เปิดช่องอัยการถอนฟ้องฮาคีม


เพิ่มเพื่อน    


    "ทนายฮาคีม” เตรียมขอประกันอีกรอบ ยื่นทั้งหลักทรัพย์และบุคคล ขอศาลใช้กำไลข้อเท้า ยืนยันไม่หลบหนี "สมชาย” ยันรัฐบาล-อัยการถอนฟ้องผู้ร้ายข้ามแดนได้ถ้าเห็นว่ากระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก ขณะที่ "อัยการ" ยืนกรานถอนฟ้องโดยอ้างเหตุไม่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่ได้ แต่หาก "บาห์เรน-ออสเตรเลีย" ตกลงกันได้แล้ว กต.เสนอให้ถอนฟ้องได้ 
    เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความของนายฮาคีม อัล อาไรบี อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรน ที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถูกจับกุมในประเทศไทย และถูกขังไว้ระหว่างการพิจารณาของศาล เปิดเผยถึงการยื่นประกันตัวนายฮาคีมว่า คาดว่าในสัปดาห์หน้าทางเราจะยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนายฮาคีมต่อศาลอาญาอีกครั้ง โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้มาจากองค์กรด้านมนุษยชนทั้งในและต่างประเทศ เท่าที่ทราบมีจากประเทศออสเตรเลียเข้ามาช่วยบ้างแล้ว
    "การขอปล่อยตัวชั่วคราวจะยื่นทั้งหลักทรัพย์และหลักประกันที่เป็นบุคคล ซึ่งขณะนี้ยังเปิดเผยไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่ก็ต้องเป็นบุคคลระดับสูงพอสมควร และจะขอรับเงื่อนไขใส่กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) ที่สามารถจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ด้วย เพราะหากจำเลยที่ประกันเกิดเดินทางออกนอกพื้นที่ตามเงื่อนไขศาล เครื่องจะส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมที่ส่วนกลางให้ทราบ ซึ่งหากนายฮาคีมได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจากศาลโดยการกำหนดเงื่อนไขให้ใส่กำไลอีเอ็ม ก็จะไม่เดินทางไปไหน เนื่องจากองค์กรผู้สนับสนุนด้านมนุษยธรรมก็พร้อมจัดหาที่พักและค่าใช้จ่ายเพียงพอให้นายฮาคีมมีชีวิตประจำวันได้ปกติ" 
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้เตรียมแนวทางต่อสู้คดีอะไรบ้าง กี่ประเด็น นางณัฐาศิริกล่าวว่า หลักๆ จะต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพตามหลักมนุษยชน ความเสมอภาค กับเรื่องปัญหาข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ปี 2551 ในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่จะกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในกรอบเวลา ซึ่งจะมีผลกระทบต่อจำเลย ประเด็นเกี่ยวกับอำนาจของพนักงานอัยการ ที่ควรพิจารณาถึงเหตุและผลในการจะพิจารณาส่งหรือไม่ส่งคำร้องต่อศาล โดยควรพิจารณาไปถึงพฤติการณ์ประกอบข้อเท็จจริงที่ไม่ก้าวล่วงไปถึงเนื้อหาของคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ 
    "เพียงแต่อยากให้พนักงานอัยการทบทวนดูสภาพลักษณะข้อหาที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดเอามาประกอบด้วย ที่ผ่านมาอัยการอ้างว่าคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนคดีนี้ไม่เป็นคดีการเมืองการทหารก็พอที่จะขอส่งได้ ซึ่งตรงนี้มีประเด็นสำคัญ จุดนี้เราจะต้องไปคัดค้าน เพราะที่ผ่านมาทราบว่าสำนักงานอัยการสูงสุดก็เคยไม่ส่งบุคคลตามหมายจับต่างประเทศเพื่อเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาก่อนนี้แล้วหลายคน ไม่ใช่ไม่เคยมี" นางณัฐศิริกล่าว 
    ทนายของนายฮาคีมกล่าวด้วยว่า คดีนี้จะส่งผลต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาและการต่างประเทศ หากรัฐไม่ส่งนายฮาคีมก็จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์และความมีมาตรฐานสากล ด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพ การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน การควบคุมผู้ต้องขังด้วยอุปกรณ์พันธนาการกับนายฮาคีมเป็นเรื่องไม่สมควร และไม่ควรใส่โซ่ตรวน ทางกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์แถลงว่าไม่ใช่ แต่ก็มีการบัญญัติชื่ออุปกรณ์เปลี่ยนไปเรื่อย จริงๆ แล้วก็คือโซ่ซึ่งนักกฎหมาย และโทษประหารชีวิตควรยกเลิกได้แล้ว และสมควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนในหลายประเด็นอีกด้วย 
    นายสมชาย หอมลออ ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์ว่า อัยการสามารถถอนฟ้องได้ตาม พ.ร.บ.อัยการ การส่งฟ้องศาลนั้นเป็นการตรวจสอบว่าถ้าฝ่ายรัฐบาลต้องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนทำได้หรือไม่ เพราะเคยมีกรณีที่ศาลพิพากษาให้ส่ง แต่รัฐบาลไม่ส่ง แล้วถ้ารัฐบาลตัดสินใจไม่ส่ง ก็ไม่ต้องส่ง ปล่อยตัวไป แต่ถ้ารัฐบาลส่งต้องขออนุญาตศาล โดยศาลมีหน้าที่ตรวจสอบคุ้มครองสิทธิของจำเลย กรณีคือส่งตัวกลับไปที่บาห์เรนถูกต้องหรือไม่
    "ดังนั้นบทบาทของศาลคือการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ฝ่ายบริหารหรืออัยการจะถอนฟ้องเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้ารัฐบาลตัดสินใจว่าถอนก็ถอนได้ ถ้าเห็นกรณีนี้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาก ไม่ใช่แค่กับออสเตรเลีย แต่กับประเทศอื่นอีกหลายประเทศ และกระทบกับความรู้สึกของประชาชน เพราะเขารู้กันอยู่แล้วว่าการส่งตัวกลับนายฮาคีมต้องเผชิญกับการปฏิบัติไม่เป็นธรรม ที่อัยการและกระทรวงการต่างประเทศบอกว่าขอถอนไม่ได้นั้น ความจริงแล้วถอนได้" นายสมชายกล่าว 
     ขณะที่นายชัชชม อรรฆภิญญ์ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงการเรียกร้องให้ถอนฟ้องนายฮาคีม อ้างเหตุไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้หรือไม่ว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ อัยการจะยื่นเรื่องถอนฟ้องคงไม่ได้ ต้องดูให้รอบด้าน เพราะอาจจะกระทบกับมิตรไมตรีและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับทั้งสองประเทศ ทั้งออสเตรเลียและบาร์เรน คดีนี้ทางบาร์เรนยื่นเรื่องขอให้เราส่งตัวมาตามระบบ และกระทรวงการต่างประเทศซึ่งทำหน้าที่แทนรัฐบาลก็ทำหนังสือแจ้งมาบอกว่ากระทรวงการต่างประเทศพิจารณาแล้วไม่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ ดังนั้นอัยการจึงต้องยื่นฟ้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาตัดสินว่าจะส่งตัวหรือไม่ส่งตัว
    เมื่อถามว่า ถ้ารัฐบาลมีนโยบายหรือข้อเสนอแนะ หรือข้อคิดเห็นมาให้ทางอัยการพิจารณาเพื่อยื่นเรื่องถอนฟ้องคดีนายฮาคีมออกจากศาลอาญา จะสามารถทำได้หรือไม่ นายชัชชมกล่าวว่า น่าจะทำได้ ได้ยินว่าทางกระทรวงการต่างประเทศแนะนำให้ทางออสเตรเลียและบาร์เรนหันหน้าเข้าคุยกัน ถ้าทั้งสองประเทศสามารถเจรจาตกลงกันได้ ให้ส่งกลับไปประเทศไหนเป็นที่ยุติแล้ว กระทรวงการต่างประเทศก็ทำหนังสือแจ้งมาว่าทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้แล้ว ทำให้ไม่มีเหตุต้องยื่นฟ้องคดี ดังนั้นอัยการก็จะยื่นเรื่องขอถอนฟ้องคดีต่อศาลอาญาได้
    ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานปราบโกงพรรคไทยรักษาชาติ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ว่า พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 ที่ทางการไทยกล่าวอ้างในการดำเนินการกับนายฮาคีมนั้น เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ.2550 โดยในวาระที่ 1 ของการพิจารณามีสมาชิก สนช.รับหลักการด้วยองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ในขณะนั้นมีองค์ประชุม สนช. 239 คน แต่มีผู้ลงมติเพียง 71 แต่กฎหมายก็ผ่านไปสู่วาระ 3 และมีการลงมติขององค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งเช่นกัน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ.2551 มาถึงปัจจุบัน 
    "เมื่ออัยการสำนักงานต่างประเทศอ้าง พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดนปี 2551 ทั้งที่ตราขึ้นโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเคยวินิจฉัยกฎหมายฉบับอื่นไปแล้ว ต้องถือว่า พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2551 เป็นโมฆะ เป็นกฎหมายที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้นนายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช. จึงมีอำนาจให้ 1.อัยการถอนฟ้องคดี 2.ใช้อำนาจตาม ม.44 ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้เสีย และชี้แจงเรื่องนี้ต่อออสเตรเลียและบาห์เรนโดยอ้างอิงหลักสากลคือ ไม่มีโทษ ถ้าไม่มีกฎหมาย" นายเรืองไกรกล่าว
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ "#SaveThailand ว่าผมเปลี่ยน coverpage เป็น #SaveThailand โดยที่ไม่ลังเล หรือต้องคิดมากว่าเหมาะหรือไม่ ในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เพิ่งยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งกับกกต.มาหมาดๆ มีเสียงทักท้วง และแนะนำด้วยความปรารถนาดีจากเพื่อนฝูง เกรงว่าผมจะได้รับผลกระทบจากประเด็นที่คนในสังคมมีความเห็นแตกต่าง และมีแรงกดดันจากต่างประเทศ ไม่ต้องห่วง...ถ้าจะได้รับผลกระทบเพราะผมแสดงออกว่าผมรักประเทศไทย และปกป้องประเทศไทย ผมพร้อม เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ประเทศไทยสำคัญที่สุดสำหรับผม ถ้าต้องตัดสินใจ ผมจะเลือกยืนข้างประเทศไทย เลือกปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทย ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม
    "ไทยอาจจะทำถูกบ้าง ผิดบ้าง ก็เหมือนกันคนอื่นๆ ที่เคยทำผิด ไม่มีใครถูกทุกครั้ง ไม่มีใครผิดทุกครา แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมจะไม่มีวันไปยืนฝั่งตรงข้าม แล้วซ้ำเติมประเทศไทย" 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า #savethailand เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ร่วมกันแสดงพลังในโซเชียลเน็ตเวิร์ก หลังจากที่มีการโจมตีประเทศไทย โดยติด  #savehakeem และ #boycotthailand ในกรณีจับตัวนายฮาคีม อัล อาไรบี ที่ได้ฐานะผู้ลี้ภัยของประเทศออสเตรเลีย ขณะที่ประเทศบาห์เรนก็ขอตัวกลับไปดำเนินคดีในประเทศบ้านเกิดเช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"