ฝุ่นกทม.เริ่มดีขึ้น ภาคเหนือน่าห่วง 'ปชช.'จี้วาระด่วน


เพิ่มเพื่อน    

    "คพ." เผยค่า PM 2.5 พื้นที่ กทม.และปริมณฑลแนวโน้มลดลง หลังทุกหน่วยคุมเข้มมาตรการแก้ไขปัญหาจริงจัง แต่พื้นที่ต่างจังหวัดยังน่าห่วง "ลำปาง" 3 ตำบลค่าฝุ่นพิษทะลุเกินมาตรฐานต่อเนื่อง แถมพบมีเกษตรกรจุดไฟเผาวัชพืช "เลย" ท้องฟ้าปกคลุมด้วยหมอกควัน ชาวบ้านยังเผาป่า-เผาไร่อ้อย "ขอนแก่น" ชุดเคลื่อนที่เร็วเตรียมพร้อมทำฝนหลวง "โพล" ชี้ ปชช.หนุนขจัดฝุ่นละอองเป็นวาระเร่งด่วน
    สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เมื่อวันที่ 10 ก.พ. เวลา 12.00 น. ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รายงานข้อมูลผลการดำเนินงานและสถานการณ์คุณภาพอากาศว่า ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลา 07.00 น. เล็กน้อย และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุกพื้นที่ ส่วนสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) พื้นที่กรุงเทพมหานคร ตรวจวัดได้ 13-39 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่า อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ในระดับสีฟ้า สีเขียว และสีเหลือง โดยมีพื้นที่ระดับสีฟ้า จำนวน 35 เขต, ระดับสีเขียว จำนวน 14 เขต และระดับสีเหลือง 1 เขต ประชาชนสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งและท่องเที่ยวได้ตามปกติ
    "จากแบบจำลองการคาดการณ์ปริมาณ PM 2.5 ของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดว่าในวันที่ 11 ก.พ.ปริมาณ PM 2.5 มีแนวโน้มลดลง ประกอบกับการดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น จะส่งผลให้ปริมาณฝุ่นละอองลดลงได้ จากผลการตรวจวัดและคาดการณ์ลมชั้นบนของสถานีอุตุนิยมวิทยากรุงเทพฯ พบว่า ลมใกล้ผิวดินเป็นลมทิศใต้ ยังคงพัดปกคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีกำลังอ่อนลงเมื่อเทียบกับเมื่อวันที่ 9 ก.พ. และคาดว่าในวันที่ 11 ก.พ.62 เวลา 07.00 น. ทิศทางยังไม่เปลี่ยนแปลง กำลังแรงขึ้นเล็กน้อย"
    ต่อมาเวลา 15.00 น. กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลา 07.00 น. และ 12.00 น.มากนัก ปริมาณ PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (50 มคก./ลบ.ม.) ทุกพื้นที่
    ด้านกรมการขนส่งทางบก ตรวจสอบตรวจจับรถขนส่งควันดำบนถนน พร้อมดำเนินโครงการสถานตรวจสภาพรถร่วมใจขจัดภัย PM 2.5 โดยสำนักงานขนส่งจังหวัดได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของ ตรอ.ทั่วประเทศ หากพบข้อบกพร่อง จะดำเนินการตักเตือน หรือระงับการตรวจสภาพรถเป็นเวลา 7 วัน ส่วนกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ จัดหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่เขตต่างๆ โดยดำเนินการทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงติดตาม เฝ้าระวัง และดำเนินมาตรการตามภารกิจอย่างต่อเนื่อง
    ขณะที่สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ จ.ลำปาง ยังคงน่าเป็นห่วง โดยกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานคุณภาพอากาศและค่าเฉลี่ยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ในพื้นที่ จ.ลำปาง พุ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 3 จุดตรวจวัด สูงที่สุดอยู่ที่ ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ วัดได้  113 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) รองลงมาที่  ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง วัดได้  99 มคก./ลบ.ม. และ ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง อยู่ที่ 63 มคก./ลบ.ม. ซึ่งทั้ง 3 จุดมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน 
    นอกจากนี้ ในพื้นที่ ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ อยู่ที่ 49 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศปานกลาง ส่วนค่า PM 10 ของ ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ วัดได้ 146  มคก./ลบ.ม.  และที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง วัดได้ 128  มคก./ลบ.ม. มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน 
    ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จังหวัดลำปางได้ประกาศเป็นพื้นที่ห้ามเผาโดยเด็ดขาดในวันนี้เป็นวันแรก ไปจนถึงวันที่ 10 เม.ย.62  อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจยังคงพบในพื้นที่ จ.ลำปาง ยังคงเกิดไฟไหม้หลายจุด ล่าสุดพบในหมู่บ้าน บ้านหมู่ที่ 4 ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง เกษตรกรรายหนึ่งกำลังจุดไฟเผาวัชพืชในพื้นที่การเกษตรของตนเอง และพบไฟกำลังลุกลามออกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจากการสอบถามเจ้าของที่ว่าทราบหรือไม่ที่ทางจังหวัดประกาศห้ามมีการเผาทุกชนิดโดยเริ่มในวันนี้ เกษตรกรบอกว่าทราบ แต่ก็ยังมีการเผาอยู่ 
    จากการสังเกตระหว่างทางจากผาลาดเข้ามาทาง ศูนย์ปฏิบัติธรรม ตามถนนวังหลวง พบว่ามีไฟไหม้ หลายจุด ตั้งแต่บริเวณตีนดอยและบนดอย รอบดอยพระบาท แต่ยังไม่สามารถดับไฟได้ เนื่องจากเป็นเส้นทางค่อนข้างลาดชัน 
    ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับชาวบ้านจิตอาสาเดินเท้าเข้าดับไฟที่กำลังลุกไหม้ตามจุดต่างๆ อย่างเร่งด่วน พร้อมกับใช้รถน้ำฉีดพ่นเพื่อลดฝุ่นในจุดเสี่ยงแล้ว 
    จ.เลย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพอากาศทั่วไปยังปกคลุมไปด้วยหมอกควัน โดยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พุ่งสูงเป็น 81 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หากไม่มีการจัดการหรือหน่วยงานภาครัฐเข้ามาเอาจริงเอาจังในเรื่องการเผาอ้อยจนเกิดหิมะดำ ซึ่งค่าฝุ่นละอองอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  
    "สาเหตุกลุ่มควันเต็มท้องฟ้าส่วนใหญ่ของ จ.เลย มาจากการลักลอบเผาป่าและเผาอ้อย ที่ไม่มีมาตรการที่เด็ดขาดจัดการ ทุกวันจนถึงวันนี้ยังมีคนเผาอ้อยเย้ยหน่วยงานราชการที่ไม่มีการจับ แต่หลังจากมีข่าวเผยแพร่ไปในเรื่องไฟป่าและการเผาอ้อยที่รุนแรงขึ้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเลยได้สั่งการให้นายอำเภอ อส. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปช่วยกันดับไฟป่า ที่ภูสะนาว ตำบลศรีสองรัก อำเภอเมืองฯ จังหวัดเลย ที่เมื่อช่วงค่ำวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีไฟป่าลุกลามขึ้นภูสะนาว โดยไม่มีท่าทีว่าจะดับ" แหล่งข่าวระบุ
    จ.ขอนแก่น น.ส.วาสนา วงษ์รัตน์ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และนักบิน ร่วมกันประชุมเตรียมความพร้อมในการทำฝนเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ซึ่งการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 พบว่าอยู่ที่ 97 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่อเนื่องมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 ม.ค.62 ที่ผ่านมา
    "ขณะนี้มีการจัดตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วใน จ.ขอนแก่น เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ยังอยู่ในระดับสูง แต่ด้วยสภาพอากาศในช่วงนี้ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำฝนเทียม เพราะสภาพอากาศมีความชื้นน้อย ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าจะตัดสินใจขึ้นบินได้ ประกอบกับท้องฟ้าโปร่ง มีเมฆน้อย จึงต้องคอยติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่ยังจะมีการติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ.62 หากสภาพอากาศและความชื้นอยู่ในระดับเหมาะสม ทางเจ้าหน้าที่ก็จะขึ้นปฏิบัติการในทันที" ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุ
    วันเดียวกัน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง การจัดการวิกฤติฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ.2562 พบส่วนใหญ่ร้อยละ 87.28 ระบุป้องกันตัวเอง รองลงมาร้อยละ 15.46 ระบุหลีกเลี่ยงการเดินทางออกนอกบ้าน และร้อยละ 0.63 ระบุเดินทางไปต่างจังหวัดที่ไม่มีฝุ่น 
    ในจำนวนของผู้ที่ระบุว่าจัดการปัญหาด้วยวิธีป้องกันตัวเอง พบส่วนใหญ่ร้อยละ 91.93 ระบุว่าสวมหน้ากากอนามัย รองลงมาร้อยละ 11.57 ระบุปิดประตู-หน้าต่างกันฝุ่น, ร้อยละ 5.42 ระบุงดออกกำลังกายกลางแจ้ง, ร้อยละ 4.22 ระบุใช้พัดลม-เครื่องฟอกอากาศ, ร้อยละ 3.61 ระบุทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศ และร้อยละ 1.93 ระบุปิดห้องแอร์ให้สนิท            
    เมื่อถามถึงการขจัดฝุ่นละอองควรจัดเป็นวาระเร่งด่วนมากน้อยเพียงใด พบส่วนใหญ่ร้อยละ 64.15 ระบุเร่งด่วนที่สุด, ร้อยละ 31.88 ระบุเร่งด่วน, ร้อยละ 3.81 ระบุไม่เร่งด่วน และร้อยละ 0.16 ระบุไม่เร่งด่วนเลย ส่วนมาตรการที่รัฐควรมีในช่วงที่มีปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง พบส่วนใหญ่ร้อยละ 45.12 ระบุหยุดการก่อสร้างในพื้นที่วิกฤติฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 20.30 ระบุห้ามรถทุกชนิดที่ใช้น้ำมันดีเซลวิ่งชั่วคราว, ร้อยละ 11.82 ระบุให้โรงงานอุตสาหกรรมหยุดทำงานชั่วคราว, ร้อยละ 7.61 ระบุให้ทำฝนเทียม, ร้อยละ 7.14 ระบุมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำ และกับผู้ที่เผาป่า เผานา หรือเผาปรับที่เพื่อก่อสร้าง, ร้อยละ 6.18 ระบุอื่นๆ ได้แก่ ให้รัฐแจกหน้ากากอนามัยแก่ประชาชนและให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันฝุ่นละออง ให้มีการฉีดน้ำเพื่อช่วยลดฝุ่นละออง ขณะที่บางส่วนระบุให้รัฐเข้มงวดในการตรวจสอบการปล่อยควันดำของโรงงานอุตสาหกรรม ร้อยละ 1.67 ระบุไม่แน่ใจ และร้อยละ 0.16 ไม่ระบุ   
    ถามถึงการมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง พบส่วนใหญ่ร้อยละ 70.98 ระบุมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง, ร้อยละ 29.02 ระบุไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุมีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง พบส่วนใหญ่ ร้อยละ 31.37 ระบุฉีดน้ำล้างฝุ่นละอองหน้าบ้านตนเอง รองลงมาร้อยละ 30.05 ระบุหยุดเผาขยะใบไม้ เศษวัสดุ, ร้อยละ 23.32 ระบุ นั่งรถประจำทางไปทำงานแทนการขับรถส่วนตัว, ร้อยละ 8.53 ระบุหยุดการจุดธูป ประทัด, ร้อยละ 3.13 ระบุดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเวลาจอดรถรอสัญญาณไฟ,  ร้อยละ 1.80 ระบุหยุดต่อเติมขยายบ้าน และระบุอื่นๆ ได้แก่ ปลูกต้นไม้ ขณะที่บางส่วนระบุว่าอยู่บ้านเพื่อลดการใช้รถ 
    ส่วนผู้ที่ระบุไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาฝุ่นละออง ได้ให้เหตุผลว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.47 ระบุไม่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง รองลงมา ร้อยละ 33.16 ระบุที่พักอาศัย/ที่ทำงานไม่มีปัญหาเรื่องฝุ่นละออง, ร้อยละ 11.31 ระบุจำเป็นต้องเดินทาง, ร้อยละ 5.66 ระบุร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานดี และร้อยละ 5.40 ไม่ระบุเหตุผล. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"