เปิดประชุมวอร์ซอ 'เพนซ์' จี้ยุโรปถอนตัวจากความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน


เพิ่มเพื่อน    

รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ ของสหรัฐ กล่าวต่อที่ประชุมวอร์ซอว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลางเมื่อวันพฤหัสบดี เรียกร้องชาติพันธมิตรในสหภาพยุโรปถอนตัวออกจากความตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านปี 2558 พร้อมเตือนสหรัฐอาจแซงก์ชันอิหร่านเพิ่มอีก

รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ กล่าวต่อที่ประชุมในกรุงวอร์ซอ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 / AFP

    การประชุมที่กรุงวอร์ซอของโปแลนด์ครั้งนี้มีผู้แทนของมากกว่า 60 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งรวมถึงอิสราเอลและหลายชาติอาหรับ ขณะที่ยุโรปส่งเพียงผู้แทนระดับล่างที่ไม่ใช่รัฐมนตรี ยกเว้นอังกฤษที่เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาประชุมเอง โดยคาดหวังจะหาทางออกสำหรับวิกฤติในเยเมน

    สหรัฐซึ่งเป็นโต้โผของการประชุมมีรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ นำคณะ รายงานเอเอฟพีเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ กล่าวว่า เพนซ์ได้ขึ้นกล่าวต่อที่ประชุมในวันเดียวกันนี้ โดยพุ่งเป้าโจมตีอิหร่านว่า เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลาง และยังกล่าวหาระบอบปกครองโดยผู้นำศาสนาอิสลามแห่งนี้ว่ากำลังวางแผน "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวครั้งใหม่" จากความทะเยอทะยานสร้างอิทธิพลในภูมิภาคนี้

    รองประธานาธิบดีสหรัฐยังตำหนิแผนความริเริ่มของฝรั่งเศส, เยอรมนี และอังกฤษที่จะจัดตั้งกลไกทางการเงินเพื่อช่วยเหลือธุรกิจของยุโรปให้ดำเนินการในอิหร่านต่อไปได้โดยไม่โดนลงโทษจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

    เพนซ์กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่หุ้นส่วนในยุโรปของสหรัฐจะถอนตัวออกจากความตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และเข้าร่วมกับสหรัฐ กดดันทางการทูตและเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการสร้างสันติภาพ, ความมั่นคง และเสรีภาพ ให้เกิดขึ้นกับประชาชนชาวอิหร่าน, ภูมิภาคตะวันออกกลาง และโลก

    สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งรวมถึงโปแลนด์ ประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ ไม่แสดงท่าทีว่าจะล้มเลิกความตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ที่จัดทำในสมัยของประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อยับยั้งโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แลกเปลี่ยนกับการผ่อนคลายแซงก์ชัน

    เพนซ์ย้ำในที่ประชุมนี้ด้วยว่า การแซงก์ชันของสหรัฐจะหนักหน่วงขึ้น เว้นแต่อิหร่านจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่อันตรายและบั่นทอนเสถียรภาพ

    การประชุมในครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่อิหร่านเพิ่งฉลองครบรอบ 40 ปี การโค่นล้มพระเจ้าซาร์ ซึ่งฝักใฝ่สหรัฐ และวันก่อนหน้านั้น ยังเกิดเหตุมือระเบิดฆ่าตัวตายโจมตีรถบัสขนทหารอิหร่านกลับจากภารกิจลาดตระเวน ที่จังหวัดซิสถาน-บาลูจิสถาน ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่านใกล้ชายแดนปากีสถาน ส่งผลให้ทหารเสียชีวิต 27 นาย

    โมฮัมหมัด จาวัด ซาริฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของอิหร่าน รีบโยงการโจมตีกับการประชุมที่กรุงวอร์ซอทันที โดยบอกว่าไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อิหร่านโดนก่อการร้ายในวันเดียวกันกับที่การเจรจาเริ่มต้นขึ้น

    ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี ของอิหร่าน เดินทางไปประชุมกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย และประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ของตุรกี เพื่อหารือเกี่ยวกับอนาคตของซีเรียที่เมืองโซชีของรัสเซียในวันพฤหัสบดี โรฮานีกล่าวโทษสหรัฐและอิสราเอลว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีครั้งนี้ ถึงแม้ว่ากลุ่มนักรบญิฮาดที่เป็นมุสลิมนิกายสุหนี่ในภูมิภาคนั้นจะอ้างว่าเป็นผู้ก่อเหตุก็ตาม

    การประชุมที่วอร์ซอ ซึ่งโปแลนด์และสหรัฐวางวัตถุประสงค์แบบคลุมเครือเป็นประเด็นการสร้างสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกมองว่าพุ่งเป้าหมายที่อิหร่านโดยเฉพาะ ยังเปิดโอกาสให้นายกฯ เบนจามิน เนทันยาฮู ได้อยู่ร่วมเวทีประชุมเดียวกับผู้แทนระดับสูงของหลายชาติอาหรับที่เป็นศัตรูกับยิว แต่ก็เกลียดชังอิหร่านเช่นเดียวกัน

    เนทันยาฮูได้ทวีตรูปภาพที่เขาอยู่ร่วมกับยูซุฟ บิน อาลาวี บิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของโอมาน โดยกล่าวว่า เป็นการปฏิวัติด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอิสราเอล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"