การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว และการสูญเสียงบประมาณของรัฐ
    "หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค.นี้ มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10,000-15,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือเสียหายรวม 20,000-40,000 ล้านบาท" ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"