แข่งปรุงและแกะสลักอาหารระดับนานาชาติ


เพิ่มเพื่อน    

 

 

     อุตสาหกรรมอาหารนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองและมีศักยภาพในการเติบโตเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีร้านค้า ธุรกิจอาหารเกิดขึ้นมากมาย และมีการแข่งขันสูงขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจอาหารต้องมีการปรับตัว นอกจากเรื่องรสชาติแล้ว คุณภาพ เรื่องราว หรือแม้แต่รูปร่างหน้าตาของอาหาร ยังมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคอีกด้วย

      และกิจกรรม “การแข่งขันปรุงอาหารและแกะสลักระดับนานาชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2562” หรือ Wandee International Culinary Competition (WICC 2019) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดขึ้นโดย วิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี ร่วมกับสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 11-12 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สนับสนุนสร้างเชฟรุ่นใหม่ๆ ให้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยทั้งนักเรียน นักศึกษา ระดับมัธยมศึกษาและประกาศนียบัตรวิชาชีพ อายุ 13-18 ปี และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและมหาวิทยาลัย อายุ 19-25 ปี ที่รักการทำอาหาร และอยากพัฒนาทักษะการปรุงอาหารและงานฝีมือให้สู่ระดับสากล ได้รับโอกาสพัฒนา แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมแข่งขัน และกรรมการผู้ตัดสินระดับนานาชาติ โดยมีผู้เข้าร่วมการแข่งขัน 132 คน จาก 20 สถาบัน ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และสำหรับความพิเศษของการแข่งขันในครั้งนี้ได้มีกรรมการตัดสินซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอาหารอย่างแท้จริง โดยเป็นกรรมการจากสมาคมเชฟแห่งประเทศ สมาคม BLACK HAT CHEF ของโลก สมาคม Australian International Technical Chef และ Executive Chefs จากโรงแรมชั้นนำของประเทศไทย รวม 20 ท่าน

 

      ดร.วิชุดา ณ สงขลา ศรียาภัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี เปิดเผยว่า วิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอาชีพด้านอาหาร ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารของโลก จะเห็นว่าความต้องการบริโภคอาหารของโลกเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ความต้องการบุคลากรด้านอาหารเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมการแข่งขันปรุงอาหารและแกะสลักระดับนานาชาติขึ้น ภายใต้การรับรองของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อตอบสนองนโยบายและแนวปฏิบัติที่ต้องการส่งเสริมและการพัฒนาคนเป็นหลัก กิจกรรมในครั้งนี้เปรียบเหมือนกับเวทีการแข่งขัน ซึ่งก็คือห้องเรียนปฏิบัติที่มีความตื่นเต้นและกดดันมากขึ้น ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับคือการพัฒนาตนเอง โดยนำความรู้มาปฏิบัติ ซึ่งมีเกณฑ์การตัดสินที่มีมาตรฐานสูงระดับโลก เพื่อให้ส่งผลที่ดีในการแข่งขัน สร้างวินัยการทำงานที่เป็นระเบียบ ตระหนักถึงหลักสุขาภิบาลอาหารและความปลอดภัยในการทำงาน และยังได้พบปะกับเชฟผู้มีประสบการณ์ระดับนานาชาติกว่า 20 ท่าน และทุกท่านมีเจตนารมณ์ที่จะสร้างเยาวชนรุ่นหลังให้เป็นบุคลากรรุ่นใหม่ ที่มีทักษะอาชีพที่อุตสาหกรรมอาหารต้องการในอนาคต

      ด้าน George Hill Black Hat Chef ผู้มีประสบการณ์ด้านอาหารมากว่า 60 ปีจากประเทศออสเตรเลีย เจ้าของธุรกิจ George กำกับดูแลและเป็นประธานในการแข่งขันทำอาหารทั้งในออสเตรเลียและต่างประเทศ กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมอาหารมีบุคลากรน้อยมากเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ ขณะที่ความต้องการในอุตสาหกรรมกลับมากขึ้นทุกๆ ปี ฉะนั้นจะเห็นว่าอาชีพเชฟยังคงเป็นอาชีพที่มั่นคง ผู้ที่เรียนด้านนี้นับว่าโชคดีและจะต้องหมั่นฝึกฝน เพื่อให้ตนเองมีทักษะความสามารถในการทำงานที่ดีเยี่ยมเหมือนกับเป็นมืออาชีพ ผลที่ตามมาจะทำให้เป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรม และจะเห็นว่าการแข่งขันในครั้งนี้เต็มไปด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองในอนาคต ผู้ที่จะเป็นเชฟที่ดีต้องรู้พื้นฐานก่อนเลยคือ นอกจากเรื่องรสชาติของอาหารที่ปรุงแล้ว จะต้องใส่ใจในเรื่องของขั้นตอนอื่นๆ ด้วย เช่น การเตรียมประกอบอาหาร การเตรียมวัตถุดิบ การจัดวาง ฯลฯ ก็เป็นหัวใจสำคัญ และในอนาคตผู้ที่อยู่ในแวดวงอาหารจะได้รับผลจากการเปลี่ยนแปลงที่มาจากเทคโนโลยี ฉะนั้นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตด้วย และหวังว่าทุกคนจะเติบโตในอุตสาหกรรมอาหารอย่างมั่นคง 

 

อาหารอาเซียนร่วมสมัย ผลงานชนะเลิศของนพวิชญ์ แก้วเกตุ

 

     สำหรับการแข่งขันที่ผ่านมาแบ่งเป็น 6 ประเภท ได้แก่ 1.อาหารไทยชาววัง 2.อาหารอาเซียนร่วมสมัย 3.อาหารริมทางพร้อมบรรจุภัณฑ์ 4.แกะสลักผักผลไม้แบบฟรีสไตล์ 5.อาหารตะวันออกผสมผสานอาหารตะวันตกแบบฟรีสไตล์ และ 6.การแข่งขันทำซูชิ เป็นต้น ซึ่งผลปรากฏว่า นายสิวานันท์ ศรีทัน นักศึกษาคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เป็นผู้ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยรางวัลชนะเลิศชนะเลิศเหรียญทองประเภทแกะสลักผักผลไม้แบบฟรีสไตล์ และรางวัลอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมดีเด่น

      นายสิวานันท์ เผยถึงผลงานว่า งานแกะสลักเป็นงานที่ให้ความสนใจมาตั้งแต่วัยเด็ก ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.4 จนถึงตอนนี้ตนอายุ 19 ปีแล้ว ก็ยังมีความชอบในการแกะสลักอยู่ และพยายามฝึกฝนมาเรื่อยๆ เรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่มีใครมาสอน ส่วนใหญ่ก็เรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต โดยงานฝีมือแกะสลักที่ตนร่วมแข่งครั้งนี้ ได้แกะสลักผักผลไม้นานาชนิด ทั้งมะละกอ ฟักทอง แตงโม แคนตาลูป หัวไช้เท้า พริก เป็นต้น ส่วนลวดลายที่ใช้ในงานจะเป็นลายไทย เช่น ลายรักเร่ ลายผีเสื้อ ฯลฯ เป็นลายที่คนในแวดวงจะรู้จักกันดี และยังได้นำลวดลายใหม่ๆ มาประยุกต์ใส่ในการแกะสลักครั้งนี้ ซึ่งเป็นลายที่ดูแล้วออกแนวตะวันตก เอามาผสานกับลายไทยที่มีอยู่แล้ว เกิดเป็นส่วนผสมที่ลงตัว และมีการนำเอกลักษณ์แบบไทยๆ มาจัดวางผลไม้ให้ดูสวยเด่น ด้วยการเอาเครื่องเบญจรงค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แบบไทยๆ มาประดับตกแต่งให้ดูกลมกลืนกัน

      "  การแข่งขันครั้งนี้ค่อนข้างกดดัน ด้วยเวลาอันจำกัดแค่สองสามชั่วโมงเท่านั้น เพราะงานแกะสลักเป็นงานที่ต้องใช้เวลาและความประณีตบรรจง จะเร่งรีบไม่ได้ แต่ก็ผ่านมาได้และไม่คิดว่าจะได้รางวัลชนะเลิศ พร้อมรางวัลใหญ่ถ้วยพระราชทาน ถือเป็นรางวัลใหญ่ครั้งแรกในชีวิต เป็นความภาคภูมิใจและรู้สึกดีที่เราเลือกจะให้ความสำคัญในงานแกะสลัก เพราะช่วยให้เราได้ฝึกสมาธิ ทั้งยังอนุรักษ์ความเป็นไทย เพราะตอนนี้ใครต่างก็มองข้ามงานแกะสลัก ซึ่งเป็นศิลปะโบร่ำโบราณ แต่ผมมองว่าก็เป็นงานสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารเช่นกัน ยิ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้น้อย ค่าตอบแทนในการทำงานในอนาคตจะยิ่งสูงขึ้นไปอีก"

เมนูอาหารสุดสร้างสรรค์ฝีมือเยาวชนไทย

      เช่นเดียวกับนายนพวิชญ์ แก้วเกตุ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีครัววันดี ก็ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานระดับมัธยมศึกษาและประกาศนียบัตรวิชาชีพ เช่นกัน และยังเป็นผู้ชนะได้เหรียญทองจากการประกวดอาหารประเภทอาเซียนร่วมสมัย กล่าวถึงความรู้สึกว่า เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ท้าทายความสามารถ อาหารอาเซียนร่วมสมัยเป็นอาหารที่มีความน่าสนใจมากในสมัยนี้ เพราะคนให้ความสำคัญกับอาหารท้องถิ่นต่างๆ อยู่แล้ว โดยตนได้เลือกนำเมนูข้าวหมกอินเดีย กุ้งทอดซอสผัดเปรี้ยวหวาน เนื้อย่างกับแกงเผ็ดลิ้นจี่ แล้วก็ผัดผักรวมมาแข่งขัน ซึ่งเป็นอาหารที่น่าจะรับประทานไม่ยาก ส่วนสูตรของอาหารได้มาจากการศึกษาจากหลายๆ แหล่งข้อมูล ทั้งหนังสือ อินเทอร์เน็ต และนำมาจัดวางให้รูปร่างหน้าตาของอาหารมีความร่วมสมัยมากขึ้น เพราะเมนูอาหารเหล่านี้เป็นเมนูดั้งเดิม สิ่งที่คิดคือต้องทำให้ดูร่วมสมัย เพราะเป็นสิ่งที่ตลาดต้องการ

      "ใช้เวลาในการฝึกซ้อมสูตรเด็ดของอาหารประมาณสามสัปดาห์ เมนูเหล่านี้ไม่ได้หาเรียนง่ายๆ ในห้องเรียน อาศัยประสบการณ์และก็การเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่คิดว่าจะได้รางวัลใหญ่ด้วย เพราะฝีมือของแต่ละคนที่ร่วมแข่งค่อนข้างเก่งกันทุกคน แต่เมื่อได้รับรางวัลมาแล้วอนาคตก็จะปรับปรุงและเรียนรู้เรื่องอาหารให้มากขึ้น และจะเป็นเชฟคนที่มีความสามารถในอนาคต" นพวิชญ์ กล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"