ฎีกาคุก8เดือน'6แกนนำพธม.'


เพิ่มเพื่อน    


    ศาลฎีกายืนจำคุก 8 เดือนไม่รอลงอาญา "6แกนนำพันธมิตร" คดียึดทำเนียบฯ ปี 51 ชี้ไม่ใช่ชุมนุมโดยสงบ กระทบบริหารงานบ้านเมือง ทำทรัพย์สินเสียหาย "สุริยะใส-สมศักดิ์" หมดสิทธิ์ลง ส.ส. ราชทัณฑ์ส่งเข้าแดนแรกรับ ผลตรวจร่างกายมีโรคประจำตัวแต่ไม่หนัก 
    ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) บุกทำเนียบรัฐบาลปี 2551 หมายเลขดำ อ.4925/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อายุ 83 ปี, นายสนธิ ลิ้มทองกุล อายุ 70 ปี, นายพิภพ ธงไชย อายุ 72 ปี, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อายุ 68 ปี, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อายุ 72 ปี อดีตแกนนำ พธม. และนายสุริยะใส กตะศิลา อายุ 45 ปี อดีตผู้ประสานงาน พธม. เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก โดยกระทำความผิดตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365 ประกอบมาตรา 83
    อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2555 ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2551 ผู้ชุมนุมกลุ่ม พธม. ซึ่งมีจำเลยดังกล่าวเป็นแกนนำ ได้จัดปราศรัยชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนิน เพื่อกดดันให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเคลื่อนขบวนฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำเนียบรัฐบาลและกระจายกำลังปิดล้อมสถานที่ราชการ และเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2551 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยปิดล้อมทางเข้า-ออกทำเนียบฯ ทุกด้าน ทำลายกุญแจประตูทำเนียบและแผงกั้นที่เจ้าหน้าที่ใช้ควบคุมดูแลความสงบในทำเนียบฯ แล้วปีนรั้วเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งนำรถยนต์ 6 ล้อที่ติดเครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ไปจอดหน้าตึกไทยคู่ฟ้า แล้วผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยช่วงวันที่ 26 ส.ค.2551-3 ธ.ค.2551 ระหว่างที่พวกจำเลยจัดเวทีปราศรัยในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีผู้ชุมนุมจำนวนมาก ได้เหยียบสนามหญ้าและต้นไม้ประดับจนตาย และยังทำให้ระบบสปริงเกลอร์อัตโนมัติ ระบบไฟสนามหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรีได้รับความเสียหายรวม 5 ล้านบาท อีกทั้งเมื่อมีฝนตกทำให้น้ำฝนซึมเข้าขังในถุงดำที่ห่อหุ้มกล้องวงจรปิด ทำให้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกล้องเสียหายรวม 10 ตัว ค่าเสียหายอีก 1,766,548 บาท ซึ่งจำเลยทั้งหกให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา
    ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พ.ค.2558 ว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกนั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 365 ซึ่งผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานบุกรุกสถานที่ราชการ จำคุกคนละ 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 2 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2560 โดยพิพากษาแก้ให้จำคุกคนละ 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้คนละ 8 เดือน ไม่รอลงอาญา
    ภายหลังจำเลยทั้งหกยื่นฎีกา วันนี้ พล.ต.จำลอง, นายพิภพ, นายสมเกียรติ, นายสมศักดิ์ และนายสุริยะใส ซึ่งได้ประกันตัวระหว่างฎีกาเดินทางมาศาล ส่วนนายสนธิที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางคลองเปรมรับโทษจำคุก 20 ปี ตามคำพิพากษาศาลฎีกาคดีกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ ถูกเบิกตัวมาศาล ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มญาติและผู้สนับสนุนเดินทางมาให้กำลังใจหลายสิบคนเต็มห้องพิจารณาคดี
    ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกในข้อแรกว่า อัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งหกอ้างว่า ตามหนังสือมอบอำนาจให้แจ้งความดำเนินคดีนั้นระบุว่าให้ดำเนินคดีบุกรุก ในวันที่ 26 ส.ค.2551 ไม่ได้ระบุมอบอำนาจให้ดำเนินคดีในข้อหาทำให้เสียทรัพย์ด้วย ซึ่งตามพฤติการณ์อ้างว่าการทำให้เสียทรัพย์ เกิดหลังจากวันที่ 26 ส.ค.-3 ธ.ค.2551 คดีจึงไม่อยู่ในขอบเขตการมอบอำนาจนั้น เห็นว่าคดีนี้ผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้ว อัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยทั้งหกจึงฟังไม่ขึ้น
ศาลชี้ไม่ใช่ชุมนุมโดยสงบ
    ส่วนที่จำเลยทั้งหกฎีกาว่า การเข้าไปชุมนุมในทำเนียบรัฐบาลเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธและเป็นการใช้สิทธิที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้าน ส.ส.พรรคพลังประชาชนที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ รวมทั้งการบริหารงานของรัฐบาลที่มีความน่าสงสัยในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน การไม่ปกป้องอธิปไตยของชาติต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหารนั้น
    ศาลฎีกาเห็นว่า จากทางนำสืบของจำเลยทั้งหกเองได้ความว่า ในการชุมนุมและการเรียกร้องมีการจัดทำแถลงการณ์ของคณะแกนนำ กระทั่งวันที่ 25 ส.ค. 2551 ได้ยกระดับการชุมนุมเป็นการกดดันให้นายสมัครและคณะรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ โดยมีการชุมนุมแบบดาวกระจายไปยังสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยหรือเอ็นบีที โดยโจทก์ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถอดคำปราศรัยมาเบิกความด้วย ซึ่งสอดคล้องกับคำปราศรัยของนายสุริยะใส จำเลยที่ 6 ที่ได้พูดเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2551 ตอนหนึ่งว่า “พรุ่งนี้เป็นวันปกติของวันประชุม คณะรัฐมนตรี...พรุ่งนี้เราไม่อนุญาตให้เขาประชุม ครม….แต่ว่าอีกไม่กี่นาทีพวกเราจะได้รู้พร้อมๆ กับ 5 แกนนำ การเคลื่อนไหวที่ไหน อย่างไรและปฏิบัติการอย่างไร...” 
    และโจทก์ยังมีนายลอยเลื่อน บุนนาค รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น รวมทั้งข้าราชการในกองรักษาความปลอดภัย กับ ผกก.ฝ่ายปฏิบัติการข่าว กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ก็ได้เบิกความเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่ม พธม. ที่เคลื่อนมาจากสะพานชมัยมรุเชฐ และเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล จนนายลอยเลื่อนได้ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งหกและกลุ่มผู้ชุมนุมต่อศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้จำเลยและผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบรัฐบาล ดังนั้นที่จำเลยทั้งหกอ้างว่ากลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในทำเนียบฯ เอง ไม่เกี่ยวกับจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกบุกรุกเข้าไปในทำเนียบฯ นั้นจึงชอบแล้ว
    ส่วนที่จำเลยทั้งหกอ้างว่าการชุมนุมนั้นเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ และทำเนียบรัฐบาลเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน จำเลยทั้งหกกับพวกจึงเข้าไปได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ทำเนียบรัฐบาลจะเป็นสาธารณสมบัติแผ่นดิน แต่ก็เป็นทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (3) ไม่ใช่ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เมื่อทำเนียบรัฐบาลเป็นสถานที่ราชการ มีอาณาบริเวณชัดเจน มีรั้วรอบ การที่จำเลยทั้งหกกับพวก ปีนรั้ว, ตัดโซ่, ผลักดันแผงกั้นเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลโดยมิชอบ จึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ขณะที่การชุมนุมของพวกจำเลยยังมีการจัดกองกำลังรักษากลุ่มผู้ชุมนุมโดยไม่ไยดีต่อผู้มีหน้าที่ดูแลทำเนียบรัฐบาล จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งไม่อาจถือได้ว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบตามที่จำเลยทั้งหกอ้าง
    ประเด็นสุดท้ายต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีทั้งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจสถานที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 4 ธ.ค.2551 หลังยุติการชุมนุม ได้จัดทำบันทึกการตรวจสถานที่และแผนที่เกิดเหตุ ซึ่งปรากฏสภาพความเสียหายตามบัญชีทรัพย์ ทั้งสนามหญ้า, ต้นไม้ประดับ, ระบบสปริงเกลอร์รดน้ำต้นไม้อัตโนมัติ, ระบบไฟสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้าและหน้าตึกสันติไมตรี ถูกเหยียบ เททับด้วยดินกรวดทรายเสียหายทั้งหมด นอกจากนี้ระบบโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งไว้ทั่วทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งโซ่และกุญแจล็อกก็เสียหาย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยทั้งหกกับพวกตั้งเวทีปราศรัยในทำเนียบฯ และบุกรุกเข้าไปครอบครองเป็นเวลานานโดยไม่มีมาตรการปกป้องทรัพย์สินเป็นการกระทำที่เล็งเห็นผลได้ จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ด้วย จึงชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คุก8เดือนไม่รอลงอาญา
    ส่วนที่จำเลยทั้งหกขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยทั้งหกกับพวกกระทำการอุกอาจ บุกรุกเข้ายึดครองทำเนียบรัฐบาลก่อความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินมากมายหลายรายการ ซึ่งการกระทำนั้นกระทบต่องานบริหารราชการบ้านเมืองของหลายส่วนราชการ และหลังเกิดเหตุก็ไม่ได้เยียวยาความเสียหายจากการกระทำของตน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกเพียงคนละ 8 เดือนโดยไม่รอการลงโทษ จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งหกมากแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พิพากษายืน
    สำหรับบรรยากาศภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น กลุ่มญาติและผู้สนับสนุนที่เดินทางมาศาลต่างแสดงความเสียใจ เข้าไปพูดคุยโอบกอดจับมือให้กำลังใจจำเลยทั้งหก โดย พล.ต.จำลองได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “ขอบคุณพี่น้องที่มาให้กำลังใจ พวกเราเตรียมตัวไว้แล้ว” ขณะที่ระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวนายสนธิกลับลงไปที่ห้องควบคุมใต้อาคารศาลอาญาก่อน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ที่เดินทางมาได้พูดคุยกับนายสนธิ โดยนายสนธิได้กอดให้กำลังใจบอกทำนองว่าคนอยู่ข้างนอกต้องสู้ต่อไป หลังจากนั้นจำเลยที่เหลือได้เปลี่ยนชุดและเตรียมข้าวของเครื่องใช้ก่อนเข้าเรือนจำ ขณะที่กลุ่มญาติและผู้สนับสนุนก็ได้ตั้งแถวหน้าห้องเพื่อร่ำลา ระหว่างเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมตัวจำเลยที่เหลือลงไปที่ห้องควบคุม
    จากนั้นหน้าที่ราชทัณฑ์ได้นำตัว พล.ต.จำลอง, นายพิภพ, นายสมเกียรติ, นายสมศักดิ์, นายสุริยะใส ซึ่งเคยได้รับการประกันตัว ไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อรับโทษตามคำพิพากษาต่อไปเช่นเดียวกับนายสนธิ ที่อยู่เรือนจำกลางคลองเปรมก่อนแล้ว ทั้งนี้ กลุ่มผู้สนับสนุน รวมทั้งนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายอมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วม พธม. ได้โบกมือให้กำลังใจอดีตแกนนำ พธม. โดยนายสุริยะใสที่นั่งอยู่ในรถได้ยกมือเป็นสัญลักษณ์โอเค ก่อนที่รถตู้จะขับออกไป
    ด้านนายไชยวัฒน์กล่าวว่า วันนี้เป็นประวัติศาสตร์ในการทำหน้าที่ของประชาชนทางการเมือง โดยประชาชนอ้างสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมซึ่งปกครองประเทศ ทั้งนี้ ผลการพิพากษาคดีนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไปว่า การต่อสู้ของประชาชน การชุมนุมตามสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญนั้น ศูนย์กลางอำนาจคือทำเนียบรัฐบาลเป็นบริเวณที่กระทำไม่ได้ สำหรับผู้ที่เคยร่วมต่อสู้และเป็นห่วงทั้ง 6 คน และอยากไปเยี่ยม ขอให้เป็นวันที่ 14 ก.พ. ตั้งแต่เวลา 08.30-15.00 น.
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 8 เดือน ไม่รอลงอาญาครั้งนี้ ส่งผลให้นายสุริยะ จำเลยที่ 6 ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ลำดับที่ 7 และนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 5 ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย จะไม่สามารถลงเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.นี้ได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 98 (6) และแม้จะพ้นโทษแล้วก็ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นระยะเวลา 10 ปี ตามมาตรา 98 (7)
    ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวภายหลังรับตัว 5 แกนนำพันธมิตรฯ ว่า ผู้ต้องขังกลุ่มแกนนำพันธมิตรฯ ได้ถูกส่งตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 5 ราย ส่วนนายสนธิ เป็นนักโทษของเรือนจำกลางคลองเปรม จะนับโทษคุกต่อจากโทษเดิม อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าเรือนจำจะให้การดูแลนักโทษทุกรายในมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด กรณีเป็นผู้สูงอายุ เจ็บป่วย จะได้รับการรักษาทางการแพทย์อย่างเท่าเทียมกันทั้งหมด
    ทั้งนี้ จากผลการตรวจร่างกายพบว่า นายสมเกียรติมีโรคประจำตัวป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง เคยผ่าตัดเพื่อรักษาอาการเส้นเลือดในสมองตีบและสมองขาดเลือด ส่วน พล.ต.จำลอง มีอาการปวดไหล่ขวาเรื้อรัง และเคยผ่าตัดทำบอลลูนหัวใจ 3 เส้น ขณะที่นายพิภพป่วยเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูง ต่อมลูกหมากโต ไขมันในเลือดสูง ส่วนนายสุริยะใสมีโรคความดันโลหิตสูง นายสมศักดิ์เคยรับการรักษาผ่าต้อเนื้อที่ตา ซึ่งอาการป่วยของผู้ต้องขังทั้งหมดไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากแพทย์ได้จัดยาประจำตัวไว้แล้ว    
    นายกฤช กระแสทิพย์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ กล่าวว่า ภายหลังการรับตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูป พิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อทำประวัติผู้ต้องขังใหม่ จากนั้นตนได้เข้าไปปฐมนิเทศนักโทษใหม่ เพื่อให้นักโทษใหม่มีความเข้าใจถึงการใช้ชีวิตในเรือนจำ โดย พล.ต.จำลองเคยถูกส่งเข้ามาควบคุมตัวในเรือนจำ ทำให้ทราบแนวการปฏิบัติตัวในเรือนจำ ส่วนคนอื่นๆ ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ใช้วิตในเรือนมีความเครียดและกังวลอยู่บ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ 
    โดยในสัปดาห์แรกของการคุมขัง จะจัดให้ผู้ต้องขังใหม่ทั้งหมดอยู่ในแดนแรกรับ เมื่อสามารถปรับตัวเข้ากับเรือนจำได้ก็จะจำแนกแยกแดนไปตามความเหมาะสมต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"